ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียเตรียมสร้างท่าเรือแห่งใหม่แนวช่องแคบมะละกา รับห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน

ASEAN Roundup มาเลเซียเตรียมสร้างท่าเรือแห่งใหม่แนวช่องแคบมะละกา รับห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน

16 มิถุนายน 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 มิถุนายน 2567

  • มาเลเซียเตรียมสร้างท่าเรือแห่งใหม่แนวช่องแคบมะละกา รับห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน
  • ฟิลิปปินส์ลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 15%
  • สิงคโปร์จ่อขึ้นแท่นผู้นำตลาดซื้อขายทองคำ
  • คลังเวียดนามเตรียมทยอยขึ้นภาษึสรรพสามิตเหล้า-เบียร์เป็น 100%
  • ลาววางแผนปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการภายในปี 2568

    มาเลเซียเตรียมสร้างท่าเรือแห่งใหม่แนวช่องแคบมะละการับห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยน

    ที่มาภาพ: https://www.ptp.com.my/media-hub/image-gallery/aerial-view
    มาเลเซียเตรียมเริ่มโครงการเพื่อสร้างท่าเรือที่ให้บริการด้วยตู้คอนเทนเนอร์(container port)แห่งใหม่ด้านชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ตามแนวช่องแคบมะละกา หนึ่งในเส้นทางเดินทะเลที่พลุกพล่านที่สุดในโลก การพัฒนาที่สำคัญนี้น่าจะดึงดูดความต้องการด้านโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโต อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

    ท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 2 พันล้านริงกิต (425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะเป็นท่าเรือแห่งแรกในมาเลเซียที่มีระบบควบคุมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Al) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน Tanco Holdings ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Midports Holdings จะเป็นแกนนำในการดำเนินโครงการนี้ ด้วยความร่วมมือกับบริษัทวิศวกรรมทางทะเล CCCC Dredging Co. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ China Communications Construction Co. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน

    ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อต้นเดือนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นของความคิดริเริ่มที่ก้าวล้ำนี้

    ท่าเรือแห่งใหม่จะตั้งอยู่ในพอร์ตดิกสัน ซึ่งเป็นเมืองในรัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน ซึ่งห่างจากกัวลาลัมเปอร์และทำเลใจกลางเมืองตามแนวช่องแคบมะละกาทำให้มีข้อได้เปรียบในการใช้ประโยชน์จากการสัญจรทางทะเลและการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของมาเลเซีย

    “การก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้จะช่วยมีส่วนในการทำให้มาเลเซียบรรลุเป้าหมายในการสร้างศูนย์กลางท่าเรือที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจในเนอเกอรีเซิมบีลัน และผลักดันตำแหน่งทางการค้าระดับโลกของมาเลเซีย” แอนดรูว์ ตัน ฮวน ซวน กรรมการผู้จัดการของ Tanco Group กล่าว

    นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนกับ CCCC Dredgin โดยชี้ว่า “การทำงานร่วมกันถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเราในการสร้างท่าเรือระดับโลกในพอร์ตดิกสัน ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ CCCC Dredging มีจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงานในภูมิภาค”

    ท่าเรือแห่งนี้จะมีท่าเทียบเรือยาว 1.8 กิโลเมตร มีอาคารผู้โดยสาร และพื้นที่รองรับการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ที่ครอบคลุมประมาณ 809,300 ตารางเมตร มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมเพื่อรองรับเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุด มีเครนอัตโนมัติที่ล้ำสมัย รถบรรทุกไร้คนขับ และมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็ง

    การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ ถือเป็นจุดเด่นของท่าเรือใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ระบบ AI จะวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร ตารางเวลาการเดินเรือ ติดตามการปฏิบัติการทางทะเล และจัดการกระบวนการโลจิสติกส์แบบอัตโนมัติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้คาดว่าจะยกระดับการดำเนินงาน ลดต้นทุนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

    แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศวันที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ แต่คาดว่าท่าเรือดังกล่าวจะยกระดับบริการโลจิสติกส์ และการขนส่งทางทะเลของมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ โครงข่ายถนนและทางหลวงจะเชื่อมโยงท่าเรือไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

    ปัจจุบันบริษัทระดับโลกกระจายห่วงโซ่อุปทานของตนให้มีความหลากหลายมากขึ้น มาเลเซียก็กำลังเติบโตในฐานะจุดหมายปลายทางที่ชื่นชอบ ดึงดูดการลงทุนจำนวนมากในภาคปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และภาคการผลิตอื่นๆ ท่าเรือ Kelang ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็กำลังวางแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถเป็นสองเท่าเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดเผยของ Westports Holdings ผู้บริหารโครงการ

    ฟิลิปปินส์ลดภาษีข้าวนำเข้าเหลือ 15%

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/headlines/2023/08/02/2285575/government-import-13-mmt-rice

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้อนุมัติการลดภาษีนำเข้าสำหรับข้าว ถ่านหิน และสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอื่นๆ จากการเปิดเผยของเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (National Economic and Development Authority :Neda) นายอาร์เซนิโอ บาลิซากัน

    นายบาลิซากัน กล่าวว่า ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ Neda ได้อนุมัติโครงการภาษีใหม่ที่ครอบคลุมสำหรับปี 2567-2571 ซึ่งรวมถึงการลดภาษีสินค้าสำคัญอื่นๆ ในภาคพลังงานและการผลิตด้วย และยังคงอัตราภาษีสินค้าเกษตรสำคัญไว้ที่ระดับต่ำ ซึ่งการปรับอัตราภาษีมีผลไปจนถึงปี 2571

    “สำหรับข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของตะกร้าการบริโภคของครัวเรือนชาวฟิลิปปินส์ คณะกรรมการ Neda ตกลงที่จะลดอัตราภาษีลงเหลือ 15% สำหรับอัตราภาษีนำเข้าในโควต้าและอัราภาษีนอกโควต้าจาก 35% ไปจนถึงปี 2571” นายบาลิซากัน กล่าวในการบรรยายสรุปที่ทำเนียบประธานาธิบดี

    คณะกรรมการยังได้อนุมัติข้อเสนอแนะของคณะกรรมการด้านภาษีและเรื่องที่เกี่ยวข้อง (Committee on Tariff and Related Matters:CTRM ) ที่ให้ลดภาษีสำหรับสารเคมีบางชนิดและถ่านหินอัดแท่ง เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานและลดต้นทุนการผลิต

    นายบาลิซากัน กล่าวว่า การลดภาษีถ่านหินจะช่วยทำให้มีถ่านหินพร้อมจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนราคาไฟฟ้าและอุปทานในประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

    CTRM อยู่ภายใต้ Neda โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการค้าเป็นประธาน

    อัตราภาษีสำหรับข้าวโพด เนื้อหมู เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำตาล ผัก เช่น หัวหอม หอมแดง กระเทียม บรอกโคลี แครอท กะหล่ำปลี ผักกาดหอม มันเทศ มันสำปะหลัง สารทดแทนกาแฟ อาหารสำเร็จรูป และวัตถุดิบที่เตรียมไว้ก่อนเข้าสู่กระบวนการอาหารสัตว์จะยังคงเหมือนเดิม

    นายบาลิซากัน กล่าวต่อว่า การลดภาษีข้าวลงเหลือ 15% จาก 35% จะทำให้ราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักลดลงเหลือ 29 เปโซต่อกิโลกรัมซึ่งจะช่วยคนยากจนและชาวฟิลิปปินส์ที่เปราะบาง

    แม้ราคาข้าวจะไม่ลดลงมากเนื่องจากราคาโลกที่สูงขึ้น แต่นายบาลิซากันกล่าวว่า อัตราภาษีใหม่สำหรับข้าวและผลิตภัณฑ์อื่นๆจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

    “ด้วยการลดภาษีจาก 35% ทุกคนจะได้รับประโยชน์ และนี่เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากราคาตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้น หากเราไม่ลดภาษีลง ราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นเมื่อบวกกับภาษีนำเข้า 35% แล้วก็จะสูงกว่านั้นมาก ราคาและอัตราเงินเฟ้อก็จะยังคงเป็นปัญหารุนแรงต่อไป ด้วยเหตุนี้ เราคาดว่าแรงกดดันที่สูงขึ้นและราคาข้าวจะอ่อนตัวลง” นายบาลิซากัน กล่าว

    ในเดือนเมษายนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง (1.75%) เป็นผลมาจากข้าว ข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของฟิลิปปินส์เผยให้เห็น

    นายบาลิซากันกล่าวว่า Neda มองในแง่ดีว่า ภาษีธัญพืชหลักที่ลดลงจะทำให้ราคาข้าวลดลงเหลือเพียง 29 เปโซต่อกิโลกรัม ทำให้คนยากจนสามารถซื้อได้

    “ราคา 29 เปโซ คือ ต้นทุนข้าวเป้าหมายของเราสำหรับคนยากจน กลุ่มเป้าหมาย 4Ps ซึ่งมันไม่ใช่ราคาทั่วไป สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ รัฐบาลควรช่วยเหลือผู้ที่สามารถรับมือกับราคาข้าวได้น้อยที่สุด” นายบาลิซากันชี้ให้เห็น โดยหมายถึงชาวฟิลิปปินส์เข้าโครงการ Pantawid Pamilyang Pilipino Program(4Ps)

    นายบาลิซากันกล่าวว่า คาดว่าราคาข้าวจะลดลงภายในปีนี้ ไม่นานหลังจากที่ประธานาธิบดีออกคำสั่งของฝ่ายบริหารให้ดำเนินโครงการภาษีใหม่

    อัตราภาษีล่าสุดซึ่งมีทบทวนทุกๆ 5 ปี ยังคงรักษาอัตราปัจจุบันไว้ที่ตั้งแต่ 0% ถึง 65% สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมหลายชนิด

    นายบาลิซากันกล่าวว่า คณะกรรมการ Neda ตกลงที่จะรักษาอัตราปัจจุบันของวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตที่มีภาษีศุลกากรต่ำและรวมภาษีสำหรับสารเคมี สิ่งทอ เครื่องจักร และอุปกรณ์การขนส่งบางชนิดเพื่อ ลดความซับซ้อนของโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อให้ศุลกากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวกมากขึ้น

    สิงคโปร์จ่อขึ้นแท่นผู้นำตลาดซื้อขายทองคำ

    ที่มาภาพ: https://sbma.org.sg/singapore-bullion-market/singapore/
    สิงคโปร์น่าจะก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดทองคำชั้นนำ เนื่องจากการซื้อขายโน้มไปทางตะวันออกมากขึ้น ตามรายงานของสภาทองคำโลก

    เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ การบริโภคทองคำในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญกำลังเพิ่มขึ้น และตลาดเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย Shaokai Fan หัวหน้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลาง ของสภาทองคำโลก(WGC)กล่าว

    สิงคโปร์อยู่ไม่ห่างจากธนาคารกลางเหล่านี้ ซึ่งกำลังเร่งซื้อทองคำและเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

    “ศูนย์กลางของตลาดทองคำได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันออก โดยที่สิงคโปร์มีศักยภาพที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของความสมดุลใหม่นี้” Fan กล่าวในการประชุม Asia Pacific Precious Metals Conference ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์

    จีนเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลก และธนาคารกลางของจีนก็เป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากจีนพยายามเพิ่มปริมาณสำรองทองคำ

    ในบรรดาธนาคารกลาง ธนาคารประชาชนจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในปี 2566

    รายงานล่าสุดโดย WGC แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นยังมีความต้องการทองคำที่แข็งแกร่ง โดยมีข้อมูลว่าความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสแรกแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019

    ในทำนองเดียวกัน เกาหลีใต้มียอดซื้อทองคำรายไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบกว่าสองปี

    นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังอยู่ใกล้กับศูนย์เหมืองแร่ทองคำประมาณ 25% ของโลก เช่น จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และลาว

    ความจำเป็นในการหาแหล่งศูนย์สำรองทองคำอย่างเป็นทางการ กลายเป็นข้อกังวลที่เพิ่มขึ้นสำหรับนายธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน Fan กล่าวและว่า สิงคโปร์อาจกลายเป็น “ทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างแท้จริง” สำหรับลอนดอนและนิวยอร์กในฐานะศูนย์กลางการเก็บทองของธนาคารกลาง

    “สิงคโปร์น่าจะเป็นผู้นำตลาดทองคำในอนาคต” Fan กล่าวและว่าปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อบทบาทสำคัญของสิงคโปร์ในอนาคตของตลาดทองคำแท่ง ได้แก่ ความมุ่งมั่นของประเทศที่จะคงเสถียรภาพทางการเมือง และการยกเลิกภาษีการขายทองคำเพื่อการลงทุน

    ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2012 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยกเว้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) หรือที่เรียกว่าภาษีการขาย จากโลหะมีค่าเกรดการลงทุน

    คลังเวียดนามเตรียมทยอยขึ้นภาษึสรรพสามิตเหล้า-เบียร์เป็น 100%

    Customers hold glasses of draught beer at a restaurant in Hanoi, Vietnam June 24, 2017. REUTERS/Kham

    กระทรวงการคลังเวียดนามเสนอรัฐบาลให้ทยอยปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตสุราเป็น 100% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอัตราเรียกเก็บอยู่ที่ 65% สำหรับเบียร์และ 35-65% สำหรับสุราอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ และใช้กับสุราทุกประเภท เครื่องดื่มหมักที่ทำจากผลไม้และธัญพืช และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงน้ำอัดลม

    การขึ้นภาษีมีเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายสุราสูงขึ้นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

    กระทรวงฯเสนอให้เพิ่มอัตราภาษีเป็น 80% ในปี 2569 และทยอยปรับขึ้นค่อยๆ เป็น 100% ภายในปี 2573 สำหรับสุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 20% และเบียร์ทั้งหมด

    สำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ เสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 50% และ 70%

    แอลกอฮอล์เป็นสิ่งเสพติดและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่สำคัญต่อผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะและความปลอดภัยในการจราจร

    “การใช้อัตราภาษีที่สูงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป” กระทรวงฯระบุและกล่าวว่าภาษีที่สูงขึ้นจะช่วยลดการบริโภค

    ธุรกิจสุราได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลไม่ให้ขึ้นภาษี โดยระบุว่าจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมและกระทบต่อการจัดเก็บภาษี

    ปีที่แล้ว รายได้ของอุตสาหกรรมลดลง 11% และกำไรลดลง 23% ตามข้อมูลของสมาคมเบียร์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-เครื่องดื่มเวียดนาม

    ธุรกิจต่างๆ กล่าวว่า การขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มราคาไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และแนะนำให้มีนโยบายเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมคิดค้นและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจ

    รัฐบาลคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะผลิตเบียร์ได้ 4.6 พันล้านลิตรและเครื่องดื่มอื่นๆ 350 ล้านลิตร และส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ข้อเสนอของกระทรวงต่อรัฐบาลยังรวมภาษีสรรพสามิตใหม่หรือที่สูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ หลายอย่าง รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น บุหรี่ ใบยา ซิการ์ ยาสูบไปป์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2569-30

    การขึ้นราคาดังกล่าวจะค่อยๆ มีผลในอัตรา 5,000-10,000 ด่องเวียดนาม (0.2-0.4 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับบุหรี่ 1 ซอง และ 50,000-100,000 ด่องเวียดนามสำหรับซิการ์ 1 ชิ้น และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆในปริมาณ 100 กรัมหรือมิลลิลิตร

    การขึ้นภาษีจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายจาก 42.7% ในปี 2565 เหลือ 38.6% ภายในปี 2573 กระทรวงประเมิน และภาษีที่จัดเก็บในอุตสาหกรรมยาสูบจะเพิ่มขึ้น 2.2 เท่าจากปี 2565 เป็น 39.2 ล้านล้านเวียดนามดองในปี 2573

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/finance-ministry-eyes-10-tax-on-sweetened-beverages-4758407.html
    นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเสนอให้จัดเก็บภาษีเพื่อการบริโภคพิเศษ 10% สำหรับเครื่องดื่มรสหวานเพื่อลดการบริโภค โดยในร่างกฎหมายล่าสุดเรื่องภาษีการบริโภคพิเศษ ระบุว่า หากราคาเพิ่มขึ้น 10% ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยลงหรือไม่ใช้เลย

    “ภาษี จะช่วยลดโรคอ้วน เบาหวาน และโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อระบบการดูแลสุขภาพ”

    การจัดภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐฐาลมีรายได้จำนวน 2.4 ล้านล้านด่อง (94 ล้านดอลลาร์) ในปีแรก ก่อนที่จะลดลง เนื่องจากความสนใจจะหันไปที่ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย

    รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันโภชนาการแห่งชาติเพื่อแสดงให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 เท่าในรอบ 7 ปีเป็น 70.56 ลิตรในปี 2563

    อัตราส่วนของเด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน (อายุ 5-19 ปี) เพิ่มขึ้นสองเท่าใน 10 ปีเป็น 19% ในปี 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 17.3%

    การเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานเป็นกระแสระดับโลก และขณะนี้ 85 ประเทศได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งมากกว่าตัวเลขเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 6 เท่า

    เมื่อปีที่แล้วผู้ผลิตเครื่องดื่มล็อบบี้ต่อต้านภาษี โดยอ้างว่าไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน

    ลาววางแผนปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการภายในปี 2568

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2023/08/08/lao-kip-listed-as-one-of-most-undervalued-currencies-in-world/
    รัฐบาลลาวได้ประกาศแผนการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการเป็นระหว่าง 2 ล้านกีบถึง 2.2 ล้านกีบ (91.45 – 100.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายทางเศรษฐกิจ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติภาพ พรมวิหาร รายงานต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ถึงนโยบายของรัฐบาลในการขึ้นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการและตำรวจ แม้จะมีการเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่รัฐมนตรียอมรับว่าเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอที่จะบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินที่อ่อนค่าลง

    ในปี 2566 รัฐบาลขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 1.7 ล้านกีบ (77.74 ดอลลาร์สหรัฐ) และจัดสรรเงินเพิ่ม 150,000 กีบ (6.86 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปีนี้มีการเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้เงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 1.85 ล้านกีบ (84.59 ดอลลาร์สหรัฐ)

    นายสันติภาพย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และลูกจ้างเกษียณอายุให้ตรงเวลาอย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

    เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ กระทรวงการคลังกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นเงินเดือนเพิ่มเติม การวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าสามารถเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 2 ล้านกีบ ถึง 2.2 ล้านกีบ (91.45 – 100.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 8-18% จากขั้นต่ำในปัจจุบัน การปรับเพิ่มเงินเดือนนี้คาดว่าจะดำเนินการเป็นช่วงๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2568

    การเสนอปรับเพิ่มเงินเดือนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลลาวในการบรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินที่อ่อนค่าลงต่อข้าราชการ

    ณ วันที่ 13 มิถุนายน ธนาคาร BCEL และธนาคารพงสะหวัน ขายดอลลาร์สหรัฐที่ 21,825 กีบ และเงินบาทไทยที่ 694.45 กีบ อัตราที่ไม่เป็นทางการนั้นสูงกว่ามาก โดยเงินดอลลาร์สหรัฐเกิน 25,000 กีบ และเงินบาทมากกว่า 710 กีบ ที่ร้านแลกเปลี่ยนเงินในประเทศ

    เมื่อเดือนที่แล้ว นายบุญเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี ทำให้ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในการลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือ 9% ในปี 2566 เงินกีบลาวยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก