กทม. หารือ BTS เร่งสะสางปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมนำเข้าสภากทม. พิจารณาสมัยประชุมหน้า

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงปัญหาหนี้สินระหว่าง กทม.และบีทีเอส
นายชัชชาติ เปิดเผยหลังการหารือว่า บีทีเอสได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดการชำระไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้เตรียมการในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการในการดำเนินการตรงนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อ คือ
- เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (KT) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้ KT เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือ ต้องให้สภากทม. อนุมัติก่อน
- หากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นสะสมจ่ายขาด ซึ่งในสภากทม. ก็ต้องพิจารณาเช่นกัน
ทั้ง 2 เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องเอาเข้าสภากทม.
ที่ผ่านมาที่ดำเนินการไปได้มีการคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ คณะกรรมการวิสามัญก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ คาดว่า เปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรกับการชำระเงิน และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ”

ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง คือ
1. นำเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร
2.ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง กทม.ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยใน หลายประเด็น ประเด็นแรก อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการใช้ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย เรื่องที่ 2 คือ เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 ซึ่งมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่ส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ครม.พิจารณาและมีมติเกี่ยวกับมูลหนี้ ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ในครม. ยังไม่มีข้อยุติ คงต้องสอบถามและเร่งรัดทางครม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร
“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทน การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 ( ช่วงสะพานตากสิน -บางหว้า และช่วงอ่อนนุช –แบริ่ง) และในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ) พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 11,755,077,952.10 บาท
ศาลให้เหตุผลว่า การที่กทม. ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และได้มอบหมายบ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ที่กทม.ถือหุ้นร้อยละ 99.98 เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของกทม.มีความคล่องตัว ดังนั้นเมื่อบ.กรุงเทพธนาคมฯ มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับบีทีเอสทั้งในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้กับ บ.กรุงเทพธนาคมฯให้กับ บีทีเอส ด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,199,091,830.27 บาท
ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดยบมจ.ธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้น