ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชัชชาติ” เสนอ สภาฯกทม.แก้ปัญหาหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”สมัยประชุมหน้า

“ชัชชาติ” เสนอ สภาฯกทม.แก้ปัญหาหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”สมัยประชุมหน้า

13 มิถุนายน 2023


กทม. หารือ BTS เร่งสะสางปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมนำเข้าสภากทม. พิจารณาสมัยประชุมหน้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประชุมหารือแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับ นายคีรี กาญจนพาสน์  ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงปัญหาหนี้สินระหว่าง กทม.และบีทีเอส

นายชัชชาติ  เปิดเผยหลังการหารือว่า บีทีเอสได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดการชำระไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้เตรียมการในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการในการดำเนินการตรงนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อ คือ

  1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (KT) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้ KT เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือ ต้องให้สภากทม. อนุมัติก่อน
  2.  หากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นสะสมจ่ายขาด ซึ่งในสภากทม. ก็ต้องพิจารณาเช่นกัน

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : ‘ชัชชาติ’ ถก ‘กรุงเทพธนาคม’ แบสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • ทั้ง 2  เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องเอาเข้าสภากทม.

    ที่ผ่านมาที่ดำเนินการไปได้มีการคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ คณะกรรมการวิสามัญก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ คาดว่า เปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรกับการชำระเงิน และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ”

    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แถลงหลังประชุมหารือปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

    ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง คือ
    1. นำเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร

    2.ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง กทม.ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยใน หลายประเด็น ประเด็นแรก อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการใช้ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย เรื่องที่ 2 คือ เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 ซึ่งมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่ส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ครม.พิจารณาและมีมติเกี่ยวกับมูลหนี้ ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ในครม. ยังไม่มีข้อยุติ คงต้องสอบถามและเร่งรัดทางครม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร

    “เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร  กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทน การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 ( ช่วงสะพานตากสิน -บางหว้า  และช่วงอ่อนนุช –แบริ่ง) และในส่วนต่อขยายที่ 2  (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ )  พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 11,755,077,952.10 บาท

    ศาลให้เหตุผลว่า การที่กทม. ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และได้มอบหมายบ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ที่กทม.ถือหุ้นร้อยละ 99.98 เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของกทม.มีความคล่องตัว ดังนั้นเมื่อบ.กรุงเทพธนาคมฯ มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับบีทีเอสทั้งในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้กับ บ.กรุงเทพธนาคมฯให้กับ บีทีเอส ด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,199,091,830.27 บาท

    ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดยบมจ.ธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้น