รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนว่า รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกคนในแผ่นดินไทย ดังนั้น คนไทยหรือคนต่างชาติที่มีความประสงค์จะฉีดสามารถรับฉีดวัคซีนได้ทุกคนโดยความสมัครใจ
การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ (Herd immunity) จะต้องฉีดให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 70 ซึ่งประเทศไทยมีประชากรทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่หรือมีการทำงานต่อในประเทศไทย รวมทั้งคณะทูตานุทูต ทั้งหมด 70 ล้านคน คิดเป็นคนไทยประมาณ 67 ล้านคน และคนต่างชาติอีก 3 ล้านคน ดังนั้นเมื่อคิดยอดฉีดวัคซีนร้อยละ 70 คือ 50 ล้านคน โดยฉีดคนละ 2 โดส รวมวัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส
“การที่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในแผ่นดินไทย ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลายครั้งว่า Nobody is safe until everyone is safe ทุกคนจะปลอดภัย เราต้องทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยให้ปลอดภัย” นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติจะยึดหลักการปฏิบัติแบบสากล ทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนอย่างพร้อมเพรียงและใกล้เคียงกัน เป็นไปตามความสมัครใจ และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดบริการฉีดวัคซีน ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนที่อาคารบางรัก ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เนื่องจากอยู่ใกล้สถานทูตต่างๆ ที่พักอาศัยและที่ทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย และเมื่อมีวัคซีนมามากในเดือนมิถุนายนก็จะมีจุดฉีดวัคซีนหลายจุดเพิ่มมากขึ้น
นพ. โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส ทำให้ในเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างมาก โดยจะมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจเชิงคุณภาพ ประมาณ 7 วัน จากนั้นจะเร่งกระจายวัคซีนไปในจังหวัดต่างๆ และจะกระจายวัคซีนไปฉีดเพื่อควบคุมสถานการณ์ในจุดที่มีการระบาด
สธ.ปรับแนวทางรักษา ให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น

“เกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ เราจะให้เร็วขึ้นแต่ไม่ถึงกับให้ทุกคน มีคนถามว่าทำไมไม่หว่านแห การที่หว่านแหมีผลเสียหลายอย่าง โดยเพราะยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง หลายคนอาจมีปัญหาเรื่องตับอักเสบ และในขณะเดียวกันการที่จะหว่านแหทั้งหมดจะมีปัญหาในเรื่องของเชื้อดื้อยา”
ส่วนการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ มีการกระจายไปทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านเม็ด ซึ่งอัตราการใช้ยาในปัจจุบันประมาณ 5 หมื่นเม็ด และในประมาณวันที่ 10 กว่า ๆ จะมีการนำเข้ายามาอีก 3 ล้านเม็ด แต่ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการต่อองค์การเภสัชกรรมให้มีการสำรองยาอย่างน้อย 2 ล้านเม็ด
นอกจากนี้ในการพักรักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น จะต้องอยู่อย่างน้อย 14 วัน และสำหรับผู้ที่มีอาการเมื่อครบกำหนดหากมีอาการจะให้อยู่รักษาต่อ แต่เมื่อไม่มีอาการแล้วจะต้องอยู่ดูอาการ 24 – 48 ชั่วโมงจึงจะจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่หากในจังหวัดที่มีปัญหาในการบริหารเตียง อาจให้อยู่ในโรงพยาบาล 10 วัน และให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อจนครบ 14 วัน ซึ่งทั้งนี้จะเป็นการบริหารจัดการไปตามสถานการณ์
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานการฉีดวัคซีนว่า ขณะนี้มีผู้ฉีดซิโนแวค เข็มที่ 1 จำนวน 1,085,046 และเข็มที่ 2 จำนวน 434,101 ราย ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนก้า เข็มที่ 1 จำนวน 82,673 และเข็มที่ 2 จำนวน 13 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 1,601,833 โดส และปริมาณยาคงเหลือในวันนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่ในคลังทั้งหมด 1,465,471 เม็ด โดยอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม 951,600 เม็ด ที่สปสธ.209,615 เม็ด กรมการแพทย์ 257,792 เม็ด และกรมควบคุมโรค 46,464 เม็ด ส่วนยา เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) มีอยู่ 3,918 vials ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ
กทม.เร่งตรวจเชิงรุกในชุมชน

โดยผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 5 ราย หญิง 13 ราย อายุ 45-100 ปี อาศัยในกรุงเทพ 6 รายสมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย และปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี อีกจังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากพบโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 13 ราย เบาหวาน 10 ราย ไขมันในเลือดสูง 6 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 3 ราย มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 12 ราย
ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้มีทั้งหมด 29,680 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 20,937 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,743 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,073 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 356 ราย วันนี้รักษาหายเพิ่มขึ้น 2,435 รายและรักษาหายแล้วทั้งหมด 46,795 ราย
ในส่วนของรายจังหวัด พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมีจำนวนลดลงจากวานนี้อยู่ที่ 739 ราย รองลงมาคือ นนทบุรีมี 273 ราย สมุทรปราการ 143 ราย ชลบุรี 76 ราย และสมุทรสาคร 65 ราย
นพ.ทวีศิลป์ รายงานเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในเขตพื้นที่บางแค ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 และ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม จากการตรวจเชิงรุก 1,413 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 68 ราย และที่ท่าปล่อยรถเมล์ ซึ่งมีพนักงานประมาณ 100 คน โดยมีการพบเชื้อ 14 คน และการตรวจเพิ่มเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม อีก 70 คน ขณะนี้กำลังรอผลตรวจอยู่
ส่วนในชุมชนบ้านขิง ซึ่งมีความเชื่อมโยงเป็นแหล่งพักอาศัยของพนักงาน ซึ่งมีประชากรประมาณ 1,000 คน พบว่าวันที่ 28 เมษายน มีการติดเชื้อถึง 30 คน ในวันที่ 30 เมษายน เข้าไปตรวจเชิงรุกกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูง 316 ราย พบผู้ติดเชื้อ 24 ราย และ วันที่ 3 พ.ค. เข้าไปตรวจเชิงรุก อีก 576 ราบ พบเชื้ออีก 25 ราย
นพ.ทวีศิลป์ รายงานผลการดำเนินการตรวจเชิงรุกตั้งแต่ 5 เมษายน – 5 พฤษภาคม พบว่า การตรวจเชิงรุกทั้งหมด 49 แห่ง 69 ครั้ง จำนวน 42,251 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,677 คน คิดเป็น 3.97% และยังรอผล 559 ราย
“ในชุมชนที่เขาเข้าไปตรวจ 100 คน จะมี 4 คนที่ติดเชื้อ”
นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงโครงสร้างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ว่าแบ่งการทำงานได้เป็น 1 ศูนย์ และ 2 คณะกรรมการ โดยได้มีการเพิ่มคณะกรรมการสำหรับ กทม.และปริมณฑล ทางด้านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังคงเดิม แต่เพิ่มคณะกรรมการสำหรับ กทม.และปริมณฑล เป็นการประสานกับศปก.กทม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.ได้รับรู้ข้อมูล และบริหารจัดการโดยเร็ว