ThaiPublica > สู่อาเซียน > สิงคโปร์ทบทวนยุทธศาสตร์ทางการคลังรับมือความเหลื่อมล้ำ-Climate Change

สิงคโปร์ทบทวนยุทธศาสตร์ทางการคลังรับมือความเหลื่อมล้ำ-Climate Change

20 ตุลาคม 2021


นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง สิงคโปร์ ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/LawrenceWongST/photos

สิงคโปร์ศึกษาขยายภาษีความมั่งคั่งทบทวนยุทธศาสตร์ทางการคลังรับมือความเหลื่อมล้ำ-Climate Change

สิงคโปร์เดินหน้าศึกษาหาทางขยายระบบภาษีความมั่งคั่งในขณะที่ กำลังทบทวนยุทธศาสตร์ทางการคลังอีกครั้งเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น ความเหลื่อมล้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกล่าวเมื่อวันศุกร์ (15 ต.ค.)

ในการเสวนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ครั้งที่ 35 ซึ่งจัดโดยสถาบันนโยบายศึกษา นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ

นายหว่องกล่าวว่า ภาระกิจในมือจะยากขึ้นด้วยความท้าทายหลัก 3 ข้อ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะกำหนดแนวทางของยุทธศาสตร์การคลังของประเทศ

ความท้าทายเหล่านี้ มีความเชื่อมโยงกันและจะต้องได้รับการจัดการอย่างครอบคลุม นายหว่องกล่าว “ตัวอย่างเช่น ประชากรสูงอายุสามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างขึ้น ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำก็ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น” นายหว่องกล่าว

เพื่อบรรลุถึงสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมสำหรับทุกคน “สิงคโปร์ ต้องทบทวนกลยุทธ์ทางการคลังของประเทศอีกครั้ง” เพื่อให้มีเครื่องมือในการรับมือกับภาระกิจที่มีอยู่

ระบบภาษีก้าวหน้า

นายหว่องกล่าวว่า การดำเนินการทางการคลังของประเทศต้องให้ความสำคัญหลัก 3 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือการคงไว้ซึ่งระบบภาษีที่เป็นธรรมและก้าวหน้า แม้จะพิจารณาวิธีต่างๆ ในการเพิ่มรายได้มากขึ้น องค์ประกอบของระบบภาษีก้าวหน้าข้อหนึ่งคือ การพิจารณาไม่ใช่แค่รายได้ของบุคคลแต่รวมถึงความมั่งคั่งของบุคคลนั้นด้วย ผู้ที่มีความมั่งคั่งควรจ่ายภาษีตามที่ควรจะเป็น

ปัจจุบันสิงคโปร์ได้เก็บภาษีความมั่งคั่งในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาษีทรัพย์สินและอากรแสตมป์สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ตลอดจนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเพิ่มเติมสำหรับยานยนต์

สิงคโปร์ยังสามารถบรรเทาความเหลื่อมล้ำบางอย่างในความมั่งคั่งที่เห็นด้านอื่น ๆ ผ่านนโยบายการเป็นเจ้าของบ้าน ตัวอย่างเช่น เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย “จำนวนมาก” ทำให้เจ้าของบ้านได้รับผลประโยชน์จากราคาบ้านและทุนที่เพิ่มขึ้น

นายหว่องกล่าวว่า นโยบายของสิงคโปร์ “ควรส่งเสริมการสะสมความมั่งคั่งในวงกว้างของชาวสิงคโปร์ต่อเนื่อง”

“แต่ในขณะที่เราลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็จำเป็นต้องป้องกันความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นด้วย”

“นั่นคือเหตุผลที่เรายังคงศึกษาทางเลือกต่างๆ เพื่อขยายระบบภาษีความมั่งคั่ง ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นด้านรายได้ของเราโดยไม่ทำลายความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของเรา”

ลดผลกระทบการขึ้นภาษี

สิงคโปร์ยังมีระบบภาษีและเงินโอนที่ก้าวหน้า นายหว่องกล่าว โดยชี้ว่าสิงคโปร์ยังคงรักษา “การโอนเงินระดับสูง” ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดได้ ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ 20%ล่างจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับภาษีทุกดอลลาร์ที่จ่าย

อัตราส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 1:2 สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 20% จะได้รับผลประโยชน์ 0.30 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับภาษีทุกๆ ดอลลาร์ที่จ่ายไป

“ระบบภาษีและเงินโอนของเราในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก และเราจะคงไว้อย่างนั้น” นายหว่องกล่าว “สำหรับคนรายได้ปานกลาง เราคงภาระภาษีให้ต่ำ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีความสุขกับผลตอบแทนจากการทำงานหนักและมีอิสระในการเลือกใช้จ่าย”

นายหว่องกล่าวอีกว่า สิงคโปร์ต่างจากหลายประเทศในยุโรปที่เรียกเก็บภาษีเงินได้จำนวนมากเพื่อสนับสนุนระบบสวัสดิการของประเทศ สิงคโปร์ยังคง “การใช้จ่ายสาธารณะแบบประหยัดแต่มีประสิทธิภาพ”

นั่นคือเหตุผลที่ครึ่งหนึ่งของประชากรที่ทำงานในประเทศไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในขณะที่อัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) “อยู่ในระดับปัจจุบัน”

“มองไปข้างหน้า เราจะต้องเพิ่มรายได้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่เราจะเดินหน้าอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมยังคงมีประสิทธิภาพ และภาษีนั้นยังคงต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับชนชั้นกลาง” นายหว่องกล่าว

รัฐบาลได้ประกาศแผนการขึ้นอัตราภาษี GST เป็นครั้งแรกจาก 7% เป็น 9% ในงบประมาณปี 2561 และเมื่อต้นปีนี้ในงบประมาณประจำปี2564 รองนายกรัฐมนตรีเฮง สวี คีตกล่าวว่า การปรับขึ้นจะอยู่ระหว่างปีหน้าถึงปี 2568 และ “เร็วขึ้นมากกว่าที่จะปรับภายหลัง” ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ

เหตุผลที่รัฐบาลถึงต้องการเพิ่มภาษี GST นายหว่องอ้างว่า เฉพาะความต้องการด้านการรักษาพยาบาลของสิงคโปร์เพียงอย่างเดียวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP จะต้องเพิ่มอีก 3% เพื่อการใช้จ่ายในช่วง 10 ปีข้างหน้า รวมถึงความจำเป็นในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ และการรักษาความมั่นคง ความต้องการประเทศ“มีความสำคัญและเพิ่มขึ้น”

“สิ่งเหล่านี้บางส่วนสามารถดำเนินการผ่านภาษีเงินได้ได้ แต่จากประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะไม่ยั่งยืนและจะทำให้ประชากรที่มีงานทำของเราลำบากขึ้น” นายหว่องกล่าวและว่า การเพิ่มรายได้จากภาษีเป็น “วิธีที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ” ในการจัดหาเงินเพื่อรายจ่ายประจำ

“(ภาษี GST) เป็นภาษีสำหรับการบริโภคขั้นสุดท้าย และช่วยแบ่งเบาภาระการเก็บภาษีของประชากรทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเมื่อใช้จ่ายเงินที่นี่”

นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีประเทศหรือเขตปกครองอื่นๆ อีกมากที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สูงกว่าสิงคโปร์มาก

สำหรับช่วงของการปรับขึ้นภาษี GST นายหว่องกล่าวว่า รัฐบาลจะ “พิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อ” เมื่อต้องตัดสินใจ แต่การปรับขึ้นภาษี GST ที่วางแผนไว้ “ไม่ควรถูกมองแยกออกไป” เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศเปิดตัว Assurance Package มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไว้รองรับ

“เราได้จัดสรรเงินสำหรับ Assurance Package แล้ว เมื่อ GST ถูกนำมาใช้ ก็จะมาพร้อมกับ Assurance Package ซึ่งจะชะลอการเพิ่ม GST อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 5 ปีสำหรับชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ และสำหรับชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อย จะชะลอการเพิ่ม GST อย่างมีประสิทธิภาพออกไป 10 ปี”

นอกจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนโครงการ GST Voucher แบบถาวร “ในภาพรวม GST ในสิงคโปร์ค่อนข้างพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เกือบทั้งหมด”