
หลักนิติธรรมถือกำเนิดขึ้นในโลกด้วยความตระหนักว่า อำนาจเป็นสิ่งที่เป็นดาบสองคม คน หรือ กลุ่มคนที่มีอำนาจมาก มีโอกาสสร้างอันตรายต่อผู้อื่นได้มาก ยิ่งมีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด และใช้โดยไม่ถูกตรวจสอบ ก็ยิ่งอันตรายที่สุด ดังนั้น จึงได้มีการสร้างหลักการต่าง ๆ ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้ใครใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ การจำกัดอำนาจรัฐให้อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเหมาะสม เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของหลักนิติธรรม และเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดรหัสวิกฤติหลักนิติธรรมในสังคมไทย” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม โดยมีวิทยากรจากแวดวงวิชาการร่วมกันคลี่วิกฤติปัญหาหลักนิติธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ
ถอดรหัสผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์การเมือง
นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยการสร้างหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย” โดยชี้ให้เห็นว่าความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย ปรากฏให้เห็นผ่านหน้าสื่อหลายต่อหลายคดีสำคัญ โดยเกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรณีตำรวจปรับแต่งหลักฐาน หรือ วิ่งเต้นล้มคดี อัยการฉวยใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องศาล เพื่อแลกผลประโยชน์ หรือ การแทรกแซงคำพิพากษาของศาล ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ หากนับจากการผลักดันการปฏิรูปครั้งใหญ่สุดในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน
จากการวิเคราะห์ พบว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า และไม่ปกป้องสิทธิของผู้ต้องหา สะท้อนจากคะแนนดัชนีหลักนิติธรรม ซึ่งมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้คะแนนด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็ม และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทั้งในด้านประสิทธิภาพการสอบสวน ประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินคดี และการคุ้มครองครองสิทธิของผู้ต้องหา ยิ่งกว่านั้นคือคนไทยเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมมากกว่ากระบวนการยุติธรรม จากผลการสำรวจพบว่าตำรวจและอัยการได้คะแนนความเชื่อมั่นต่ำกว่ากฎแห่งกรรม ขณะที่ศาลเองก็ได้รับความเชื่อมั่นมากกว่ากฎแห่งกรรมเพียงเล็กน้อย (ที่มา: ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ และคณะ, 2022)
หากพิจารณาจากสิ่งที่ต้องการปฏิรูป ก็พบว่ามักได้ผลในทางตรงข้าม เช่น ต้องการลดโทษอาญาเฟ้อ แต่กลับมีการใช้โทษอาญาเพิ่มขึ้น จาก 302 ฉบับก่อนปี 2540 เป็น 428 ฉบับในปัจจุบัน หลายความผิดสามารถใช้โทษอื่นแทนได้ เช่น การเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด การทำหนังผิดศีลธรรม การหมิ่นประมาท การจ่ายเช็คเด้ง (ไม่ใช่การปลอมแปลงเช็ค) หรือแม้แต่การแต่งชุดนักศึกษาโดยไม่มีสถานะ ก็ยังคงเป็นโทษอาญาอยู่ในปัจจุบัน หรือเราต้องการแก้ไขปัญหาการฝากขังซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ถูกตัดสิน แต่การฝากขังไว้ก่อน ก็ยังเป็นแนวทางหลักของกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้มีคนเข้าไปอยู่ในคุกเกินความจำเป็น

“โทษอาญาเฟ้อนอกจากจะทำร้ายคนโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังส่งผลกระทบในหลายมิติ คนที่ติดคุกมีต้นทุนชีวิตต้องสูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาสในการทำงาน มีประวัติอาชญากรติดตัว นอกจากนี้ ยังสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน โดยมีต้นทุนภาครัฐในการดำเนินคดีอาญากว่า 1.25 แสนบาทต่อคดี”
นายฉัตร กล่าวต่อว่า ภาพที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อคดีมากล้น ตำรวจ อัยการ และศาล ก็ต้องทำงานหนักขึ้น โดยในปี 2565 มีคดีที่ตำรวจรับแจ้งความมากถึง 8.3 แสนคดี มีสำนวนคดีเข้าสู่การพิจารณาของอัยการ 5.9 แสนคดี และมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น 6.6 แสนคดี คิดเป็นภาระงานต่อคนต่อปีของตำรวจ 71 คดี อัยการ 144 คดี และผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 195 คดี และเพื่อไม่ให้มีงานตกค้าง ตำรวจ อัยการ และศาล ต้องใช้เวลาทำงานเฉลี่ยต่อคดี 3.4 วัน 1.7 วัน และ 1.4 วัน ตามลำดับ ซึ่งนำมาสู่แรงจูงใจในการทำงานแบบเอาตัวรอด เน้นใช้วิธีลด หรือ เร่งทำคดีให้จบมากกว่าคำนึงถึงความเป็นธรรม เช่น ตำรวจ “เป่าคดี” ไม่รับแจ้งความ ทำสำนวนแบบไม่รัดกุม อัยการเร่งสั่งฟ้องไปก่อน ไม่ได้ตรวจสอบสำนวนอย่างรอบคอบ ศาลรีบตัดสินโทษโดยไม่สั่งหาข้อมูลจำเลยที่อาจเป็นเหตุให้ลดโทษได้ แต่หากเป็นคดีนโยบายก็จะทำกันอย่างเต็มที่
ติดกับ “ระบบอภิบาลแบบปิด” – รัฐเป็นใหญ่-มองคนไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยเชิงสถาบันพบว่า สาเหตุที่ทำให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามนั้น เพราะมีเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง วัฒนธรรม ทัศนคติหรือความไว้เนื้อเชื่อใจของคน และบรรทัดฐานทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการปฏิรูปให้ตำรวจ อัยการ และศาลทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้อัยการเข้าไปกำกับตั้งแต่การสืบสวนสอบสวนในช่วงต้นคดีเพื่อให้สำนวนแข็งแรงขึ้น แต่ตำรวจมักจะแย้งว่าอัยการไม่เชี่ยวชาญพอจะคุมการสอบสวน หรือต้องการปฏิรูปให้อัยการชะลอไม่ฟ้องในคดีที่ไม่ร้ายแรง แต่ศาลก็เห็นแย้งว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจตุลาการ กล่าวคือ ติดปัญหาเรื่องของการรักษาฐานอำนาจ
นายฉัตร กล่าวต่อว่าลึกลงไปกว่านั้นคือติดกับ “ระบบอภิบาลแบบปิด” เราหวังปฏิรูป เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานได้อย่างเป็น “อิสระ” มีความเป็นมืออาชีพ แต่กลับเป็น “เอกเทศ” ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ เป็นอิสระจากความรับผิดรับชอบต่อประชาชน และสิ่งที่ตามมาด้วยคือ ระบบความก้าวหน้าตามอาวุโส เน้นทำงานตามแนวปฏิบัติเดิม ๆ เพราะปลอดภัยและเติบโตก้าวหน้า กลายเป็นปัญหาที่ฝังในวิธีปฏิบัติ เช่น กฎหมายกำหนดว่าตำรวจต้องรวบรวมหลักฐานที่เป็นคุณ และโทษต่อผู้ต้องหา แต่วิถีปฏิบัติยังคงเน้นหาหลักฐาน เพื่อเอาผิดเป็นหลัก หรือ ให้ศาลสามารถเรียกพยานหลักฐานเพิ่มได้เอง แต่วิถีปฏิบัติก็ยังคงรู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะไม่เป็นกลาง เป็นต้น
ในแง่ของทัศนคติ หรือ ความไว้เนื้อเชื่อใจของคน เราต้องการปฏิรูปให้มีโทษทางเลือกในสัดส่วนที่เหมาะสม และใช้โทษอาญาเท่าที่จำเป็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สังคมไทยยังติดอยู่ในวงจรเสพติดโทษอาญา เพราะในอดีตมีแค่โทษอาญา สำหรับความผิดเกี่ยวกับรัฐ และลงทุนกับโทษอาญาไว้มาก จึงเชื่อมั่นในโทษอาญาที่สามารถนำคนเข้าคุกได้ และยอมความไม่ได้มากกว่าโทษอื่น กลายเป็นวงจรที่ทำให้ไม่ลงทุนพัฒนาโทษอื่น และทำให้การใช้โทษทางเลือกอื่นเกิดขึ้นได้ยาก
การจะหลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้ ต้องยึดหลักนิติธรรม แต่ในสังคมไทยมีจารีตดั้งเดิมบางอย่างที่ฉุดรั้งการสร้างหลักนิติธรรม ประการแรก คือการมอง “รัฐเป็นใหญ่” หรือที่เรียกว่า “นิติรัฐอภิสิทธิ์” กฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่รัฐในการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทรัพย์สินเอกชนได้ด้วยข้ออ้าง เพื่อประโยชน์สาธารณะประการที่สอง คือ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” โดยไม่ต้องพัฒนาระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องของการสั่งสมบุญบารมี เชื่อว่าผู้มีอำนาจ คือ ผู้มีบุญมาก ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ “มองคนไม่เท่ากัน”
หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสงบสุข ต้องปรับสมดุลอำนาจใหม่ให้กฎหมายรับใช้ประชาชน โดยสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบเปิด ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปลี่ยนระบบอภิบาลให้เป็นระบบผลงานเชิงประจักษ์ ใครทำผลงานได้ดีก็ได้รับผลตอบแทนที่ดี และรื้อเพื่อสร้างจารีตใหม่ ให้ประชาชนเป็นนายใหญ่ที่มีพลัง เช่น ปรับระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เน้นตั้งคำถาม และการหยิบกฎหมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สร้างมาตรฐานด้วยตัวอย่างการรื้อคดี หรือ ลงโทษผู้มีอำนาจที่เคยลอยนวล เพื่อให้กลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคม

สองขั้วหลักนิติธรรมไทย ความย้อนแย้งที่นำมาสู่วิกฤติ
ผศ.ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ “นิติรัฐนิติธรรม : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเปรียบเทียบ” ซึ่งได้รวบรวมหลักการเกี่ยวกับเรื่องนิติรัฐนิติธรรมในประเทศต้นทางความคิด เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และมองหลักนิติธรรมในเมืองไทย ได้ให้ข้อมูลว่า หลักนิติธรรม (Rule of Law) เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ด้วยหลักการเพียงข้อเดียวคือ “กฎหมายต้องใหญ่กว่าคน” ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ต่อมาได้มีการนำ “หลักนิติธรรม” มาจับกับความคิดเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ” เพื่อให้กฎหมายพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และในโลกยุคใหม่ หลักนิติธรรมครอบคลุมถึงกฎหมายที่ต้องมีความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และได้รับความเป็นธรรมกันอย่างเท่าเทียม
สำหรับประเทศไทย แนวคิดเรื่องหลักนิติธรรมเริ่มเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมิได้มีการปะทะ หรือ เกิดจากความขัดแย้ง เป็นแต่เพียงการพูดคุยกันในวงเล็ก ๆ ด้วยความคับข้องใจของนักเรียนกฎหมายที่ไปเรียนอังกฤษและได้กลับมาในช่วงที่บ้านเมืองถูกปกครองภายใต้เผด็จการทหาร จนมาถึงยุคที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองและตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงที่หลักนิติธรรมของเมืองไทยมีลักษณะแบ่งเป็น 2 ขั้ว ซึ่งอาจเกิดจากการมองในมุมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขั้วหนึ่งมองภาคเอกชน ซึ่งเศรษฐกิจไทยเชื่อมกับเศรษฐกิจโลก ระบบกฎหมายมีมาตรฐานและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่หากมองในฝั่งการเมืองหรือขั้วที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านิติธรรมไทยยังไม่สามารถยืนยันได้แม้กระทั่งในหลักการดั้งเดิมของหลักนิติธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั่นก็คือ หลักการที่กฎหมายต้องอยู่เหนือคน
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ หลังพฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความวุ่นวาย มีการปราบปราม และมีคนล้มตาย แต่ได้มีการออกกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องโดยใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี แม้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าเป็นการผิดคำพูด และตีตก พ.ร.ก. ฉบับนี้ไป แต่ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เมื่อมีการทำตามกฎหมายนิรโทษกรรมต่อให้กฎหมายถูกยกเลิกไป ก็จะไม่กลับมาเป็นโทษอีก การยืนยันในหลักการนี้เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ทหารเดินออกไปจากการรับผิดได้เลย และทำให้เห็นว่า เรายังห่างไกลจากความมีหลักนิติธรรม”
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องถือว่ารัฐไทยมีความสามารถในการบริหารจัดการเส้นแบ่งระหว่างภาคการเมือง เอกชน และมหาชนไว้ได้ จนกระทั่งในช่วง 20 ปีหลังมานี้ เราเริ่มเห็นว่า “นิติธรรมไทยอยู่ในระดับวิกฤติ” สภาพแตกต่างสองขั้วนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป เมื่อรัฐไทยหมดความสามารถในการรักษาเส้นแบ่งนี้ไว้ได้ เนื่องจากผู้มีอำนาจการเมือง ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย ภาคเอกชนขนาดใหญ่บางราย เริ่มทำตัวเสมือนรัฐมีการใช้อำนาจสร้างความได้เปรียบ หรือ กำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถเกิดขึ้นได้
“จริง ๆ นิติรัฐนิติธรรมไม่มีสิ่งที่อยู่ตรงกลาง มีก็คือมี ไม่มีก็คือไม่มี ของเราคือ ไม่มี เพียงแต่ 60 กว่าปีที่ผ่านมา เราบริหารรัฐจัดการเส้นแบ่งไว้ได้ แต่ในช่วงหลังลูกหลานนักการเมือง บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน ก็ไหลหากันหมด เมื่อเส้นแบ่งพังทลายลง ภาวะที่เราเหยียบไว้ตลอดก็พุ่งออกมา”
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้บัญญัติเรื่องหลักนิติธรรมไว้ และฉบับปี 2560 ได้ตอกย้ำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมถึงองค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามหลักนิติธรรม ขณะเดียวกัน ก็ได้ระบุเรื่องการนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารไว้ด้วย ซึ่งการทำให้รัฐประหารเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักนิติธรรม กล่าวคือ เป็นการใช้กฎหมายจริง แต่ไม่ได้ใช้กับทุกคนเท่ากัน ซึ่งมาจากวิธีคิดที่เกิดจากการมองคนไม่เท่ากัน รวมทั้งกลายเป็นการฉวยคำว่า “หลักนิติธรรม” มาใช้เป็นอาวุธคู่ขัดแย้งกับสภาวะการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม

หลักนิติธรรมไทยพัง เพราะถูกอ้างใช้กันอย่างบิดเบือน
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฉายภายใหญ่ให้เห็นว่า หากศึกษาการเมืองโลกจะมีข้อสรุปจากองค์ความรู้ที่สั่งสมมานานว่าประเทศที่จะเจริญ และมีสันติสุขได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
-
1)มีรัฐที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันคนในสังคมไทยมีความเข้าใจตรงกันแล้วว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะมีแรงเสียดทานสูง และขาดเจตจำนงทางการเมือง
2)มีระบอบการเมืองที่ชอบธรรม ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม และกำกับรัฐได้ ซึ่งเมื่อก่อนประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากมากสำหรับสังคมไทย แต่ถึงเวลานี้เราได้ผ่านช่วงเวลาของการถกเถียงกันมาอย่างเข้มข้นแล้ว
3)มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เป็นสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุด แม้แต่ในประเทศต้นทางเอง หลักนิติธรรมก็ถูกสร้างขึ้นมา โดยการต่อสู้ระหว่างความเชื่อแบบเดิม แนวคิดแบบเดิม หรือโครงสร้างสังคมแบบเดิมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกครองกฎหมายที่ทุกคนเท่าเทียมกัน กว่าจะสถาปนาได้ก็ใช้เวลาหลายร้อยปี
ในสังคมไทย การสร้างหลักนิติธรรมยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนในสังคมพูดคุยเรื่องนี้กันน้อยมาก ยังไม่มีความเข้าใจร่วมกัน หลายคนยังถกเถียงในแง่ของความหมาย ยิ่งกว่านั้นคือ มีตัวอย่างในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าในสังคมที่แบ่งแยกแตกขั้วสูงแบบสังคมไทย หลักนิติธรรมจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเมื่อเราบังคับใช้กฎหมาย คนในสังคมจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม กฎหมายถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำหรับผู้มีอำนาจ หรือมีไว้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง
รศ.ดร.ประจักษ์ ย้ำว่าในประเทศไทยคำว่าหลักนิติธรรมถูกอ้างใช้ในทางบิดเบือนโดยฝ่ายต่าง ๆ และหลายครั้งคนที่อ้างว่าอยากใช้หลักนิติธรรมมากที่สุด ก็คือ คนที่ทำลายหลักนิติธรรมมากที่สุด ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ซึ่งระบุหลักนิติธรรมโดยคนที่ทำลายหลักนิติธรรมไปเรียบร้อยแล้ว เพราะหลักนิติธรรมมีองค์ประกอบง่าย ๆ 3 ประการ คือ 1) รัฐต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย 2) กฎหมายต้องเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน และ 3) กฎหมายนั้นต้องมีที่มาที่ชอบธรรม
“ในแง่นี้คณะรัฐประหาร ก็ทำลายหลักนิติธรรมไปแล้ว และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหลายอย่างก็ขัดกับหลักนิติธรรมทั้งหมด สะท้อนว่า คำนี้กลายเป็นคำที่สูญเปล่า เพราะถูกใช้ไปอย่างบิดเบือนเป็นอย่างมากเป็นคำที่ถูกนำไปโยงกับการเมืองแบบไทย ๆ ไปแล้ว การจะกอบกู้คำนี้ และแนวคิดนี้กลับมา ต้องทำให้เห็นว่า มีความสำคัญ และทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว หลักนิติธรรมมีแบบเดียวเท่านั้น ไม่มีหลักนิติธรรมแบบไทย ๆ”
รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวอีกว่า เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เชื่อว่าประเทศอื่นเขาเข้าใจตรงกันว่า หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขของกันและกัน และต้องสร้างไปพร้อมกัน เพราะหัวใจของประชาธิปไตยคือ “ประชาชน” ดังนั้น จะชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเลือกมาและกำกับได้ การได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ได้รับประกันว่าจะมีความยุติธรรม แต่การมีหลักนิติธรรมจะเป็นหลักประกันของการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม ทำให้สังคมมีความยุติธรรมและเท่าเทียม
ในสังคมไทย บ่อยครั้งที่คำว่า “หลักนิติธรรม” ถูกนำไปใช้เป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย จึงเกิดปรากฏการณ์ว่า ทำไมคณะรัฐประหารถึงอ้างได้ว่า แม้เขาไม่ได้มาด้วยระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มีนิติธรรมสูงส่งกว่า
เป็นอาการสับสน เป็นความเข้าใจผิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเอง ก็ไม่ได้เคารพในหลักนิติธรรม ไม่ได้มีความพยายามปฏิรูปกฎหมายให้เป็นธรรม เท่าเทียม และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากขึ้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ต่างมีส่วนทำลายหลักนิติธรรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การยึดกุมรัฐโดยกลุ่มทุนใหญ่ กับวิกฤติหลักนิติธรรมในสังคมไทย
ด้วยความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ทุนผูกขาด ปัญหาคอร์รัปชัน และในฐานะที่ได้ศึกษาประเด็นการแข่งขันทางการค้าและการผูกขาดในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ชี้ให้เห็นว่าระยะหลังมานี้ คำว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายกลายเป็นคำที่เล็กลงไปแล้วสำหรับสังคมไทย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยน 3 ประเด็นสำคัญของ “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” หรือ การใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจหรือ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเองและพวกพ้อง
ประเด็นแรก การยึดกุมรัฐ (State Capture) เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์การแข่งขัน และกำกับดูแล โดยในวงการวิชาการโลกพยายามชี้ให้เห็นว่า มีกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเข้าไปยึดกุมรัฐ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากกติกาและการกำกับดูแลที่ต้องใช้อำนาจรัฐ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนี้ นอกจากรัฐแล้ว ต้องนับรวมถึงองค์กรอิสระที่มีบทบาทให้คุณให้โทษกับภาคเอกชนด้วย โดยการยึดกุมที่ว่านี้ จะมีทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน แบบแข็ง คือ มีเรื่องของผลต่างตอบแทน หรือ มีการให้ผลประโยชน์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่แบบอ่อน คือ การยึดกุมทางความคิด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตุลาการ หรือ องค์กรกำกับดูแลทั้งหลาย คิดเสมือนเป็นเอกชนเสียเอง ซึ่งอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น อาจจะมีความชื่นชมในลักษณะการทำงานแบบเอกชน โดยที่ไม่ได้มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน
ประเด็นที่สอง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้น? แน่นอนว่าคงไม่มีกลุ่มทุนไหนออกมาประกาศว่าได้รับชัยชนะ สามารถยึดกุมรัฐได้สำเร็จแล้ว ดังนั้น อาจใช้วิธีตั้งข้อสังเกตลักษณะอาการที่ปรากฏให้เห็นว่าอาจมีการยึดกุม เกิดขึ้นแล้วใน 2 ระดับ ระดับแรก คือ การตัดสินใจที่ดูไม่สมเหตุสมผล ไม่มีเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมถึงตัดสินแบบนี้ และระดับที่ 2 คือ มีการตัดสินเข้าข้าง หรือ มีการกระทำที่กระทบสิทธิในการร้องทุกข์หน่วยงานรัฐ กระทบสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งทั้งสองระดับมีตัวอย่างที่คุณสฤณีได้เขียนเรื่อง “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ไว้หลายตอน เช่น “มหกรรมกินรวมโรงไฟฟ้า” หรือ “เหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด ความหน่อมแน้มของ กขค.” ฯลฯ
ประเด็นสุดท้าย การยึดกุมรัฐเกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืนอย่างไร? เพราะปัญหาความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีกติกาโลกเกิดขึ้นมากมาย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน และจะเป็นกติกาสำหรับภาคธุรกิจเอกชนไทยด้วย ประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการกำกับดูแล อนุมัติอนุญาต ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างกฎกติกาการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และแน่นอนว่ากลุ่มทุนที่ยึดกุมรัฐได้ย่อมได้รับผลประโยชน์จากการที่ไม่ต้องแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่มที่เกิดจากกฎกติกานั้น ๆ
ยึดกุมรัฐ-เอื้อธุรกิจ กระทบความสามารถในการแข่งขัน
วงเสวนายังได้ชี้ให้ว่า ปัญหาการไม่มีหลักนิติธรรมได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปัจจุบันการไม่มีหลักนิติธรรม หรือ ไม่มีธรรมาภิบาลได้ข้ามฝั่งมายังภาคเอกชน ซึ่งสุดท้ายโลกจะไม่สนใจประเทศไทยและภาคธุรกิจไทย ลำพังทุกวันนี้ นักลงทุนก็ไม่อยากพบบริษัทจดทะเบียนไทยแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าขั้นตอนของการที่ประเทศหนึ่งจะก้าวข้ามจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หลักนิติธรรมอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะขายเศรษฐกิจแบบแรงงาน ทรัพยากร และการท่องเที่ยว ไม่ต้องใช้เรื่องของความเชื่อมั่น และนวัตกรรมมากนัก แต่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศรายได้สูง ไม่มีประเทศเจริญแล้วประเทศไหนเลยที่สามารถก้าวข้ามไปได้ โดยไม่มีหลักนิติธรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดีที่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาส่งเสียงเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องทำให้สังคมในวงกว้างตระหนักถึงความสำคัญ เห็นประโยชน์จากการมีหลักนิติธรรม และเห็นผลกระทบจากการไม่มีหลักนิติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง