ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ออกแนวปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยระบบ AI

ASEAN Roundup สิงคโปร์ออกแนวปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยระบบ AI

20 ตุลาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 ตุลาคม 2567

  • สิงคโปร์ออกแนวปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยระบบ AI
  • เวียดนามตั้งเป้าทุกครัวเรือนได้ใช้บริการไฟเบอร์ออปติกในปี 2568
  • เวียดนามเปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์
  • กัมพูชาทุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
  • นายกฯกัมพูชาไฟเขียวบริษัทสหรัฐฯลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน
  • นายกฯฮุน มาแนต ประกาศกัมพูชาพร้อมออกจากสถานะ LDC
  • ลาวคืบหน้าในการขจัดความยากจน

    สิงคโปร์ออกแนวปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยระบบ AI

    ที่มาภาพ: https://securitybrief.asia/story/web-threats-in-singapore-drop-ai-sparks-new-security-concerns

    สิงคโปร์ได้ประกาศเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์หลายชุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งรวมถึงแนวทางในการรักษาความปลอดภัยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ป้ายความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกฎหมายใหม่ที่ห้ามไม่ให้มีการปลอมแปลงเนื้อหาโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

    Guidelines Guidelines on Securing AI Systems และ Companion Guide on Securing AI Systems ใหม่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันแนวทางการออกแบบที่ปลอดภัย เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการพัฒนาและใช้งานระบบ AI ได้

    “ระบบ AI อาจเสี่ยงต่อการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม โดยที่ผู้ประสงค์ร้ายจงใจจัดการหรือหลอกลวงระบบ AI” สำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security Agency :CSA) ของสิงคโปร์ กล่าว “การนำ AI มาใช้ยังอาจทำให้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีอยู่กับระบบขององค์กรรุนแรงขึ้น [ซึ่ง] สามารถนำไปสู่ความเสี่ยง เช่น การละเมิดข้อมูล หรือส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ของแบบจำลองที่เป็นอันตรายหรือไม่พึงประสงค์”

    “ด้วยเหตุนี้ ควรมีการรักษาความปลอดภัยให้ AI ด้วยการออกแบบและรักษาความปลอดภัยตามค่าเริ่มต้น เช่นเดียวกับระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมด” หน่วยงานรัฐบาลกล่าว

    โดยชี้ว่า แนวทางดังกล่าวระบุถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เช่น การโจมตีในห่วงโซ่อุปทาน และความเสี่ยง เช่น การเรียนรู้ของ machine learning ที่ขัดแย้งกัน และยังครอบคลุมหลักการที่พัฒนาขึ้นโดยอิงกับมาตรฐานสากลที่กำหนด ซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้การควบคุมความปลอดภัยและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปกป้องระบบ AI

    แนวทางดังกล่าวครอบคลุม 5 ขั้นตอนของวงจรชีวิต AI รวมถึงการพัฒนา การดำเนินงานและการบำรุงรักษา และการสิ้นสุดอายุการใช้งาน ซึ่งขั้นตอนหลังนี้เน้นย้ำว่าควรกำจัดข้อมูลและ AI model artifacts(ผลที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการเทรนนิ่ง) อย่างไร

    ในการพัฒนาCompanion Guide on Securing AI Systems นั้น CSA กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อจัดหา “ทรัพยากรที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน” ที่นำเสนอมาตรการและการควบคุมที่ “ใช้งานได้จริง” คู่มือนี้จะได้รับการอัปเดตเพื่อให้ทันกับการพัฒนาในตลาดความปลอดภัย AI

    ซึ่งประกอบด้วยกรณีศึกษา รวมถึงการโจมตีช่องโหว๋(patch attacks) บนระบบเฝ้าระวังการจดจำภาพ

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการควบคุมส่วนใหญ่จัดการกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อระบบ AI คู่มือนี้จึงไม่กล่าวถึงความปลอดภัยของ AI หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความโปร่งใสและความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม มาตรการที่แนะนำบางประการอาจทับซ้อนกัน CSA กล่าว โดยเสริมว่าคู่มือนี้ไม่ครอบคลุมถึงการใช้ AI ในทางที่ผิดในการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น มัลแวร์ที่ขับเคลื่อนโดย AI หรือการหลอกลวง เช่น Deepfakes

    อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายใหม่ซึ่งห้ามการใช้ Deepfakes และเนื้อหาโฆษณาการเลือกตั้งออนไลน์อื่นๆ ที่สร้างหรือดัดแปลงด้วยระบบดิจิทัล

    เวียดนามตั้งเป้าทุกครัวเรือนใช้บริการไฟเบอร์ออปติกในปี 2568

    ที่มาภาพ: https://vir.com.vn/danang-tourism-seeks-new-way-of-development-82643.html
    รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหงียน ฮวา บินห์ ลงนามในคำสั่งอนุมัติยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจนถึงปี 2568 โดยวางวิสัยทัศน์สู่ปี 2573

    ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้รัฐบาลตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 ครัวเรือนเวียดนามทั้งหมดจะสามารถเข้าถึงบริการเคเบิลใยแก้วนำแสง(fiber optic cable)ได้ ขณะที่ท้องถิ่นทั้งหมดทั่วประเทศ นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแบบรวมศูนย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมนิคมอุตสาหกรรม สถานีรถไฟ ท่าเรือ และสนามบินนานาชาติจะสามารถเข้าถึง 5G ได้

    ภายในปี 2568 จะเริ่มดำเนินการสายเคเบิลใยแก้วนำแสงสื่อสารระหว่างประเทศใต้ทะเลใหม่อย่างน้อย 2 เครือข่าย เวียดนามจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพัฒนาศูนย์ข้อมูลใหม่ที่ตรงตามมาตรฐานสีเขียว ซึ่งประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (PUE) ไม่เกิน 1.4

    ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ พลเมืองแต่ละคนมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things:IoT) และมีบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์หนึ่งชุด เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้ใหญ่ที่มีลายเซ็นดิจิทัล(digital signatures)หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลมีมากกว่า 50% และการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (IoT, AI, big data, บล็อกเชน และความปลอดภัยทางไซเบอร์) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน(soft infrastructure) สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    ภายในปี 2573 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะขยายความครอบคลุมของเครือข่ายบรอดแบนด์มือถือ 5G ให้มากถึง 99% ของประชากร และสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับ Hyperscale(ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีพลังในการประมวลผลมหาศาล) และฮับดิจิทัล

    การปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการพัฒนาในอนาคตของเวียดนาม

    การขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลที่ก้าวหน้าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้เวียดนามเป็น 1 ใน 50 ประเทศชั้นนำของโลก และเป็นที่ 3 ในอาเซียนในด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2573

    เวียดนามเปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/vietnam-launches-commercial-5g-services-4804372.html
    เวียดนามเปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์ครั้งแรกในทุกท้องที่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 โดย Viettel ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของกองทัพ โดยมีอัตราการสมัครสมาชิกเริ่มต้นที่ 135,000 ด่องเวียดนาม (5.4 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อเดือน

    บริษัทได้ประกาศในงานเปิดตัวว่าได้ติดตั้งสถานีฐานรับส่งสัญญาณ 6,500 สถานีใน 63 จังหวัดและเมือง ด้วยความเร็วสูงสุด 1 กิกะไบต์ต่อวินาที หรือ 10 เท่าของบริการ 4G ในปัจจุบัน

    เวียดนามตามหลังโลกในการเปิดตัวบริการ 2G, 3G และ 4G แต่ตอนนี้เวียดนามได้เทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ในการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ และเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่สามารถผลิตอุปกรณ์ 5G ได้เอง พลตรีเทา ดึ๊กทัง ประธานและซีอีโอของ Viettel กล่าว

    Viettel นำเสนอแผน prepaid จำนวน 11 แผน เริ่มต้นที่ 135,000 ด่องเวียดนามต่อเดือน และแผน postpaid อีก 8 แผนเริ่มต้นที่ 200,000 ดองเวียดนามสำหรับลูกค้ารายบุคคล

    ผู้ใช้อุปกรณ์ที่รองรับ 5G สามารถสมัครใช้บริการได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนซิมการ์ด

    Viettel ยังได้เตรียมแผนการใช้งานที่แตกต่างกัน 130 รูปแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ และองค์กรในทุกอุตสาหกรรม โดยมีคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ และ IoT ให้บริการ

    Viettel เริ่มทดลองบริการ 5G ในปี 2562 บนแพลตฟอร์ม 4G และเมื่อต้นปีนี้ก็ได้ทดสอบบริการบนเครือข่าย 5G แบบสแตนด์อโลน และเตรียมติดตั้งสายเคเบิลใต้ทะเลใหม่ 4 เส้น

    5G ซึ่งมีค่าเครือข่ายเวลาแฝงที่ต่ำ คาดว่าจะรองรับบริการที่ต้องการการตอบสนองในทันที เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง การผ่าตัดทางไกล การควบคุมโรงงานอัจฉริยะ และห้องเรียนเสมือนจริง

    กัมพูชาทุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

    การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชนชนบทในรัตนคีรี กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.undp.org/cambodia/news/reaching-cambodias-last-mile-inclusive-and-sustainable-energy-access
    นายแกว รัตนะ รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชากล่าวว่า รัฐบาลกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อขยายขีดความสามารถในการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของประเทศ

    หากกัมพูชาไม่ทุ่มเทเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ก็จะประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะในกระบวนการพัฒนาสังคมและการดึงดูดนักลงทุน นายรัตนะกล่าว

    กัมพูชาต้องการไฟฟ้า 70% จากพลังงานสะอาด เพื่อให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ มีผลบวกต่อกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

    “มีความก้าวหน้าที่สำคัญในการสร้างแหล่งพลังงานใหม่และยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศในพื้นที่เชิงกลยุทธ์” นายรัตนะกล่าวระหว่างพิธีวางศิลาฤกษ์ของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง LPG ขนาด 900 เมกะวัตต์ ในเขตโบตัมสากอร์ จังหวัดเกาะกง เมื่อวันพุธ(16 ตุลาคมที่ผ่านมา)

    รัฐมนตรีกล่าวว่ากัมพูชากำลังมุ่งไปที่การรักษาแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ และต้องการรับพลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อแปลงเป็นไฟฟ้าและลดราคาขายให้กับประชาชนและบริษัทเอกชน

    รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและงบประมาณหลายประการเพื่อสร้างไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต โดยเฉพาะแหล่งพลังงานที่สร้างจากพลังงานสีเขียว

    กัมพูชาตั้งเป้าที่จะเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานทดแทนให้ได้อย่างน้อย 70% ภายในปี 2573 ซึ่งมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นพิเศษ

    ปัจจุบันพลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 62% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของกัมพูชา และกัมพูชายังคงผลักดันให้มีส่วนแบ่งพลังงานสะอาดในโครงข่ายที่เพิ่มมากขึ้น

    ปลายวันที่ 23 กันยายน รัฐบาลอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า 23 โครงการในช่วงปี 2567-2572 โครงการดังกล่าวประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 12 โครงการ โครงการพลังงานลม 6 โครงการ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์รวมชีวมวล 1 โครงการ โครงการ LNG 1 โครงการ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 1 โครงการ และโครงการสถานีกักเก็บพลังงาน 2 โครงการ

    จากโครงการพัฒนา 23 โครงการข้างต้น มีจำนวนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า 21 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 3,950 เมกะวัตต์ และโครงการพัฒนาสถานีเก็บไฟฟ้า 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์

    โครงการข้างต้นมีเงินลงทุนรวม 5,790 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ตามคำแถลง ณ เดือนตุลาคม 99.15%ของหมู่บ้านทั้งหมดในกัมพูชามีไฟฟ้าใช้ รัฐมนตรีกล่าวและว่า โดยปกติโครงการข้างต้นตั้งอยู่ในพระตะบอง โพธิสัต กัมปงชนัง รัตนคีรี มณฑลคีรี พระสีหนุ กัมปงจาม และเปรย จังหวัดเว็ง

    สำหรับโครงการลงทุนด้านพลังงานลมนั้น Royal Group Power ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Royal Group ร่วมกับ Blue Circle ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้ลงทุนในพลังงานลม 250 MW ในจังหวัดมณฑลคีรี

    นายกฯกัมพูชาไฟเขียวบริษัทสหรัฐฯลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501575864/pm-green-lights-us-firm-to-invest-in-aviation-industry/

    เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ฮุน มาแนต ได้เห็นชอบให้กับข้อเสนอของบริษัทกัลฟ์สตรีม แอโรสเปซ คอร์ปอเรชั่น (Gulfstream Aerospace Corporation) ที่ขอลงทุนในอุตสาหกรรมการบินของกัมพูชา

    Gulfstream Aerospace Corporation เป็นผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวที่หรูหรา

    การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมระหว่างนายฮุน มาแนต และคณะผู้แทนที่นำโดยจูเลียน นาร์เกอต รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จาก Gulfstream Aerospace Corporation ในสำนักนายกรัญมนตรี

    นายนาร์เกอต กล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า บริษัท Gulfstream Aerospace Corporation ตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในกัมพูชา

    “ความคิดริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการขยายการเชื่อมต่อเที่ยวบินและภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคและทั่วโลก” นายฮุน มาแนตกล่าว

    นายฮุน มาแนต ตอบรับข้อเสนอการลงทุนของ บริษัทสหรัฐฯรายนี้ โดยชี้ให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งในกัมพูชา และอ้างไปที่โครงการพัฒนาที่รัฐบาลกัมพูชากำลังดำเนินการ เพื่อเร่งการพัฒนาภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญทั่วประเทศ

    นายฮุน มาแนต เน้นย้ำถึงการเติบโตที่สำคัญของอุตสาหกรรมการบินในกัมพูชาว่า การลงทุนในจังหวะที่เหมาะสมจะเป็นโอกาสและข้อได้เปรียบมากแก่บริษัทกัลฟ์สตรีม แอโรสเปซ คอร์ปอเรชั่น

    นอกจากนี้สนับสนุนให้คณะผู้แทนธุรกิจอเมริกันหารือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวง สถาบัน และหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพของภาคการบินของราชอาณาจักร

    นายนาเกอตชื่นชมการพัฒนาอย่างรวดเร็วของกัมพูชาในทุกภาคส่วน โดยกล่าวกับนายกรัฐมนตรีว่า บริษัท Gulfstream Aerospace Corporation เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำของเครื่องบินในสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบและการผลิตเครื่องบินไอพ่นธุรกิจระดับสูง

    ดร. Sinn Chanserey Vutha รัฐมนตรีต่างประเทศและโฆษกสำนักเลขาธิการการบินพลเรือน (SSCA) กล่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องบินไอพ่นสัญชาติอเมริกันรายนี้กำลังมองหาโอกาสและการสนับสนุนในบริการเช่าเหมาลำระดับพรีเมียม โดยเชื่อมโยงกัมพูชากับภูมิภาคและที่อื่นๆ

    เมื่อเห็นถึงความต้องการบริการระดับสูง บริษัทในสหรัฐฯ แห่งนี้จึงแข็งขันที่จะให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งนักการทูตและนักธุรกิจชั้นนำไปยังหลายพื้นที่ รวมถึงสิงคโปร์ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนในด้าน SSCA กัมพูชามีโฮกาส เพราะเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติสามแห่ง เช่น สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติสีหนุวิลล์ และสนามบินนานาชาติเสียมราฐอังกอร์ (SAI) ซึ่งเพิ่งฉลองครบรอบปีแรกหลังเปิดบริการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม

    อีกทั้งเครื่องบินรุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Gulfstream Aerospace Corporation ได้แก่ G650, G700 และ G800 ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องความเร็ว ความสะดวกสบาย และระบบการบินที่ล้ำสมัยเป็นพิเศษ ด้วยสมรรถนะการบินในระยะไกลที่น่าประทับใจ เครื่องบินไอพ่นเหล่านี้มักถูกเลือกสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ต้องการสำหรับการบินธุรกิจระดับโลกและการบินที่หรูหรา

    นายกฯฮุน มาแนต ประกาศกัมพูชาพร้อมออกจากสถานะ LDC

    ที่มาภาพ: https://www.luxuo.com/properties/luxury-locations/promising-outlook-cambodian-real-estate-market.html
    นายกรัฐมนตรี ฮุน มาแนต กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชา (RGC) กำลังเตรียมยุทธศาสตร์ที่จะออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed country :LDC) ภายในปี 2572

    ในระหว่างการเป็นประธานในการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีการเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ของกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ วันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายฮุน มาแนต กล่าวว่า กัมพูชาต้องดำเนินมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่า มีการพัฒนาที่ยั่งยืนหลังการพ้นจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2572

    กัมพูชาได้รับการประเมินจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา (Committee for Development Policy:CDP) ให้ผ่านการพิจารณา 3 ปี เพื่อให้ประเทศพ้นออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้

    นายฮุน มาแนต กล่าวถึงสถานการณ์สำคัญหลังพ้นจากสถานะ LDC ว่า “เราพร้อมที่จะออกจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด แต่เมื่อเราออกไป เราต้องเผชิญอะไร? เราต้องสูญเสียหลักการทางการเงินที่ดีบางประการไป ดังนั้นเราต้องพึ่งพาตนเองและเป็นอิสระ”

    นางจาม นิมูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้กัมพูชาจะออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2572 แต่จะต้องเผชิญกับการสูญเสียสิทธิภาษีพิเศษและกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับสินค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาในตลาดสำคัญๆ

    “กัมพูชาจะต้องเปลี่ยนความท้าทายเหล่านี้ให้เป็นโอกาสด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก การกระจายตลาด การขยายการผลิต เพิ่มมูลค่า เสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้า และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง” นางนิมูลกล่าว

    “งานเหล่านี้กำหนดไว้ในส่วนสภาพแวดล้อมของยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยม(Pentagonal Strategy I) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน”

    นางนิมูลกล่าวต่อว่า เพื่อจัดการกับความท้าทายและส่งเสริมการค้าในบริบทใหม่นี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังพัฒนาและดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนพลัสวัน และ ข้อตกลงทวิภาคี เช่น ข้อตกลงกับกัมพูชา-จีน กัมพูชา-เกาหลีใต้ และกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    กระทรวงจะยังคงเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่กับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อขยายตลาดและเสริมสร้างการส่งออกของกัมพูชา เพื่อให้แน่ใจว่าในข้อตกลงการค้าเสรีขั้นสูงมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น

    นอกจากนี้มุ่งเสริมสร้างการกำกับดูแลภาคเอกชนและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจ การลงทุน และการค้า ผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ได้รับการปรับปรุง และบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านระบบอัตโนมัติ คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความโปร่งใส

    “รัฐบาลยังคงเตรียมและเสริมสร้างการดำเนินการตามกฎหมาย นโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า และร่วมมือกับพันธมิตรด้านการพัฒนาเพื่อดำเนินโครงการศึกษาโดยละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อการค้าและยุทธศาสตร์ของกัมพูชา เพื่อพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างราบรื่น” นางนิมูลเน้นย้ำ

    นายดุช ดาริน นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์แห่ง Royal School of Administration กล่าวกับสำนักข่าว Khmer Times ว่า การเปลี่ยนแปลงของกัมพูชาจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในอนาคต ไม่เพียงแต่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และยังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศกัมพูชาอีกด้วย มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจของตนเองด้วย

    นายดารินกล่าวว่าการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับผลประโยชน์ของการเสริมสร้างความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะทำให้มั่นใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนนี้เป็นก้าวเชิงบวกสำหรับชาวกัมพูชาและอนาคตของประเทศในการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก

    “ความพร้อมของกัมพูชาในการเปลี่ยนจาก LDC สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 2547 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ประมาณ 5.34 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 31.77 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2566” นายดารินกล่าว

    “การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่ากัมพูชาได้สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สามารถดำรงอยู่ได้ ในทางกลับกัน กัมพูชาได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (WTO) จากการเข้าสู่เศรษฐกิจโลกโดยการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ การส่งออกของกัมพูชามีความหลากหลายตั้งแต่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปจนถึงการผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความเปราะบางภายนอก”

    นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมนายเจีย เตชกล่าวกับ Khmer Times ว่า เมื่อกัมพูชาออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จะสูญเสียผลประโยชน์ 3 ประการ ประการแรก สิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ประการที่สองคือการสูญเสียความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือ แต่กัมพูชาจะยังคงได้รับเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนต่อไป และสุดท้ายคือกัมพูชาจะต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า

    “ประโยชน์ที่กัมพูชาจะได้รับจากสถานะหลังพ้นจาก LDC คือ กัมพูชาจะได้รับความนิยมในภูมิภาคและในโลกในแง่ของสถานะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” นายเตชกล่าว

    นายเตชย้ำว่า กัมพูชาจะได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนที่จะลงทุนในกัมพูชาด้วย ประเทศยังสามารถจับตลาดต่างประเทศด้วยการส่งออกไปยังตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น กิจการร่วมค้าจะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกัมพูชา

    “โดยรวมแล้ว การออกจาก LDC จะนำความได้เปรียบมาสู่กัมพูชามากขึ้น และไม่คิดว่าเราควรรออีกต่อไป เนื่องจากยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมของรัฐบาลจะช่วยให้ราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงภายในปี 2573 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593”

    ลาวคืบหน้าในการขจัดความยากจน

    ที่มาภาพ: https://www.rfa.org/english/news/laos/laosinflation40-03082023141918.html
    ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงเกษตรและป่าไม้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการขจัดความยากจนทั่วประเทศลาว แม้ว่าความท้าทายจะยังคงมีอยู่เนื่องจากประเทศมีเป้าหมายที่จะเข้าสู่สถานะประเทศที่พัฒนาแล้ว

    ในปี 2566 ครัวเรือนในลาว 83.13% หรือประมาณ 1,026,083 ครัวเรือน อยู่เหนือเส้นความยากจน ส่งผลให้เหลือครัวเรือนอีก 16.87% หรือ 208,231 ครัวเรือน ที่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน จากการแถลงของนายบัวหง คำหา อธิบดีกรมพัฒนาชนบท ตามรายงานของสื่อของรัฐ

    นายบัวหงให้ข้อมูลว่า หมู่บ้าน 5,855 แห่ง หรือ 69.69% ของทั้งหมด สามารถขยับขึ้นมาอยู่เหนือเส้นความยากจนได้สำเร็จ แต่ยังมีอีกหมู่บ้าน 2,547 แห่ง คิดเป็น 30.31% ยังคงเผชิญกับความยากจนต่อไป ข้อมูลระดับเขตก็บอกได้เช่นเดียวกัน โดยกว่า 70 เขต (48%) ยังคงจัดอยู่ในกลุ่มยากจน ในขณะที่ 77 เขต (52%) ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากความยากจน

    ในด้านการพัฒนา ครัวเรือน 841,454 ครัวเรือน หรือ 68.17% ได้รับการยอมรับว่าพัฒนาแล้ว โดยมี 2,828 หมู่บ้าน หรือ 33.66% เข้าสู่สถานะพัฒนาแล้วทั่วประเทศ

    เมื่อมองไปข้างหน้า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับสภาพความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นไปที่โภชนาการ ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การขนส่ง และบริการที่จำเป็นอื่นๆ นายบัวหงได้สรุปเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงในปีหน้า รวมถึงการช่วยให้ 100,000 ครัวเรือน 1,000 หมู่บ้าน และ 25 เขตหลุดพ้นจากความยากจน ขณะเดียวกันก็มีครัวเรือนที่พัฒนาแล้ว 200,000 ครัวเรือน หมู่บ้านที่พัฒนาแล้ว 2,000 แห่ง และเขตที่เติบโตได้ 20 เขตไปพร้อมๆ กัน

    แม้จะมีความคืบหน้า แต่ลาวก็เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจเกษตรกรรมส่วนใหญ่และรายได้ที่ไม่มั่นคง โครงสร้างพื้นฐานยังคงไม่เพียงพอในหลายพื้นที่ และชุมชนอีกจำนวนมากยังเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้าและการขนส่ง ได้ไม่มาก

    ลาวถูกจัดว่าเป็น 1 ใน 45 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries:LDCs) โดยสหประชาชาติ ณ เดือนธันวาคม 2566

    หากต้องการหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ลาวจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์สามประการที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ประกอบด้วย รายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ต่อหัวอย่างน้อย 1,305 เหรียญสหรัฐ (ปัจจุบันลาวอยู่ที่ 1,996 เหรียญสหรัฐ) มีคะแนนด้านดัชนีสินทรัพย์มนุษย์ (Human Assets Index:HAI) )ที่ 66 หรือสูงกว่า (ลาวได้ 72.8 คะแนน) และคะแนน Economic Vulnerability Index (EVI) 32 หรือต่ำกว่า (ปัจจุบันลาวอยู่ที่ 33.7)

    แม้บรรลุเกณฑ์เหล่านี้ แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ ประเด็นต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเข้าถึงเงินทุนที่จำกัดสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ความไร้เสถียรภาพในการส่งออกสินค้าและบริการ ความผันผวนของการผลิตทางการเกษตร และความจำเป็นในการปรับปรุงข้อมูลและบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า

    ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าลาวยังไม่หลุดพ้นจากสถานะ LDC โดยมีสาเหตุหลักมาจาก EVI สูง ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสถานะจาก LDC ภายในปี 2569 ตามที่นายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของลาวยืนยัน รัฐบาลวางแผนที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กฎระเบียบทางเศรษฐกิจ และการลดความยากจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยกระดับเสถียรภาพโดยรวม