ThaiPublica > คอลัมน์ > กทม. ที่เพิ่งสร้าง

กทม. ที่เพิ่งสร้าง

1 มิถุนายน 2024


1721955

กลายเป็นดราม่ากันพอสมควรเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสำหรับภาพลักษณ์ใหม่ของ กทม. ที่กลายเป็นเสียงแตกบ้างก็ว่าดี บางคนก็ว่าไม่สวย ไม่ชอบ ไปจนถึงงบสามล้านที่จนบัดนี้ข้อมูลยังสับสนว่าราคานี้คือเฉพาะส่วนที่เป็นสติกเกอร์บนรางรถไฟฟ้า หรือหมายถึงราคาทั้งหมดของโปรเจกต์นี้ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนใหม่ทั่วทั้งเมือง

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 กทม. มีการเปลี่ยนป้ายกรุงเทพฯ บริเวณสะพานเชื่อมแยกปทุมวัน แลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูปกัน ซึ่งของเดิมมันดูเก่าซอมซ่อ กทม. จึงมาเปลี่ยนเสียใหม่ แต่กลายเป็นกระแสดราม่าสะพัดว่ามันสวยหรือ

จากดราม่านี้ทำให้เราค้นข้อมูลเพิ่มแล้วพบว่ามันมีความน่าสนใจหลายประการต่อการเปลี่ยนป้ายนี้ เราพบว่าป้ายเดิมที่หลายคนรู้จักในชื่อ Bangkok City of Life เป็นการเปลี่ยนในปี 2006 หรือพ.ศ.2549 ขณะที่ป้ายใหม่นี้ มีการอิงเอา “สีเขียว” อันเป็นสีสำคัญจากในโลโก้กทม.ที่เริ่มประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 1973 หรือพ.ศ.2516 อันเป็นสองปีสำคัญแห่งความมหาวุ่นวายโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

จากข้อมูลของ Farmgroup ผู้มาทำหน้าที่ในการปรับลุคโฉมใหม่ให้กับกทมในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เรา เอ๊ะใจ (ขั้นกว่าของเอะใจ) คือไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นการจงใจ หรือเป็นความผิดพลาด เมื่อเราเห็นภาพต่อไปนี้

กล่าวคือจากฐานข้อมูลของ เว็บไซต์กทม.เองได้ระบุว่า ‘ตรานี้กรมศิลปากรออกแบบโดยอาศัยภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973)’ โดยหากอิงจากบทสัมภาษณ์ของ Farmgroup เองได้กล่าวไว้ว่า “ภาพดั้งเดิมคือภาพที่กรมพระยานริศฯ (สมเด็จครู) วาดให้เป็นของขวัญแด่รัชกาลที่ 6 …เมื่อปี พ.ศ. 2466 (ค.ศ.1923) ซึ่งขณะนี้ภาพ(ต้นฉบับ)นั้นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน หรือวังคลองเตย…แล้วกทม.ขอรูปนั้นมาเป็นโลโก้ของเมือง…โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาใน พ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973)”

ทว่าหากย้อนกลับไปดูกราฟิกที่ทาง Farmgroup ให้มา กลับระบุว่าประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 1933 (พ.ศ.2476) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้เลย เพราะในปีนั้น กรุงเทพยังไม่เคยมีโลโก้อย่างในปัจจุบัน เพราะในปี พ.ศ.2476 เมืองนี้ถูกเรียกว่าจังหวัดพระนคร โดยใช้ตราพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตราประจำจังหวัด จนกระทั่ง พ.ศ. 2515 (ค.ศ.1972) ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ (โดย จอมพลถนอม กิตติขจร) จัดระเบียบการปกครองในเขตนครหลวงใหม่ พระนครจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น กรุงเทพมหานคร

แล้วโลโก้สีเขียวของกรุงเทพมหานครก็ประกาศใช้ในอีกปีถัดมาคือในปี 2516 อันเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมขับไล่ 3 ทรราชย์ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร (บุตรชายของจอมพลถนอมและเป็นบุตรเขยของจอมพลประภาส)

ขณะที่ป้าย Bangkok City of Life ปรากฏขึ้นในสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน (จากพรรคประชาธิปัตย์) ในปี พ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) อันเป็นปีรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
เรากำลังชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามเกี่ยวกับ กทม. บ่อยครั้งผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ

เอาล่ะเราคงไม่เน้นการเมืองอะไรมากเพราะคอลัมน์นี้เรามุ่งประเด็นไปในเรื่องศิลปะและการออกแบบ (แม้ว่าอันที่จริงศิลปะและการเมืองมีความผูกพัน ผกผัน และผันผวน ต่อกันและกันมานานแล้วก็ตาม)

Color System

จากข้อมูลของทาง Farmgroup ชี้ให้เห็นถึงระบบสีที่จะใช้ในการออกแบบเมืองในคราวนี้ อันย้อนกลับไปถึงฐานรากที่มา ก็คือตัวโลโก้กทม.เองที่เป็นสีเขียวมรกต (PANTONE 3415 C หรือ Code สีคือ #00744B) ซึ่งเป็นสีประจำของ “พระอินทร์” อันเป็นที่มาของรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ ที่ย้อนกลับไปถึงภาพวาดของพระยานริศฯ โดยฐานข้อมูลของกทม.ได้ระบุว่า ‘ตราพระอินทร์ทรงช้าง เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองเทวดาของพระอินทร์ ดังปรากฎตามชื่อเมืองซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานว่า *กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ และรัชกาลที่ 4 ทรงแก้สร้อยชื่อเมืองเป็น *กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ก็คือ โกสิ สนธิกับ อินทร์ ซึ่งหมายถึง พระอินทร์เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองเทวดาของพระอินทร์…สาเหตุที่ยกกรุงเทพฯ เป็นเมืองพระอินทร์ สันนิษฐานว่า เพราะคำว่า *รัตนโกสินทร์ คือแก้วของพระอินทร์ อันได้แก่ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งมีสีเขียวเหมือนสีกายของพระอินทร์ เมืองของพระแก้วมรกตจึงเป็นเมืองของพระอินทร์”

ข้อมูลเพิ่มเติมเราพบว่า โกสีย์ เป็นคำยืมจากบาลี โกสิย แปลว่า พระอินทร์ อยู่แล้วด้วย ส่วนดราม่าที่ซุบซิบกันตามโซเชียลว่าตกลงแล้วพระแก้วมรกตเป็นของไทย หรือเราไปขโมยมาจากลาว ก็คงต้องสืบกันเอาเอง เพราะผู้ชนะเป็นฝ่ายเขียนประวัติศาสตร์เสมอ และความจริงก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เล่า หรือคุณจะเชื่อฝั่งไหนก็สุดแท้แต่

พระอินทร์คือใคร

Indra ถูกอธิบายว่า “the king of the devas and Svarga in Hinduism.” หรือ กษัตริย์แห่งเหล่าทวยเทพเทวดาและสวรรคโลกในศาสนาฮินดู อันเกี่ยวข้องกับท้องฟ้า สายฟ้าฟาด สภาพอากาศ พายุ ฝน กระแสน้ำ (มิน่าน้ำท่วมบ่อย) และสงคราม (และศึกบ่อย)

วิมานหรือที่พำนักของพระอินทร์ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นหากตีความจากข้อมูลนี้ จึงเป็นความเข้าใจผิดเสมอมาต่อความหมายว่ากรุงเทพเป็นเมืองเทวดา อันหมายถึงชาวกรุงดัดจริตทั้งหลายทุกผู้ทุกคนมากมายในเมืองแห่งนี้ เพราะอันที่จริงแล้วทั้งโลโก้นี้ และตัวความหมายของเมืองโกสินทร์ของพระอินทร์แล้ว กรุงเทพจึงไม่ได้หมายถึงเมืองแห่งเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ทว่าหมายถึงเมืองของพระอินทร์แต่เพียงผู้เดียว

เป็นวิมานขององค์อินทร์ เช่นเดียวกับข้อถกเถียงที่ในยุคเราเป็นดราม่าเสียงแตกเสมอมาว่า ตกลงแล้ว ชาติ หมายถึง แผ่นดิน หรือ ประชาชนคนในชาติ เพราะอันที่จริงนี่คืองานถนัดของรัฐไทยในการ ตีขลุม กำกวม ตีความให้กว้าง หรือเหมารวม เป็นแนวคิดฐานรากที่ถูกปรับแปลงไปตามแต่แต่ละกรณี

ข้อมูลเสริม ในรูปจะเห็นว่าพระอินทร์มีดวงตามากมายตามลำตัว อันเป็นฉายาหนึ่งของพระอินทร์ว่า ท้าวพันตา หรือ สหัสนัยน์ เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในหลากหลายแหล่ง เช่น ในกถาสริตสาคร เล่มที่ 2 บทที่ 17 เรื่องที่ 21 เล่าถึงที่มาของดวงตาทั้ง 1,000 ของพระอินทร์ไว้ว่าเกิดจากคำสาปของพระฤๅษีเคาตมะที่สาปพระอินทร์ให้มีโยนี (หรือที่เด็กสมัยนี้เรียกว่า “กี”) 1,000 ปรากฏไปทั่วตัวโทษฐานที่มาลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของเขา (อันเป็นฉายาว่า “สหัสโยนี”) ภายหลังถูกพระมุนีกำกับไว้ว่าเมื่อใดพระอินทร์ได้เห็นนางฟ้าติโลตตมา (Tilottama ติ-โลด-ตะ-มา อย่าอ่านผิดเป็นตดหมานะเออ แปลว่า “งามเหนือใครในสามโลก” ถูกสร้างขึ้นโดยพระวิษณุ) โยนีทั้งพันจะกลายเป็นดวงตาแทน

วชิรา วัชระ วชิราวุธ

เห็นหลายคอมเม้นต์แซวว่าพระอินทร์ถือบง หรือที่คนรุ่นใหม่รู้จักกันดีว่ามันคือแท่งไฟเชียร์ด้อมไอดอลของตัวเองตามเวทีคอนเสิร์ตต่าง ๆ ไม่ใช่นะฮะ วชิรา หรือ วัชระ (Vajra) คำนี้ภาษาอังกฤษแปลความหมายว่า Thunderbolt หรือสายฟ้าฟาด เป็นอาวุธ หรือเครื่องประกอบพิธีกรรม เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายว่ามีคุณสมบัติแข็งแกร่ง มิอาจทำลายได้ ดุจดั่งเพชร และไม่อาจต้านทานได้ดุจดั่งสายฟ้า ตามตำนานฮินดูถือว่าวัชระเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งในจักรวาล

สำหรับชาวไทยแล้ว วชิราวุธ เป็นส่วนหนึ่งของตราพระราชลัญจกรของกษัตริย์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระวชิระ เป็นรูปวชิราวุธ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย “วชิราวุธ” ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร

และพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นรูปวชิราวุธซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมี พระเกี้ยว มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนคำว่า “อลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวาร

หลายหลากสี

เบื้องแรกเลยตอนที่ยังไม่รู้ความหมาย เรามองว่าเลือกสีได้ดี แม้จะมีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นสีที่ไม่เข้ากับเมือง แต่สำหรับเรา นี่คือสีที่วิ่งวนอยู่รอบเมือง แท็กซี่เอย จีวรพระเอย สามล้อ วัด วัง ธงประดับ พวงมาลัย ฯลฯ คนกรุงเทพล้วนคุ้นชินกับค่าสีเหล่านี้ที่ถูกผลัดเปลี่ยนเวียนซ้ำย้ำกันไปตลอดตลอดตั้งแต่เราเกิดจนเราตาย

ขณะที่ Farmgroup อธิบายว่า “ที่มาของสีเหล่านี้มาจากแลนด์มาร์กหรือไอคอนสำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ อย่างหลังคาวัดพระแก้ว ยักษ์ ไฟเยาวราช รถแท็กซี่ เต็นท์ตลาด ร่ม หรือสถานที่ที่สื่อถึงความเป็น Local ของกรุงเทพฯ มาประมวลกัน แล้วก็ต้องเป็นสีที่มีความเข้ม-ความอ่อน ซึ่งทำให้ Palette (สี)โดยรวมสื่อถึงความเป็นกรุงเทพฯ แล้วก็สามารถอยู่กับสีหลัก(เขียวมรกต)ที่เราเลือกมาได้ด้วย”

“แต่สุดท้ายแล้วเราก็เอามาจับคู่กับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เลยมีการโดนตัดบางสีออกไป ไม่อย่างนั้นเราตัดสินใจไม่ได้ว่าแท็กซี่ หรือวัดพระแก้ว หรือยักษ์ หรือร่ม หรืออะไร เพราะทุกอย่างมันว่าด้วยเรื่องของความหลากหลายอยู่ดี”

ม่วง ชมพู ฟ้า เหลือง ส้ม เขียว

โดยในข้อมูลของ Farmgroup เองอธิบายเอาไว้ว่า ‘เป็นสีที่สะท้อนถึงความสุขของผู้คนและการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่กับวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ระบบสีรองของกรุงเทพมหานครจะถูกใช้คู่กับสีเขียวมรกต(สีหลัก) เสมอ สีหลักและสีรองจะถูกใช้ในการสื่อสารทุกช่องทางของกรุงเทพมหานครทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (งานพิมพ์) โดยที่สีหลักสีเขียวมรกตจะเป็นสีที่มีสัดส่วนมากที่สุดในการใช้งานเสมอ’

Corporate Identity

แนวคิดดังกล่าวที่ผ่านมาจนถึงตรงนี้ สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า CI หรือ Corporate Identity หรือ อัตลักษณ์องค์กร เป็นสิ่งที่องค์กรจะนำเสนอตัวเองต่อสาธารณะ โดยทั่วไปองค์กรจะสามารถมองเห็นได้จากการสร้างแบรนด์โดยใช้เครื่องหมายการค้า โลโก้ หรือตราสัญลักษณ์ (ไปจนถึงการออกแบบแพ็คเกจ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนขององค์กร

เกือบเจ็ดพันปีที่แล้วช่างปั้นหม้อชาวทรานซิลวาเนียได้จารึกเครื่องหมายส่วนตัวของตนเอาไว้บนเครื่องปั้นดินเผาที่พวกเขาสร้างขึ้น ถ้าช่างปั้นหม้อคนใดทำผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เหนือกว่าของคนอื่น แน่นอนว่าตราเหล่านี้บ่งบอกถึงฝีมือ ที่มาของผู้ปั้น และแปรผันเป็นมูลค่า แสดงคุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง ศาสนาต่าง ๆ ได้สร้างเครื่องหมายบ่งบอกตัวตนด้วยสัญลักษณ์เรียบง่ายและได้รับการยอมรับ อาทิ ไม้กางเขนของชาวคริสต์ ดาวดาวิดของชาวยิว จันทร์เสี้ยวของชาวมุสลิม นอกจากนี้กษัตริย์ขุนนางในยุคกลางยังมีเสื้อผ้า ชุดเกราะ ธง โล่ อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร ตราแผ่นดิน สัญลักษณ์เครื่องหมายอันถูกออกแบบมาจำเพาะเจาะจงในแต่ละยุคสมัย แต่ละเผ่าพันธุ์หรือราชวงศ์ต่าง ๆ ที่อาจบอกไปได้ถึงรากเหง้า แรงบันดาลใจ คุณธรรมของครอบครัว ตลอดจนบันทึกความทรงจำการต่อสู้ในสนามรบ

เครื่องหมายการค้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณสมบัติทางวิชาชีพของแต่ละบุคคล คุณภาพของสินค้าแต่ละยี่ห้อ แนวคิดเรื่องการมองเห็นเครื่องหมายการค้าทางธุรกิจแพร่หลายอย่างกว้างขวางในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจนอกภาคการเกษตรส่งผลให้ธุรกิจและจิตสำนึกขององค์กรบูมขึ้น การใช้โลโก้กลายเป็นส่วนสำคัญในการระบุตัวตน แล้วเมื่อเวลาผ่านไป โลโก็ก็มีอำนาจมากกว่าแค่การระบุตัวตนโดยทั่วไป ยี่ห้อบางยี่ห้อจึงมีมูลค่ามากกว่ายี่ห้ออื่น มันทำหน้าที่เป็นทรัพย์สินมากไปกว่าการจะเป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้น

ปัจจุบันโลโก้เป็นตัวระบุภาพลักษณ์ของบริษัทต่าง ๆ กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของอัตลักษณ์องค์กรด้วยการสื่อสารแบรนด์ แตกยอดออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในองค์กร ที่เพียงมองปราดเดียวเราก็รู้ได้ทันทีว่าสีนี้ ยี่ห้อนี้ มันคือสินค้าชนิดไหน คือองค์กรอะไร มันทำหน้าที่ในการจำแนกแยกแยะแต่ละแบรนด์ออกจากกัน วิวัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อครั้งกษัตริย์ประทับตราครั้งลงบนจดหมาย ไปจนถึงวิธีทางธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและขยายการขายสินค้า แม้ว่าคำศัพท์เฉพาะ “ภาพลักษณ์องค์กร corporate image” และ “เอกลักษณ์ของแบรนด์ brand identity” จะไม่เคยปรากฎมาก่อนทั้งในทางธุรกิจและการออกแบบ จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1940 แนวคิดเหล่านี้จึงเริ่มปรากฎ จนในช่วง 20 ปีทีผ่านมานี้เอง CI จึงกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสู่ความสำเร็จทางธุรกิจและขององค์กรในปัจจุบันนี้

Place branding

เป็นแนวคิดที่ว่าเมืองสามารถถูกสร้างแบรนด์ได้ ด้วยเทคนิคการสร้างแบรนด์และกลยุทธ์ทางการตลาดจะถูกนำไปใช้กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของเมือง ของภูมิภาค หรือของประเทศ แต่มีความแตกต่างจากการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการทั่วไป เพราะการสร้างแบรนด์สถานที่มีมิติที่หลากหลายกว่าเนื่องจากสถานที่ถูกยึดโยงกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระบบนิเวศ เพื่อย้อนกลับมาเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ พื้นที่ องค์กร และผู้คน คอนเซ็ปต์นี้เราเรียกกันว่า city branding หรือรู้จักในชื่อว่า urban branding

ตัวอย่างกรณีเด่น อาทิ I Love New York เป็นการตลาดที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1977 ถูกใช้เป็นสโลแกนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรัฐนิวยอร์ก ด้วยโลโก้ที่ออกแบบโดยนักออกแบบกราฟิก มิลตัน กลาเซอร์ ในปี 1976 ก่อนจะแตกออกเป็นสินค้ามากมายให้นักท่องเที่ยวต่างซื้อหามาสะสม โดยภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ยิ่งทำให้สโลแกนนี้แข็งแกร่งขึ้น กลายเป็นตัวแทนของความรักสามัคคีและวาดหวังถึงภาพอนาคตที่จะไม่เกิดความสูญเสียใหญ่หลวงขนาดนี้ขึ้นมาอีก ต่อยอดกลายเป็น I Love NY More Than Ever ที่เกิดรอยเปื้อนสีดำบนขอบล่างของหัวใจอันเป็นตัวแทนตำแหน่งที่ตั้งของตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ บนแผนที่ของเกาะแมนฮัตตันตอนล่าง กลายเป็นโปรเจกต์ระดมทุนเพื่อองค์กรการกุศลในนิวยอร์กเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการโจมตีดังกล่าว

หรืออย่างกรณี คุมะมง มาสคอต อันลือลั่นประจำจังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังภูมิภาคนี้หลังจากการเปิดให้บริการของรถไฟสายคิวชูชินคันเซ็น อันทำให้การมาเยือนเมืองคุมะโมโตะง่ายขึ้น แต่ไม่เพียงมันจะโด่งดังในประเทศเท่านั้น เมื่อภายหลังความน่ารักเด๋อด๋าของเจ้าคุมะมง ปรากฎกลายเป็นคลิปไวรัลมากมายที่ผู้คนต่างพากันแชร์ทั่วสังคมออนไลน์ กลายเป็นว่าหลายคนได้รู้จักเมืองนี้ทั้งที่ยังไม่เคยไปเยือนเมืองนี้เลย และทำให้มีอีกหลายคนอยากไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง แถมเมืองเองยังผลิตสินค้าอันเกี่ยวเนื่องจากคุมะมงอีกหลายอย่าง ส่งผลให้จากเดิมที่รายได้ตลอดปี 2011 ของจังหวัดอยู่ที่เพียง 2.5 พันล้านเยน หลังจากมีเจ้าคุมะมงทำให้รายได้ครึ่งปีแรกของปี 2012 สำหรับสินค้าคุมะมงพุ่งสูงถึง 1.18 หมื่นล้านเยน จนมีการรวมยอดการค้าปลีกตลอดปี 2011-2019 พบว่าคุมะมงทำเงินได้มากกว่า 8.75 แสนล้านเยนเลยทีเดียว

ส่วนคำถามที่ว่าคุ้มต่อราคาสามล้านหรือไม่ เรายังสรุปไม่ได้ เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้นอกจากป้ายกรุงเทพดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีในช่องทางออนไลน์ของเว็บกทม.เอง คงต้องรอให้ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ทั่วเมือง ซึ่งก็ไม่รู้เมื่อไหร่ หรือในที่สุดมันจะต่อยอดกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้หรือเกิดประโยชน์งอกเงยในด้านอื่นหรือไม่ เรายังไม่รู้ แต่ราคานี้ถามว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ในประเทศอื่นราคานี้ถ้าคุณโยนให้นักออกแบบชื่อดัง คุณอาจจะได้แค่โปสเตอร์แผ่นเดียวก็ได้นะ อีกทั้งต้องไม่ลืมว่างบประมาณส่วนใหญ่ของชาติไทยหมดไปกับอะไรบ้าง รวมถึงต้องไม่ลืมว่าคนกรุงเทพไม่ใช่ประชากรทั้งหมดของประเทศนี้