ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > ไทยคมขับเคลื่อน “เศรษฐกิจอวกาศ” ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม ต่อยอดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

ไทยคมขับเคลื่อน “เศรษฐกิจอวกาศ” ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม ต่อยอดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

30 พฤศจิกายน 2024


นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน)

กว่า 30 ปี ของนวัตกรรมอวกาศเพื่อประเทศ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดาวเทียมในประเทศไทย เดินหน้าสร้างคุณค่าให้กับประเทศด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านอวกาศสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาระดับชาติและโลก เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติ

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ กล่าวว่า “ไทยคมมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาประเทศ พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่าเทคโนโลยีอวกาศไม่ได้มีประโยชน์เพียงสำหรับการสำรวจ แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนและตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เช่น การจัดการคาร์บอนเครดิต การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change

โลกปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change มากขึ้น เราจึงมองว่าโลกต้องการโซลูชันใหม่ๆ เพื่อมาบริหารจัดการในเรื่องของ Climate Change ซึ่งในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาวเทียม ไทยคมก็หันมาทำเรื่อง CarbonWatch จนกว่าจะสำเร็จ เราเชื่อว่าทุกๆ ความท้าทายมันมีโอกาสเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาได้หรือเปล่า”

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนามความร่วมมือกับ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความร่วมมือในครั้งนี้ ไทยคมได้นำแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ประเมินปริมาณมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับชุมชนอยู่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมต่อยอดไปใช้สร้างประโยชน์ในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ของประเทศไทย

CarbonWatch นวัตกรรมดาวเทียมเพื่อคาร์บอนเครดิต

หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นของไทยคม คือการพัฒนาแพลตฟอร์ม “CarbonWatch” ซึ่งเป็นโซลูชันประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แพลตฟอร์มนี้มีความแม่นยำกว่า 90% และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ทำให้ไทยคมเป็นบริษัทแรกในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยสร้างความโปร่งใสและประหยัดค่าใช้จ่ายในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าขนาดใหญ่

โครงการนี้ได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าชุมชนและประเมินประสิทธิภาพของป่าในการดูดซับคาร์บอน ช่วยให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ใช้เทคโนโลยีอวกาศขับเคลื่อนภาคเกษตรและประเมินภัยพิบัติ

ไทยคมยังมีบทบาทสำคัญในด้านการเกษตร โดยร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่การเกษตรสำหรับโครงการประกันพืชผล โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ระบบนี้ช่วยประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม และภัยแล้ง ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับเงินชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการประเมินพื้นที่เกษตรสำเร็จไปแล้วกว่า 12 ล้านไร่ทั่วประเทศ

นายปฐมภพยังระบุว่า “บางครั้งพืชผลตัวไหนกำลังเป็นที่นิยมของตลาด เกษตรกรทุกคนก็ปลูกเหมือนกันหมด ปัญหาที่ตามมาคือผลผลิตล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำ ในอนาคต การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม และการวิเคราะห์ด้วย AI สามารถช่วยวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแนะนำชนิดพืชที่เหมาะสมกับดินในแต่ละพื้นที่ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร”

นายปฐมภพกล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามองว่าเศรษฐกิจอวกาศคือกุญแจสำคัญของอนาคต ไทยคมตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ พร้อมส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอวกาศแก้ปัญหาและสร้างมูลค่าให้กับประเทศ”

โครงการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแก่ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล นำร่องชุมชนดอยเวียง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น การแพทย์ทางไกล การศึกษาดิจิทัล การทำธุรกรรมออนไลน์ และการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียม พร้อมเสริมทัพด้วยโซลูชันอุปกรณ์ IoT จากระบบดาวเทียม LEO และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้ Earth Insights อาทิ แพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิต และบริการอื่นๆ ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยคม (ESG)

Embedded ESG: ฝังรากในธุรกิจหลักเพื่อความยั่งยืน

นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ไทยคมยังให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) และการสร้างความไว้วางใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โดยบริษัทเป็นหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

นายปฐมภพกล่าวว่า “เราส่งต่อแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ให้กับทางคู่ค้าของเรา จึงให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ในการสร้างความโปร่งใส ความไว้วางใจ เพราะฉะนั้นความสำเร็จของเราจึงอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่โปร่งใส ความเป็นมืออาชีพ และวิธีการบริหารธุรกิจที่ตรวจสอบได้

ในด้านสังคม ไทยคมได้ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลมาเกือบ 30 ปี โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเชื่อมโยงคอร์สการเรียนออนไลน์สู่โรงเรียนในพื้นที่ชายแดน รวมถึงสนับสนุนการสื่อสารในพื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน

หลายบริษัทอาจจะมอง ESG เป็นแผนกหนึ่ง ก็ทำไป เรื่องธุรกิจเป็นอีกแผนกหนึ่ง ก็ทำไป แต่เราเอา 2 ส่วนนี้รวมเป็นหนึ่งคือทำทั้งธุรกิจและ ESG ไปพร้อมๆ กัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราให้ความสำคัญตรงนี้มาก”

ที่มาภาพ : https://www.thaicom.net/th

ธุรกิจต้อง “ปรับตัว Adaptation” ในโลกที่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจอวกาศคืออนาคต

ในยุคที่โลกเผชิญกับ “ภาวะโลกเดือด” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นายปฐมภพเน้นย้ำว่า “ความยั่งยืนของไทยคมขึ้นอยู่กับ “Adaptability” หรือความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ มองเทคโนโลยีเป็นโอกาส ไม่ใช่อุปสรรค

กุญแจสำคัญของการปรับตัวคือความยืดหยุ่น เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว การที่องค์กรมีความยืดหยุ่นทำให้สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์ เพื่อค้นหาโอกาสและอยู่รอดในตลาด ธุรกิจที่มีอายุยาวนานไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถอยู่รอดได้อีก 100 ปี การพัฒนาความยืดหยุ่นและไหวพริบในการปรับตัวคือสิ่งจำเป็นสำหรับความยั่งยืน ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจต้องไม่เพียงยืนหยัดต่อความท้าทาย แต่ยังต้องมองเห็นโอกาสในวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

บริษัทจึงได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร มาสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำในภูมิภาค (Regional Space Tech Company) เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสสำคัญทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในยุค New Space Economy (เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่) และเล็งเห็นว่าในอนาคต ประเทศไทยมีโอกาสสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบันเปิดโอกาสให้บริษัททุกขนาดสามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

ดังนั้นทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs Start-up เด็กรุ่นใหม่ จึงมีโอกาสเหมือนกันหมด ยิ่งปัจจุบันค่าส่งจรวดในการขนส่งวัตถุหรือคนไปอวกาศมีราคาถูกลงเป็นร้อยเท่า จากที่เคยต้องจ่าย 3 พันล้านบาทในครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นมันจะสร้างโอกาสให้แม้กระทั่งเอสเอ็มอี หรือนักศึกษารุ่นใหม่ที่ชอบเรื่องอวกาศ ก็อาจจะสามารถทำการทดลองดาวเทียมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แล้วส่งไปในอวกาศในราคาที่ถูกได้ และอาจจะสร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ได้จากตรงนี้

อุปสรรคและความท้าทายในการพัฒนา ESG

สองอุปสรรคและความท้าทายสำคัญ ที่บริษัทต้องเผชิญในการดำเนินงานด้าน ESG อย่างมีประสิทธิภาพ คือ

1. Technology Disruption
ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นอุปสรรคสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความยั่งยืนของผลประกอบการ บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ใน Disruption ที่เกิดขึ้น แทนที่จะมองเป็นเพียงความท้าทาย

2. การบริหารจัดการพันธมิตร
การทำงานร่วมกับพันธมิตรหลากหลายทั้งในและต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ การสร้าง “Synergy” ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ระหว่างบริษัทและพันธมิตรที่มีความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในเรื่อง ESG เหมือนกัน ถือเป็นสิ่งจำเป็น หากพันธมิตรขาดความมุ่งมั่นในด้าน ESG ความยั่งยืนของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ก็จะไม่สมบูรณ์

“ดังนั้นเราต้องบอกพันธมิตรว่า เรื่องของความยั่งยืนและเรื่องธุรกิจ มันเป็นประโยชน์ร่วมกัน ตรงนี้สำคัญที่สุด และไม่ใช่แค่เราต้องไป Convince พันธมิตร บางครั้งพันธมิตรต้องมา Convince เราด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเราทำธุรกิจกับพันธมิตรระดับโลกเยอะ เขาเข้มงวดในเรื่องนี้มาก”

“นอกจากนี้ การทำเรื่อง ESG ถือเป็นจุดแข็งของการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะทำให้พันธมิตรระดับโลกมีโอกาสที่จะเลือกเรามากกว่าคนอื่น ๆ ถ้าเรามีความเข้มแข็งในเรื่องของ ESG”

นายปฐมภพสรุปว่า “เราต้องทำให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจทั้งหมด ไม่ใช่เพียงเรื่องของไทยคมเท่านั้น แต่ต้องพาพันธมิตร ลูกค้า และซัพพลายเออร์เดินไปด้วยกันในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ความยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกิดผลอย่างแท้จริง”

ไทยคมกับการเป็นตัวอย่างในยุคเศรษฐกิจใหม่

ไทยคมมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสนับสนุนแนวทาง ESG (Environment, Social, and Governance) แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมอย่างสร้างสรรค์ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังสนับสนุนความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย

ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง ไทยคมได้พิสูจน์ว่าการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ ของโลกสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในเชิงธุรกิจ และมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม การริเริ่มโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น CarbonWatch และการสนับสนุนเกษตรกรผ่านข้อมูลที่มีความแม่นยำ แสดงถึงศักยภาพของเทคโนโลยีอวกาศที่มีมากกว่าการใช้งานทั่วไป

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ กำลังลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศ ไทยคมกำลังวางรากฐานที่มั่นคงให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลก บริษัทไม่เพียงตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้คน ชุมชน และโลกที่เราอาศัยอยู่

ที่มาภาพ : https://www.thaicom.net/th

มองไปข้างหน้า: ไทยคมในปี 2030

ด้วยความมุ่งมั่นในด้าน ESG และนวัตกรรมอวกาศ ไทยคมได้ตั้งเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ปี 2030 ในฐานะหนึ่งในองค์กรชั้นนำด้าน Space Tech ระดับโลก พร้อมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เพียงเรื่องของนวัตกรรม แต่เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของธุรกิจและสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

ในปีนี้ ไทยคมได้รับรางวัล SET Awards 2024 Highly Commended Sustainability Awards ในกลุ่มรางวัล Sustainability Excellence จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยคมกำลังก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Space Tech พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน