ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > PPP Plastics ยกระดับ ”ซาเล้ง-ร้านรับซื้อของเก่า” สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

PPP Plastics ยกระดับ ”ซาเล้ง-ร้านรับซื้อของเก่า” สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

23 สิงหาคม 2024


PPP Plastics ประกาศความร่วมมือ “Building Ecosystem for Plastic Circularity” ผนึกพันธมิตรยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่ กทม.และ EEC  กว่า 300 คน ร่วมจัดการขยะพลสติกตั้งเป้าหมาย ลดให้ได้ 50% ในปี 2570

การจัดการขยะพลาสติกยังเป็นปัญหาในประเทศไทยโดยในปริมาณขยะ 2.8 ล้านตันต่อปีสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตัน หรือ 25% ทำให้ภาครัฐและเอกชน  กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลาสติกของประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน  Public Private Partnership for Sustainable Plastics and Waste Management หรือ PPP Plastics ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development:TBCSD)

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาครบ 6 ปีของการดำเนินการของ PPP Plasticsนายภราดร จุลชาต ในฐานะ ประธาน PPP Plastics  ได้แถลงผลการดำเนินงานว่า  ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกทะเลลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายใน ปี 2570 โดยได้ดำเนินการใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านนวัตกรรม (4) ด้านการศึกษาและการสื่อสาร (5) จัดทำฐานข้อมูล (6) บริหารจัดการงบประมาณ

หลังการดำเนินงานของ PPP Plastics ได้เกิดโครงการนำร่อง หรือ โมเดลการจัดการขยะพลาสติกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และประสบความสำเร็จโดยได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิก จาก 15 องค์กรเพิ่มเป็น 45 องค์กรในปัจจุบันที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการจัดการขยะพลาสติกร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2570

นายภราดร จุลชาต ประธาน PPP Plastics

นางภรณี กองอมรภิญโญ PPP Plastics Communication Taskforce Leader กล่าวว่า PPP Plastics มุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติก หรือ plastic circularity โดยมีโครงการเด่น ได้แก่ โครงการ Smart Recycling Hub และโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งการที่จะผลักดันให้เกิดองคาพยพของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารที่เข้มแข็งในทุกระดับเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับในปีนี้ได้เปิดตัวโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยมีผู้บริหารจากองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย PPP Plastics กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า

นอกจากนี้ยังมีองค์กรภาคธุรกิจที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่  กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จํากัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าที่เชื่อมโยงกันในระดับประเทศ และอบรมให้ความรู้แก่ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบการผลิต

“โครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า”จะจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนทั้งซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อยกระดับมาตรฐานของ    ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย วิชาชีพ การดำเนินธุรกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้เครื่องมืออุปกรณ์และสร้างสถานที่ทำงานเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าจะมีซาเล้งมาขึ้นทะเบียนและอบรม 300 รายในพื้นที่ กทม. และ EEC”

นางภรณี  กล่าวด้วยว่า โครงการพัฒนาซาเล้งจะเห็นผลงานได้อย่างชัดเจนในปี 2568   เพราะช่วยยกมาตรฐานซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า ใน 4 ประเด็นคือ

1.พัฒนาระบบฐานขอมูล และระบบลงทะเบียน สำหรับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า

2.พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม และคู่มือ การเสริมเสร้างศักยภาพซาเล้ง

3.ขับเคลื่อนลานรับซื้อของเก่ากับศูนย์คัดแยกและจัดการวัสดุ (Material Recovery Facility : MRF )ในพื้นที่กรุงเทพและระยอง

4.จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาและการจดทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในระดับประเทศ

นางภรณี กองอมรภิญโญ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายสื่อสาร PPP Plastics

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากนี้ต่อไป PPP Plastics ยังคงเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งตอบสนองต่อทิศทางนโยบายทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (EPR) กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐาน PCR และข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการขับเคลื่อนงานในอนาคต PPP Plastics จะจัดตั้งเป็นสมาคม PPP Plastics เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในนามองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เพื่อสานต่อและขยายผลการดำเนินงานของ PPP Plastics ให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะลงมาตามเป้าหมายที่วางไว้  นอกจากนี้จะเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมนำเสนอข้อมูลเพื่อรับมือในอนาคต”

ภายในงานแถลงผลงานได้มีการจัดพิธีส่งมอบตำแหน่งประธาน PPP Plastics ระหว่าง นายภราดร จุลชาต ในนามกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้กับดร.วิจารย์ สิมาฉายา รับหน้าที่แทนโดยมีวาระ2 ปี

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประธาน PPP Plastics คนใหม่

นอกจากนี้ภายในงานแถลงผลงานได้มีการนำเสนอปัญหาขยะพลาสติกในทะเลโดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งของทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างมลพิษ โดยเฉพาะขยะทะเลชนิดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ทั้งเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของมนุษย์ ขยะพลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ต่อไป ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถรอเวลาได้ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องลงมือปฏิบัติและจัดการอย่างเป็นรูปธรรมแบบบูรณาการเพื่อให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกประสบความสำเร็จและยั่งยืน”

ขณะที่นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “มลพิษจากพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญ รองจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 องค์การสหประชาชาติกำลังจะให้มีอนุสัญญามลพิษพลาสติกขึ้น และอาจจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลาสติก ที่จะต้องมีการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้จำหน่ายที่จะต้องเริ่มมีการจำกัดหรือควบคุมการแจกจ่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ผู้บริโภคจะต้องมีความตระหนักในการใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า และแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง รวมทั้งผู้เก็บรวบรวมขยะที่จะต้องนำกลับคืนขยะรีไซเคิลทุกประเภทเหล่านี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

ด้านนายฐิติธัม พงศ์พนางาม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจไม่สามารถมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมุมมองเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว ทุกคนต่างตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพยายามแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกโดยการใช้วัสดุอื่นมาทดแทนยังไม่นับเป็นทางออกที่ยั่งยืน แต่กระบวนการรีไซเคิลและการผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติกคือคำตอบของปัญหาเหล่านี้”

สำหรับโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) หรือ PPP Plastics ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561 นำโดย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา

เป้าหมายหลักของ PPP Plastics เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง โดยจะลดขยะพลาสติกทะเลลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2570 ตามเป้าหมายหลัก 2 เป้าหมาย คือ

เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570

นอกจากนี้ PPP Plastics ยังดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายของประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก เช่น วาระแห่งชาติ BCG Model การยกร่างกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน การยกร่างกฎหมายบรรจุภัณฑ์ (Extended Producer Responsibility: EPR) และโครงการนำร่อง/โมเดล EPR เป็นต้น