จากเป้าหมายลดโลกร้อน เพื่อเดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2593 (คศ.2050) ทุกคนจึงมุ่งการลงมือปฏิบัติด้วยการ mitigation ในกระบวนการต่างๆ ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นน้อยลง แต่ความเป็นจริง ปัญหาโลกร้อนที่กลายเป็นโลกเดือด ทวีความรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อม มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและหันมามีส่วนร่วมในการปรับตัว หรือ adaptation เพื่อจะอยู่กับโลกเดือดอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ในอนาคต เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเราอีกต่อไป
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีตัวเร่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันต่างลงมือแก้ที่ต้นเหตุเพื่อบรรเทาผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่รุนแรง วิธีการหนึ่งคือการ mitigation เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ขณะเดียวกันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปคือการ adaptation
“ซึ่งหลักการการปรับตัว ไม่ใช่เป็นการเอาเรื่องสภาพอากาศในอนาคตมาเป็นตัวตั้ง จากการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ลงไปสื่อสาร เราอยากให้เขาปรับตัวเพื่อทำให้การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในปัจจุบันเขาดีขึ้นด้วย โดยที่การปรับเปลี่ยนนั้นทำให้เขามี resilience มีภูมิคุ้มกันกับสภาพอากาศในอนาคตได้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นคอนเซปต์หลักของเรื่อง climate change adaptation”
พร้อมกล่าวว่า “เรื่อง climate change ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ถ้าเราไม่ปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาพฤติกรรมมันจะเปลี่ยนค่อนข้างยาก การไปเปลี่ยนความเชื่อเรื่องพวกนี้ ถ้าเราสามารถปรับเนื้อหาแบบเรียนหรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ ทำให้เขาเปิดใจยอมรับกับเนื้อหาพวกนี้มากขึ้น เช่น เชียงราย เชียงใหม่ วันนี้เขาเริ่มซึมซับเรื่องของน้ำท่วมแล้ว เรื่องของอากาศที่มันเคยหนาวสองสามเดือน ตอนนี้มันอาจจะหนาวน้อยลง หนาวสั้นลง จะเป็นประโยชน์กับเขาในการไปนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ดีขึ้นด้วย รวมทั้งชักชวนผู้ประกอบการในหลายเซ็กเตอร์ที่เริ่มได้รับผลกระทบที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการท่องเที่ยว จาก climate change หาแนวทางในการปรับตัว และการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ”