ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ชี้ ฐานะแบงก์ยังแกร่งรับมือหนี้ไหว เงินสำรองสูง 851.5 พันล้านบาท

ธปท.ชี้ ฐานะแบงก์ยังแกร่งรับมือหนี้ไหว เงินสำรองสูง 851.5 พันล้านบาท

23 สิงหาคม 2021


นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง

โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,038.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.0% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 851.5 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 152.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.7%

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวลดลงเล็กน้อยที่ 3.7% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 จาก3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

สินเชื่อธุรกิจขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.6% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 จากการเร่งใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนในปีก่อน กอปรกับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ปรับดีขึ้นและขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และสินเชื่อฟื้นฟู

สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 5.7% เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.3% โดยหลักจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวลดลง จากปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนการล็อกดาวน์ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการสภาพคล่องในภาคครัวเรือน โดยบางส่วนเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อสวัสดิการ

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 545.5 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.34% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.42%

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์แต่มีสัญญาณความเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อรายย่อย ซึ่งในระยะต่อไปลูกหนี้ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของ COVID 19 ที่ยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 60.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 72.1% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ค่าธรรมเนียม

หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิที่ไม่รวมผลของรายการพิเศษปรับเพิ่มขึ้นจากรายได้เงินปันผลและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.08 แต่หากตัดผลของรายการพิเศษ ROA จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.89% จากไตรมาสก่อนที่ 0.81%

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.46% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.43%

ฐานะแบงก์แกร่งรับหนี้ไหว

นางสาวสุวรรณี กล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการฟื้นฟูฯ ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ว่า สินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว 92,316
ล้านบาท มีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 30,194 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งสัดส่วน 42.6% เป็นธุรกิจขนาดเล็กวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท อีก 67.5% ประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ และ 68.5% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด

ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ยอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 10,511 ลบ. จานวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 65 ราย ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

จากจำนวนสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว ธปท.คาดว่าจะการช่วยเหลือจะบรรลุ 100,000 ล้านบาทตามที่ตั้งเป้าไว้

ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินสำรอง สภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID 19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

“ที่ผ่านมาธปท.ดูแลให้ธนาคารมีกันชนทางการเงิน(buffer) และจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ในปีก่อนส่งผลให้ธนาคารเพิ่มเงินทุนสำรองขึ้นจำนวนมาก โดยเพิ่มขึ้นราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอต่อการรองรับคุณภาพหนี้รายย่อยที่มีสัญญานเปราะบางมากขึ้น”

นอกจากนี้จากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 2540 ฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งขึ้นมาก แต่การแก้ไขปัญหานี้หรือการช่วยเหลือลูกหนี้ต้องเน้นการช่วยเหลือแบบตรงจุดมากขึ้น

สำหรับการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ ธปท.จะพิจารณาหลังจากการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสสามและการทำการทดสอบ Stressed-test

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า อันดับความน่าเชื่อถือโดยรวมของธนาคารยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในกลุุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs)

ธนาคารใหญ่เพิ่มขึ้น 1 แห่ง

นางสาวสุวรรณีกล่าววา ในปีนี้มีธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 1 แห่ง เป็นผลจากการควบรวมของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ Covid-19 แต่อย่างใด

ทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการทำธุรกรรมเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นมากขึ้น รวมทั้งมีการให้บริการทางการเงินที่สำคัญทั้งสินเชื่อ เงินฝาก การโอนเงินชำระเงิน ในปริมาณที่สูงและมีลูกค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งในปีนี้ จากเดิมที่มีอยู่จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบัน D-SIBs ทุกแห่งมีความมั่นคง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดและเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามมาตรการที่กำหนดในการกำกับดูแล D-SIBs

ธปท. ได้ออกเกณฑ์การประเมินและกำกับดูแล D-SIBs บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยประเมินการเป็น D-SIBs ของ ธพ. มาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจุบัน ธพ. ที่เป็น D-SIBs ทั้ง 6 แห่ง มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และมีระดับ BIS Ratio ในระดับที่สูงและมากกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดค่อนข้างมาก ขณะที่ ธพ. แห่งอื่นที่ไม่ได้จัดเป็น ธพ. D-SIBs ยังคงมีความแข็งแกร่ง มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับดี และมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ธพ. ที่เป็น D-SIBs ถูกกำกับดูแลเพิ่มเติมเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแกร่ง สามารถรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากประสบปัญหาต้องหยุดชะงักไม่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อลูกค้า สถาบันการเงินอื่น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินโดยรวมได้

การกำหนด ธพ. ให้เป็น D-SIBs นั้น มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นกำกับดูแลเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้ระบบสถาบันการเงินมีปัญหาเสถียรภาพ ธพ. เหล่านั้นจึงถูกกำกับดูแลที่เข้มและใกล้ชิดมากกว่า ธพ. อื่น โดยต้องดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นที่มากกว่า ธพ. ทั่วไป ได้แก่

  • การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจะสูงกว่า ธพ. อื่น 1% โดย ธพ. D-SIBs ดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 12 (เมื่อเทียบกับร้อยละ 11 สำหรับ ธพ. ที่ไม่ใช่ D-SIBs)
  • การกำหนดให้ ธพ. D-SIBs จัดส่งรายงานเพื่อการกำกับดูแลของ ธปท. ให้ถี่ขึ้นและเร็วขึ้น เช่น รายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจการเงินให้ส่ง ธปท. เป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 45 วันนับจากวันสิ้นเดือน การจัดส่งรายงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงภายในของธนาคาร ให้ ธปท. ทันทีที่มีการร้องขอ
  • การจัดให้มีการประชุมระหว่างคณะกรรมการของธนาคารกับ ธปท. เพื่อรายงานผลการตรวจสอบที่สำคัญ โดย ธปท. จะเข้าตรวจสอบ ธพ. D-SIBs ทุกปี ในขณะที่ ธพ. อื่น ความถี่ในการตรวจสอบเป็นไปตามความเสี่ยง