ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. มั่นใจ “เอ็นพีแอล” สูงสุดไตรมาส 4 ก่อนทรงตัวและทยอยลดลง – ไตรมาส 3 ยอดคงค้าง 428,000 ล้านบาท

ธปท. มั่นใจ “เอ็นพีแอล” สูงสุดไตรมาส 4 ก่อนทรงตัวและทยอยลดลง – ไตรมาส 3 ยอดคงค้าง 428,000 ล้านบาท

11 พฤศจิกายน 2017


นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ของปี 2560 ว่าคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ภาพรวมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเริ่มทรงตัวที่ 2.97% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.95% โดยมียอดคงค้าง NPL ที่ 428,000 ล้านบาท

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.72% อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 584,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 166.2%

“ยังยืนยันว่าเอ็นพีแอลในไตรมาส 4 น่าจะเป็นจุดที่สูงสุด แต่จะลดลงเลยคงไม่ น่าจะเริ่มทรงตัวก่อนและทยอยลดลง เพราะการจัดการเอ็นพีแอลยังต้องใช้เวลาบริหารจัดการ แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจเป็นหลักด้วย จากไตรมาสนี้จะเห็นว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่แต่ในอัตราที่ชะลอลงมาก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อก็เพิ่มขึ้น สัดส่วนนี้ก็ทรงตัว แล้วในรายเซกเตอร์จะเห็นว่าอย่างเอสเอ็มอีที่สูงสุดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและส่งออกก็ทยอยดีขึ้นสะท้อนการส่งผ่านของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่เท่าที่เห็นเอ็นพีแอลใหม่จะเป็นรายเล็กๆ ที่ปรับตัวไม่ทันจะมีเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่คาดว่าจะไม่มากกว่าเดิมแล้ว” นางสาวดารณีกล่าว

ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับภาพรวมการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตราสารหนี้ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ หากรวมสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5%

ในรายละเอียด สินเชื่อธุรกิจ (67% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.2% ชะลอลงจาก 2.7% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี โดยในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งชะลอลงส่วนหนึ่งจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี มีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในธุรกิจพลังงาน ขนส่งและบางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 2.4% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค (33% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 5.6% ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับสินเชื่อรถยนต์เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 7.0% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่องและส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% และ 3.1% ตามลำดับ

ในไตรมาส 3 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 46,700 ล้านบาทลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.04% จากไตรมาสก่อนที่ 1.09% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ค่อนข้างทรงตัวที่ 2.78% ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,447,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1 ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 18.4% และ 15.8% ตามลำดับ

“การปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4 คิดว่าขยายตัวได้ แม้ว่าจะยังขึ้นกับเศรษฐกิจเป็นหลักเหมือนเอ็นพีแอล แต่โดยฤดูกาลจะเพิ่มขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว กำไรของธนาคารก็จะเป็นไปตามแนวโน้มของทั้งปี รวมๆ ประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยที่การเติบโตลดลงจากการกันสำรองในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ถ้ามองไกลกว่านั้นรายได้ค่าธรรมเนียมอาจจะลดลงได้จากการหันการโอนของระบบการชำระเงินใหม่ รายได้ดอกเบี้ยน่าจะดีขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเอ็นพีแอลที่หยุดลงการกันสำรองก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากแบบปีนี้ ซึ่งทำให้กำไรของธนาคารลดลงไป” นางสาวดารณีกล่าว