พี่ซี จิตเกษม พรประพันธ์
“ฝนแล้ง แมงกิน ดินไม่ดี” เป็นคำบอกเล่าจาก พ่อวันนา บุญกลม ประธานสภาเกษตรกร และประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะบ่นเช่นนี้ แต่เกษตรกรส่วนน้อยพร้อมรับกับการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ในการเพาะปลูกยั่งยืน ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีรายได้สม่ำเสมอ ไม่ผันผวนไปตามภาวะราคาตลาด1
เมื่อต้นกันยายน 2567 ผู้เขียนและคณะแบงก์ชาติ ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับเกษตรกรและชาวบ้านร้านตลาด ถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินของครัวเรือนกลุ่มฐานรากและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อทราบข้อมูลเชิงพฤติกรรมด้านรายได้และการเป็นหนี้ของครัวเรือนในแถบอีสานใต้ ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งจากที่เราทำต่อเนื่องตลอด 20 ปี ในแบงก์ชาติเรียกกันติดปากว่า BLP ย่อมาจาก Business Liaison Program หรือโครงการพบผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และออกแบบมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุด2
ภาคเกษตรของไทย ถือว่าเป็นภาคการผลิตที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยมีการจ้างงานถึง 12 ล้านคน หากรายได้เกษตรกรดี ก็มีการจับจ่ายใช้สอยดี ก็จะส่งผลทวีคูณไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นให้เติบโตตามกันไป แต่ปัญหาด้านคุณภาพผลผลิตตกต่ำและครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 60 หรือกว่า 2 ล้านครัวเรือน และนโยบายของรัฐที่ให้เงินช่วยเหลือและการพักหนี้ กลับซ้ำเติมให้ผลิตภาพของภาคเกษตรลดน้อยถอยลง แบบ “ปลูกไปก็รู้ว่าขาดทุน แต่เดี๋ยวรัฐก็ช่วย”
ในช่วงหลายปีมานี้ รายได้เกษตรกรตกต่ำต่อเนื่อง และปัญหาหนี้สินก็เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่หน่วงรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็มีเกษตรกรกลุ่ม “หัวไว ใจกล้า” จำนวนไม่น้อยเลยในทุกภูมิภาค ปรับตัวเปลี่ยนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่วิถียั่งยืนที่มีประสิทธิภาพและผลิตภาพสูง ทำให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น และผลิตได้ปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ตัวอย่างการยกระดับรายได้ครัวเรือน
พี่ธนู ทัฬหกิจ เจ้าของ หจก.นาแปลงใหญ่บ้านดอนหมู หมวกอีกใบหนึ่งพี่ธนูเป็นประธานกรรมการกลุ่มข้าวยั่งยืน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี หนุ่มใต้ เขยอีสาน เออร์ลีรีไทร์จากงานประจำมาทำนาที่บ้านพ่อตา มีรายได้จากการทำนาข้าวยั่งยืน ปลูกพืชหลังนาทั้งแตงโมและข้าวโพด และเลี้ยงหมูและไก่ โดยจัดสรรพื้นที่กสิกรรม ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และบริหารจัดการต้นทุนการเพาะปลูก รายได้เพิ่มแต่ต้นทุนลดลง ทำให้มีรายได้สุทธิเหลือเพียงพอเลี้ยงครอบครัว และเก็บออมเป็นเงินลงทุนในรอบปลูกถัดไป ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้เพาะปลูก จึงไม่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินใดใด
เราลองมาดูกันว่าพี่ธนูทำอย่างไร จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่น่าสวนผสมปี 2561 ของจังหวัดฯ ที่เป็นแบบอย่างของเปลี่ยนแปลงจนเกิดผลสำเร็จ
การประหยัดต้นทุน เริ่มตั้งแต่การเลือกไม่ทำนาหว่าน (1 กระสอบ หรือ 25 ก.ก./ไร่) หรือนาดำ แต่กลับทำนาหยอด (ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข.15) ที่ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ลงไปได้ (ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 3-5 ก.ก./ไร่) แม้ว่าต้องมีต้นทุนบ้างในการปรับพื้นนาให้น้ำกระจายตัวได้ดี พี่ธนูใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น ใช้เลเซอร์ปรับระดับพื้นนา และส่งวิเคราะห์แร่ธาตุในดินกำหนดสูตรปุ๋ยสั่งตัด เพื่อซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง (ประหยัดต้นทุนกว่า 30%) โดยพยายามใช้ปุ๋ยคอกประกอบด้วย ส่วนปัญหาหลักก็ด้านน้ำ เนื่องจากพื้นที่นี้ดินเค็มมาก ยิ่งเจาะบาดาลยิ่งลึกก็พบว่าน้ำยิ่งเค็ม จึงจัดการแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรพื้นที่ขุดบ่อรองรับน้ำฝน (เลี้ยงปลาในบ่อได้อีก) แก้ปัญหาดินเค็ม ถือหลัก “ดินงาม ข้าวก็งาม” และปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ลดก๊าซมีเทนลงได้ ใช้เครื่องจักรการเกษตรทั้งรถไถติดเครื่องหยอดเมล็ด โดรนใช้สำหรับบินโรยปุ๋ย และรถเกี่ยวข้าว
การจัดสรรพื้นที่และปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจากที่เริ่มพัฒนาในช่วงปี 2562 ได้ข้าวเกี่ยวสด 350 ก.ก./ไร่ เป็น 697 ก.ก./ไร่ ณ ปี 2566/67 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ให้ข้อมูลไว้ที่ 497 ก.ก./ไร่ (ณ ก.ค. 2567) สังเกตได้ว่าตัวเลขพี่เขาเป๊ะ เพราะมีการจดบันทึกรายรับ รายจ่าย และผลผลิต
ทั้งนี้ การลดต้นทุนลงและมีรายได้จากการขายสูงขึ้นจากทั้งคุณภาพข้าวและปริมาณข้าวต่อไร่ ทำให้มีกำไรจากการทำนา แม้ไม่มากแต่ก็เพียงพอสำหรับดูแลครอบครัวที่พอเพียง
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น พี่ธนูไม่ได้คิดและลงมือเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการ “ร่วมกันคิด แยกกันทำ รวมกันขาย” กับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มนาแปลงใหญ่และข้าวยั่งยืนในพื้นที่บ้านดอนหมู และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรต่างพื้นที่ออกไป ที่ทำคล้ายกันก็เช่น พ่อเกรียงไกร จันทร์เพ็ง ประธานวิสาหกิจชุมชนข้าวยั่งยืนโพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการและองค์กรต่างประเทศทั้งด้านงบประมาณตั้งต้น ความรู้ และเทคโนโลยี โดยบริหารปัจจัยการผลิต พันธุ์ข้าว ปุ๋ย และเครื่องจักร เป็นลักษณะห้างหุ้นส่วนจำกัดเชิงพาณิชย์เพื่อแชร์ต้นทุนแต่ไม่ได้มุ่งกำไร เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ส่งเข้าโรงสีที่เป็นพันธมิตรกันกับกลุ่ม จึงได้ราคาที่สมดุลตามที่กำหนดไว้ร่วมกันแล้ว
เรื่องการเพิ่มผลิตภาพการเกษตรนี้ หลายหน่วยงานมีข้อสรุปการวิจัยเชิงพื้นที่ใกล้เคียงกัน ผู้เขียนจึงเห็นว่าโจทย์ใหญ่ของการทำนโยบายสาธารณะที่จะต้องขยายผล (scale up) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การยกระดับรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องออกแบบนโยบายที่จูงใจให้เกิดการปรับตัว ไปสู่วิถีการเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาคุณภาพผลิตผล รวมถึงกระบวนการแปรรูป และส่งเสริมการตลาด แบบรวมแปลงใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำมาดีมากอยู่แล้ว ให้เกิดความต่อเนื่องและขยายผลออกไปในวงกว้าง ส่งเสริมกลุ่ม “หัวไว ใจกล้า” ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ พื้นที่ที่มีบริบทสภาพแวดล้อมกายภาพแตกต่างกันออกไป มากกว่าการให้เงินช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไข ที่ส่งผลให้เกษตรกรรอความช่วยเหลือโดยยังปลูกแบบเดิมและอยู่กับปัญหาเดิม “ฝนแล้ง แมงกิน ดินไม่ดี” เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป “จะ “ไม่มี..นาที่นี่…แต่มีหนี้ที่นา” ดังนั้น จะไม่ดีกว่าหรือที่การออกแบบนโยบายจะ “ยื่นเบ็ดแทนการให้ปลา”
หมายเหตุ :บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
1. เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหารายได้และหนี้สินเกษตรกรที่มีความซับซ้อนและสั่งสมมาเนิ่นนานจากโครงสร้างอายุเกษตรกรสูงวัย การเข้าไม่ถึงแหล่งทุนและปัจจัยการผลิต การแปรรูปภาคเกษตร และการตลาด
2. BLP เป็นโครงการที่ ธปท. ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับผู้ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆไปจนถึงสมาคม องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ และภาคครัวเรือน
-BLP เสารับสัญญาณเศรษฐกิจไทย ช่วยหามาตรการที่ใช่และยั่งยืน (prachachat.net)
-ทำความรู้จัก BLP ม้าเร็วส่งสาร-ให้สัญญาณเศรษฐกิจไทย (bot.or.th)
-โครงการ BLP เครื่องมือ & Data Dependent & บงก์ชาติ… ร้อยเรื่องเล่า พันเรื่องราว เท่าทันเศรษฐกิจ(ThaiPublica)