เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
อะไรคือขั้นตอนที่ยากที่สุดในการรักษาสุขภาพจิต บทความจะพาสำรวจประสบการณ์ของวัยรุ่นที่ตัดสินใจเริ่มเข้ารับการรักษาว่า เขาผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร และเรียนรู้อะไรจากช่วงเวลาทั้งหมด
สุขภาพจิต ไม่เหมือนสุขภาพกายในหลายแง่ นอกเหนือไปจากความจริงในปัจจุบันที่การป่วยด้วยสุขภาพจิตมักไม่เคยมีกระเช้าดอกไม้ หรือ เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพมาเยี่ยม เช่นเดียวกับเวลาเราออกจากห้องผ่าตัด การป่วยและการหายจากโรคทางสุขภาพจิตก็ยังไม่ปรากฏอาการเด่นชัด เหมือนสุขภาพกาย ที่เวลาเราแผลหายดี หายใจโล่ง หรือ ไม่ติดเชื้อแล้ว สิ่งเหล่านี้วัดประเมินผลแทบจะได้ด้วยตาเปล่า
ในขณะที่สุขภาพจิต เมื่อไรถึงควรต้องรักษา แล้วเมื่อไรถึงเรียกว่าหายดีเป็นปกติ เป็นเรื่องที่เราต้องสังเกตความรู้สึกของตัวเองอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ในช่วงเวลาของการรักษาสุขภาพจิตอันยาวนาน มีขั้นตอนหนึ่งซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวกับเราว่า เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด
“เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ฉันเข้ารับการรักษาโรคทางอารมณ์ที่เรียกว่า Mood disorder หมอบอกว่า โรคนี้ทำให้ฉันรู้สึกและใช้อารมณ์ต่อเรื่องต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น ๆ และตลอดเวลาที่ผ่านมามันก็สร้างผลกระทบให้คนรอบข้าง ครอบครัว คนรัก รวมถึงตัวฉันเอง” อดีตคนไข้จากโรคทางอารมณ์ที่ปัจจุบันยังไปหาจิตแพทย์ตามนัดที่ไม่ได้ถี่มากเหมือนในอดีต เกริ่นถึงสาเหตุของการเข้ารับการรักษา
“แฟนฉันคนแล้วคนเล่าแนะนำให้ฉันไปลองพบจิตแพทย์ดู แต่ทุกครั้งที่ได้ยินประโยคแบบนี้ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังถูกประชดและหาว่า ฉันป่วยอยู่”
ผู้ให้สัมภาษณ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนโตมาในครอบครัวที่ทะเลาะกันบ่อยมาก ไม่รู้ว่าวันไหนพ่อหรือแม่จะระเบิดอารมณ์ใส่กันและลามมาใส่ลูก สิ่งนี้ทำให้ตัวเขาเองค้นพบในภายหลังว่า เขาไม่มีที่พักพิงทางอารมณ์ที่ปลอดภัยตั้งแต่ในวัยเด็ก
“ฉันทำสมาธิ โยคะ อ่านหนังสือให้จิตใจสงบ ลองเทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ก็พอจะระงับอารมณ์ได้บ้าง แต่หลายครั้งมันหนักเหลือเกิน ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่บนเปลือกไข่แบบที่หลายคนบอก ที่ไม่รู้จะแตกโพละเมื่อไร เหมือนมีเส้นด้ายที่พันกันจนเป็นก้อนใหญ่ ๆ ในหัว ไม่รู้ว่าต้องเริ่มแก้จากปมไหนก่อน และดูเหมือนว่า ทุกครั้งที่พยายามแก้ปมของมัน ยิ่งกลับทำให้เส้นด้ายที่ว่าซับซ้อนและแก้ยากมากขึ้นไปอีก”
“จนวันหนึ่งแฟนฉัน เขารักษาอาการซึมเศร้าอยู่เหมือนกัน เขาบอกฉันว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการรักษาโรค คือการที่ผู้ป่วยสามารถยอมรับได้ว่า เรากำลังเจ็บป่วยอยู่และต้องได้รับการรักษา การยอมรับสิ่งที่เราเชื่อว่าปกติดีมาตลอดหลายสิบปีนั้นยากจริง ๆ แต่เมื่อยอมรับได้แล้ว นั่นแหละที่การรักษาถึงเริ่มต้นขึ้น”
ผู้ให้สัมภาษณ์ยังบอกกับผู้เขียนเพิ่มอีกว่า เคยมีประสบการณ์ไปเยี่ยมคนที่โรงพยาบาลจิตเวช สถานที่ที่เขาพบว่า มีผู้ป่วยหลายคนถูกบังคับรักษาโดยไม่ได้รับความยินยอม กระบวนการเริ่มต้นรักษาสุขภาพจิตโดยผู้ป่วยเป็นผู้เลือกเองนั้น อาจจะใช้เวลานาน แต่มักไม่สร้างประสบการณ์เชิงลบให้แก่ผู้ป่วยในท้ายที่สุด เมื่อเทียบกับการถูกจับส่งสถานพยาบาลจิตเวช
หนึ่งในเรื่องที่ยอมรับได้ยากของการรักษาสุขภาพจิต คือ การกินยา สิ่งนี้แตกต่างจากความรู้สึกของการกินยาสำหรับรักษาสุขภาพกาย เพราะเรามักรู้สึกว่า ยาทางกายจะไปทำงานกับแผล อาการปวด หรืออวัยวะบางส่วนของเราเท่านั้น ในขณะที่ยาทางใจมักมีผลต่ออารมณ์ ความคิด และความรู้สึก
“ฉันจำได้ว่า ตัวเองนั้นกลัวการต้องกินยาเพื่อควบคุมสารเคมีในสมอง เพราะถ้าฉันต้องกินมันไปเรื่อย ๆ จนสารเคมีที่ว่าเปลี่ยนไป แล้วตัวฉันคือใครกัน”
“หมอบอกว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เยอะหลายคนก็มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่เยอะเหมือนกัน เราสามารถจัดการกับอารมณ์ได้โดยไม่สูญเสียความคิดสร้างสรรค์ไป และชีวิตที่ไม่ต้องตกอยู่ใต้อารมณ์ที่ควบคุมไม่ได้นั้น ยังทำให้เราพร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ อีกด้วย”
“ฉันยังจำวันแรกที่เจอหมอได้ดี หมอบอกกับฉันว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอารมณ์เมื่อรักษาแล้ว หลายคนบอกว่า เค้าภูมิใจที่เค้าสามารถรู้สึกต่อเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และการรักษาอย่างถูกต้องก็ช่วยให้เราสามารถรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้”
หลังผู้ให้สัมภาษณ์รักษามาได้นานกว่า 1 ปี ความคิดบางอย่างก็เปลี่ยนไป ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับเราว่า ความคิดเชื่อมโยงกับอารมณ์ พออารมณ์มั่นคงมากขึ้น ก็รู้สึกว่า ตนเองนั้นสามารถจัดการความคิดได้ดีขึ้นด้วย
“วันนี้ฉันดีขึ้นมากแล้ว เวลามีเรื่องเข้ามาปะทะ ก็รู้สึกว่า เรามีทางเลือกอยู่นะว่าจะรู้สึกกับมันอย่างไร ขนาดไหน และเมื่อรู้สึกแล้วก็จัดการอารมณ์ที่ว่าได้ดีขึ้น ไม่ให้ต้องไปกระทบกับใคร และไม่กระทบกับตัวเอง”
“ฉันรู้สึกขอบคุณแฟนที่เคียงข้างและมองว่า อารมณ์ของฉันเป็นอาการเจ็บป่วย ที่ฉันนั้นก็ต่อสู้ภายในตัวเองอย่างเหน็ดเหนื่อย และต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่นิสัยใจคอที่ฉันเป็นจริง ๆ”
อดีตผู้ป่วยด้วยโรคทางใจกล่าวกับเราทิ้งท้าย “วันนี้ฉันเชื่อแล้วว่า อาการทางใจ อาจไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจน เหมือนความเจ็บป่วยทางร่างกาย และการยอมรับว่า เรากำลังเจ็บป่วยนั้นแม้จะยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย เพราะมันทำให้เราเปิดใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแบบที่เราควรได้รับ”