ThaiPublica > คอลัมน์ > การถ่ายทอดมุมมองจาก TIJ Workshop สู่ความท้าทายในการตั้งคำถามเพื่อการแก้ปัญหา

การถ่ายทอดมุมมองจาก TIJ Workshop สู่ความท้าทายในการตั้งคำถามเพื่อการแก้ปัญหา

12 มีนาคม 2019


จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

ในต้นปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law & Policy ที่จัดโดย Thailand Institute of Justice (TIJ) เพื่อร่วมพูดคุยและถกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยคำว่า “หลักนิติธรรม” นี้ มีนิยามที่กว้างและหลากหลายมิติ แต่ผมขอสรุปคร่าวๆ ว่าหมายถึง “หลักที่รัฐและประชาชนยึดถือเพื่อก่อให้เกิดสังคมที่มีความยุติธรรมและสงบสุข” ซึ่งการเข้าร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ชั้นเลิศ เพราะผมได้เรียนรู้มุมมองมากมายของผู้ที่มาจากหลากหลายประเทศ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางความคิด และเป็นการเรียนรู้ที่ผลักดันตัวเองให้ออกจาก comfort zone อีกด้วย

ภายหลังจบงาน ความคิดมากมายยังคงแล่นในหัวของผม ถึงขนาดที่ต้องนำมาตกผลึกและร้อยเรียงออกมาเป็นถ้อยคำผ่านบทความบทนี้ หลายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ล้วนเกี่ยวข้องกับแนวคิด การตั้งคำถามและการกำหนดขอบเขตของปัญหา (Problem Framing) ที่มีความสำคัญกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก ผมจึงอยากตีแผ่แนวความคิดเหล่านี้ให้ทุกท่านได้ร่วมกันเรียนรู้และคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและประเทศชาติ โดยเริ่มจากการตั้งข้อสังเกตจากตัวอย่าง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.อำนาจในการกำหนดระเบียบ กฎหมาย และนโยบายถูกจำกัดเพียงคนบางกลุ่มมากเกินไปหรือไม่?

ในการวางระเบียบ กฎหมาย และนโยบายในระดับต่างๆ ตั้งแต่ชุมชน องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ มักจะอาศัยความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Expert) เพียงบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่คนทั่วไป (Civil) ยังคงขาดการมีส่วนร่วมในการออกความเห็น ยิ่งถ้าเป็นปัญหาระดับองค์กรหรือสังคมที่มีหลากมิติ หลายแขนง (Multidisciplinary) และส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก (Stakeholder) การขาดกระบวนการไตร่ตรองและจำกัดความรู้ไว้เพียงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มิติทางความคิดและการวางกรอบคำถามและปัญหา (Problem Framing) จะถูกจำกัด ส่งผลให้อาจตั้งคำถามผิดพลาด และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดจุดได้

ขณะที่ร่วม workshop ผมมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าผู้ร่วมงานหลายท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี การพูดคุยครั้งนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่า ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันยิ่งทำให้เราเข้าใจปัญหาและมองได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำแนวความคิดเหล่านั้นไปขยายผลจนเกิดเป็นมุมมองความรู้ใหม่ๆ ได้อีกด้วย

การวางกฎและนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดย Sheila Jasanoff ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้นำศาสตร์ที่เพิ่งเกิดใหม่อย่าง Science and Technology Studies (STS) กล่าวว่า “Technology is a form of governance” หรือ “เทคโนโลยีเป็นรูปแบบหนึ่งในการควบคุมปกครอง”

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence – AI) หรือการนำข้อมูล (data) ไปใช้ก็ล้วนเป็นรูปแบบของการควบคุมปกครองด้วย ผู้ที่มีความรู้หรือถือข้อมูลข่าวสารสามารถสร้างอำนาจให้กับตนเอง และสร้างความไม่เท่าเทียมของข่าวสารความรู้ (Information Asymmetry) ที่สามารถนำไปสู่ความไม่สมดุลทางอำนาจได้ (Imbalance of Power) ความรู้หรือแม้แต่ความไม่รู้ของประชาชนสามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (Politics of Knowledge/Politics of Technology) ที่อำนาจตกเป็นของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

เพราะฉะนั้นกระบวนการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป (Deliberation) ในการกำหนดระเบียบ กฎหมาย และนโยบายโดยผู้รู้หลากหลายสาขาร่วมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะช่วยให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ และคนในสังคมสามารถมองเห็นภาพหรือกรอบของปัญหาร่วมกัน (Shared Understanding) ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผมต้องขอบคุณ TIJ และพี่ๆเพื่อนๆร่วมห้องที่ช่วยสร้างแนวคิดให้กับผม และเชื่อว่ามีอีกหลายท่านที่คิดแบบเดียวกัน นั่นคือ นักกฎหมาย นักนโยบาย และนักเทคโนโลยี ต้องการซึ่งกันและกันเพื่อที่จะทำให้กฎหมาย ระเบียบ และนโยบาย มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระบวนการนี้คือการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการช่วยกระตุ้นให้ผู้รู้ในหลายสาขาแลกเปลี่ยนความรู้และถกปัญหากันในห้องประชุม ไม่ใช่แค่แสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว เพราะการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความรู้หรือเอาหลักข้อเท็จจริงมาพูดคุย จะไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ที่แท้จริง

2.การพิจารณาองค์ประกอบและระบุผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหามีความครอบคลุมแล้วหรือไม่

เพื่อให้การวางกฎหรือนโยบายเกิดขึ้นอย่างครอบคลุมและรอบด้าน จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ยกตัวอย่างเช่น การที่จะเกิด open data ได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือข้อมูล กฎระเบียบ กระบวนการแชร์ข้อมูล การป้องกันข้อมูล และการตรวจสอบที่ดี ส่วนบุคคลที่ต้องอาศัยความร่วมมือหลักๆ คือ ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ข้าราชการ ผู้ใช้ข้อมูล เจ้าของข้อมูล ผู้ให้บริการระบบ และประชาชน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบและระบุผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างเหมาะสมและครอบคลุมแล้ว ก็จะสามารถสร้างความเข้าใจและความรอบคอบในการพิจารณากฎระเบียบหรือนโยบายที่เหมาะสม และสามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนได้

3.แนวคิดที่ศึกษามีส่วนเทียบเคียงหรืออ้างอิงกับประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่?

ปัญหาสังคมมักมีความซับซ้อน การหาทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพอาจทำได้ยากและใช้เวลามาก บางครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอาจจะเคยมีโจทย์ที่คล้ายกันมาก่อน ซึ่งเราสามารถนำวิธีการหรือแนวคิดมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น ยุคแรกๆที่มีการพูดถึงการผสม DNA ในปีค.ศ.1975 นักวิจัยมีการรวมตัวกันในงาน Asilomar Conference เพื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ ผลกระทบต่อสังคม และจรรยาบรรณของการผสม DNA ซึ่งถือว่า Asilomar เป็นประวัติศาสตร์ของการที่ผู้รู้หลายฝ่ายมารวมตัวกัน แต่สิ่งที่ขาดไปในยุคนั้นคือการมีส่วนร่วมของประชาชน เราอาจนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญกับประชาชนเพื่อพัฒนากฎระเบียบของงานด้านเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบกับชีวิตและสังคม เช่น AI หรือการใช้ข้อมูล เป็นต้น

บางครั้งเราอาจคิดว่ากฎหมายและกฎระเบียบ (Law and Regulation) มักจะตามหลังเทคโนโลยี แต่หากเราเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์และเริ่มสร้างเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้รู้กับประชาชนในหัวข้อที่มีผลต่อสังคม รวมทั้งเริ่มพัฒนาแนวทางที่มีความยืดหยุ่น แล้วค่อยปรับเปลี่ยนให้เป็นกฎระเบียบตามความเหมาะสมของยุคสมัย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย แต่หากมองผลลัพธ์ที่จะได้รับก็คุ้มค่าต่อการทำเพื่อส่วนรวม

4.เราจะสามารถสร้างความโปร่งใสเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร?

หัวข้อที่คนสายเทคโนโลยีมักจะพูดถึงบ่อยๆในงาน workshop ครั้งนี้คือการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี AI ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค (Consumer) หรือคนในสังคม เช่น หากมี AI ที่ใช้ปล่อยเงินกู้หรือตรวจจับผู้ร้าย เราจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เข้าข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น คนผิวสีหรือคนจากบางพื้นที่ รวมทั้งการนำ AI มาใช้งานในรูปแบบอัตโนมัติ เช่น กรณีรถไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ยกตัวอย่างการวางนโยบายด้านการใช้เทคโนโลยีของประเทศสิงคโปร์ ที่วางกรอบ Framework และ Primer ในการพัฒนาและการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายได้เช่นกัน

อีกประเด็นที่เราควรคำนึงถึงคือระเบียบหรือนโยบายสำหรับการใช้และเข้าถึงข้อมูล เช่น การทำข้อมูลเปิด (Open data) ความปลอดภัยในการใช้ข้อมูล (Data security) ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data privacy) การตรวจสอบได้ของข้อมูล (Accountability) ความโปร่งใสของข้อมูล (Transparency) และมีความเป็นธรรม (Fairness) เกิดขึ้น

นอกเหนือจากทั้ง 4 ข้อที่ผมได้ยกตัวอย่างไป เรายังต้องใส่ใจเรื่องของการสร้างความรู้และความเข้าใจสู่ชุมชนที่หลากหลายอย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ส่วนผู้เชี่ยวชาญก็ต้องเปิดกว้าง รับฟังปัญหาจากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม มีความคล่องตัว และมีหลักการเป็นที่ยอมรับร่วมกันในวงสนทนา รวมทั้งส่งเสริมให้คนในแต่ละชุมชนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายจากหลายกลุ่มผู้รู้ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่รู้ เพราะผู้รู้สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ที่ไม่รู้ในวงกว้าง ส่วนผู้ที่ไม่รู้อาจมีมุมมองจากสิ่งที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เราสามารถสร้างความหลากหลายของมิติคำถาม เหมือนตาของแมลงปอประกอบไปด้วยเลนส์หลายๆเลนส์ที่ประกอบกันเป็นภาพเดียวได้อย่างลงตัว ส่งผลให้การตัดสินใจดีขึ้น และเกิดความโปร่งใสเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าหลักนิติธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมทั่วโลก โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการวางนโยบายที่ครอบคลุมและมีความเป็นธรรม พร้อมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นได้ เพื่อไม่ให้อำนาจถูกจำกัดอยู่เพียงแค่กับคนบางกลุ่ม เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราคงจะก้าวไปข้างหน้าได้ช้าลง แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสูงอยู่ในมือก็ตาม

Reference:
J. Benjamin Hurlbut, “Limits of Responsibility: Genome Editing, Asilomar, and the Politics of Deliberation”

Sheila Jasanoff, “Technology as a Site and Object of Politics”