ThaiPublica > คอลัมน์ > จากบ่อน 1.0 ถึงกาสิโน 5.0

จากบ่อน 1.0 ถึงกาสิโน 5.0

24 ตุลาคม 2024


ธนากร คมกฤส

บนเส้นทางของการพยายามจะมีกาสิโนถูกกฏหมายในประเทศไทย เราเคยผ่านประสบการณ์อะไรมาแล้วบ้าง และอะไรคือบทเรียนสำคัญที่สังคมไทยเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา เพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำรอยเดิม

ยุค 1.0 “บ่อนบ้าน”
“บ่อน” หมายถึงอะไร

คำว่า “บ่อน” มีความหมายว่า แหล่งที่เป็นที่ชุมนุมกันเพื่อการบางอย่าง เช่น บ่อนสักวา บ่อนนิทาน

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคนทั่วไปน่าจะหมายถึง “แหล่งเป็นที่ชุมนุมกันเพื่อเล่นการพนัน เช่น บ่อนไก่ บ่อนเบี้ย บ่อนไพ่”

สยามประเทศน่าจะมีบ่อนมาตั้งแต่โบราณ แบบที่เรียกว่า “บ่อนบ้าน” เช่น บ่อนตีไก่ กัดปลา ชนโค วิ่งควาย แข่งเรือ หรืออื่นๆ จึงเรียกง่ายๆ ว่า บ่อนยุค 1.0 คือบ่อนแบบเล่นกันเองของชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า “บ่อนบ้าน”

ยุค 2.0 “บ่อนเบี้ย”

จวบจนสมัยอยุธยาเจริญรุ่งเรือง เริ่มมีการทำมาค้าขายกับต่างประเทศมีการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนมากขึ้น เกิดการนำพาการพนันแบบจีนเข้ามาและเริ่มเล่นกันอย่างแพร่หลาย ที่นิยมกันมากในช่วงนั้น คือ “โป” หรือ “ถั่วโป” ในช่วงนั้นทางการจึงอนุญาตให้ชาวจีนตั้งบ่อน โดยต้องจ่ายอากรให้แก่ผู้ปกครอง และเรียกกันในสมัยนั้นว่า “บ่อนเบี้ย”

ความนิยมในการพนัน “ถั่วโป” นี้ไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มชาวจีนเท่านั้น แต่ได้ลุกลามมายังชาวกรุงศรีอยุธยาด้วย ซึ่งนอกจากถั่วโปแล้วก็ยังมี “ไป๊” ซึ่งแผลงมาเป็น “ไพ่” และ “ฮวยหวย” ซึ่งก็คือ “หวย” อันเป็นการพนันจีนเป็นการพนันยอดนิยมตามมาด้วย

บ่อนเบี้ยนี้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ทางการ แต่ก็สร้างผลกระทบทางสังคมไม่น้อย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ คือ บันทึกของเอกอัครราชทูตพิเศษฝรั่งเศส ‘มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์’ ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ใน พ.ศ. 2230 (ใครที่เป็นแฟนละครบุพเพสันนิวาสภาคแรกคงพอจะนึกภาพเหตุการณ์นี้ได้) มอซิเออร์ลาลูแบร์ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า

“ชาวสยามค่อนข้างรักการเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนยอมผลาญตัวเองให้ฉิบหายได้
ทั้งเสียอิสรภาพความชอบธรรมของตัวเองหรือลูกเต้า
เมืองนี้ใครไม่มีเงินพอจะใช้เจ้าหนี้ก็ต้องขายลูกใช้หนี้สิน
แม้ถึงเช่นนี้แล้วก็ยังมิพอเพียง ตัวเองก็ต้องกลายตกเป็นทาส…”

นี่น่าจะยุค 2.0 เป็นยุคตั้งต้นของ “บ่อน” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในบ้านเรา

บ่อนเบี้ยคงความนิยมต่อเนื่องมา แม้ผ่านช่วงเวลาจากสมัยเสียกรุงมาจนธนบุรี พระเจ้าตากก็ทรงอนุญาตให้ไพร่พลเล่นพนันเพื่อให้ผ่อนคลายจากภาวะการทำสงคราม

จวบจนมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากสงครามกับรอบข้างเริ่มสงบลง จนถึงยุครุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม ในสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบ่อนจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพัฒนสมบัติ” ในช่วงนั้น ทางการสามารถเก็บอากรบ่อนเบี้ยได้คิดเป็นเงินบาทปัจจุบันได้ถึงค่าปีละ 260,000 บาทเลยทีเดียว

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้กำหนดให้เพิ่มภาษีจากอากรบ่อนเบี้ย แต่กระนั้นก็ยังสามารถเก็บภาษีได้ถึงปีละ 500,000 บาท โดยเฉพาะในแขวงกรุงเทพมหานคร มีบ่อนใหญ่อยู่ถึง 126 ตำบล และยังมีบ่อนเบี้ยขนาดเล็กอีกประมาณ 277 ตำบล

จึงนับได้ว่าอากรจากบ่อนเบี้ยทำรายได้ให้กับทางการอย่างเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

ยุค 3.0 “ปิดบ่อน”

ต่อเมื่อสยามประเทศเริ่มเป็นปึกแผ่นและการคลังของชาติเริ่มมั่นคง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า “การมีราษฎรมัวเมาในการพนันย่อมเป็นเหตุนำไปสู่ความวิบัติ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมในความมั่นคงของประเทศชาติ” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปรับปรุงงานพระคลัง เพื่อหารายได้อื่นมาทดแทนรายได้จากอากรบ่อนเบี้ย โดยมีประกาศเริ่มลดจำนวนบ่อนลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2449 โปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยที่อยู่ตามหัวเมืองทั้งหมดทุกมณฑล และค่อยๆ ลดจำนวนบ่อนที่เหลือในกรุงเทพฯ ลงเพียง 9 ตำบล ต่อมา ทรงโปรดให้เลิกหวยและบ่อนเบี้ยทั้งหมด และทรงตั้งพระราชบัญญัติห้ามเล่นหวยเล่นถั่วโปในพระราชอาณาจักร โดยมีพระราชประสงค์ให้ไพร่บ้านพลเมืองได้มีเงินไว้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นประโยชน์แก่ตน

ในเหตุการณ์ช่วงนี้มีประวัติศาสตร์สำคัญที่คนไทยควรรู้ คือ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ทรงเสด็จเยือนมอนติกาโล เมืองที่มีชื่อเสียงของกาสิโน และทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขาพระราชทานแด่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

“…ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจ ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไร ถ้าชาวบางกอกได้รู้ ไปเล่นแล้วฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากว่าไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไร จะรอช้าแต่สักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที”

พระราโชบายปิดบ่อนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินมาเรื่อยจวบจนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การปิดบ่อนรวมทั้งหวย ก ข ทั่วราชอาณาจักรจึงสำเร็จ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2460 โดยทรงมีพระราชดำริที่จะชักนำประชาชนให้ออมเงินแทนการเล่นพนัน จึงได้มีการตั้งคลังออมสินขึ้น มาตั้งแต่ พ.ศ. 2456 เป็นที่มาของธนาคารออมสินในปัจจุบัน

จะเห็นว่ากว่าทั้งสองพระองค์จะทรงเลิกบ่อนเบี้ยได้ ต้องใช้เวลานานร่วม 30 ปีทีเดียว

ยุค 4.0 กาสิโนโดยรัฐบาล

น่าสังเกตว่า “ยามใดที่เศรษฐกิจฝืดเคือง แนวคิดเรื่องบ่อนพนันถูกกฎหมายมักจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา”

ไม่ต่างกับยามใดที่มีเหตุการณ์วิบัติขึ้นในโลก เช่น โรคระบาดหรือสงคราม เรื่องเล่าถึงนอสตราดามุส ผู้ถูกขนานนามว่า “ผู้หยั่งรู้อนาคต” มักจะถูกนำมาอ้างถึงเสมอ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองไปทั่วโลก สืบเนื่องจากภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ทรงริเริ่มให้ร่าง พระราชบัญญัติการพนันขึ้น ในพี พ.ศ. 2473 เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนว่า พนันชนิดใดอนุญาตให้มีได้ ชนิดใดต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ทันได้ประกาศใช้

อาจลองทำความเข้าใจว่า มองไปใกล้บ้านเราขณะนั้น ผลจากลัทธิล่าอาณานิคมที่อยู่มายาวนาน ได้ก่อกำเนิดแหล่งเล่นพนันขนาดใหญ่ขึ้นแห่งแรกในทวีปเอเซีย บนดินแดนที่ชื่อว่า “มาเก๊า”

มาเก๊าเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างพ่อค้าชาวโปรตุเกสและชาวพื้นเมือง ทำให้โปรตุเกสขอเช่าพื้นที่ตรงมาเก๊าจากจีน และพัฒนาที่นี่จนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ

ปี 1847 มาเก๊าได้รับการอนุญาตให้ดำเนินกิจการคาสิโนหรือสถานบันเทิงที่มีกิจกรรมการพนันเป็นหลักได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้อาณานิคมแห่งนี้กลายเป็นดินแดนแห่งอุตสาหกรรมคาสิโนแห่งแรกของเอเชีย

บ่อนคาสิโนเติบโตและขยายตัวขึ้น จนทำรายได้ให้เจ้าอาณานิคมชาวโปรตุเกสอย่างมหาศาล

หันกลับมาบ้านเรา… ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของมาเก๊าบวกกับประสบการณ์การไปศึกษายังประเทศตะวันตก ทำให้คณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 น่าจะมีแนวคิดจะตั้งกาสิโนในประเทศไทย เพราะเพียง 2 ปีเศษหลังจากนั้น 28 มกราคม พ.ศ. 2478 คณะราษฎรก็ประกาศให้มีกฎหมายการพนันขึ้นมาเป็นฉบับแรก ที่เปิดช่องให้มีบ่อนการพนันที่จัดการโดยรัฐได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และนี่น่าจะนับเป็นยุค 4.0 ของบ่อนพนันไทย คือ ยุคที่มีการตั้งกาสิโนโดยรัฐบาลดำเนินการเอง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรคิดถึงเรื่องนี้ น่าจะมาจากการประกาศยกเลิกภาษีรัชชูปการ (คือภาษีบุคคลซึ่งคิดตามฐานรายหัว โดยไม่คำนึงว่าแต่ละคนจะมีรายได้เท่าไหร่ เป็นภาษีที่พัฒนามาจากภาษี “เงินค่าราชการ” เพราะว่าการเก็บเงินค่าราชการ เป็นระบบคู่ขนานกับการเกณฑ์แรงงานไพร่ ดังนั้นจึงเป็นภาษีที่เรียกเอากับบุคคลที่เป็นพลเมือง) ที่เป็นภาษีสำคัญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเขียนถึงเรื่องนี้ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 มีนาคม พ.ศ. 2551 สรุปความว่า รัฐบาลจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้ชดเชยเงินรัชชูปการที่ได้ยกเลิกไป ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้แสวงหาทางออกหลายทาง เช่น ขึ้นภาษีสินค้าขาเข้า จังกอบการศึกษา ภาษีมหรสพ ค่าธรรมเนียมต่างด้าวเข้าเมือง เป็นต้น รวมทั้งข้อเสนอเรื่องภาษีพนันและกาสิโน ของขุนสมาหารหิตะคดี และควง อภัยวงศ์ (รายงานการประชุมครม.ครั้งพิเศษที่ ๑/๒๔๘๑ ตอนที่ ๒ วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๑)

“อีก 2 เดือนต่อมา ในที่ประชุม ครม. วันที่ 3 มีนาคม 2481 ได้มีการนำเสนอ “บันทึกเรื่องการปรับปรุงภาษีอากร” กำหนดกรอบการยกเลิกรัชชูปการและอากรค่านา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลรายได้ลดลงปีละกว่า 12 ล้านบาท (รัชชูปการ 6.8 ล้าน อากรค่านา 5.4 ล้าน และมีภาษีอากรย่อยอื่นๆ ที่เลิกอีก) และวิธีที่จะหารายได้จากทางอื่นมาชดเชย ในบรรดามาตรการหารายได้ทางอื่นมาชดเชย คือการตั้ง “สถานกาสิโน” ของรัฐบาล โดยจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา”

“ภายในสถานกาสิโนนี้ ผู้ที่จะเข้าไปได้จะต้องเสียค่าธรรมเนียม วันหนึ่งคนละ 20 บาท ถ้าเป็นคนต่างด้าว คนหนึ่งวันละ 2 บาท [ถ้าเป็นคนสยาม] สถานกาสิโนจะตั้งที่หัวหิน ลพบุรี พิษณุโลก หนองคาย เบตง และจะเปิดเฉพาะฤดูเทศกาลเท่านั้น”

“ต้นเดือนพฤษภาคม 2482 กระทรวงการคลังได้ทดลองเปิด “สถานกาสิโน” ของรัฐบาลขึ้นจริงๆ เป็นเวลา 2 วันที่หัวหิน แต่ไม่ได้ผลเต็มที่ ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 15 พฤษภาคม จึงให้แก้กฏกระทรวงที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ พร้อมกับเสนอสถานที่เปิดกาซิโนของรัฐบาลเพิ่มเติมรวม 11 แห่ง” (รายงานการประชุม ครม. ครั้งที่ ๕/๒๔๘๒ วันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๘๒)

“อนึ่ง สถานที่ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่าควรจะเปิดต่อไปนั้น ให้มีดังต่อไปนี้ (๑) หัวหิน (๒) เชียงรายหรือเชียงแสน (๓) หนองคาย (๔) นครพนม (๕) มุกดาหาร (๖) อุบลราชธานี (๗) คลองใหญ่หรือตราด (๘) สงขลาหรือหาดใหญ่ (๙) ภูเก็ด (๑๐) เบตง และ (๑๑) สุไหงโกลก”

แต่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้แล้ว ก็ไม่พบว่ามีการนำเรื่องสถานกาสิโนขึ้นพิจารณาอีก อาจเพราะรัฐบางมีเรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่าจนเรื่องนี้ถูกพักไป

กาสิโนกลับมาเป็นข่าวฮืฮฮาอีกครั้ง ในปีพ.ศ. 2488 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ปัดฝุ่นตั้งสถานกาสิโนขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

ปรากฎว่า ถึงวันที่ 10 พฤษภาคมปีเดียวกัน เฉพาะในกรุงเทพ สถานกาสิโนทำรายได้ถึง 12.94 ล้านบาท หรือ 22.8% ของงบประมาณรายได้ประจำเดือน ซึ่งถ้ารวมกาสิโนทั้งประเทศ ทำรายได้กว่า 24.13 ล้านบาท เรียกได้ว่าทำเงินถล่มทลาย

แต่สุดท้าย สถานกาสิโนดังกล่าวก็ต้องปิดตัวลง เนื่องจากประชาชนเล่นการพนันกันจนหมดเนื้อหมดตัว บางรายถึงกับฆ่าตัวตาย

ยุค 4.0 ของกาสิโนโดยรัฐก็ยุติลงในระยะสั้นเพียง 82 วันเท่านั้น

นี่คือ 4 ยุคที่ผ่านมาของบ่อนพนันในประเทศไทย ที่ดูเหมือนกำลังพยายามจะก้าวเข้าสู่ยุคต่อไป คือ 5.0 -ยุคของกาสิโนโดยกลุ่มทุน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางข้างหน้าของกาสิโนไทยจะเป็นอย่างไร…