ThaiPublica > เกาะกระแส > “The Second Great Reform” ก้าวข้ามทศวรรษแห่งความสูญเปล่า

“The Second Great Reform” ก้าวข้ามทศวรรษแห่งความสูญเปล่า

14 เมษายน 2022


สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โดยโครงการฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติระยะสั้นสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาปี 2565 จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Rule of Law and The Second Great Reform” โดยดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ผู้บรรยาย เมื่อเร็วๆนี้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับทศวรรษแห่งความสูญเปล่า (Thailand’s Lost Decade) ซึ่งส่งสัญญาณออกมาให้เห็นผ่านอัตราการเติบโตในระดับที่ต่ำ ความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขัน การเผชิญกับวิกฤตซ้ำซาก ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และความขัดแย้งที่รุนแรง ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

พวกเรากำลังอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเทียบกับพลวัตโลก ประเทศไทยมีอัตราการปรับเปลี่ยนที่ช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่นจีน หรือสิงคโปร์ แน่นอนว่าทุกประเทศต้องการที่จะไปสู่รัฐที่ล้ำหน้า (Forefront State) แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียงรัฐที่ตามหลัง (Following State) และในระยะหลังมีแนวโน้มที่จะไปสู่รัฐที่กำลังล้มเหลว (Falling State) ซึ่งถ้าหากว่าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เรามีโอกาสที่จะเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ในอนาคต

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่ 3 ประเด็นคำถามสำคัญ ที่เราต้องมาขบคิด นั่นคือ

    1. ประเทศไทยจะมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ทันและสอดรับกับพลวัตโลกได้หรือไม่
    2. ประเทศไทยจะมีสัญญาประชาคมชุดใหม่เพื่อแปลงความขัดแย้งเป็นพลังร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศหรือไม่
    3. ประเทศไทยจะมีกลไกขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังโควิด-19 หรือไม่

ทำไมเราต้องมี The Second Great Reform

ประเทศไทยนั้นเผชิญอยู่กับ “วงจรอุบาทว์เชิงซ้อน” เริ่มต้นจากวงจรอุบาทว์แรก เรียกว่า “วงจร 3 ป.” คือการที่ประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยเทียม” ทำให้เกิดการ “ประท้วงต่อต้าน” และนำไปสู่การ “ปฏิวัติรัฐประหาร”และกลับกลายมาเป็นประชาธิปไตยเทียม ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2490 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ 2 เนื่องจากประชาธิปไตยเทียม มักจะขับเคลื่อนด้วยนโยบายประชานิยมที่มุ่งหวังจะชนะการเลือกตั้ง เพื่อที่จะก้าวไปเป็นสู่การผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล และสุดท้ายก็วนกลับมาทำให้เกิดประชาธิปไตยเทียม

ในขณะเดียวกันก็จะเกิดวงจรอุบาทว์ที่ 3 เนื่องจากประชานิยมก่อให้เกิดการพึ่งพิงและความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนขาดโอกาสและยากจนมากขึ้น เมื่อขาดโอกาสและยากจน ก็จะทำให้ประชาชนสนใจแค่ปัญหาปากท้องและปัญหาที่ใกล้ตัว ซึ่งทำให้เกิดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสุดท้ายก็ต้องกลับไปพึ่งประชานิยม

นำมาสู่วงจรอุบาทว์ที่ 4 คือเมื่อการพึ่งพิงของประชาชนมากขึ้น ก็จะยิ่งไปส่งเสริมระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยม ส่งผลให้เกิดการผูกขาดอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจ และเกิดการกีดกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งนำมาสู่การพึ่งพิงรัฐของประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การผูกขาดอำนาจการปกครองและเศรษฐกิจ จะไปครอบงำระบบราชการ นำไปสู่ระบบราชการที่เอื้อทุนนิยมพวกพ้อง ธนาธิปไตย และอมาตยาธิปไตย ซึ่งส่งผลให้ระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมเข้มยิ่งขึ้น กลายมาเป็นวงจรอุบาทว์ที่ 5

รูปแบบการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบยังต้องง่วนอยู่กับปัญหาปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลงดังนั้น “เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ปรับ” ก็จะนำไปสู่ “อนาคตที่มืดมน” ในที่สุด

อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยนั้นมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ (Great Reform)เพียงครั้งเดียว คือในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 แต่เงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 กับในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งเงื่อนไขจากปัจจัยภายในและภายนอก จุดเน้นที่แตกต่างกัน และที่สำคัญที่สุด คือกระบวนทัศน์ในการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างกัน ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชการที่ 5 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อไปสู่ความทันสมัย (Modernity) เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศของเรานั้นไม่ได้ล้าหลัง เนื่องจากในสมัยนั้นเผชิญกับการล่าอาณานิคม (Colonization) แต่ในยุคปัจจุบัน ประเด็นท้าทาย คือการพัฒนาเพื่อไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) และความเท่าเทียม (Equality)เนื่องจากในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่ “สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน” เห็นได้จากวิกฤติโควิด-19 และที่มากไปกว่านั้นคือผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้เริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับโลกได้ มาจากการที่ประเทศไทยไม่เคยเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรง เช่น เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น ไม่เคยมีการปฏิวัติแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน และที่สำคัญประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยมาก ดังนั้นระบบและโครงสร้างเก่า แนวคิดและจารีตนิยมจึงยังไม่ถูกทำลาย ทำให้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชนยังคงอยู่ และทำให้เกิด “วัฒนธรรมแบบอ่อน” (Weak Culture) ซึ่งก่อให้มีความเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงและยากที่จะพลิกโฉมไปสู่สังคมสมัยใหม่ ที่เน้นความเป็นระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่พลเมือง มีจิตอาสา กล้าที่จะเสนอความเห็น มีความโปร่งใสและเน้นความเสมอภาค

อิทธิพลจากระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน ยังได้หล่อหลอมให้คนไทยโดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบ Anomic Individualism ที่สะท้อนผ่านความเป็นตัวใครตัวมัน ไม่ชอบถูกบังคับ ขาดระเบียบวินัย และขาดความรับผิดชอบ ผลข้างเคียงที่ตามมา คือคนไทยโดยส่วนใหญ่จะเรียกร้องสิทธิมากกว่าหน้าที่ เน้นถูกใจมากกว่าถูกต้อง เน้นมองเพื่อตัวเองมากกว่ามองเพื่อส่วนรวม เน้นชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เน้นรูปแบบมากกว่าสาระ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นมูลค่ามากกว่าคุณค่า
และเน้นคอนเนคชั่นมากกว่าเนื้องาน

มิเพียงเท่านั้น Anomic Individualism ทำให้คนในสังคมมักตัดสินใจเลือกเส้นทางหรือวิธีการที่ “มักง่าย” ทำให้เรื่องที่ “ผิดปกติ” กลายเป็นเรื่อง “ไม่ผิดปกติ” และกระทำลงไปโดยปราศจาก “ความรู้สึกผิด” อาทิ นักการเมืองโกงกินไม่เป็นไร ขอเพียงให้มีผลงานบ้าง การทำปฏิวัติรัฐประหาร การใช้กำลังยุติความขัดแย้ง เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ และความมหัศจรรย์ ไม่รักษาเวลา ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ ทิ้งงานโดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น ซึ่งหากเราไม่แก้ไขปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ยากที่ประเทศไทยจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ประเทศอื่น ๆ ในประชาคมโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ได้

ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปอย่างจริงจัง คือการ “ปฏิรูปวัฒนธรรม” (Cultural Reform)ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรม 2 ชุดหลักด้วยกัน คือ

  • Vertical Culture: อุปถัมภ์นิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธินิยม
  • Ignorant Culture: บริโภคนิยม วัตถุนิยม และสุขนิยม

เนื่องจากความล้มเหลวเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นนำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลวในด้านต่าง ๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวเชิงการเมือง ที่ก่อให้เกิดการเมืองที่มีผู้มีอิทธิพลครอบงำ และก่อให้เกิดระบอบธนาธิปไตยและระบอบอมาตยาธิปไตย แทนที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตย ความล้มเหลวเชิงบริหารราชการแผ่นดิน ที่การบริหารจัดการภาครัฐถูกแทรกแซง บิดเบือน ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและระบบคุณธรรม ความล้มเหลวเชิงสังคมที่ก่อให้เกิด Contra-Individuals มากกว่า Collective Individuals รวมถึงเกิดความกระชับแน่นของคนในกลุ่มเดียวกัน (Bonding) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์ของคนต่างกลุ่ม(Bridging) ลดลง ความล้มเหลวเชิงเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง (Crony Capitalism) นำมาสู่ระบบเศรษฐกิจปรสิต (Parasite Economy) และสังคมพึ่งพิงประชานิยม (Dependent Society) ความล้มเหลวของผู้นำ ที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนผู้นำที่เป็นต้นแบบที่ดี มีแต่ผู้นำที่คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอย่างอยู่มากมาย และความล้มเหลวเชิงสถาบันที่สถาบันต่าง ๆ ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างอิสระ ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาสู่ “ความล้มเหลวเชิงระบบ”

นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม และอภิสิทธิชน ยังก่อให้เกิดความย้อนแย้งระหว่างอำนาจที่แท้จริง
และอำนาจทางการ หรือที่เรียกว่า “Power Paradox” คือการที่เรายังมองประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง โดยมีผู้ปกครองคือรัฐ ทั้งที่จริง ๆ แล้วรัฐต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชนเป็นความย้อนแย้งระหว่างพฤตินัยและนิตินัย

ความย้อนแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมไทย ซึ่งนำมาสู่ปรากฏการณ์ “สังคม 2 ขั้ว” คือการที่ชนชั้นกลาง-สูง และชนชั้นกลาง-ล่าง มีชุดของปทัสถานและคุณค่าที่ต่างกันชนชั้นกลาง-สูง ต้องการที่จะคงสถานะเดิมไว้ในขณะที่ชนชั้นกลาง-ล่าง ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการการกระจายอำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่าง “แรงต้าน” และ “แรงดึง” ต่อการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นปรากฏการณ์ “โลกเปลี่ยนแต่ประเทศไทยไม่ปรับ” ตามพลวัตโลก

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

การก่อตัวขึ้นของ Extractive Political Economy

หากต้องการจะปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เราต้องหันกลับมามองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยนั้นเป็นแบบใด ระหว่าง “Extractive Political Economy” คือการที่มีคนเพียงบางกลุ่ม ได้ประโยชน์จากอำนาจการปกครองและอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยการพยายามจะกีดกั้น เอารัดเอาเปรียบ และพยายามจะทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง หรือ “Inclusive Political Economy” คือการเมืองและเศรษฐกิจที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ มีความเป็นธรรม มีความเท่าเทียม

ผลพวงจาก Vertical Culture และ Ignorant Culture ทำให้เกิดประชาธิปไตยเทียม ทุนนิยมพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงรัฐ นำมาสู่ Extractive Political Economy ซึ่งโครงสร้างของ Extractive Political Economy ที่เป็นอยู่ในไทยในปัจจุบัน นำพาประเทศไปสู่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า ทำให้เกิดสังคมที่ไม่ Clean & Clear ไม่ Free & Fair และไม่ Care & Share อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สังคมดังกล่าวนำมาซึ่งความเสื่อมถอยของทุนประเภทต่าง ๆ มากมาย ทั้งทุนมนุษย์ที่อ่อนแอ ทุนเศรษฐกิจที่อ่อนด้อย ทุนสังคมที่เปราะบาง ทุนคุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมทราม และทุนทรัพยากรที่เสื่อมโทรม

Extractive Political Economy ยังทำให้เกิดรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือและขาดความไว้วางใจ ทั้งหมดได้สะท้อน
ออกมาผ่านการมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ ขีดจำกัดความสามารถที่ถดถอย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้สะสมหมักหมม จนเกิดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังดังที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน และถือเป็นความล้มเหลวเชิงระบบของสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องมี “The Second Great Reform”

4 Guiding Principles ในการขับเคลื่อน The Second Great Reform

Principle ที่ 1: No Pain No Gain ต้องเป็นการปฏิรูปแบบไม่เกรงใจใคร ต้องกล้าทิ้ง/ซ่อม/เสริม/สร้างในสิ่งที่ควรจะทำ รองรับพลวัตโลกในศตวรรษที่ 21

Principle ที่ 2: Participatory Reform ต้องทำให้ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมขับเคลื่อน The Second Great Reform ในลักษณะ Bottom up ด้วย ไม่ใช่ Mandatory Reform แบบ Top down อย่างที่เป็นอยู่เพียงแบบเดียว

Principle ที่ 3: Thriving in Balance ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ด้วยการสร้างสมดุล ความพอดี และความลงตัว อย่างที่ทราบกันดี โลกในอนาคตจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างความเป็นอิสระ(Independent) และการพึ่งพาอาศัยกัน(Interdependent) โดยมี Rule of Law เป็นตัวควบคุมให้ 2 ปัจจัยนี้สามารถเดินควบคู่ไปด้วยกันได้ ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไปพร้อมกับการตระหนักถึงประโยชน์สุขของโลก ต้องสร้างพลเมืองไทยที่เป็นพลเมืองโลกด้วย ต้องมี Market Wisdom ควบคู่ไปกับ Moral Wisdom หรือในด้านการศึกษา ต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่าง People for Growth และ Growth for People เป็นต้น

Principle ที่ 4: The New Development Paradigm ต้องหันกลับมาทบทวนและเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ จาก “The Bigger, The Better” เป็น “The Better, The Bigger” จาก “The More, The Better” เป็น “The Better, The More” และจาก “The Faster, The Better” เป็น“The Better, The Faster”

ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เราติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คือการที่เราพัฒนาจาก Factor Driven Economy ไปสู่ Efficiency Driven Economy ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ไม่สามารถไปสู่ Innovation Driven Economy ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากวงจรอุบาทว์ เกิดจากพฤติกรรม “ความมักง่าย” ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมมากมาย แต่ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง มีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากมาย แต่ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากไม่แก้ไข เราจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่ “ความทันสมัยที่ยั่งยืน” อย่างที่พวกเราต้องการได้

The New Development Model

โมเดลการพัฒนาประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 จึงถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ 3 ประเด็นคำถามสำคัญที่ได้กล่าวไปในตอนต้นประกอบด้วย

1. Grand Strategy

การที่ประเทศไทยจะมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ทันและสอดรับกับพลวัตโลกได้นั้น เราต้องมี Grand Strategy ที่สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมประเทศไทยไปสู่ประชาคมโลก โดยน้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อที่เราจะได้เดินหน้าไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

1) การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เน้นการสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นชาติไทย (Dignity of the Nation) ทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยมีความรักชาติ มีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศ

2) เชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก ด้วยการผลักดันแนวคิดที่เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อตอบโจทย์ผลประโยชน์ชาติและประโยชน์สุขโลกในเวลาเดียวกัน

2. WE-Social Contract

การที่จะทำให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้นั้น เราต้องร่วมกันสร้าง “WE Society”หรือ “สังคมของพวกเรา” แต่ในปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยยังเป็น Extractive Political Economy นั่นหมายถึงสังคมไทยยังคงเป็น “ME Society” หรือ “สังคมของพวกกู” การจะสร้าง WE Society ได้ต้องอาศัยกติกา และสัญญาประชาคม ดังนั้นเราจึงต้องมี WE-Social Contract ที่จะนำเราไปสู่ WE Society ซึ่งประกอบด้วย

  • Clean & Clear Society จะเกิดขึ้นได้ต้องมี “Rule of Law” และจะนำไปสู่ “Common Ground” คือการที่ทุกคนอยากยืนอยู่บนพื้นที่ร่วมเดียวกัน
  • Free & Fair Society เป็นสังคมแห่งโอกาสสังคมที่ช่วยเติมเต็มความสามารถ สังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียม และทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายร่วม หรือ “Common Goals”
  • Care & Share Society มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเติมเต็ม และมีการผลึกกำลังทางสังคม จะนำไปสู่ “Collective Action” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม”

ที่สำคัญ Dignity of the Nation จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเราสามารถแปลง WE-Social Contract ให้ออกมาเป็นสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส สังคมที่สามารถ สังคมแห่งคุณธรรม และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันอย่างเป็นรูปธรรม

3. New Growth Engine

เมื่อสังคมมีสัญญาประชาคมร่วมกันแล้ว เราต้องมี New Growth Engine เพื่อจะสร้างกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย Sustainable, Inclusive and Human Growth Engine จะทำอย่างไรให้เป็นความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ครอบคลุมผู้คนทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญามนุษย์เป็นสำคัญ

การจะพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งที่สมดุลนั้นเราต้องมี Growth Engine ที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างมูลค่า (Value Creation) ด้วยผลิตภาพและนวัตกรรมและต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน(Sustainability) และความเท่าเทียม(Equality) ด้วยในเวลาเดียวกัน โดยปรับใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างความสมดุลใน 4 มิติ หรือที่เรียกว่า “4 Ws Model” ซึ่งประกอบด้วย 1) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) 2) สังคมอยู่ดีมีสุข (Social Wellbeing) 3) การรักษ์สิ่งแวดล้อม(Environmental Wellness) และ 4) การเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ (Human Wisdom)โดยผ่าน 3 Growth Engine คือ Human Growth Engine, Inclusive Growth Engine และ Sustainable Growth Engine ดังกล่าว

BCG หรือ Bio-Circular-Green Economyจะเป็น New Growth Engine ของประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 โดย Bio Economy จะไปตอบโจทย์ Inclusiveness, Diversity และ Equality ในขณะที่ Circular Economy และGreen Economy จะไปตอบโจทย์ Sustainability และในเวลาเดียวกันตัว BCG เองยังสามารถตอบโจทย์ Human Security ที่ครอบคลุมความมั่นคงด้านสุขภาพ อาหาร และพลังงาน ฯลฯ นอกจากนี้ BCG ยังเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิด “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ขึ้นในแต่ละพื้นที่ผ่านความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และเมื่อประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ก็จะเกิด “ประชาธิปไตยทางการเมือง” ควบคู่กัน ซึ่งจะนำพาไปสู่ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ในที่สุด

นอกจากนี้ การที่เราจะไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้นั้น เราต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ผ่านผลิตภาพ(Productivity) และนวัตกรรม (Innovation) พร้อมกันนั้น เราต้องสร้างความแนบแน่นของคนในสังคม (Cohesiveness) ผ่านการเปิดกว้าง (Openness) ความหลากหลาย (Diversity) และความครอบคลุม (Inclusiveness) ด้วยในเวลาเดียวกัน

Growth Engine ที่ดี จะต้องทำให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility)และสร้างความร่วมมือทางสังคม (Social Collaboration) ที่ทั้งคนได้โอกาสและคนด้อยโอกาสเดินหน้าไปด้วยกันได้ โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือ 1) รู้จักเติม: เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม 2) รู้จักพอ: เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และ 3) รู้จักปัน: เมื่อเกินต้องรู้จักปัน

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

Strategic Transformation

ประเทศไทยมี 5 ประเด็นเชิงโครงสร้างสำคัญที่จะต้องเปลี่ยน คือ

1. เปลี่ยนจาก “สังคมจารีต” ไปสู่ “สังคมสมัยใหม่”
เราต้องเปลี่ยนจากสังคมจารีตที่เป็นแบบ “รัฐควบคุมสังคม” ไปสู่สังคมสมัยใหม่ที่เป็น “สังคมควบคุมรัฐ” หรือ “สังคมควบคุมกันเอง”

2. เปลี่ยนจาก “ประชาธิปไตยเทียม” ไปสู่ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข”
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข ประกอบด้วยการมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรม รัฐที่น่าเชื่อถือ และพลเมืองที่ตื่นรู้

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ สะท้อนผ่านสัญญาประชาคมที่พระเจ้าแผ่นดินมีไว้ 3 ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Rule of Law ประกอบด้วย 1) ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่และไม่มีที่สิ้นสุดต่อพสกนิกร 2) ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม และ 3) ทรงไว้ซึ่งการวางพระราชหฤทัยในสายกลาง

3. เปลี่ยนจาก “รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ” ไปสู่ “รัฐที่น่าเชื่อถือ”
รัฐทีน่าเชื่อถือ ต้องประกอบด้วย 1) Legitimation มาด้วยความชอบธรรม 2) Representation เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง 3) Integrity มีความซื่อสัตย์สุจริต และ 4) Capability มีความรู้ความสามารถ

4. เปลี่ยนจาก “พลเมืองที่เฉื่อยชา” ไปสู่ “พลเมืองที่ตื่นรู้”
พลเมืองที่ตื่นรู้ คือพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่เน้นข้อเท็จจริง เน้นการวิเคราะห์ และใช้เหตุใช้ผลโดยพลเมืองที่ตื่นรู้จะมีบุคลคลิกเปิดเผย มีอิสระทางความคิด กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ประนีประนอมในสิ่งที่ไม่ควรประนีประนอม มีจิตอาสา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตใจเสรีประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและเป็นธรรม มีความคิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าจะเชื่อด้วยอารมณ์ เคารพในตนเองและผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย มีความไว้วางใจเชื่อมั่นและรักษากติกา ความยุติธรรม ธรรมาภิบาล และความเสมอภาค มีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนได้กล้าทำลงไป และมีจิตใจที่รักความเป็นธรรม เป็นต้น

5. สร้างความร่วมมือระหว่าง “รัฐที่น่าเชื่อถือ” และ “ประชาชนที่ตื่นรู้”
เมื่อเรามีพลเมืองที่ตื่นรู้และมีความรับผิดชอบพร้อมกับมีรัฐที่น่าจะเชื่อ ก็จะร่วมกันถักทอให้เกิด “WE Society” อย่างที่พวกเราต้องการในที่สุด

10 ประเด็นคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Rule of Law & The Second Great Reform ในกลุ่มผู้บริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 50 ท่านประกอบด้วย 10 ประเด็นคำถาม ผลลัพธ์เป็นดังต่อไปนี้

ประเด็นคำถามที่ 1: ท่านคิดว่าอนาคตประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 52% คิดว่า “ไม่ต่างจากปัจจุบัน” 25% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างมืดมน” 17% คิดว่าเป็น “อนาคตที่ค่อนข้างสดใส” และอีก 6% คิดว่าเป็น “อนาคตที่มืดมน”

ประเด็นคำถามที่ 2: ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Politics

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 40% เลือก “ค่อนข้างเห็นด้วย” 36% เลือก “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 22% เลือก “กลางๆ” และอีก 2% เลือก “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย”

ประเด็นคำถามที่ 3: ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Extractive Economy

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 50% เลือก “ค่อนข้างเห็นด้วย” 28% เลือก “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 17% เลือก “กลางๆ” 2% เลือก “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย”และอีก 2% เลือก “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ประเด็นคำถามที่ 4: ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Clean & Clear Society

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 53% เลือก “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 36% เลือก “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 6% เลือก “กลางๆ” และอีก 4% เลือก “ค่อนข้างเห็นด้วย”

ประเด็นคำถามที่ 5: ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น ​Free & Fair Society

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 59% เลือก “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 34% เลือก “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และอีก 7% เลือก “กลางๆ”

ประเด็นคำถามที่ 6: ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยเป็น Care & Share Society

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 35% เลือก “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 33% เลือก “ค่อนข้างเห็นด้วย” 26% เลือก “กลางๆ” 5% เลือก “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และอีก 2% เลือก “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ประเด็นคำถามที่ 7: ท่านคิดว่าสังคมไทยเป็นแบบใด

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 70% เลือกว่าเป็นแบบ “ผสมผสานระหว่าง ME Society กับ WE Society” 27% เลือกว่าเป็น “ME Society” และอีก 2% เลือกว่าเป็น “WE Society”

ประเด็นคำถามที่ 8: Value System ของประเทศไทยควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

ผลคำตอบที่ผู้เข้าร่วมตอบมากที่สุด เช่น Integrity, Accountability, Transparency, Rule of Law, Honesty, Humility และ Inclusivenessเป็นต้น

ประเด็นคำถามที่ 9: การปฏิรูปในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 48% คิดว่า “ไม่ประสบความสำเร็จอย่างสิ้นเชิง” 26% คิดว่า “ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร” 24% คิดว่า“ค่อนข้างไม่ประสบความสำเร็จ” และอีก 2% คิดว่า “ค่อนข้างประสบความสำเร็จ”

ประเด็นคำถามที่ 10: จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันผลักดัน The Second Great Reform หรือไม่

ผลคำตอบ คือมีผู้เข้าร่วม 73% คิดว่า “จำเป็นอย่างยิ่ง” 11% คิดว่า “เฉยๆ” 9% คิดว่า “ค่อนข้างจำเป็น” 4% คิดว่า “ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร” และอีก 2% คิดว่า “ไม่จำเป็นเลย”

ผลลัพธ์ของทั้ง 10 ประเด็นคำถาม แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมี The Second Great Reform ซึ่งการขับเคลื่อนจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่ต้องมาจาก Collective Leaders เท่านั้น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศนี้ได้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อน The Second Great Reform ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม