ThaiPublica > คอลัมน์ > มองสะพานข้าม “อ่าวโตเกียว” แล้วมองดูไทย

มองสะพานข้าม “อ่าวโตเกียว” แล้วมองดูไทย

10 กันยายน 2024


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

“The Tokyo Bay Aqua-Line” ที่มา : https://www.nccnet.co.jp/english/introduction/tokyobay.html และ https://www.quora.com/What-is-the-Tokyo-Bay-Aqua-Line

เมื่อเดือน (สิงหาคม) ที่แล้ว ผมบังเอิญได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสได้ไปชม สะพานข้าม “อ่าวโตเกียว” ที่นอกเมือง “โยโกฮามา” ซึ่งเพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมได้พาไปเที่ยวก่อนที่จะทานอาหารเย็นกัน โดยได้ขับรถพาผมและภรรยาไปชมสะพานข้ามอ่าว “Trans-Tokyo Bay Expressway” หรือ “The Tokyo Bay Aqua-Line” ครับ

ประจวบกับในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านผู้นำ (นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี) ใหม่ และมีแนวโน้มว่า จะมีการนำเสนอโครงการประเภท “เมกะโปรเจกต์” ที่กระทำในทะเล (ซึ่งเคยเสนอไว้) กลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้ง เพราะ “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของพรรคเพื่อไทยกำลังกลับมามีบทบาทอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวคิดทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผ่านมุมมองจาก 2 โครงการของประเทศญี่ปุ่นที่มีลักษณะของโครงการที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นข้อมูลครับ

“The Tokyo Bay Aqua-Line” เป็นเส้นทางข้าม “อ่าวโตเกียว” ที่มีทั้งอุโมงค์และสะพานเพื่อเชื่อมระหว่างเมือง “คาวาซากิ” ในจังหวัดคานางาวะ กับเมืองคิซาราซุในจังหวัดชิบะ โดยสะพานนี้มีความายาวทั้งสิ้น 23.7 กิโลเมตร (เป็นอุโมงค์ 9.6 กิโลเมตร และสะพาน 4.4 กิโลเมตร) และในจุดเชื่อมของสะพานและอุโมงค์ มีการก่อสร้างจุดพักรถเป็น “เกาะเทียม” สำหรับชมวิวและโรงแรมที่พักชื่อ “Umihotaru” เพื่อการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านการแฟ จุดชมวิว เช็คอิน ฯลฯ และระหว่างกึ่งกลางของอุโมงค์ มีการก่อสร้าง “Kaze no To” หรือ “หอแห่งพระพาย” เพื่อเป็นหอระบายอากาศสำหรับอุโมงค์ไว้ด้วย

โครงการนี้ใช้เวลาในการวางแผนและศึกษาความเป็นไปได้ถึง 23 ปี ก่อสร้าง 9 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1.44 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 432,000 ล้านบาท และเปิดใช้บริการในเดือนธันวาคม 1997 โดยโครงการนี้ เป็นการร่นระยะเวลาในการเดินทางข้ามอ่าวโตเกียวระหว่างจังหวัดชิบะกับจังหวัดคานางาวะ ซึ่งทั้งสองจังหวัดต่างเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 90 นาทีให้เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยลดปัญหาความแออัดของการจราจรในเมืองโตเกียวด้วย (เนื่องจากไม่ต้องอ้อมผ่านเข้ามาในเมืองแล้ว) นัยว่าช่วยให้คนจากเมืองโตเกียวและคานางาวะที่เคยไปพักผ่อนตากอากาศที่ชายหาดทางใต้ของแหลม “โบโซ” ซึ่งต้องขับรถเป็นร้อยกิโลเมตรได้ประโยชน์ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงบ่นจากผู้ใช้รถว่าการที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางที่แพง ทำให้ที่ว่าช่วยลดสภาพการจราจรที่แออัดของกรุงโตเกียวก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด

เราได้แวะไปยังจุดชมวิวที่เป็นโรงแรม “Umihotaru” ที่สร้างเป็น “เกาะเทียม” ไปแวะทานกาแฟและชมวิวของ “อ่าวโตเกียว” แบบ “360 องศา” เลยครับ

ที่มา : https://www.ihi.co.jp/iis/en/products/bridge/hakogeta/index.html และ https://en.namu.wiki

หลังจากได้ชมโครงการแล้ว ผมนึกถึงโครงการในลักษณะเดียวกันที่เคยนำเสนอในประเทศไทยในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 แห่ง ที่มีทั้งอยู่ในกระบวนการ ซึ่งผ่านการนำเสนอไปสู่การศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การก่อสร้างแล้ว และบางอันก็ยังอยู่ในกระบวนการเสนอแนวคิดและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้แก่

แบบ “สะพานเชื่อมเกาะสมุย” ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9670000060193

(1) โครงการ “สะพานเชื่อมเกาะสมุย” ระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับเกาะสมุย ที่เข้าใจว่ามีการตกผลึกแล้ว ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2576 โดยคาดว่า “จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสู่เกาะสมุย รวมไปถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะสมุย และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น”

ผมไม่แน่ใจในข้อมูลที่ศึกษาว่าผลที่ได้มานั้นเป็นอย่างไร แต่ในความคิดของผมนั้น บอกตรงๆ ว่าไม่แนใจในความคุ้มค่า/คุ้มทุน เนื่องจาก (1) ประชากรในเกาะสมุย มีเพียงประมาณ 70,000 คน (2) นักท่องเที่ยว (ไทยและต่างชาติ) อีกประมาณปีละ 3.5 ล้านคน (ข้อมูลจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ที่ผมเข้าใจว่าเขานับจากคนที่เดินทางเข้าออก “โดยไม่มีการตัดจำนวนคนที่เดินทางซ้ำออกไป และเหมารวมว่าทุกคนที่เข้าออกเกาะสมุยคือนักท่องเที่ยวทั้งหมด จึงน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในบางส่วน)

อย่างไรก็ตาม ถ้า “คุ้มค่า/คุ้มทุน” จริง ผมก็สนับสนุนครับ แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผมในฐานะของชาวเรือมีความกังวล คือ “ตอม่อ” ของสะพานในบริเวณใกล้ฝั่งด้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากชายฝั่งเป็นดินโคลน (ป่าชายเลน) ดังนั้น จึงควรมีระยะห่างกันมากกว่าจุดอื่น เพราะหาก “ตอม่อ” ใกล้กันมาก จะกลายเป็น “หลักรอ” ที่สามารถทำให้กระแสน้ำที่ไหลมาแรงอาจ (1) ทำให้ตลิ่งพัง หรือ (2) มีการสะสมของดินเลน ทำให้ทะเลตื้นเขินได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังมากกว่าบริเวณอื่น

โครงการ “สะพานลัดอ่าวไทย” ที่มาภาพ : https://www.tace.co.th/new/เปิดสมองมองการก่อสร้าง-30

(2) โครงการ “สะพานไทย” ซึ่งเชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก ระหว่างเมืองพัทยาและหัวหิน โดยในโครงการคาดว่าจะเป็นการ “แบ่งความเจริญข้ามมาอีกฝั่ง คือ จากชลบุรีและอีอีซีมายังเพชรบุรีและหัวหินได้มากขึ้น โดยการทำโครงการที่ชื่อว่า “สะพานไทย” เชื่อมระหว่างพื้นที่อีอีซีมายังฝั่งตะวันตกในพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี หรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเป็นสะพานที่มีความยาวประมาณ 80-100 กิโลเมตร ทำให้เส้นทางที่ปกติต้องอ้อมไกลถึงเกือบ 400 กิโลเมตรลดลงเหลือ 1 ใน 3 หากทำทางเชื่อมได้ ความเจริญจากภาคตะวันออกจะมาเชื่อมกับภาคตะวันตก และลงไปยังพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกได้เลย ซึ่งเป็นวิธีที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ทำแล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว (เข้าใจว่าอ้างอิงถึงโครงการ “The Tokyo Bay Aqua-Line” (เพราะดูจากรูปที่นำเสนอ มีภาพเกาะเทียมกลางทะเลที่เอารูปของโครงการนี้มาใช้ประกอบ)” มีเป้าหมายว่าจะเชื่อม 2 ฝั่งของอ่าวไทย ที่มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 990,000 ล้านบาท โดยมีไทม์ไลน์ว่า ในปี พ.ศ. 2564-2566 จะทำการศึกษา EIA และ business model ปี พ.ศ. 2567-2568 คาดว่าจะประกวดราคาได้ และปี พ.ศ. 2569-2575 จะทำการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลา 7 ปี

โครงการ “ทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)” ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo/?fbid=1735959283330960&set=pcb.1735959676664254

จริงๆ แล้ว “แนวคิดลัดอ่าวไทย” มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในยุคที่ พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เคยเสนอสร้างสะพานลัดฝั่งอ่าวไทยช่วงแหลมฉบัง-อำเภอชะอำ ระยะทาง 80 กม. เช่นกัน ครั้งนั้นเป็นสะพาน เขื่อนกั้นน้ำ ทางรถไฟ และถนน เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปากน้ำสมุทรปราการและพื้นที่กรุงเทพฯ และมีประตูระบายน้ำเปิด-ปิด เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออก โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบเบื้องต้นแล้ว มีการถมทะเลเพื่อให้ได้เนื้อที่จากชายฝั่งเดิมถึงสะพานลัดฝั่งอ่าวไทยรวมกันถึงกว่า 2 แสนไร่ แต่ภายหลังการรัฐประหาร โครงการนี้ไม่ถูกพูดถึงอีกเลย…

เช่นเดียวกับ “โครงการทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)” เป็นโครงการทางหลวงพิเศษขนาด 3 ช่องจราจร รวม 6 ช่องจราจร ยกระดับตลอดเส้นทาง ในช่วงสำคัญคือ “อ่าวไทย” ที่เป็นถนนรูปแบบสะพานมีความกว้าง 25 เมตร ผิวจราจรสูงจากระดับน้ำทะเลสูงสุด 17 เมตร ระยะทาง 47 กม. มูลค่า 58,000 ล้านบาท

ทั้งสองโครงการนี้ (1) “สะพานลัดอ่าวไทย (พัทยา-ชะอำ)” และ (2) “ทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)” ถือได้ว่าเป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทย (ในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่กำลังจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะฟังว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ได้นำมาเอ่ยอีกครั้ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ (22 ส.ค. 2567 งาน Dinner Vision for Thailand 2024 จัดโดย NATION TV)

โดยส่วนตัว ถ้าเป็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง ที่ (1) มีการคิดรอบด้านอย่างรอบคอบแล้ว (2) ในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีและเหมาะสมที่สุด (3) มีความคุ้มค่า/คุ้มทุน (4) ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ (5) กระทบน้อย และ (6) กระทบแล้วมีการป้องกัน/แก้ไข/หลีกเลี่ยง (ทั้งคนและสิ่งแวดล้อม) และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นที่ยอมรับได้แล้ว ผมยินดีสนับสนุนครับ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการคงต้องมองถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เชิงสะพาน และพื้นที่อื่นที่อาจได้รับผลกระทบด้วย ข้อกังวลของผมก็คงเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมในและใกล้ฝั่ง เพราะทั้งสองฝั่งของโครงการเป็น “พื้นที่ป่าชายเลน” ที่มีระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งมีผู้ที่ใช้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะชาวประมง (การประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งนาเกลือด้วย) ซึ่งสอดรับกับความกังวลของประชาชนในพื้นที่ เพราะโครงการนี้อาจมีประโยชน์ตอบโจทย์เฉพาะการคมนาคมลงสู่ภาคใต้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่อาจจะทำลายระบบนิเวศอ่าวไทย ให้เกิดความเสียหายเกินกว่าคาดการณ์ได้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้าจะสร้างจริง ข้อเสนอของผมของทั้งสองโครงการ คือ การสร้างเป็น “อุโมงค์” ลอดตั้งแต่บริเวณชายฝั่งแล้วไปโผล่กลางทะเลทั้งสองด้าน เพื่อลดผลกระทบ “พื้นที่ป่าชายเลน” ระบบนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของประชาชน ตามที่ผมได้กล่าวไว้ (ถ้าดูจากรูป “สะพานลัดอ่าวไทย (พัทยา-ชะอำ)” ที่นำเสนอ เข้าใจว่าเป็นไปตามที่ผมคิดไว้ แต่โครงการทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) ยังเป็นสะพานแบบมีตอม่อทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอนครับ)

นอกจากโครงการที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่มีการกล่าวถึงโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่าจะต้องปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาทำใหม่ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นลูกสาวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้เชื่อได้ว่า “โครงการ ‘ถมทะเล’ บางขุนเทียน” คงจะถูกนำขึ้นมาทำใหม่อย่างแน่นอน

โครงการนี้ เคยมีการนำเสนอในสมัยที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 คือ โครงการ “ถมทะเล” ในบริเวณก้นอ่าวไทยที่บางขุนเทียน สร้างเกาะขึ้นมา คอนเซปต์เดียวกับเนเธอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการ เขตบางขุนเทียน (กทม.) และจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างเป็นพื้นที่สีเขียว (2) แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ (3) รองรับน้ำทะเลสูงขึ้น และ (4) เพื่อให้ได้พื้นที่เพิ่มขึ้น (ประมาณว่า) 300,000 ไร่ ลดความแออัดของ กทม. และทำให้เป็นเมืองสีเขียว แต่บังเอิญมีเสียงค้านจากทั่วสารทิศ โครงการนี้เลยเป็นอันพับไป แต่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้นำมากล่าวอีกครั้งในการแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ว่าจะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาดำเนินการใหม่

ผมจำได้ว่า ภายหลังที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอแนวคิดของโครงการนี้ ผมยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ ก็เลยไปค้นเอกสารเก่าๆ ที่บังเอิญยังเก็บไว้อยู่ เพราะเกี่ยวกับจังหวัดสมุทรสาครที่ผมอาศัยอยู่ด้วย และเป็นหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องตรวจสอบถึงผลกระทบต่างๆ ซึ่งผมค้นได้เอกสารมาหลายชิ้นครับ และทุกชิ้นที่เป็นข่าวสารจากสื่อมีแต่ “เสียงค้านกันเซ็งแซ่” ไม่มีใครเห็นด้วยเลย เริ่มจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคณะบุคคลหลายฝ่ายว่าไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะเป็นนโยบายที่เป็นโทษเนื่องจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมในทะเล ทำลายระบบนิเวศน์วิทยา ตลอดจนวิถีชีวิตการทำอาชีพประมงของชาวประมงนับล้านคนเลยทีเดียว และเป็นวีธีคิดที่ไม่ถูกต้อง

“การที่นำเอาวิธีถมทะเลของประเทศอื่นมาใช้กับอ่าวไทยนั้น ไม่น่าจะทำได้เพราะสภาพภูมิศาสตร์กายภาพที่แตกต่างกัน อย่างที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น นั้นเป็นทะเลลึกโดดๆ ไม่มีอ่าวล้อมรอบเหมือนอ่าวไทย เช่นเดียวกับเกาะปาล์มเทียมที่นครรัฐดูไบนั้น เป็นทะเลเปิด และไม่มีชายฝั่ง ในขณะที่อ่าวไทยนั้นมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลเป็นจำนวนมาก”

“โครงการถมทะเลป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ระบุว่า จะถมพื้นที่อ่าวไทยถึง 300,000 ไร่ ค่าใช้จ่ายในการถมตารางเมตรละ 12,500 บาท ต้องใช้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ประการสำคัญคือ จะไปหาดินหาทรายที่ไหนมาถมทะเลในพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดนั้นได้ เป็นเรื่องตลกสุดๆ เพราะในที่สุดแล้วก็คงต้องไปดูดทรายในทะเลมาถมที่ในโครงการ”

“การกระทำครั้งนี้ นับเป็นการทำลายชีวิตของชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยทุกๆ จังหวัด และยังผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคที่ 2 และยังต้องไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกมากมายหลายฉบับอีกด้วย”

“โครงการถมทะเลบริเวณอ่าวไทยหัวตัว ก ตั้งแต่ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ เป็นระยะทางประมาณ 30 กม. และยื่นออกไปในทะเล 10 กม. บริเวณพื้นที่ดังกล่าวคงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับทะเลบริเวณอื่นๆ ที่มีการถม เช่น กรณีของโครงการ “The Palm” ที่ดูไบ เป็นชายฝั่งที่ประกอบด้วยเนินทราย ท้องทะเลพื้นทรายที่ชั้นล่างเป็นหิน มีระดับน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดประมาณ 2 เมตร และความเร็วกระแสน้ำไม่เกิน 0.3 เมตรต่อวินาที ท้องน้ำลึกประมาณ 4 เมตร (ในบริเวณ surf zone) ในขณะที่ทะเลบ้านเราบริเวณทะเลอ่าวไทยหัวตัว ก เป็นทะเลโคลนน้ำตื้นประมาณ 1-2 เมตร ที่อดีตเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่ทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน”

ฯลฯ

ในความคิดของผม เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดให้ดูเลยไม่แน่ใจว่าจะ (1) ถมอย่างไร (2) ตรงไหน และ (3) ด้วยวิธีอะไร จึงไม่อาจจะบอกได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกับคนที่ออกมาคัดค้านครับ หากการ “ถมทะเล” นั้น เป็นไปตามที่เขาเหล่านั้นคาดคะเน/คิดกันครับ

อย่างที่พวกเรารับทราบกัน ในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวไทยตอนใน เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์น้ำ (กุ้ง หอย ปู ปลา) ที่ล้วนอาศัยป่าชายเลนและสภาวะน้ำกร่อยเป็นปัจจัยในการเพาะพันธุ์ อนุบาล และเจริญเติบโตทั้งสิ้น สัตว์น้ำบางชนิดมีถิ่นที่อยู่เฉพาะพื้นที่ เช่น “หอยหลอด” ที่อ่าวแม่กลอง “หอยพิม” ที่อ่าวมหาชัย “หอยกระพง” ที่ 4 อ่าว (แปดริ้ว/ปากน้ำ/มหาชัย/แม่กลอง) ฯลฯ ซึ่งหากมีการสร้างสะพานหรือถมพื้นที่จริง ย่อมเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำ ป่าชายเลน ฯลฯ อย่างแน่นอน และในท้ายที่สุด คือ อาชีพและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ การกัดเซาะชายฝั่ง และการสะสมของมลภาวะทางน้ำ/ในน้ำ/และหน้าดินใต้น้ำ ที่มากับการพัฒนาด้วย

เยี่ยมชมโครงการ “ถมทะเล” ที่ “อ่าวอิซาฮายะ” (วันที่ 26 กรกฎาคม 2554)

มีการศึกษาและการใช้ประโยชน์จากประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งบังเอิญในช่วงนั้น ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นพอดี จึงถามพรรคพวกว่าเรามีโครงการ “ถมทะเล” อยู่ที่ไหนบ้าง จึงรู้ว่ามีโครงการ “ถมทะเล” ในลักษณะเดียวกันที่บริเวณ “อ่าวอิซาฮายะ” ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองนางาซากิ (ประมาณ 30 กิโลเมตร) ที่ผมไปซื้อเรือประมงอยู่พอดี ผมจึงยอมเสียสตางค์จ้างรถแท็กซี่ตรงไปดูให้เห็นกับตาว่าเป็นอย่างไรครับ

“อ่าวอิซาฮายะ” ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรชิมาบาระ ในจังหวัดนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ผิวประมาณ 65 ตารางกิโลเมตร โดยมีความลึกสูงสุดที่ 10 เมตร รัฐบาลญี่ปุ่นมีโครงการที่จะถมอ่าวนี้ นัยว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมและให้ได้พื้นที่ใหม่สำหรับทำการเกษตรด้วย โดยมีการวางแผนครั้งแรกในต้นทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ. 2493) และเริ่มก่อสร้างกำแพงกันคลื่นยาว 7 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2532 โดยใช้งบประมาณจำนวน 253,000 ล้านเยน (ประมาณ 60,000 ล้านบาท) เพื่อปิดพื้นที่หนึ่งในสามของ “อ่าวอิซาฮายะ” ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดพื้นที่ใหม่รวมประมาณ 3,270 เฮกตาร์ หรือประมาณ 20,437 ไร่ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) โดยประมาณ 670 เฮกตาร์ (4,187 ไร่) เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และประมาณ 2,600 เฮกตาร์ (16,250 ไร่) เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ (เพื่อป้องกันน้ำท่วมและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร)

ที่มาภาพ : https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/ennrj/article/view/240057
ที่มาภาพ : https://www.asahi.com/ajw/articles/14852856 และ https://japannews.yomiuri.co.jp/society/general-news/20230303-94700/
โครงการถมทะเล “อ่าวอิซาฮายะ” ที่มาภาพ : https://na.unep.net/atlas/datlas/node/2153,
https://www.gettyimages.ie/detail/news-photo/fishermen-line-up-their-boats-demanding-the-opening-in-news-photo/630946160
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการไหลเวียนของน้ำ หลังการสร้างเขื่อนและถมทะเล ที่มาภาพ : https://www.semanticscholar.org/paper/Impacts-of-the-Sea-Dike-and-Reclamation-Project-in-Ranlund/f8330e51aacabfbeadf791ca447cef96597aa5af/figure/4
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ หลังการสร้างเขื่อนและถมทะเล ที่มาภาพ : https://apjjf.org/gavan-mccormack/1681/article

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอันไม่พึงประสงค์ในหมู่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญที่สุด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงที่เพาะเลี้ยง “สาหร่ายทะเล” ในบริเวณนั้น

ภายหลังการสร้างเสร็จและประตูน้ำถูกปิดลง ชาวประมงที่เพาะเลี้ยง “สาหร่ายทะเล” ในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงก็นำคดีขึ้นฟ้องศาล เพื่อให้เปิดประตูระบายน้ำ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในท้องถิ่นได้ยื่นฟ้องคัดค้านการเปิดประตูระบายน้ำ โดยอ้างถึงความเสียหายที่เกิดจากความเค็มที่มีต่อผลผลิตทางการเกษตรของพวกเขา ซึ่งศาลแขวงได้ตัดสินในปี 2553 ให้ชาวประมงชนะคดี และให้รัฐเปิดประตูน้ำไว้ 5 ปี รวมทั้งต้องศึกษาผลกระทบใหม่ โดยรัฐบาลไม่อุทธรณ์ (เนื่องจากกลัวเรื่องความนิยม/คะแนนเสียงตก) ในขณะเดียวกัน ในปี 2558 ศาลแขวงซากะมีคำสั่งให้รัฐบาลจ่ายเงิน 900,000 เยนต่อวันให้กับชาวประมงในท้องถิ่นสำหรับการไม่เปิดประตูระบายน้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมามีคำตัดสินของศาลอีกฉบับที่สนับสนุนเกษตรกร โดยสั่งห้ามรัฐบาลกลางเปิดประตู ดังนั้น จึงเป็นความขัดแย้งในคำตัดสินของศาล และเมื่อเร็วๆ นี้ (พ.ศ. 2562) ศาลฎีกา Second Petty Bench ได้สั่งให้ศาลสูงฟุกุโอกะพิจารณาคดีใหม่ และท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ โดยไม่ต้องเปิดประตูระบายน้ำตามที่ชาวประมงต้องการ เนื่องจากสัมปทานในการทำประมง (เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และรัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวประมงตามคำสั่งศาลไปแล้วถึง 12,000 ล้านเยน (2,850 ล้านบาท)

ชาวประมงที่เพาะเลี้ยง “สาหร่ายทะเล” ได้ประท้วงโครงการ และนำคดีขึ้นสู่ศาล ที่มาภาพ : https://mainichi.jp/english/articles/20190913/p2a/00m/0na/014000c และ https://www.gettyimages.ie/detail/news-photo/fishermen-line-up-their-boats-demanding-the-opening-in-news-photo/630946160

แต่ในความเห็นของผม ในคำพิพากษาของศาลไม่ได้มีการพูดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ “ถมทะเล” และการ “ปิด/เปิด” ประตูระบายน้ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีการนำประเด็นนี้ขึ้นสู่ศาล เนื่องจากชาวประมงก็ฟ้องเฉพาะในประเด็นที่ตนได้รับผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง “สาหร่ายทะเล” ของตนเท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่า โครงการ “ถมทะเล” ในบริเวณ “อ่าวอิซาฮายะ” นี้ ได้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ (1) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (2) ผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมง และ (3) ความขัดแย้งของเกษตรกร 2 กลุ่มที่มีผลประโยชน์ (ที่รัฐสร้างขึ้น) ต่างกัน โดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย หากมีการตัดสินใจดำเนินการจริง ผมเข้าใจว่าคงจะมีกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก (มิใช่เพียงแค่ 2 กลุ่มที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์โดยตรง) ลุกขึ้นมา (1) คัดค้าน (2) แสดงความไม่เห็นด้วย และ (3) นำเสนอผลกระทบที่ตนเองจะได้รับมากมายกว่า 2 กลุ่ม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอนครับ

ผมพยายามคิดเร็วๆ และด้วยข้อมูลที่จำกัด ได้คำตอบว่า เมื่อโครงการเหล่านี้กระทำในพื้นที่ชายฝั่ง แน่นอนครับ ที่ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับ (1) คุณภาพของน้ำทำให้ “น้ำกร่อย” หายไปในบางโครงการ (ในพื้นที่ “ถมทะเล”) ที่จะมีผลกระทบทั้งสัตว์น้ำ/ป่าชายเลน/ระบบนิเวศวิทยา/ทางเดินของน้ำ ฯลฯ) (2) สัตว์น้ำที่อาศัยป่าชายเลนและน้ำกร่อยในการอยู่อาศัย/เพาะพันธุ์/อนุบาล/เจริญพันธุ์ ในพื้นที่น้ำกร่อยจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งส่งผลกระทบไปยังทะเลนอกชายฝั่งและทะเลลึกด้วย (3) ป่าชายเลนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะป่าชายเลนเชื่อมโยงกับน้ำกร่อยโดยตรง (4) การกัดเซาะชายฝั่ง อันเกิดจากการะแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน ทั้งจากการถมทะเล/การสร้างตอม่อสะพานต่างๆ (5) การเดินเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนทางเดินของกระแสน้ำ/การสร้างสิ่งกีดขวาง (ตอม่อ/ท่าเรือ/การถมพื้นที่) ฯลฯ (6) อาชีพและวิถีชีวิตของคนชายฝั่ง (ชาวประมง/ชาวนาเกลือ/คนเดินเรือ ฯลฯ) ฯลฯ ซึ่งโจทย์เหล่านี้ ผมเชื่อว่านักบริหารและนักวิชาการอาจมองไม่เห็น/ไม่รอบคอบ หรือเห็นไม่เหมือนกับชาวบ้านและคนทะเลที่ได้รับการสั่งสมประสบการณ์จากชีวิตจริงครับ

ดังนั้น ทั้ง 4 โครงการของรัฐบาลเพื่อไทยที่กำลังจะนำมาปัดฝุ่นใหม่และดำเนินการก่อสร้าง คือ (1) โครงการ “สะพานเชื่อมเกาะสมุย” (2) โครงการ “ทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ)” (3) โครงการ “สะพานไทย” เชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก ระหว่างเมืองพัทยาและหัวหิน และ (4) แนวคิดการ “ถมทะเล” บางขุนเทียน ของไทย ล้วนมีการก่อสร้างใน (ก) พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลน (ข) เป็นพื้นที่น้ำตื้นที่เป็นดินโคลน (ค) เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และ (ง) เป็นพื้นที่ที่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ทั้งการเพาะพันธุ์ อนุบาล และเจริญเติบโต ฯลฯ แต่โครงการต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการนำเสนอที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงควรจะได้มีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการต่อไป

อ้างอิง
1.https://mgronline.com/business/detail/9670000060193
2.https://www.thairath.co.th/news/local/east/1960079
3.ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร”ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ https://www.tace.co.th/new/เปิดสมองมองการก่อสร้าง-30