ThaiPublica > คอลัมน์ > ปลาทูที่ผมรู้จัก (ตอนที่ 1)

ปลาทูที่ผมรู้จัก (ตอนที่ 1)

3 มกราคม 2021


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ปลาทู

ในช่วงปลายปี มีเทศกาลหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักชิมในประเทศไทย คือ “เทศกาลปลาทู” ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายทะเลที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น สมุทรสาครและสมุทรสงคราม เพื่อส่งเสริมการค้าขาย “ปลาทู” ของจังหวัด โดยที่สมุทรสาครเรียกว่า “เทศกาลปลาทูอร่อยที่ท่าฉลอม” จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี (ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13) โดยกลุ่ม “พลังสตรีท่าฉลอม” ส่วนที่สมุทรสงครามเรียกว่า “เทศกาลกินปลาทูแม่กลอง” จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี (ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 23) โดย “หอการค้าสมุทรสงคราม” ซึ่งทั้งสองงาน มีการชู “ปลาทู” ให้เป็นพระเอกของงานเพื่อเชิญชวนแขกต่างเมืองมาเที่ยวชมและเที่ยวชิม “ปลาทู” เหมือนกัน และแน่นอนครับ ต่างก็อ้างถึงความ “อร่อย” ของ “ปลาทู” ที่จังหวัดของตน ให้คนต่างถิ่นมาลิ้มลอง

ผมเองติดตาม “งานเทศกาลปลาทู” ของทั้งสองจังหวัดมาตั้งแต่จัดกันครั้งแรกๆ และแอบชื่นชมผู้จัดงานของทั้งสองกลุ่มที่มีความวิริยะอุตสาหะในการ “ส่งเสริม” การตลาดอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาทู “สัตว์น้ำเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของไทย ที่มีอยู่ในจังหวัดของตน ซึ่งในฐานะของคนมี “อาชีพหาปลา” ก็ต้องขอบคุณมากครับ ในความพยายามที่ทำกันมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในฐานะที่เป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ มีประเด็นหนึ่งที่ผมติดใจจนต้องลุกขึ้นมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “ปลาทูที่ผมรู้จัก” ก็คือ “ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ปลาทู’ ที่หลายๆ คนนำมาใช้ทำ “การตลาดหรือโปรโมต” กันตามสื่อต่างๆ รวมทั้งข้อเขียนส่วนบุคคลใน Facebook บ้าง LINE บ้าง Twitter บ้าง โดยมีอ้างถึงการสัมภาษณ์ผู้จัดงานก็ดี ชาวประมงก็ดี แม่ค้าก็ดี ถึงขนาดหลายคนอ้างเป็นคนท้องถิ่นเห็นมากับตาก็มี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง และส่วนที่เป็นเรื่องของความคิดเห็น

แต่ที่ไม่น่าเชื่อ คือ มีข้อมูลหลายส่วนเป็นเรื่องราวที่ผ่านการเล่าต่อกันมาอย่างผิดๆ จนถึงขั้นกล่าวอ้างกันว่าเป็นตำนานก็มีครับ

ผมเคยทักท้วงไว้ในหลายเวที และติดหนี้บางคนไว้ที่จะชี้แจงรายละเอียด โดยบอกว่า “ถ้าว่างๆ” จะเขียนมาให้อ่านเป็นอีกแหล่งข้อมูลครับ แต่เนื้อหาที่ปรากฏอาจจะมีความแตกต่างไปจากเรื่องของคนอื่นบ้าง เพราะนอกจากการค้นคว้า “ข้อมูล” ในเชิงวิชาการ และ “ความคิดเห็น” ส่วนตัวแล้ว เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งยังมาจาก “ประสบการณ์” และ “องค์ความรู้” เรื่อง “ปลาทู” ที่ผมได้รับมาตั้งแต่เด็ก

ในฐานะที่เป็นคนริมทะเลที่มหาชัย เกิดในครอบครัวที่ทำการประมง มีเตี่ยเป็น “ไต้ก๋งโป๊ะ” ทั้งที่อ่าว “แม่กลอง” และ “มหาชัย” ในยุค 2490–2510 ตัวผมจึงมีโอกาสได้ออกทะเลไปเที่ยว “โป๊ะ” ปีน “ราวโป๊ะ” ดูเขาจับปลาตามประสาเด็กอยู่บ่อยครั้ง วันนี้ จึงขออาสาเขียนเรื่อง “ปลาทูที่ผมรู้จัก” ฝากไว้เป็นบันทึกเรื่องราวของปลาทูในอีกมุมหนึ่ง ครับ

1. ชนิดของปลาทู

ชนิดของปลาทู (Rastrelliger) และความแตกต่าง


หมายเหตุ: บางแหล่งข้อมูล มีการนำ “ปลาทูแขก” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Decapterus macrosoma ชื่อสามัญ: mackerel scad, round scad, horse mackerel) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปลาทูปากจิ้งจกและปลาลัง แต่มีเกล็ดหนามแข็งที่โคนหาง อันเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัวของปลาในวงศ์ปลาหางแข็ง (Carangidae) มาจัดเป็นปลาทูชนิดหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะแม้ว่าจะอยู่ในไฟลัม (Phylum) ชั้น (Class) และอันดับ (Order) เดียวกันกับ “ปลาทู” ทั้ง 3 ชนิดข้างต้น แต่อยู่คนละวงศ์ (Family) และสกุล (Genus) กันครับ โดย “ปลาทูแขก” อยู่ในวงศ์ (Family) “ปลาหางแข็ง (Carangidae)” และสกุล (Genus) “Decapterus” ที่มีอยู่ถึง 11 ชนิด ส่วน “ปลาทู” ทั้ง 3 ชนิด อยู่ในวงศ์ (Family) ปลาอินทรี (Scombridae) และสกุล (Genus) “Rastrelliger” ดังนั้น ตามความเห็นของผม “ปลาทูแขก” จึงมิใช่ “ปลาทู” ด้วยเหตุผลข้างต้นครับ

2. คุณค่าทางโภชนาการ ของ “ปลาทู”

“ปลาทู” เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าโปรตีนสูง รวมทั้งมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกหลายชนิด ทั้งพลังงาน โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ดังนี้

3. แหล่งที่มาและฤดูกาลของ “ปลาทู”

ในสมัยเด็กๆ ผมเคยฟังคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ว่า “ปลาทู” มีแหล่งกำเนิดในบริเวณ “ปลายแหลมญวน (เวียดนาม)” ในขณะที่บางคนก็บอกว่าแหล่งกำเนิดของ “ปลาทู” นั้นอยู่ในบริเวณ “อ่าวตังเกี๋ย” ที่อยู่ไกลถึงตอนใต้ของประเทศจีนและเวียดนามเหนือโน่นเลย เมื่อวางไข่แล้วก็จะพากันว่ายน้ำเข้ามาในอ่าวไทยให้เราจับกินกัน ปลาตัวไหนที่ไม่ถูกจับก็จะว่ายกลับไปในบริเวณเดิมเพื่อวางไข่ ออกลูกออกหลานแล้วก็พากันว่ายกลับมาที่อ่าวไทยใหม่ เป็น “วัฏจักร” แบบนี้เป็นประจำทุกปี

จนกระทั่งในช่วงต้นยุค 2500 ถ้าจำไม่ผิดก็ราวๆ พ.ศ. 2504–2507 (ผมโตจนจำความได้แล้ว) กรมประมงมีโครงการสำรวจวิจัยเรื่องแหล่งกำเนิดของ “ปลาทู” เพื่อให้รู้ว่า “ปลาทูอ่าวไทย” มาจากไหนกันแน่ จึงทำการศึกษาด้วยการจับปลาทูขึ้นมาแล้วติด “แถบ (Tag)” พลาสติกเล็กๆ ไว้ที่ตัวปลาทูก่อนปล่อยคืนลงสู่ “ทะเล” ไป เพื่อจะติดตามดูว่า “ปลาทู” ตัวนั้น ว่ายไปไหนบ้าง และมีสภาพ “เจริญพันธุ์” เป็นอย่างไร ซึ่งถ้าใครจับได้กรมประมงก็จะรับซื้อในราคาตัวละ “5 บาท” (ในสมัยนั้น ราคาปลาทูกิโลกรัมละไม่ถึงบาทด้วยซ้ำ จริงๆแล้ว เขาขายเป็น “หลัว” ครับ หลัวละสิบกว่าบาท/ประมาณ 20 กิโลกรัม) เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลว่า “ปลาทู” ที่มี “แถบ” ตัวนั้น ถูกปล่อยไปเมื่อไร ที่ไหน และจับได้วันที่เท่าไร ในบริเวณไหน (โดยครอบครัวเรา จับ “ปลาทู” ที่มี “แถบ” ได้ด้วยเครื่องมือ “โป๊ะ” อยู่หลายครั้งเหมือนกัน) ถ้าผมจำไม่ผิด กรมประมงมีการสำรวจแบบนี้ถึง 2 รอบด้วยกัน

ผลการสำรวจในครั้งนั้น ทำให้เราได้ทราบความจริงเกี่ยวกับ “การเดินทาง ฤดูกาล และแหล่งวางไข่” ของ “ปลาทู” ที่ถูกต้องว่า “ปลาทูอ่าวไทย” มีแหล่งกำเนิดในบริเวณ “หมู่เกาะอ่างทอง” ที่อยู่กลางอ่าวไทย ไม่ได้ว่ายมาจาก “ปลายแหลมญวน” หรือ “อ่าวตังเกี๋ย” อย่างที่เคยเล่าต่อๆ กันมาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดฤดูกาล “ปิดอ่าว” เพื่อให้ “ปลาทู” ได้วางไข่และอนุบาล “ลูกปลาทูวัยอ่อน” ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีนั่นเอง

แผนที่การเดินทางของปลาทูไทยที่เกิดจากการศึกษาวิจัยผ่าน “แถบ” ที่ตัวปลา
ที่มา: www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&=27

ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง ประกอบงานวิจัยอื่นๆ พบว่า “ปลาทู” ในประเทศไทยเป็นปลาที่วางไข่ตลอดทั้งปี เนื่องจากปลาทูทั้งเพศผู้และเพศเมียจะมีระยะเจริญพันธุ์ตลอดทั้งปี โดยมีปลาทูเพศผู้ที่อยู่ในระยะเจริญพันธุ์ ร้อยละ 27–100 และระยะการเจริญพันธุ์ของปลาทูเพศผู้แต่ละเดือนส่วนใหญ่มีปริมาณมากกว่า ร้อยละ 50 มีเพียงเดือนมกราคม พฤษภาคม และสิงหาคมเท่านั้น ที่มีปลาทูเพศผู้ระยะเจริญพันธุ์ลดลงเหลือ ร้อยละ 27, 49 และ 42 ตามลำดับ ในขณะที่ปลาทูเพศเมียก็มีระยะเจริญพันธุ์สูงเกือบตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน ยกเว้นเพียงเดือนมกราคม และสิงหาคมเท่านั้นที่มีปลาทูเพศเมียระยะเจริญพันธุ์ ร้อยละ 34 และ 46 ตามลำดับ ซึ่งทำให้ “ปลาทูมีการวางไข่ตลอดทั้งปี”

นอกจากนี้ ผลการศึกษาบางปียังพบว่าปลาทูมีการวางไข่สูงใน 2 ช่วง คือ เดือนกุมภาพันธ์–เมษายน และมิถุนายน–กรกฎาคม รายงานบางฉบับพบว่า “มีการวางไข่มาก 2 ช่วง ส่วนใหญ่วางไข่อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม และกรกฎาคม–ตุลาคม” รายงานบางฉบับพบว่า ปลาทู “มีการวางไข่เกือบตลอดระหว่างเดือนมกราคม–พฤษภาคม และเดือนกันยายน–พฤศจิกายน” โดยปลาทูตัวเมียที่มีไข่เต็มท้อง 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 7 ครั้ง/ปี ซึ่งจะวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 20,000 ฟอง และตัวผู้จะมีปริมาณอสุจิที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์

ตามรอยปลาทูไทย ที่มาภาพ: www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&=27

จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัย ประกอบคำบอกเล่าของชาวประมง ปลาทูในอ่าวไทยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (ปลาทูจะอยู่กันรวมฝูง) โดยกลุ่มแรกอยู่ในแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เรียกว่า “ปลาทูสายตะวันตก” ซึ่งถือเป็นแหล่งประมงปลาทูสำคัญของประเทศ ส่วนอีกกลุ่มจะอยู่บริเวณภาคตะวันออกแถบจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เรียกว่า “ปลาทูสายตะวันออก” ปลาทูจะมีการวางไข่มากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม โดย “ปลาทูสายตะวันตกบริเวณปากอ่าวไทย” จะว่ายน้ำลงไปวางไข่บริเวณนอกฝั่งแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และจะว่ายกลับขึ้นมาหากินอีกครั้งบริเวณปากอ่าวไทยในเขตพื้นที่ที่กล่าวมา ในขณะที่ “ปลาทูสายตะวันออก” จะว่ายน้ำไปวางไข่บริเวณเกาะช้างหรือเกาะกง และจะว่ายกลับขึ้นมาหากินยังถิ่นเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้างานวิจัยต่างๆ ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ผมไม่พบงานวิจัยเกี่ยวกับ “ปลาทู” ในเขต “อ่าวไทยตอนใต้ (สุราษฎร์ธานี–ปัตตานี)” ว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด เป็นปลากลุ่มเดียวกันกับ “ปลาทูสายตะวันตก” ที่มีถิ่นกำเนิดจากบริเวณ “หมู่เกาะอ่างทอง” หรือไม่ แต่ว่ายเลาะฝั่งลงไปหากินทางใต้แทน และเมื่อถึงเวลาวางไข่ก็กลับขึ้นมาในบริเวณ “หมู่เกาะอ่างทอง” อีกครั้งหนึ่งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ขณะเดียวกัน ผมมีข้อสงสัยครับว่า ก็ในเมื่อ “ปลาทู” ในประเทศไทย “เป็นปลาที่มีการวางไข่ตลอดทั้งปี” มีระยะเจริญพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมียตลอดทั้งปี ซึ่งหมายถึงการออกไข่ได้ทุกที่ ทุกช่วงเวลา ซึ่งชาวประมงก็ยืนยันว่ามีการจับ “ปลาทู” ที่มีไข่ได้ตลอดทั้งปี ในทุกพื้นที่บริเวณอ่าวไทย แต่ “เหตุไฉน” เราจึงยัง “ปิดอ่าว” เพื่อให้ “ปลาทูได้วางไข่” และอนุบาล “ลูกปลาทูวัยอ่อน” (ในอ่าวไทย) เฉพาะในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ในบริเวณ “หมู่เกาะอ่างทอง” เท่านั้นครับ (ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการอาศัยข้อมูลจากการวิศึกษาวิจัยเก่าเมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว)

วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราจะกลับมา “ตั้งหลักปรับองค์ความรู้ในเรื่องปลาทูกันใหม่” ด้วยการสำรวจวิจัยสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั้งหลายที่มีอยู่ในน่านน้ำไทยว่ามีสัตว์น้ำอะไร อยู่ที่ไหน มีวิถีชีวิตและฤดูกาลอย่างไร เพื่อเราจะได้จัดการกับทรัพยากรชนิดนั้นๆ ให้เกิดความยั่งยืนอย่างที่เราอยากจะเห็นกัน

อาจเริ่มต้นที่ “ปลาทู” ก็ได้ครับ เพราะเป็น “ปลาเศรษฐกิจ” ที่เราคุ้นเคย และมีองค์ความรู้มาก่อน นำความรู้เดิมมาเป็นปัดฝุ่นใหม่ ตั้งทีมทำงานศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องวัฏจักรชีวิตของปลาทูอย่างจริงจัง คุยหาข้อมูลพร้อมๆ กับให้ความรู้กับชาวบ้าน ชาวประมง แม่ค้า ตลอดจนผู้บริโภค ผมคิดว่าไม่เกิน 2 ปี เราก็น่าจะมีข้อมูลความรู้ที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการการใช้ทรัพยากรปลาทูได้อย่างยั่งยืน และทำการศึกษาต่อเนื่องในทุกๆ 5 ปี ผมมั่นใจว่า “เราจะมีปลาทูให้ได้บริโภคกันชั่วลูกชั่วหลานอย่างแน่นอน” ครับ

อ่านต่อตอนที่ 2