ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมศุลเข้ม “กติกาใหม่ TRIPS” เตือน
“ของก็อป” จับได้ยึด-ทำลายทันที

กรมศุลเข้ม “กติกาใหม่ TRIPS” เตือน
“ของก็อป” จับได้ยึด-ทำลายทันที

5 มกราคม 2022


อธิบดีกรมศุลฯขานรับประกาศกระทรวงพาณิชย์-TRIPS ห้ามนำเข้า-ส่งออก-ขน “ของก็อป” ผ่านประเทศไทย จับได้ยึด-ทำลายทันที

หลังจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า , ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักรไทยนั้น สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำประเด็นนี้ไปสอบถามนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ประกาศกระทวงพาณิชย์ฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และผู้นำสินค้าผ่านแดนอย่างไร

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ดำเนินการจับกุมผู้นำเข้าสินค้าละเมิดสิทธิ์ ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทางการค้า (TRIPS) หรือ ข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และก็ได้มีการแถลงผลการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นระยะๆ แต่ในทางปฏิบัติก็มีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากในแต่ละวันจะมีสินค้าผ่านเข้า-ออกที่ด่านศุลกากรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ หากจะสั่งให้เจ้าหน้าที่รื้อแพคเกจจิ้งตรวจสอบสินค้าอย่างละเอียดทุกชิ้น คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องใช้วิธีสุ่มตรวจ โดยพิจารณาจากบัญชีรายการสินค้าตามที่ผู้ประกอบการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมทั้งภาพถ่ายจากเครื่อง X-Ray ประกอบการพิจารณาสุ่มตรวจ กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย

ยกตัวย่าง กรณีที่มีการนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจสุ่มชักตัวอย่างสินค้าขึ้นมาตรวจสอบ หากตรวจพบว่าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 1,500 บาท แต่ไม่ได้ยื่นเสียภาษี ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเมินภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าตรวจพบว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย เช่น สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ เครื่องหมายทางการค้า สินค้าประเภทนี้เสียภาษีไม่ได้ ต้องถูกยึดเป็นของกลาง และนำไปบดทำลายสถานเดียว ส่วนการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้นำเข้านั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และถ้าตรวจพบว่าเป็นยาเสพติด กรณีนี้นอกจากถูกยึดแล้วต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร

“ถามว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรทราบได้อย่างไร สินค้าประเภทไหนเป็นของจริง หรือ ของก็อปปี้ ข้อมูลส่วนใหญ่เราได้มาจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า หรือ เจ้าของลิขสิทธิ์ แจ้งเครื่องหมาย (Marking) ของสินค้าไว้กับกรมศุลกากร ซึ่งเราเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้า” นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวต่อว่า นอกจากการนำเข้าและส่งออกแล้ว กรมศุลกากรยังดำเนินการตรวจสอบ กรณีการขนส่งสินค้าจากประเทศต้นทางผ่านประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 หรือที่เรียกว่า “สินค้าผ่านแดน-ถ่ายลำ” หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบพบว่าเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จะไม่ได้นำมาจำหน่ายในประเทศไทย ก็ต้องถูกยึดเป็นของกลาง และนำไปทำลายด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ด่านศุลกากรสงขลาได้เข้าจับบุหรี่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ “บุหรี่ปลอม” ได้ที่ท่าเรือสงขลา โดยผู้ประกอบการแจ้งว่าเป็นสินค้าผ่านแดนจากประเทศกัมพูชาเพื่อส่งต่อไปยังประเทศอินโดนิเซีย แต่นำเรือเข้ามาจอดที่ท่าเรือสงขลา เพื่อแวะรับสินค้าอื่นไปส่งที่ประเทศอินโดนิเซีย เจ้าหน้าที่ศุลกากรแสดงหมายเข้าตรวจค้นบนเรือ พบบุหรี่ต่างประเทศปลอมเป็นจำนวนมาก จึงดำเนินการจับกุม และยึดบุหรี่ต่างประเทศปลอมเป็นของกลางไว้ที่ด่านศุลกากรสงขลา เพื่อดำเนินคดีต่อไป

  • นายกฯ เดินหน้า “คนละครึ่ง” เฟส 4 เริ่ม มี.ค. นี้ — มติ ครม. ตั้งงบฯ ปี ’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน-ห้ามนำเข้าของก็อปฯ