เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ประเทศในสหภาพยุโรปเอง นอกจากเผชิญหน้ากับปัญหาอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่มีแนวโน้มต่ำ และที่สำคัญต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่จำเป็นสำหรับการทดแทนประชากรรุ่นก่อนหน้า อัตราความเร่งต่ำนี้ทำให้หลายประเทศ เช่น อิตาลี, สเปน และโปรตุเกส มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ในอิตาลี มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.2 ต่อหญิงหนึ่งคน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนประชากรที่ 2.1 และอายุเฉลี่ยของแม่ที่คลอดลูกคนแรกอยู่ที่ 31 ปี
ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียมีอัตราการเกิดที่สูงกว่า เช่น ในปากีสถาน อัตราการเกิดอยู่ที่ 3.4 ต่อหญิงหนึ่งคน อย่างไรก็ตามในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อัตราการเกิดก็มีแนวโน้มลดลงเหมือนกับในยุโรป (ในเกาหลีใต้ต่ำมากที่ 0.8 ต่อหญิงหนึ่งคน ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดในโลก)
นอกจากปัญหาข้างต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่รัฐมองมายังคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีปัญหาที่คนรุ่นใหม่มองไปยังรัฐด้วย หนึ่งในนั้นคงไม่พ้นปัญหาว่าด้วยผู้ลี้ภัย การสำรวจจาก Eurobarometer ในปี 2023 แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ในบางประเทศ เช่น เยอรมนีและสวีเดนมีทัศนคติที่เปิดกว้างและสนับสนุนการยอมรับผู้ลี้ภัยมากกว่าในฮังการีและโปแลนด์ ในด้านหนึ่ง หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีผู้ลี้ภัยจากยูเครน และประเทศในแอฟริกา เช่น มาลีและซูดาน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤติสงครามในยูเครน
ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น ยังไม่รวมถึงความกังวลต่อภาวะโลกร้อน เสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาด้านสุขภาพจิต นำไปสู่เครื่องมือใหม่ในการพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งสหภาพยุโรปตั้งต้นแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
การรวมตัวของเยาวชนในสหภาพยุโรป: วิสัยทัศน์การเสริมสร้างพลังให้กับคนรุ่นใหม่
ย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นกระแส Youthquake และพลังการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้สานต่อกระแสเหล่านี้และเริ่มแนวทางพัฒนาคนรุ่นใหม่ในลักษณะที่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มเยาวชนในกระบวนการตัดสินใจ บนแนวคิดที่เรียกว่า “Youth Check” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายต่างๆ ต่อเยาวชน

“Youth Check” คืออะไร?
Youth Check เป็นโครงการริเริ่มที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า นโยบายของสหภาพยุโรปจะพิจารณาผลกระทบต่อเยาวชนในระหว่างขั้นตอนการออกแบบนโยบายอย่างไร เป้าหมายคือเพื่อให้มั่นใจว่า ความต้องการและเสียงของคนรุ่นใหม่ได้รับการให้คุณค่าและการพิจารณาในขอบเขตนโยบายต่างๆ อย่างเข้าถึงและถ้วนทั่ว โดยหลักใหญ่ของไอเดีย Youth Check คือการเช็คว่า ก่อนจะนำมาตราการหรือนโยบายใดๆ ไปใช้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างผลกระทบอย่างไรต่อคนรุ่นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่นโยบายต่างๆ ในอดีตมักจะถูกออกแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการและมุมมองของเยาวชนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา การจ้างงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสาธารณสุข การปรับเปลี่ยนท่าทีการมองเยาวชนโดยองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลทั่วโลกนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตา
ปัญหาหลักของเยาวชน: สุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สหภาพยุโรปนำแนวคิด Youth Check นี้ไปริเริ่มกับโครงการพัฒนาเยาวชนบนปัญหาที่เยาวชนกำลังเผชิญหน้า เช่น ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายประเทศของยุโรป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 เยาวชนหลายคนต้องเผชิญกับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า, ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและทักษะใหม่ รวมถึงการมุ้งเน้นการศึกษาแบบฝึกหัดวิชาชีพ (VET) ซึ่งช่วยให้เยาวชนได้ฝึกทักษะที่ตรงกับความต้องการในตลาดงาน, ปัญหาอัตราการว่างงาน, ปัญหาสภาพภูมิอากาศ, รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกระบวนการตัดสินใจ โดยเพิ่มบทบาทของเยาวชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น European Youth Week 2024 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระตุ้นให้เยาวชนในสหภาพยุโรปมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย และการสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง รวมถึงโปรแกรมการศึกษาที่เน้นการเตรียมความพร้อมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ บนไอเดียว่า จะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ
สหภาพยุโรปเองมีความร่วมมือร่วมกับองค์กรพัฒนาเยาวชนหลากหลายเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะองค์กรเยาวชนระดับโลก (Big Six) ซึ่งประกอบด้วย 1) the World Alliance of Young Men’s Christian Associations 2) World Young Women’s Christian Association 3) World Organization of the Scout Movement 4) World Association of Girl Guides and Girl Scouts 5) the International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies และ 6) The Duke of Edinburgh’s International Award Foundation
แม้องค์กรแถวหน้าเหล่านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเด็นปัญหาด้านการขาดความหลากหลาย เนื่องจากสมาชิก Big Six โดยส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนที่มีสถานะทางสังคมสูงและเป็นกระแสหลัก ทำให้ความต้องการของเยาวชนหลายครั้งถูกกีดกัน เช่น เยาวชนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เยาวชน LGBTQ+ หรือเยาวชนจากวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก, ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายของโลกยุคใหม่ เนื่องจาก Big Six เหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งเมื่อเทียบกับองค์กรรุ่นใหม่ (ที่พูดถึงความต้องการสมัยใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิทางดิจิทัล Gig economy) องค์กรในกลุ่มหลังตอบสนองต่อปัญหาได้รวดเร็วและเข้าถึงกว่า

“With and for young people” – สหภาพยุโรป ดึงเยาวชนที่หายไปกลับมา
“ร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่” ไอเดีย Youth Check นี้เองนำไปสู่เครื่องมือ EU Youth Test ซึ่งใช้ประเมินผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น โดยประกอบด้วย 5 หลักการสำคัญ
-
1) การประเมินความเกี่ยวข้องของข้อเสนอทางกฎหมายกับเยาวชน
2) การมีส่วนร่วมที่มีความหมายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยาวชน รวมถึงเยาวชนจากองค์กรที่นำโดยเยาวชนและผู้เชี่ยวชาญ
3) การประเมินผลกระทบของข้อเสนอที่กำลังจะเกิดขึ้น
4) มาตรการบรรเทาผลกระทบ เพื่อรับมือกับความยากลำบากที่เกิดกับกลุ่มเยาวชนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง
5) ความโปร่งใส เช่น การเข้าถึงการสอบตรวจ การนำเสนอภาษาที่สามารถเข้าใจง่าย
สหภาพยุโรปเองมีประชากรเยาวชนในสัดส่วนราว 25% ของประชากรทั้งหมด และในอนาคต เราคงได้เห็น 25% ที่เคยหายไปนี้กลับมามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและโลกในปัจจุบัน