ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รัฐบาลเร่งขยายห้อง ICU-รพ.สนามแก้เตียงไม่พอ สธ.ย้ำ 5 มาตรการต้องปฏิบัติเข้มข้น

รัฐบาลเร่งขยายห้อง ICU-รพ.สนามแก้เตียงไม่พอ สธ.ย้ำ 5 มาตรการต้องปฏิบัติเข้มข้น

3 กรกฎาคม 2021


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/43408

รัฐบาลเร่งขยายห้อง ICU และ โรงพยาบาลสนาม รับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนเตียงในกทม. พร้อมเปิดเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 เตียง ที่โรงพยาบาลบุษราคัม ยืนยันรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีแดง และสีเหลืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. ซึ่งมีความห่วงใยต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดเตรียมเตียงไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่

โดยในส่วนของโรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับผู้บริหารเมืองทองธานีเพื่อต่อสัญญาใช้สถานที่สำหรับทำโรงพยาบาลบุษราคัมต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2564 นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียง และแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่ กทม. ทำให้โรงพยาบาลบุษราคัมขยายเตียงเพิ่มได้อีก 1,500-2,000 เตียง รวมมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (สีเหลือง) ได้ประมาณ 3,700-4,000 เตียง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงในกทม.

  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงมากกว่า 25,000 ราย ศบค.-สธ. ใช้แผน ‘กักตัวที่บ้าน’ -แยกกักพื้นที่เฉพาะ
  • ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับรายงานถึงความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม โดยได้หารือและพิจารณาร่วมกันในแต่ละส่วนของกองทัพ ถึงขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารในการร่วมระดมปรับเกลี่ยบุคลากรทางการแพทย์ทหาร เสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เร่งขยายห้องผู้ป่วย ICU ในโรงพยาบาลทหารต่างๆในพื้นที่ กทม. และขยายขีดความสามารถ พื้นที่ มทบ.11 สนับสนุนอาคารและสถานที่จัดทำโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม โดยร่วมกับโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีแดงและเหลือง จำนวน 178 เตียง และร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพิ่มเติมอีก 176 เตียง นอกจากนี้ โรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล จะเปิดเตียงสีแดงเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ซึ่งได้มีการขอสนับสนุนกำลังบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในส่วนของแพทย์เฉพาะทาง แพทย์จบใหม่ และพยาบาล มาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามอาการต่าง ๆ และมีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยสถานะสถานพยาบาล (ณ 30 มิ.ย.64) สถานการณ์เตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จาก 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน มีเตียงทั้งหมด รวมจำนวน 31,505 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 26,069 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติมจำนวน 5,436 เตียง ทั้งนี้ จำแนกตามระดับเตียง ได้แก่ เตียงระดับ 3 (สีแดง) จำนวน 1,317 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,203 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 114 เตียง เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) จำนวน 12,782 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 11,090 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 1,692 เตียง และเตียงระดับ 1 (สีเขียว) จำนวน 17,404 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 13,776 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม 3,628 เตียง

    ส่วนโรงพยาบาลสนาม (ณ 30 มิ.ย. 2564) ได้แก่ (1) การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปัจจุบันมีทั้งหมด 53 แห่ง พร้อมรับจำนวน 11,104 เตียง ขยายได้เป็น 12,822 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 3,840 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 7,264 เตียง (2) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม สนับสนุนอาคารสถานที่ ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ จำนวน 31 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 4,770 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 1,394 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 3,376 เตียง (3) สถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ กทม. ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 2,502 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,101 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 401 เตียง รวมสถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจาก 3 หน่วยงานดังกล่าว ปัจจุบันมีทั้งหมด 94 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 18,376 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 7,335 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 11,041เตียง

    สำหรับโรงพยาบาลสนามแบบโรงแรม (Hospitel) รวมทั้งสิ้น จำนวน 77 แห่ง เปิดให้บริการแล้วจำนวน 59 แห่ง พร้อมใช้งาน จำนวน 14,559 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 13,061 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 1,498 เตียง ขณะเดียวกันก็มีการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยต่างด้าวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย Hospitel ปัจจุบันมีจำนวน 10 แห่ง พร้อมใช้งาน 2,755 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,252 เตียง รองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 503 เตียง โรงพยาบาลสนาม จำนวน 9 แห่ง พร้อมใช้งาน 4,542 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 3,589 เตียง และรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 953 เตียง

    สธ.แจงเตียงไม่พอระบบไม่ล่มสลาย-ย้ำ 5 มาตรการต้องปฏิบัติเข้มข้น

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7341

    วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล การแถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ศบค. ซึ่งมีผู้ร่วมรายการคือ นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

    โดยในช่วงการตอบคำถาม สื่อมวลชนมีคำถามต่อประเด็น 5 ปัจจัย ที่ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ได้กล่าวถึง ได้แก่ นโยบายที่ชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบการควบคุมโรคดี ระบบรักษาพยาบาลเข้มแข็ง การฉีดวัคซีนครอบคลุมว่า สาธารณสุขเป็นห่วงปัจจัยใดมากที่สุด

    นายแพทย์สมศักดิ์ ได้แจ้งว่า ประเด็นการควบคุมโรคโควิด 19 ที่เราต่อสู้มากว่า 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง บางช่วงบางจังหวะอาจจะมีการหย่อนในบางมาตรการ จึงเห็นควรวิเคราะห์ ทั้ง 5 มาตรการ และร่วมมือกัน เริ่มจากวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล การดำเนินการเพื่อการควบคุมโรค มาตรการตั้งแต่บุคคล ชุมชนต้องเข้มแข็ง การรักษาพยาบาล ก็เช่นกัน มีกรณีที่เกิดขึ้น อาทิ มีผู้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ก็มีปัญหาจากการรับคนไข้ที่เป็นโรงพยาบาลต่างจากที่ฝากครรภ์ การดูแลจึงมีปัญหา

    การวิเคราะห์จึงต้องกลับไปทุกนโยบายที่ปฏิบัติ รัฐบาลต้องทบทวน ประชาชนต้องทบทวนว่าดูแลตัวเองดีหรือไม่ การควบคุมโรค ทุกส่วนทำเต็มที่หรือยัง วัคซีนก็ต้องทบทวน เราทราบดีว่า เรายังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เราจึงต้องใช้แนวทาง กันหนัก กันตาย มุ่งฉีดวัคซีนที่กลุ่มเสี่ยง นำความจริงมาพูด ความโปร่งใส วิจารณ์การทำงานได้ แต่ต้องพูดคุยกัน โควิดเป็นโรคที่ทำลายล้างทุกทฤษฎี แม้วัคซีนมา ก็มีเชื้อกลายพันธุ์ ทุกคนจึงต้องร่วมมือกัน

    ในประเด็นเรื่อง Home Isolation นายแพทย์สมศักดิ์ฯ ได้ตอบว่าหากไม่จำเป็น ไม่ต้องการดำเนินการนี้ ทั้งนี้ ด้วยความจำเป็น มีการเตรียมการเรื่อง Home Isolation มาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 นายแพทย์สมศักดิ์ โดยช่วงทดลองที่ รพ.ราชวิถี พบว่า ประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก และจึงได้ทำต่อเนื่องมาที่ Community Isolation มี เอกชน NGO มาร่วมช่วยในการดำเนินการ และน้องๆ Startup ที่พร้อมช่วยร่วมดูแล ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี โปร่งใส และได้ร่วมมือกัน

    คำถามเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย อธิบดีกรมการแพทย์ได้ตอบว่า เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งนี้ ต้องตั้งคำถามว่า การล่มสลายของระบบสาธารณสุขคืออะไร เตียงไม่พอยังไม่ใช่ล่มสลาย เพราะยังมีการดูแลคนไข้ ฉะนั้นคำว่าล่มสลายของสาธารณสุขคืออะไร เราต้องร่วมมือกันปรับปรุงการทำงานกันไป

    ดังนั้น จึงต้องเป็นคำถามว่า ตัวเราเองจะร่วมคงไว้ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยได้มั้ย ถ้า 5 มาตรการที่ได้กล่าวไปดีขึ้น และทุกคนร่วมมือ ระบบสาธารณสุขไม่มีวันล่มสลาย ในส่วนของเรื่องวัคซีน วัคซีนทางเลือกที่จะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 จนถึงต้นปีหน้า จะสามารถทำให้เข้ามาเร็วกว่านี้ได้หรือไม่นั้น องค์การเภสัชกรรม ระบุว่า Demand และ Supply ของทั่วโลก จากการรวบรวมของ Unicef ในปี 2564 ความต้องการวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 11,540 ล้านโดสโดยเฉพาะของ Moderna ยอดจองล่วงหน้าอยู่ที่ 2 พันล้านโดส ขณะที่ Supply หรือปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งโลกอยู่ที่ 9 พันล้านโดส องค์การเภสัชกรรมไม่ได้ย่อท้อและนิ่งนอนใจ แม้จะมีการถูกปฏิเสธมาแล้ว ก็พยายามต่อรอง ทุกวันนี้ได้มีการพูดคุยกันทุกอาทิตย์ อีกทั้งผู้บังคับบัญชาและทางรัฐบาลเอง ก็ให้ความช่วยเหลือติดต่อทางสถานเอกอัครราชทูตร่วมด้วย

    ในประเด็นการจัดการเตียง และการรับตัวผู้ป่วยนั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จำนวนเตียงจะเพียงพอหรือไม่ เพียงพอกับการจัดการเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในส่วนของภาพกว้างของประเทศยังสามารถรองรับได้ ถ้าตัวเลขไม่มากไปกว่านี้ ในส่วนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะหนักอยู่ทางภาคใต้ ปริมณฑลในบางส่วน เท่าที่ติดตามสถานการณ์ทางภาคใต้ มีการพยายามขยายเตียงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับ

    ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่มา การแถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ศบค.

    โดยหาก 5 มาตรการชัดเจน คิดว่าภาคใต้ยังสามารถรับไหว ขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการแพร่ระบาดหนัก โดย 3 วันที่ผ่านมา(1-3 กรกฎาคม 2564)มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 2,000 ราย โดยเคยคาดการณ์ไว้ว่าหากมีผู้ติดเชื้อ 1,000 ยังสามารถขยายเตียง ICU ได้ แต่ตอนนี้ สถานการณ์ค่อนข้างหนัก หากยังคง 2,000 ต่อไป อีกไม่กี่สัปดาห์ เตียง ICU จะกลับไปเต็มอีกครั้ง

    อย่างไรก็ดี หาก 5 มาตรการที่ได้กล่าวไปดีขึ้น ก็จะทำให้รองรับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ต้องดึงจำนวนคนไข้ลงก่อน การหาเตียงและเครื่องมือไม่ใช่เรื่องยาก แต่บุคลากรทางการแพทย์กำลังท้อ และเหนื่อยล้า

    ส่วนการรับตัวผู้ป่วยนั้น กทม. ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากโทรมาทั้ง 1669 , 1668 มีทั้งโทรติด โทรไม่ติด ซึ่งในการติดต่อเข้ามาจะมีการเรียงตามลำดับคิว จึงอาจส่งผลให้การรับการบริการช้าลง รวมทั้งแต่ละ รพ. มีศักยภาพในการรับคนไข้ทั้งผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยโควิดที่แตกต่างกัน ซึ่งทาง 1669 จะประเมินอาการเบื้องต้น ให้คำแนะนำ รวมทั้งพยายามที่จะเคลียร์สายและให้คำแนะนำระหว่างประสานงานรอเตียงเพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้ ภาครัฐได้ร่วมมือกับภาคเอกชนตลอดช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา หนึ่งปีกว่าแล้ว ซึ่งได้มีการพูดคุยกันต่อเนื่อง ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ

    นายกฯติดตามการค้นหาเชิงรุกชุมชน-ตรวจหาเชื้อที่รพ.


    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/43410
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการจัดหาและกระจายเวชภัณฑ์และยารักษาโรคโควิด-19 ให้เพียงพอนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำชับเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเพียงของชุดอุปกรณ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพการตรวจคัดกรองให้ได้มากที่สุดด้วย

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการเร่งตรวจคัดกรองประชาชน ทั้งในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในระบบการเฝ้าระวัง การลงพื้นที่เพื่อตรวจเชิงรุกในชุมชน ในทัณฑสถาน ตลอดจนในสถานที่กักตัวที่รัฐรับรอง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งทราบว่าหน่วยให้บริการต่างๆได้ทำงานเต็มที่ ทั้งในโรงพยายาบาลและลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงพยาบาลเอง อาจจะมีบางช่วงที่พบว่ามีการหยุดตรวจคัดกรองบ้างเนื่องจากต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับจำนวนเตียงผู้ป่วย แต่ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งดำเนินการขยายเตียงรองรับผู้ป่วยในส่วนต่างๆ ให้เพียงพอ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงพยาบาลบุษราคัม ที่เมืองทองธานี ห้องไอซียูสนามที่ มทบ.11 โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel  ก็จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการตรวจคัดกรองผู้ป่วยให้ได้มากขึ้นด้วย

    “นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนและติดตามเพื่อสั่งการการให้การสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกด้าน ซึ่งในส่วนของการตรวจคัดกรองหาเชื้อนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยบริการทั้งในโรงพยาบาลและการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในชุมชุนดำเนินการให้เต็มที่และหากสามารถขยายศักยภาพการตรวจได้ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุขได้ก็ให้เร่งดำเนินการทันที”น.ส.ไตรศุลี กล่าว