ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สถานการณ์โควิด-19 ในลาว-กัมพูชา

สถานการณ์โควิด-19 ในลาว-กัมพูชา

15 พฤษภาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP

จีนยังคงทยอยส่งวัคซีนและความช่วยเหลือต่างๆ มาให้ลาวและกัมพูชา ซึ่งล้วนมีความสนิทสนมแนบแน่นกับจีนในหลายด้าน ทั้ง 2 ประเทศคือเพื่อนบ้านด้านทิศตะวันออกของไทย ที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับไทยยาวรวมกัน 2,608 กิโลเมตร…

11 พฤษภาคม 2564 วัคซีน Sinovac จำนวน 5 แสนโดส ถูกส่งมาถึงสนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญ วัคซีนลอตนี้รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งซื้อจากจีน โดยมียอดสั่งซื้อรวม 2 ล้านโดส

ตามกำหนดการ จีนจะส่งวัคซีน Sinovac ที่เหลือให้กัมพูชาอีก 5 แสนโดสในวันที่ 16 พฤษภาคม และอีก 1 ล้านโดส ในวันที่ 23 พฤษภาคม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน จีนเพิ่งส่งวัคซีน Sinopharm มาให้กัมพูชา 400,000 โดส Sinopharm ซึ่งผลิตโดย China National Pharmaceutical Group เป็นวัคซีนที่จีนบริจาคให้ฟรี เป็นหนึ่งในความช่วยเหลือที่จีนมอบแก่กัมพูชาเพื่อใช้ป้องกันโควิด-19 โดยมียอดวัคซีน Sinopharm ที่จีนบริจาคให้กัมพูชาแล้วรวม 1.7 ล้านโดส

ยก สมบัท รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กัมพูชา เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ส่งออเดอร์ไปยังบริษัท Sinovac Life Sciences ที่จีน เพื่อสั่งซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 5 ล้านโดส หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

เมื่อรวมกับยอดเดิมที่สั่งซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ 2 ล้านโดส กัมพูชาจะได้รับวัคซีน Sinovac ที่ซื้อจากจีนรวมทั้งสิ้น 7 ล้านโดส

วัคซีน Sinovac ลอตแรก 5 แสนโดส ถูกส่งมาถึงกัมพูชาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีฮุนเซนสั่งซื้อ Sinovac จากจีน 2 ล้านโดส และเพิ่งส่งออเดอร์เพิ่มไปอีก 5 แสนโดส เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีดให้ประชากรในประเทศ 13 ล้านคน ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP

วัคซีน Sinovac ลอตล่าสุด 5 แสนโดส ที่เพิ่งถูกส่งมาถึง ทำให้ยอดรวมวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกยี่ห้อที่กัมพูชาได้รับจริงมาแล้วในขณะนี้มีทั้งสิ้น 2,524,000 โดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinopharm ที่ได้รับบริจาคจากจีน 1.7 ล้านโดส วัคซีน Sinovac ที่ซื้อจากจีน 5 แสนโดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้รับผ่านโครงการ COVAX อีก 324,000 โดส

กัมพูชาตั้งเป้าหมายต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 26 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชากรอย่างน้อย 13 ล้านคน จากประชากรรวมทั้งประเทศ 16 ล้านคน

สำนักข่าว AKP (Agence Kampuchea Press) รายงานว่า จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ประชาชนกัมพูชา 1,825,488 คน ทั้งพลเรือนและทหาร ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และอีกมากกว่า 1.11 ล้านคน ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นเข็มที่ 2

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กัมพูชาพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 472 คน ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 20,695 คน รักษาหายแล้ว 8,539 คน กำลังรักษาตัว 12,020 คน และเสียชีวิตรวม 136 ราย

กัมพูชาเริ่มเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นเป็นต้นมา แต่ละวัน กัมพูชาพบผู้ป่วยยืนยันใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แบบไม่หยุดหย่อน

ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 กัมพูชามียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่เพียง 533 คน เพิ่มเป็น 932 คน ในวันที่ 5 มีนาคม และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

    – 11 มีนาคม 2564 พบผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นผู้ป่วยชายวัย 50 ปี ขณะที่จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,124 คน

    – 6 เมษายน 2564 ผู้ป่วยสะสมพุ่งเป็น 2,824 คน เสียชีวิตแล้ว 22 ราย และมีผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่สูงถึง 1,724 คน ก่อปัญหาจำนวนเตียงที่มีอยู่ทั่วประเทศ เริ่มไม่พอรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

    – 14 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีฮุนเซน สั่งล็อกดาวน์กรุงพนมเปญและเมืองตาเขมา 2 สัปดาห์ หลังมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 4,800 คน

    – 25 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยใหม่ 616 คน ผู้ป่วยสะสม 9,975 คน รักษาหายแล้ว 3,400 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 6,496 คน และเสียชีวิต 74 ราย

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งกัมพูชา ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP

ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาดในกัมพูชาระลอกใหม่ นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ว่ารัฐบาลจีนจะให้ความช่วยเหลือกัมพูชา โดยบริจาควัคซีนให้จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อนำไปฉีดให้ประชากร 5 แสนคน จากประชากรรวมทั้งประเทศ 16 ล้านคน

วันที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศนั้น กัมพูชามีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมอยู่ 426 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต

7 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีน Sinopharm ที่เป็นความช่วยเหลือจากจีนลอตแรก 6 แสนโดส เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติพนมเปญ

พล.อ. ฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ลูกชายของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ได้รับการฉีดเป็นคนแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP

ทางการกัมพูชาเริ่มนำวัคซีนลอตนี้ออกมาฉีดให้แก่ประชาชนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดย พล.อ. ฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ลูกชายของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน เป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm เป็นคนแรกของประเทศ

ค่ำวันที่ 2 มีนาคม 2564 หลังการระบาดระลอกใหม่เริ่มขึ้นแล้ว วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 324,000 โดส จากโครงการ COVAX ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ถูกส่งมายังสนามบินนานาชาติพนมเปญ ตามเป้าหมาย COVAX จะส่งวัคซีนให้กัมพูชาทั้งสิ้น 1,104,000 โดส ภายในครึ่งแรกของปีนี้

COVAX ได้จัดสรรวัคซีนแก่กัมพูชารวม 6.4 ล้านโดส เพื่อให้สามารถฉีดแก่ประชากร 3.2 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรรวมกัมพูชาที่มีทั้งสิ้น 16 ล้านคน

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากโครงการ COVAX เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP
บุน รานี ภรรยาของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากโครงการ COVAX ที่มาภาพ: สำนักข่าว AKP

หลังวัคซีนของโครงการ COVAX มาถึงกัมพูชาได้ 2 วัน นายกรัฐมนตรีฮุนเซนและภรรยาได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ในตอนเช้าของวันที่ 4 มีนาคม

ค่ำวันที่ 31 มีนาคม 2564 วัคซีน Sinopharm ลอตที่ 2 ที่เป็นความช่วยเหลือจากจีนอีก 7 แสนโดส เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติพนมเปญ

จีนได้เพิ่มจำนวนวัคซีนที่จะช่วยเหลือกัมพูชาจากเดิม 1 ล้านโดส ที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 เป็น 1.7 ล้านโดส

หลังจากนั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ประกาศว่า รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากบริษัท Sinovac Life Sciences ของจีน ไปแล้ว 2 ล้านโดส วัคซีนจำนวนนี้ จะถูกส่งมาถึงกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 2564

ช่วงค่ำวันที่ 29 เมษายน 2564 วัคซีน Sinopharm ลอตที่ 3 ที่ได้รับบริจาคจากจีนอีก 4 แสนโดส เดินทางมาถึงกัมพูชา

ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกัมพูชาตั้งไว้ว่าต้องได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 26 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชากรอย่างน้อย 13 ล้านคน ณ วันนี้ มีวัคซีนที่กัมพูชาจัดหาได้แน่นอนแล้ว 15.1 ล้านโดส ได้แก่

  • Sinopharm 1.7 ล้านโดส
  • Sinovac 7 ล้านโดส
  • แอสตร้าเซนเนก้า จากโครงการ COVAX 6.4 ล้านโดส

คงเหลือวัคซีนที่ต้องจัดหาให้ได้อีก 10.9 ล้านโดส

อุปกรณ์การแพทย์มูลค่า 10 ล้านหยวน ที่จีนส่งมาช่วยลาวรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในลาว ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ก่อนวัคซีน Sinopharm ลอตที่ 3 ที่จีนบริจาคให้กัมพูชาเดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญ เพียง 3 วัน ที่สนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ วัคซีน Sinopharm 300,000 โดส ได้ถูกส่งไปถึง สปป.ลาว ในตอนเย็นวันที่ 26 เมษายน 2564

Sinopharm ลอตนี้ เป็นความช่วยเหลือที่จีนมอบแก่ลาว โดยนับแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ลาวได้รับวัคซีน Sinopharm จากจีนแล้ว 4 ครั้ง ยอดรวมวัคซีน Sinopharm ที่ลาวได้รับมาแล้ว 1,402,000 โดส

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 รัสเซียได้ส่งวัคซีน Sputnik V ซึ่งผลิตโดยสถาบันวิจัย Gamaleya กรุงมอสโก แก่ลาวลอตแรก 1,000 โดส ตามแผนการรัสเซียตั้งใจจะมอบวัคซีน Sputnik V ให้ลาวรวม 2 ล้านโดส

ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2564 โครงการ COVAX ได้ส่งวัคซีนแอสตราเซนเนกาลอตแรกมาให้ลาว 132,000 โดส จากโควต้าทั้งหมดที่ลาวจะได้รับ 480,000 โดส

ยอดรวมวัคซีนโควิด-19 จากทุกยี่ห้อ ที่ลาวได้รับจริง อันเป็นความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ จนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 1,535,000 โดส

ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ประชากรลาว 563,466 คน หรือ 7.8% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ในนี้เป็นผู้ที่ฉีดเข็มแรก 474,983 คน และได้ฉีดเข็มที่สองแล้ว 88,483 คน

ลาวเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 รายงานล่าสุด ณ วันที่ 14 พฤษภาคม ประชากรลาว 563,466 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ในนี้เป็นผู้ที่เพิ่งได้รับการฉีดเข็มแรก 474,983 คน และได้ฉีดเข็มที่สองแล้ว 88,483 คน

คิดสัดส่วนเมื่อเทียบกับประชากรรวมของลาว ที่มีอยู่ 7.2 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขลาว ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชากรทั่วประเทศแล้ว 7.8%

หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ ลาวได้เผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่รุนแรงและรวดเร็ว จากที่เกือบได้เป็นประเทศเดียวบนภาคพื้นทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปลอดจากโควิด-19 กลับต้องเจอกับยอดผู้ป่วยสะสมที่พุ่งขึ้นเกือบ 1.5 พันคน ในเวลาเพียงเดือนเดียว

ณ วันที่ 10 เมษายน 2564 ลาวมีเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังนอนรักษาตัวอยู่เพียง 2 คน จากยอดผู้ป่วยสะสม 49 คน โดยไม่มีผู้เสียชีวิต

ล่าสุด วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จำนวนผู้ป่วยสะสมของลาวเพิ่มขึ้นเป็น 1,498 คน รักษาตัวอยู่ 983 คน รักษาหายแล้ว 513 คน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย

ยอดผู้ป่วยสะสมของลาว แยกละเอียดเป็นรายแขวง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564

พื้นที่ซึ่งพบการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด เป็นนครหลวงเวียงจันทน์ มีผู้ป่วยสะสม 776 คน รองลงมาเป็นภาคเหนือ ในแขวงบ่อแก้ว มีผู้ป่วยสะสม 353 คน อันดับ 3 อยู่ภาคใต้ ในแขวงจำปาสัก ผู้ป่วยสะสม 236 คน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือ จำนวนผู้ป่วยสะสมแต่ละแขวง ยังอยู่ในตัวเลข 2 หลัก และมีแขวงหัวพันกับอัตตะปือ 2 แขวง ที่ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19

ช่วงบ่ายวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 25 คน เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติวัดไต ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากจีนชุดนี้เป็นชุดที่ 2 แล้ว ที่จีนได้ส่งมาช่วยลาวรับมือกับโควิด-19 นับแต่เริ่มพบการการระบาดในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากมณฑลยูนนาน เดินทางมาถึงลาว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยลาวรับมือการระบาดรอบใหม่ ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมปีที่แล้ว ช่วงที่ลาวเพิ่งพบกับการระบาดใหม่ๆ จีนได้ส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชุดแรกจำนวน 12 คน เดินทางมายังลาว ทีมแพทย์ชุดนี้ใช้เวลาปฏิบัติงานอยู่ในลาวเกือบ 1 เดือน ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษา แนะนำวิธีการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งขณะนั้น เป็นโรคที่เพิ่งอุบัติใหม่ แพทย์บางคนได้นำประสบการณ์จากที่เคยรับมือกับการระบาดในจีนมาก่อน มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่พบในลาว เพื่อเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่แพทย์ของลาว

ในทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากจีนชุดที่ 2 ที่เพิ่งมาถึงลาวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 มีแพทย์ส่วนหนึ่ง ที่เคยร่วมเดินทางมากับทีมแพทย์ชุดแรกที่มาช่วยลาวเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รวมอยู่ด้วย

นอกจากนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว ทีมแพทย์จากจีนยังได้เดินทางขึ้นเหนือไปยังแขวงหลวงพระบาง อุดมไซ และบ่อแก้ว ซึ่งเป็นแขวงที่พบผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 ประเทศ โดยได้เข้าไปให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย คาสิโนและแหล่งบันเทิงครบวงจรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการลงทุนของนักธุรกิจจากจีน ในเมืองต้นผึ้ง

ทีมแพทย์จากจีน ได้เข้าไปให้คำปรึกษา และดูสถานที่กักตัว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โครงการคาสิโนของคนจีน ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ที่มาภาพ: เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
ที่มาภาพ: เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
ที่มาภาพ: เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 หลังจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากจีนเดินทางมาถึงลาวได้ไม่กี่วัน รัฐบาลจีนได้ส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติม เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ถุงมือ ชุด PPE อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฯลฯ

เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จีนส่งมาให้ลาวลอตนี้ มีมูลค่ารวม 10 ล้านหยวน หรือ 15,500 ล้านกีบ หรือประมาณ 48.7 ล้านบาท

อุปกรณ์การแพทย์มูลค่า 10 ล้านหยวน ที่จีนส่งมาช่วยลาวรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในลาว ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ไม่เฉพาะจีน เวียดนามที่เป็นประเทศเพื่อนมิตรทางด้านตะวันออกของลาว ก็ได้ส่งความช่วยเหลือแก่ลาว สำหรับรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ อย่างเต็มที่

ในวันเดียวกับที่ทีมแพทยผู้เชี่ยวชาญจากจีนเดินทางมาถึงลาว ตอนเช้าของวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ทีมแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนาม 35 คน ได้เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติ วัดไต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนามชุดนี้ จะทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของลาว ในการรับมือและให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในลาว

ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนาม 35 คน พร้อมเงินช่วยเหลือ 5 แสนดอลลาร์ และอุปกรณ์การแพทย์อีกจำนวนมาก เดินทางมาถึงลาวตอนเช้าของวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

นอกจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 35 คน เวียดนามยังได้มอบเงินสดจำนวน 5 แสนดอลลาร์ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์จำนวนมาก ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ 200 เครื่อง น้ำยาฆ่าเชื้อ Chloramine 10,000 กิโลกรัม หน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น ฯลฯ ส่งมาพร้อมในเที่ยวบินเดียวกันนี้ด้วย

โดยขณะที่ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของจีนเดินทางขึ้นไปให้การช่วยเหลือในการรับมือกับโควิด-19 ในพื้นที่ภาคเหนือของลาว ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนาม ได้เดินทางลงมาทางภาคใต้ ในภารกิจเดียวกัน

ณ ปัจจุบัน ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็น 2 ประเทศ “เพื่อนมิตร” ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในลาว

ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากจีนขึ้นไปให้ความช่วยเหลือกับแขวงทางภาคเหนือ ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนามก็ลงมาให้ความช่วยเหลือยังแขวงทางภาคใต้ ในภาพ เป็นการมาปฏิบัติหน้าที่ในแขวงจำปาสักของทีมจากเวียดนาม ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ชายแดนไทย-เมียนมา ยาว 2,401 กิโลเมตร
ชายแดนไทย-ลาว ยาว 1,810 กิโลเมตร
ชายแดนไทย-กัมพูชา ยาว 798 กิโลเมตร

สถานการณ์โควิด-19 ในทั้ง 3 ประเทศ ยังอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถวางใจได้…

  • สถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา…ยังน่าห่วง