
เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อีกระลอก
ข่าวการจัดทริปพา “บิ๊กสื่อ” ของค่ายต่างๆ เดินทางไปทัวร์ยุโรป เพื่อศึกษาดูงานตามไอเดียของ “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา
ซึ่งได้มอบ “ดุลพินิจ” ของ “ท่านประธานฯ”ให้ “จักรพันธุ์ ยมจินดา” เป็นผู้คัดเลือกสื่อในการเดินทางไปในครั้งนี้ ท่ามกลางข้อครหาว่าสื่อที่ไปล้วนแล้วแต่เป็นสื่อเฉดสีเดียวกัน
โดยใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จากเงินงบประมาณปี 2555 จำนวน 7 ล้านบาท ในการรับรองคณะวีไอพีทั้ง 39 ชีวิต หรือเฉลี่ยตกอยู่ที่รายละ 1.8 แสนบาท
แต่กระนั้นจะไม่แปลกใจหากได้กางโปรแกรมการดูงาน เพราะจะพบแต่ความ “อลังการ” ในการ “กิน-อยู่” ของคณะวีไอพีชุดนี้
ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ “หว่านพืชหวังผล” หรือ “หว่านงบหวังประโยชน์” ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ
รวมไปถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชน ที่เสมือนกับว่าเป็นการใช้งบประมาณแบบ “ล้างท่อ” ให้หมดก่อนปีงบประมาณ 2555 หรือสิ้นเดือนกันยายน
ทั้งนี้ การใช้งบในการเดินทางดูงานต่างประเทศของผู้ทรงเกียรติ แบบที่คิดว่าไม่ใช่เงินในกระเป๋าของตัวเองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดมาแทบทุกปี โดยผ่านการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 35 คณะ
จนถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานที่ “ไม่เข้าเป้า” ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเห็นได้จากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ 2555 ที่สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ในการผ่านกฎหมายเพียง 7 ฉบับเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม “ไทยพับลิก้า” ได้สำรวจเงินงบประมาณที่รัฐสภาได้รับการจัดสรรจากเงินภาษีของประชาชนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 6,658.98 ล้านบาท
โดยในเอกสารงบประมาณในส่วนของหน่วยงานรัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุ “วิสัยทัศน์” ของสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ว่า “เป็นองค์กรที่เป็นเลิศในการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจของสถาบันนิติญัตติให้ก้าวหน้า ทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของปวงชน”
ภายใต้พันธกิจดังนี้
1. สนับสนุนการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา
2. สนับสนุนการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
3. สนับสนุนงานรัฐสภาด้านต่างประเทศ
4. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
5. เสริมสร้างและพัฒนางานด้านการบริหารจัดการ ด้านวิชาการและกฎหมาย ด้านบริหาร ด้านอาคารสถานที่ และด้านรักษาความปลอดภัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ในงบประมาณจำนวนดังกล่าว พบว่ามีรายการที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในด้านการต่างประเทศ 8 รายการ มูลค่ารวม 634.05ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและผลักดันยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพงานรัฐสภาด้านต่างประเทศตามมาตรฐานสากล จำนวน 9 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกองค์การรัฐสภาสตรีระหว่างประเทศ จำนวน 7 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจในต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ จำนวน 175 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา จำนวน 419.15 ล้านบาท เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 8.5 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไทยกับต่างประเทศ จำนวน 3.44 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเยือนและศึกษาดูงานทางด้านต่างประเทศของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 5.9 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) จำนวน 6 ล้านบาท
เงินจำนวนกว่า 600 ล้านบาท ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้จ่ายในภารกิจด้านการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเป็นจำนวนไม่มาก หากนำมาซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาหรือบริหารจัดการในหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย
ไม่สูญเปล่าอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้!!!