ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงมากกว่า 25,000 ราย ศบค.-สธ. ใช้แผน ‘กักตัวที่บ้าน’ -แยกกักพื้นที่เฉพาะ

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงมากกว่า 25,000 ราย ศบค.-สธ. ใช้แผน ‘กักตัวที่บ้าน’ -แยกกักพื้นที่เฉพาะ

2 กรกฎาคม 2021


สถานการณ์โควิด-19 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้ป่วยรายใหม่ได้เพิ่มขึ้น 6,087 คน ทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 270,921 คน จากการระบาดของเชื้อไวรัสระลอก 3 เข้าสู่ระลอก 4 ที่มีเชื้อกลายพันธุ์มากขึ้น ส่งผลกระทบเกิดการแพร่กระจายใน ‘คลัสเตอร์’ พื้นที่ต่างๆ

เดือนมิถุนายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งเดือนรวมมากถึง 99,509 ราย นับว่าเป็นตัวเลข ‘นิวไฮ’ ของประเทศ เฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 3,317 ราย โดยวันที่จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำสุดคือวันที่ 1 มิถุนายน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 2,230 ราย และวันที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดคือวันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,406 ราย

ผลกระทบดังกล่าวลามไปถึง ‘ความพร้อมด้านสาธารณสุข’ ผู้ติดเชื้อจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบการรักษา หลายรายต้องกักตัวเองอยู่ในที่พักอาศัย เพราะระบบสาธารณสุขไม่สามารถจัดหาเตียงที่รองรับได้ทุกคน

  • “หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล” มุมมอง(คนนอก)กับการจัดการโควิด-19 หวั่นระบบ “สาสุข” ล้มได้
  • สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำรวจข้อมูล ‘เตียง’ ทั่วประเทศ โดยสืบค้นข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบว่าประเทศไทยมีเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งสิ้น 80,595 เตียงทั่วประเทศ จำนวนนี้เป็นเตียงครอง (เตียงที่มีผู้ป่วยรักษาอยู่) 51,515 เตียง และเตียงว่างเหลือเพียง 29,080 เตียง

    หากแบ่งประเภทของสถานพยาบาล อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ เตียงในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และเตียงในโรงพยาบาลสนาม โดยศบค. รายงานข้อมูลประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ว่าในจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่ 54,440 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล 26,025 ราย และในโรงพยาบาลสนาม 28,415 ราย

    เมื่อนำตัวเลข ผู้ป่วยที่กำลังรักษา (54,440) หักลบกับจำนวนเตียงที่ยังว่างอยู่ (29,080) เท่ากับว่าจะเหลือผู้ติดเชื้อกลุ่ม ‘ตกค้าง’ ที่เข้าไม่ถึงเตียงทั้งสิ้น 25,360 ราย 

    ข้อมูลจากกระทรวงอว. รายงานสถานเตียง ดังนี้

    เตียงสำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียว

    • โรงพยาบาลสนาม
      • เตียงครอง 8,271 เตียง
      • เตียงว่าง 10,340 เตียง
    • Hospitel
      • เตียงครอง 14,616 เตียง
      • เตียงว่าง 5,717 เตียง

    เตียงสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง

    • Cohort Ward หอผู้ป่วยรวม
      • เตียงครอง 17,049 เตียง
      • เตียงว่าง 6,802 เตียง
    • Isolated Room
      • เตียงครอง 8,981 เตียง
      • เตียงว่าง 4,784 เตียง

    เตียงผู้ป่วยระดับสีแดง

    • Modified AIIR (ห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ)
      • เตียงครอง 1,208 เตียง
      • เตียงว่าง 368 เตียง
    • Cohort ICU (หอผู้ป่วยหนัก)
      • เตียงครอง 542  เตียง
      • เตียงว่าง 249 เตียง
    • AIIR ICU (ห้องแยกผู้ป่วยวิกฤติความดันลบแบบถอดประกอบได้)
      • เตียงครอง 447 เตียง
      • เตียงว่าง 195 เตียง
    • AIIR + Modified
      • เตียงครอง 301 เตียง
      • เตียงว่าง 625 เตียง

      ทางออกของกระทรวงสาธารณสุขและศบค. คือการออกแนวทางให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ในกลุ่มผู้ป่วยระดับสีเขียว (ไม่มีอาการ) ซึ่งช่วยลดความหนาแน่นของจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม และเก็บเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงเป็นหลัก

      ในด้านการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับที่วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจน พร้อมทั้งสั่งจ่ายยาตามอาการของผู้ป่วย ติดต่อสื่อสารผ่านระบบ Tele Medicine รวมถึงได้รับอาหาร 3 มื้อต่อวัน โดยในกระบวนการนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของโรงพยาบาล และงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

      ทั้งนี้แนวทางการกักตัวที่บ้านยังไม่สามารถใช้ในวงกว้างได้ เนื่องจากบริบทของสังคมไทยที่อยู่ร่วมกันในที่พักอาศัย และไม่ได้มีพื้นที่แยกขาดที่เพียงพอสำหรับทุกคน

      อีกแนวทางที่ถูกนำมาใช้คือกักตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทั้งรูปแบบของ (1) แยกกักในชุมชนหรือ Community Isolation และ (2) Bubble and Sea ทั้งสองแนวทางมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่การแยกกักในชุมชนจะใช้เฉพาะผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอเคลื่อนย้ายหรือกลับมาจากโรงพยาบาลและให้บริการสาธารณสุขในชุมชนกับผู้ติดเชื้อไม่เกิน 200 ราย ขณะที่ Bubble and Sea จะจำกัดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ในเรือนจำ โรงงาน แคมป์แรงงาน เป็นต้น

        สปสช.หารือรับมือกักตัวที่บ้านและชุมชน

        ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดการประชุมหารือบทบาทของภาคประชาชนในการช่วยสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน (home & community Isolation) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อระดมความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่การแพร่ระบาดสีแดง ในการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว โดยมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เข้าร่วม 125 คน

        นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน สปสช.ได้ดำเนินการเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายบริการรองรับและประชุมชี้แจงโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว นโยบายนี้จะเดินหน้าได้หรือไม่ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ผู้นำชุมชน และ อสส. ทางสปสช. จึงจัดการประชุมขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และประสานความร่วมมือในการดำเนินการ เพราะด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีรายงานอยู่ที่ 3,000 – 5,000 รายต่อวัน ทำให้เกินศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแล จำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

        ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมระบบสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมีชุมชนเป็นฐานและอาจนำไปสู่การพัฒนาการดูแลสุขภาพรูปแบบในอนาคต เบื้องต้นนอกจาก สปสช. จัดเพิ่มรายการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์สนับสนุนดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชนแล้ว ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ยังมี “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.)” เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในชุมชน ซึ่งในเขตพื้นที่ กทม. ยังมีงบประมาณนี้อยู่ชุมชนต่างๆ สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ โดยจะมีเครือข่ายภาคประชาชนช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มงานที่ทางชุมชนทำกันอยู่แล้วให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น