ThaiPublica > เกาะกระแส > สถาบัน MIT เผยผลศึกษา “เมืองต้นไม้มากที่สุดในโลก” เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา สหรัฐที่ 1 – สิงคโปร์ที่ 2

สถาบัน MIT เผยผลศึกษา “เมืองต้นไม้มากที่สุดในโลก” เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา สหรัฐที่ 1 – สิงคโปร์ที่ 2

11 พฤศจิกายน 2019


ต้นไม้ในเมืองมีคุณค่าอเนกอนันต์ต่อความเป็นอยู่ของคน รวมทั้งยังช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายเมืองใหญ่ในหลายประเทศที่มีต้นไม้จำนวนมากอยู่แล้ว ยังหาทางที่จะเพิ่มต้นไม้ในเมืองให้มากขึ้น

Senseable City Lab แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) เปิดเผยผลการจัดอันดับเมืองที่มีต้นไม้มากที่สุดในโลก ว่า เมืองแทมปาในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่ง เพราะพื้นที่ถึง 36.1% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของเมืองเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียว

สำหรับอันดับสอง ได้แก่ สิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้ 29.3% อันดับสาม ได้แก่ เมืองออสโล สวีเดน 28.8% ตามมาด้วยซิดนีย์และแวนคูเวอร์ที่มีพื้นที่เท่ากัน 25.9% ขณะที่เมืองแคมบริดจ์ ที่ตั้งของ MIT มีพื้นที่สีเขียว 25.3%

ผลการจัดอันดับเมืองต่างๆ ใน Treepedia ของ MIT นี้ มาจากการศึกษาเมืองที่นักวิจัยเลือกขึ้นมา 27 เมืองเท่านั้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปรียบเทียบว่าแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้การวิจัยยังไม่ครอบคลุมในวงกว้างนัก แต่สะท้อนให้เห็นว่า มีการตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ในเมืองมากขึ้น

เหตุผลหนึ่ง MIT ทำการศึกษาต้นไม้ในเมือง เพื่อประเมินว่าต้นไม้ช่วยลดความร้อนจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) ได้อย่างไร (ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง คือ การที่แสงแดดกระทบกับพื้นดิน อาคารบ้านเรือนในช่วงกลางวัน จึงมีการสะสมความร้อนและถ่ายเทออกสู่อากาศรอบๆ เมื่อรวมตัวกันในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะกลายเป็นเกาะหรือโดมความร้อน)

ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองชื่นชอบพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุม ดังจะเห็นได้จากระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บนถนนที่มีต้นไม้ขึ้นเรียงรายจำนวนมาก และระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นที่ติดกับสวนสาธารณะที่อุดมไปด้วยต้นไม้

อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น การพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองก็มีมากขึ้น จึงมีการตระหนักมากขึ้นกว่าเดิมถึงความสำคัญของต้นไม้ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นอยู่ของคนในเมือง

สิ่งที่ทำให้พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ของเมืองเหล่านี้สูงกว่าเมืองอื่นๆ คือ สภาวะอากาศที่มีผลอย่างมาก โดย 8 เมือง ใน 10 อันดับแรกจากการศึกษาของ Forest Service สหรัฐฯ มีที่ตั้งที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ยกเว้น คินชาซา ในสาธารณรัฐคองโก และบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนตินา ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายทุ่งหญ้า

นอกจากนี้ หลายเมืองให้ความสำคัญกับการมีนโยบายปลูกและจัดการกับต้นไม้มากขึ้น จากการให้ความเห็นของนายเหลียง ชือ เฉียว จากคณะกรรมการสวนสาธารณะแห่งชาติ National Parks Board จากสิงคโปร์

สิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในด้านการมีสิ่งแวดล้อมสะอาดและมีสีเขียว ซึ่งเป็นผลจากการวางแผนและการทุ่มเทการสร้างเมืองสีเขียวมาเป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษ เริ่มจากการก่อตั้งประเทศ การจัดการให้มีพื้นที่สีเขียวอยู่ในแผนพัฒนาเมือง ดังนั้นจำนวนต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาความเป็นเมือง ตัวอย่างคือ การวางแผนการสร้างถนนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องกันพื้นที่ไว้ปลูกต้นไม้ส่วนหนึ่ง

สิงคโปร์มีต้นไม้ราว 7 ล้านต้น โดยขึ้นอยู่ตามถนนราว 3 ล้านต้น ในสวนสาธารณะ บริเวณที่พักอาศัย และนิคมอุตสาหกรรม National Parks ยังมีแผนที่จะปลูกต้นไม้กว่า 50,000 ต้นต่อปีริมถนน ในสวนสาธารณะและพื้นที่สวน

ความต่อเนื่องและความยั่งยืนในการสร้างพื้นที่สีเขียว ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองในสวนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการที่มีสภาวะแวดลอมแบบนี้ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวสิงคโปร์ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ต้นไม้ในสิงคโปร์

แดน แลมบ์ ประธานองค์กรการกุศล Arbor Day ที่ริเริ่มโครงการ Tree City USA ให้ความเห็นว่า ได้เห็นแนวโน้มถึงความเอาใจใส่ที่มีต้นไม้ในเมืองมากขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เพราะความสวยงามอย่างเดียว แต่เมืองต่างๆ ก็ตระหนักดีว่า ต้นไม้เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการรับมือ ด้านสุขอนามัย ความเป็นอยู่ที่ดี ความสุขและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย

โครงการ Tree City USA ปัจจุบันมีชุมชนลงทะเบียนร่วมโครงการมากกว่า 3,400 แห่ง และในปีที่แล้วได้ขยายโครงการออกไปทั่วโลก

การจัดอันดับเมืองตามจำนวนต้นไม้ยังเป็นวิธีการวัดที่ไม่แม่นยำนัก เพราะการศึกษาของ Treepedia วัดจากปริมาณต้นไม้ที่รับรู้ได้ระหว่างการเดินอยู่ริมถนนและพื้นที่สีเขียวที่ผู้คนรับรู้ในแต่ละวันมากกว่าที่จะวัดจำนวนรวมของต้นไม้ โดยใช้ข้อมูลเสมือนจริงผ่าน Google Street View ซึ่งแสดงผลต้นไม้ที่เห็นได้จากกล้องที่เคลื่อนตัวไปรอบๆ

ขณะเดียวกัน รายงานผลการศึกษาที่ยังไม่เผยแพร่ของ Forest Service แห่งสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวทางที่แตกต่างกันออก โดยวัดจากร่มเงาของต้นไม้ที่ปกคลุม กลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน

นักวิจัยของ Forest Service เลือกเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดขึ้นมา 25 เมือง โดยเลือก 1 เมืองในหนึ่งประเทศ ปรากฏว่า นิวยอร์กครองอันดับหนึ่ง เพราะมีพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้ปกคลุม 39.2% รองลงมาคือ มอสโก 29.1% เซาเปาโล 27.4% และปารีส 26.4%

สาเหตุที่นิวยอร์กคิดอันดับหนึ่งอาจจะมาจากแคมเปญรณรงค์ให้คนปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นที่เริ่มขึ้นในปี 2015

กระนั้นไม่ได้หมายความว่าข้อมูลจะถูกต้อง เพราะ Forest Service ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ที่แสดงมุมมองด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และตรวจจับต้นไม้ในสวนสาธารณะและบ้านเรือนผู้คน รวมทั้งถนน แต่ไม่ได้ถูกต้องเท่ากับการแสดงผลของ Street View

นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังไม่มีข้อมูลล่าสุด แต่ใช้ข้อมูลช่วงปี 2010-2014

อย่างไรก็ตาม ซีโมน โบเรลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าในเมืองขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เตือนให้ระวังการให้ความสำคัญมากเกินไปกับจำนวนต้นไม้ เพราะการสามารถเข้าถึงต้นไม้ได้มีความสำคัญมากกว่า โดยขยายความว่า หมายถึงการที่ผู้คนในเมืองรับรู้กับการมีต้นไม้ หรือได้เห็น หรือได้สัมผัสจับต้อง ต้นไม้ในเมืองที่เขาพักอาศัยใช้ชีวิต

เมื่อมองในแง่นี้ เยอรมนีถือว่าเป็นผู้นำ เพราะ 3 ใน 4 ของคนเมือง อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้เพียง 300 เมตร แต่ในแฟรงเฟิร์ตพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ลดลง

โฆษกด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักบริหารเมืองแฟรงก์เฟิร์ตกล่าวว่า ความสนใจของคนที่มีต่อต้นไม้เพิ่มมากขึ้น และใส่ใจกับต้นไม้มากขึ้น มีการรดน้ำต้นไม้ในช่วงหน้าร้อน

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่หน้าร้อนอากาศร้อนมากและแห้ง จึงมีผลกระทบกับต้นไม้ที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่น เช่น ต้นโอ๊ก ต้นเมเปิล และต้นมะนาว ดังนั้นจึงพยายามที่จะปลูกต้นไม้หลายพันธุ์จากเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงคาบสมุทรบอลข่าน”

ในปี 2018 แฟรงก์เฟิร์ตจัดว่าเป็นเมืองที่อากาศร้อนที่สุดในเยอรมนี ขณะที่ในปี 2014 ได้รับการขนานนามว่า European City of Tree จากการให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ในเมือง โดยมีต้นไม้ราว 200,000 ต้นในพื้นที่สาธารณะ สวนป่าในเมือง (Frankfurt City Forest) ซึ่งมีพื้นที่ราว 5,800 เฮกตาร์ ในทางตอนใต้ของเมืองได้รับการปกป้องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างอาคาร และเป็นส่วนหนึ่งของ Green Belt ที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ประกอบด้วยป่าไม้ พื้นที่เกษตร สวน สวนสาธารณะ พื้นที่กีฬา ชุ่มน้ำ สวนผลไม้และพื้นที่สงวน

นายปีเตอร์ เฟลด์มานน์ นายกเทศมนตรีแฟรงก์เฟิร์ตกล่าวว่า Green Belt มีความสำคัญของประชาชนของแฟรงก์เฟิร์ต ดังนั้นสภาเมืองจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้คุ้มครองจากการพัฒนาสร้างอาคารตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1991 ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะแฟรงก์เฟิร์ตมีเนื้อที่ 2 ใน 3 ของ Green Belt

นายโบเรลลีกล่าวว่า แม้จะอยู่ในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นหรือไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพภูมิอากาศ แต่การจัดลำดับความสำคัญของต้นไม้ สามารถทำได้ อย่างเมืองมิลาน ในอิตาลี มีแผนจะขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ 3 ล้านต้นไปจนถึงปี 2030 โดยให้ประชาชนในเมืองร่วมกันปลูกคนละ 1 ต้น

การปลูกต้นไม้ในวงกว้างก็มาพร้อมกับต้นทุนที่สูง ดังจะเห็นจากจีนที่ใช้เงินหลายล้านดอลลาร์สำหรับนโยบาย Beautiful China ฟื้นฟูผืนป่าและปลูกป่า แต่ต้นไม้ในเมืองหาได้ยาก

เมืองแอตแลนตาในสหรัฐฯ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ลดลง 560,000 เอเคอร์ในปี 1973-1999 เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างถนนและสวนขนาดย่อม นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและหมอกควัน

ในอังกฤษ กลุ่มนักอนุรักษ์เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 88 พันล้านปอนด์ ในพื้นที่ป่าไม้เก่าแก่

เมืองแทมปา ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/cities/2019/nov/05/green-streets-which-city-has-the-most-trees