ThaiPublica > คอลัมน์ > สังคมไทยไร้วุฒิภาวะ

สังคมไทยไร้วุฒิภาวะ

10 มิถุนายน 2021


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับคนอินเดียโยนศพทิ้ง “แม่น้ำคงคา” แล้วมีคนไทยบางกลุ่มเอามาเป็นประเด็นปลุกคนไทยให้ตื่นตระหนก ไม่กินอาหารทะเล ด้วยการส่งต่อทางไลน์บ้าง โพสต์ทวิตเตอร์บ้าง โพสต์เฟซบุ๊กบ้าง ซึ่งก็มีคนเชื่อและส่งต่อข้อความพร้อมกับภาพไปทั่ว “ด้วยความหวังดีต่อเพื่อน เกรงว่าจะได้รับผลกระทบ” ผมเข้าใจในความหวังดีนั้นครับ

แต่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง “วุฒิภาวะ” ของสังคมไทย ทั้งคนโพสต์และคนเสพข่าวครับ

พระพุทธเจ้าท่านค้นพบและสั่งสอนมากว่า 2,500 ปี แล้ว ในเรื่องของ “หลักกาลามสูตร” แต่เราชาวพุทธกลับไม่ได้ให้ความสนใจครับ

ยกตัวอย่างกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวและภาพถ่ายว่ามีเรือประมงในประเทศมาเลเซีย ลากอวนได้ “ศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถูกทิ้งลงในทะเลจากประเทศอินเดีย” นั้น โดยผู้ส่งไลน์บอกว่า “คนอินเดียตายจากโควิด โยนน้ำ ตอนนี้เข้าถึงมาเลแล้ว ห้ามกินอาหารทะเลทุกชนิด” แล้วก็มีรูปภาพเรือประมงกำลังกู้อวน พบศพในอวน อยู่บนดาดฟ้าเรือ” คนไทยก็ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ “สุดท้าย ก็กระทบชาวประมงไทยที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ขายปลาที่จับมาไม่ได้ หรือขายในราคาถูก ต้องขาดทุน”

ผมอยากถามครับว่ามัน “ยุติธรรม” กับชาวประมงไทยไหมครับ

ในตอนแรก ที่ผมเห็นข่าวและภาพ ผมเริ่มวิเคราะห์ โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของรูปว่าจริงเท็จประการใด ผมได้ค้นพบเบื้องต้น ดังนี้ครับ

(1) ไม่มีการยืนยันว่า “ศพที่ติดอวนขึ้นมานั้น ติดอวนขึ้นมาเมื่อใด และจากบริเวณไหนของประเทศมาเลเซีย”

(2) ไม่มีการยืนยันว่า เป็นศพที่ติดเชื้อโควิด และทิ้งลงในทะเลจากประเทศอินเดีย”

(3) จากข้อมูลข้างต้นในข้อ (1) และ (2) ประเทศมาเลเซียอยู่ห่างจากประเทศอินเดียไกลกว่าประเทศไทยอีกเกือบ 1,000 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีศพลอยออกจาก “แม่น้ำคงคา” มาถึงทะเลในประเทศมาเลเซียได้

(4) จากการวิเคราะห์เรือประมงตามภาพถ่าย เป็นเรือประมงที่ใช้เครื่องมืออวนลาก ซึ่งไม่พบว่าเป็นเรือที่ทำการประมงในฝั่งมหาสมุทรอินเดียของประเทศมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีศพจาก “แม่น้ำคงคา” ติดอวนขึ้นมาบนเรือประมงที่ทำการประมงในฝั่งอ่าวไทยหรือทะเลจีนใต้ของประเทศมาเลเซียตามภาพถ่ายดังกล่าวได้

ที่มาภาพ : https://miazarraannur.blogspot.com/

และเมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจากพรรคพวกและเว็บไซต์ต่างๆ พบว่า “ภาพ” ที่นำมาประกอบข่าวนั้น เป็นข่าวที่ปรากฏในเว็บไซต์ https://miazarraannur.blogspot.com/ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2014 (2557) ในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย (รัฐกลันตัน ตั้งอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ไม่ใช่มหาสมุทรอินเดีย) ซึ่งมีการพบศพชายชาวต่างประเทศติดอวนขึ้นมา บางภาพเป็นข่าวในปี ค.ศ. 2017 (2560) โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ที่อ้างว่าถูกทิ้งลงในทะเลจากประเทศอินเดีย” (ที่เกิดขึ้นในปี 2564) เลยสักนิด ซึ่งสอดรับกับการวิเคราะห์เบื้องต้นของผมที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น ข้อมูลตามข่าวดังกล่าวจึงเป็น “ข้อมูลที่เป็นเท็จ” โดยสิ้นเชิง​ (ประเทศมาเลเซียก็ออกมาบอกว่าเป็น​ “ข่าวปลอม” ครับ​)​

ที่จริงก็อยากขอบคุณ “คนที่โพสต์ต่อๆ กันมา” ครับ เพราะมีความหวังดีต่อพรรคพวกเพื่อนฝูง แต่พอมามองผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปที่ “วุฒิภาวะ” ของสังคมไทยครับ ที่เรา “เสพ” “เชื่อ” และ “ส่งต่อ” ข้อมูลกันในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา โดยขาดการ “กรอง” กันเลย บ้านเมืองเมืองเราถึงได้มาถึงสภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้ครับ

เรามาตั้งสติกันใหม่ดีมั้ยครับ สร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยด้วยการมีสติ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล ให้เห็นข้อเท็จจริงกันก่อนส่งต่อกันดีไหมครับ