ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
ลุงหมีเป็นคนรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับห้องสมุดเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะผู้ใช้บริการห้องสมุดรูปแบบต่าง ๆ ผู้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมงานห้องสมุดและร่วมสร้างหรือปรับปรุงห้องสมุด อีกทั้งได้ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเขียนอยู่เสมอมาตลอดช่วงชีวิตของลุงหมี
เมื่อ 70 ปี ก่อน ตอนอายุ 8 ปี ลุงหมีอ่านหนังสือได้แล้ว คุณพ่อเป็นคนชอบอ่านและสะสมหนังสือ ลูก ๆ เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากคุณพ่อก็จะไปค้นหนังสือจากชั้นเก็บหนังสือเพื่ออ่านเรื่องราวให้ละเอียดขึ้น ทำให้รู้จักคุณค่าของการอ่านหนังสือกันตั้งแต่เด็ก อีกทั้งที่บ้านคุณยายมีชั้นหนังสือให้ค้นหาอ่านมากมายเพราะลูกสาวคุณป้าซึ่งอยู่ที่บ้านนั้น คือ อาจารย์อุทัย ทุติยะโพธิ อาจารย์อาวุโสของวงการบรรณารักษ์ จึงทำให้ลุงหมีรู้จักว่าหากอยากอ่านหนังสือเรื่องใหม่ ๆ นอกจากชั้นหนังสือในบ้านแล้ว ยังมีห้องสมุดสำหรับประชาชนให้ไปหาหนังสืออ่านอีกด้วย ช่วงวัย 10-17 ปี คุณพ่อรับราชการใน 3 จังหวัด ตัวเองก็จะคุ้นเคยกับบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนในจังหวัดเหล่านั้น เพราะไปถามหาหนังสือใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ช่วงวัย 13-15 ปี ลุงหมีเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เพลิดเพลินกับการขอยืมหนังสือจากห้องสมุดโรงเรียนมาอ่านที่บ้านเป็นอย่างมาก เรียกว่ารู้จักหนังสือเป็นตู้ ๆ เลย และยังได้ไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ห้องสมุดของสถาบัน AUA กับ British Council จึงทำให้ตอนอยู่ชั้น ม.6 ลุงหมีชนะเลิศการประกวดเรียงความสำหรับเด็กชั้นมัธยมจัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “ห้องสมุดที่ดีในความเห็นของข้าพเจ้า” เมื่อลุงหมีลองเอาเรียงความฉบับนั้นมาอ่านดูใหม่ ก็ยังรู้สึกว่าได้ระบุถึงคุณลักษณะของห้องสมุดที่ดีไว้ครบถ้วน เพียงแต่ในยุคปัจจุบันลักษณะของสื่อและแนวทางให้บริการจะมีความทันสมัยมากขึ้น ดังตารางข้างล่าง
วัย 19-27 ปี ลุงหมีเรียนชั้นมหาวิทยาลัยที่ประเทศสหรัฐ ทำให้ได้พบเห็นห้องสมุดรูปแบบแตกต่างจากห้องสมุดที่เมืองไทยในวัยเด็กกล่าวคือ ในระดับปริญญาตรีเรียนที่ Williams College เป็น Liberal arts college เก่าแก่ อายุ 231 ปี หอสมุดจึงเป็นตึกโบราณดูสง่างาม มีหนังสือทั้งรุ่นโบราณและสมัยใหม่มากมาย ทำให้ลุงหมีได้เห็นต้นแบบหนังสือเก่า (manuscript) อย่างหลากหลาย จึงเข้าใจถึงคุณค่าของหอจดหมายเหตุ
และที่ชอบมาก คือ มี Music library ให้ลุงหมีไปนั่งฟังเพลงคลาสสิคหรือขอยืมแผ่นเสียงไปเล่นเองกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ห้องตัวเองในหอพักนักศึกษาได้
ส่วนในระดับปริญญาเอก ลุงหมีเรียนที่สถาบัน MIT ซึ่งมีความก้าวหน้าทางวิชาการสูงมาก ลุงหมีได้รู้ว่าห้องสมุดเฉพาะทางของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์มีหนังสือและ journal ทางเศรษฐศาสตร์ให้อ่านและสืบค้นข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยได้เต็มที่ มีห้องพิเศษเก็บต้นฉบับวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา MIT ระดับปริญญาเอก (หลายคนต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์) บรรณารักษ์มีบริการช่วยขอยืมต้นฉบับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นมาให้ใช้ประโยชน์ด้วย (เมื่อ 55 ปีก่อนยังไม่มีเทคโนโลยี online) และสิ่งพิเศษสำหรับห้องสมุดที่ MIT คือ ที่ศูนย์นักศึกษา (student union) ชั้นบนสุด เป็นห้องสมุดที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หากลุงหมีไปใช้บริการจนดึกถึงตีหนึ่งตีสอง จะเห็นนักศึกษา MIT นอนหลับอยู่ใต้โต๊ะนั่งอ่านหนังสือเป็นประจำ ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการได้ทุกเวลา (ไม่ได้จำกัดเฉพาะเวลาเปิดทำงาน)
เมื่อเรียนจบจากอเมริกาแล้ว ลุงหมีทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 25 ปี (จนได้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้ทำด้านงานสายวิชาการมาตลอด โดยดูแลงานห้องสมุดด้วย ลุงหมีสนับสนุนงานของห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ คุ้นเคยและนับถือพี่กัทลี สมบัติศิริ บรรณารักษ์อาวุโสของวงการบรรณารักษ์อีกคนหนึ่ง ลุงหมีสนับสนุนการจัดหาหนังสือวิชาการและวารสารวิชาการ (journal) ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยช่วยคัดเลือกหนังสือด้วยตัวเอง
จนห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้นขึ้นชื่อในหมู่อาจารย์และนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าถ้าอยากอ่านหนังสือหายากด้านเศรษฐศาสตร์ก็มาที่ห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้
หลังจากพ้นตำแหน่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ลุงหมีก็ยังกลับไปช่วยงานห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่อีก เช่น ไปจัดทำการบรรยายแนะนำหนังสือดีที่ห้องสมุด และที่สำคัญ คือ ในวาระที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอายุครบ 75 ปี ลุงหมีเป็นหัวแรงในการจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยอันประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุ โดยออกแบบให้งานสามด้านมีความเชื่อมโยงกัน คือ เมื่อผู้คนมาชมเนื้อหาสาระของพิพิธภัณฑ์แล้ว สามารถหาความรู้เพิ่มเติมหรือต่อยอดได้จากมุมหนังสือที่ห้องสมุด และในด้านเรื่องราวที่เก่ามากๆ ก็ไปสืบค้นต้นเรื่องที่หอจดหมายเหตุได้
สำหรับโรงเรียนเก่าของลุงหมี คือ โรงเรียนเทพศิรินทร์นั้น ลุงหมีก็กลับไปช่วยงานห้องสมุดเช่นกัน ด้วยการช่วยปรับปรุงห้องสมุดให้ทันสมัยขึ้น เรียกว่าเป็น DS learning center (DS ย่อมาจาก Debsirin School) โดยปรับปรุงสถานที่ จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ จัดทำห้อง conference เชื่อมต่อการสื่อสารของโรงเรียนเทพศิรินทร์ไปยังโรงเรียนเครือเทพศิรินทร์อื่นและจัดทำห้องนักเขียนเทพศิรินทร์ขึ้น (เพราะเทพศิรินทร์สร้างนักเขียนมีชื่อมากมายในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา) อีกทั้งทำโครงการแนะนำหนังสือและสอนการเขียนหนังสือด้วย
ในวัย 59 ถึง 65 ปี ลุงหมีรับตำแหน่งประธานบริหารของธนาคารกรุงไทยได้จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมด้านการศึกษา โดยอุปถัมภ์โรงเรียนมัธยมไว้ 95 แห่งทั่วทุกจังหวัด งานด้านหนึ่งที่ลุงหมีลงมือทำด้วยตัวเอง คือ การส่งเสริมการอ่านและการเขียน โดยลุงหมีทำโครงการอ่านหนังสือดีกับวินนี่ เดอะ ปุ๊ (นามปากกาในงานเขียนของลุงหมี) คัดเลือกหนังสือแนะนำ 124 เล่มและจัดหาหนังสือเหล่านั้นครบชุดทำเป็นตู้หนังสือมอบให้โรงเรียนที่อุปถัมภ์ไว้ และจัดทีมนักเขียน (ทำร่วมกับสมาคมนักเขียนฯ ซึ่งลุงหมีเคยเป็นอุปนายกสมาคมมาก่อน) ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจและให้ความรู้ด้านการอ่านและการเขียน โครงการนี้ลุงหมีทำงานร่วมกับครูภาษาไทยและบรรณารักษ์ของโรงเรียนต่าง ๆ โดยในบางโรงเรียนได้ช่วยจัดทำห้อง audio visual ให้ห้องสมุด เพื่อเผยแพร่หนังสารคดีที่น่าสนใจต่อเด็กนักเรียนด้วย

ช่วงวัย 69 ถึง 74 ปี ลุงหมีรับตำแหน่งประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังคงสนับสนุนงานห้องสมุดมารวยของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นห้องสมุด digital ที่ทันสมัย ลุงหมีมักจะพาแขกของลุงหมีไปแวะชมพิพิธภัณฑ์ INVESTORY และห้องสมุดมารวย ล่าสุดได้จัดงานอ่านบทกวีที่ห้องสมุดมารวย ในฐานะประธานมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุงหมีจัดทำโครงการร่วมกับสมาคมห้องสมุดฯ อาทิ ขยายบทบาทห้องสมุดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และให้คำแนะนำส่วนตัวต่อผู้บริหารสมาคมห้องสมุดฯ ให้จัดทำโครงการนำร่อง ‘ห้องสมุดมนุษย์’ ด้วย
ยังมีกิจกรรมที่ลุงหมีทำเป็นส่วนตัวกับสมาคมห้องสมุดฯ อีก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกในฐานะผู้จัดการมรดกของอาจารย์อุทัย ทุติยะโพธิ ลุงหมีได้มอบเงินจากกองมรดกให้แก่สมาคมห้องสมุดฯ เพื่อจัดทำห้องประชุมอาจารย์อุทัย ทุติยะโพธิ ขึ้นมา และเรื่องที่สองระหว่างนี้ลุงหมีกำลังทำตัวให้เบาลงและจากไปอย่างมีคุณค่าโดยไม่ทิ้งภาระให้ผู้อยู่ข้างหลังจึงได้ทยอยมอบหนังสือที่ลุงหมีสะสมไว้มากกว่าพันเล่มให้แก่สมาคมห้องสมุดฯ เพื่อแจกจ่ายต่อให้แก่ห้องสมุดต่างจังหวัด งานนี้ยังทำอย่างต่อเนื่องเพราะลุงหมียังมีหนังสือเหลืออยู่ที่บ้านอีกหลายตู้

งานด้านส่งเสริมการอ่านและการเขียนซึ่งลุงหมีทำต่อเนื่องมายาวนาน คือ การกระตุ้นให้เด็กสนใจการอ่านหนังสือ ลุงหมีเริ่มทำงานด้านนี้ตั้งแต่วัย 38 ปีเศษเมื่อลุงหมีมีลูกเล็ก 2 คน ลุงหมีเล่าเรื่องน่าสนใจต่าง ๆ ให้ลูกฟังตามวัยของเขาทำทั้งเวลาว่างตอนกลางวัน ตอนก่อนนอนและในช่วงขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน (เรียกว่าลูกได้เรียนรู้จากเรื่องเล่าของพ่อ) โดยจัดมุมหนังสือสำหรับเด็กให้ลูกค้นพบเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตัวเอง มีทั้งหนังสือภาพ วรรณกรรมเด็กและเยาวชนและหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ อีกทั้งมอบเงินให้ลูกไปหาซื้อหนังสือที่ตัวเองชอบและจัดมุมหนังสือส่วนตัวเอง
ลูกสาวของลุงหมีคนที่อยู่ที่อเมริกาเป็นคนรักการอ่านหนังสือมาก จึงถ่ายทอดนิสัยการรักหนังสือสู่ลูกของเธอ หลานลุงหมีมีวัย 4 ขวบถึง 12 ขวบ สามคนต่างมีมุมหนังสือในห้องนอนของตัวเอง ทุกคืนพ่อแม่จะอ่านหนังสือก่อนนอนกับลูก และยังมีหนังสือสำหรับเด็กเป็นกองกลาง ในโอกาสพิเศษทุกปี คุณแม่จะจัดชั้นหนังสือตามหัวข้อซึ่งให้ลูกหยิบมาอ่านโดยสะดวก เช่น โอกาสวันคริสต์มาส วันวาเลนไทน์ วันรักษ์โลก (Earth day) เป็นต้น
ปัจจุบัน บ้านลูกสาวมีหนังสือสำหรับเด็กประมาณ 800 เล่มถือเป็นห้องสมุดย่อยได้เลย เมืองที่ลูกสาวอยู่มีห้องสมุดเด็กที่ทันสมัยและบรรยากาศดีเพราะอยู่นอกเมือง ด้านหนึ่งของห้องสมุดมองเห็นสนามหญ้าเขียวและป่าละเมาะ (ทำนองเดียวกับห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทยมีมุมมองรื่นรมย์เห็นแม่น้ำเจ้าพระยา) ห้องสมุดนี้มีกิจกรรมน่าสนใจเรียกว่า ‘story time’ ทุกเดือน โดยมีทีมบรรณารักษ์มาเล่านิทาน อ่านหนังสือคัดเลือกให้เด็กฟัง สอนให้ฟังเพลงและให้เด็กช่วยขับร้องและเต้นตามจังหวะ กิจกรรมนี้เด็กเล็กจะมากับแม่หรือผู้ปกครอง จึงสามารถนำกิจกรรมไปทำต่อที่บ้านได้

ด้วยความสนใจการส่งเสริมการอ่านในวัยเด็ก ลุงหมีจึงร่วมทำกิจกรรมกับองค์กรสองแห่งมานานเกือบ 20 ปีแล้ว คือ ส่งเสริมการสอนของสาขาวรรณกรรมเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยการช่วยบรรยายหัวข้อแนะนำหนังสือดีและจัดรางวัลวินนี่ เดอะ ปุ๊ มอบให้แก่สารนิพนธ์ดีเด่นของนักศึกษาทุกปี บางครั้งยังร่วมไปเล่านิทานให้เด็กฟังกับอาจารย์และนักศึกษาของสาขานี้ อีกองค์กรหนึ่ง คือ มูลนิธิ SCG ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือนานกว่า 10 ปี ลุงหมีช่วยแปลหนังสือภาพรางวัลระดับโลกออกเป็นภาษาไทยให้ปีละเล่ม รวมทั้งหมด 8 เล่ม ไปร่วมพูดคุยกับพ่อแม่และเด็กในกิจกรรม ‘นิทานในสวน’ อีกทั้งนำโครงการแนะนำพ่อแม่มือใหม่มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรที่ลุงหมีเป็นผู้นำสองแห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ การร่วมงานกับมูลนิธิ SCG ทำให้ลุงหมีมีโอกาสไปดูงานห้องสมุดที่น่าประทับใจของญี่ปุ่น 2 รูปแบบ คือ ห้องสมุดกลุ่มแม่บ้านและห้องสมุดสำหรับคนตาบอด ทำให้ลุงหมีได้แนวความคิดดี ๆ มาต่อยอดการทำงานของลุงหมีในด้านนี้ที่เมืองไทย

การทำงานด้านส่งเสริมให้เด็กสนใจการอ่าน และต่อยอดการเรียนรู้ให้ครบทุกมิติของ อ่าน-คิด-พูด-เขียน เป็นการทำงานด้วยใจรักและสอดคล้องกับความเชื่อของลุงหมีว่า ‘อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับคนมีคุณภาพ ซึ่งต้องสร้างตั้งแต่วัยเด็ก’