ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

12 เมษายน 2021


ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ปมเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลจากราคาสูงสุด มาเป็น “เทคนิค+ราคา”หลังขายซองประมูล ด้าน BTS ลุยฟ้องศาลปกครอง-อาญาทุจริต ขณะที่ รฟม.แก้เกมด้วยการยกเลิกงานประมูล เดินหน้าเปิดคัดเลือกใหม่

กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีข้อพิพาทกันในช่วงนี้ โดยโครงการเป็นช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22.5 กิโลเมตร (ใต้ดิน 13.6 กิโลเมตรและยกระดับ 8.9 กิโลเมตร) มีทั้งหมด 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงทุนงานโยธาเองทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 งานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปประมาณ 79.44% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งสาย รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (ใต้ดินตลอดทั้งสาย) โดยโครงการนี้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 มีมติให้รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “PPP Net Cost” โดยภาครัฐจะลงทุนออกค่าเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ตั้งแต่ช่วงสถานีบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ส่วนเอกชนจะเป็นลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง โดยเอกชนจะได้รับสิทธิบริหารการเดินรถตลอดทั้งสาย (ส่วนตะวันตกและตะวันออก) เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-สุวินทวงศ์) โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายค่างานโยธาคืนให้แก่เอกชนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หลังจากที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 ปี รวมระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนทั้งสิ้น 7 ปี วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้า่นบาท

แต่หลังจากที่มาเกิดปมข้อพิพาทขึ้นระหว่าง รฟม.กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” อาจส่งผลให้กำหนดเวลาเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ต้องล่าช้าออกไป จากกำหนดการเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 อาจเลื่อนไปเป็นปี 2570 เพราะต้องรอจนกว่าโครงการรถไฟฟ้า ส่วนตะวันตกจะสร้างเสร็จและนำรถมาวิ่ง ระหว่างนี้ รฟม.จะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการบำรุงรักษางานโยธาส่วนตะวันออกที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว

ประเด็นที่เป็นปัญหาข้อพิพาทกันระหว่าง รฟม.กับ “BTSC” เกิดจากกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 โดย รฟม.ไปออกประกาศแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ เพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) ภายหลังจากที่ รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน (Request For Proposal : RFP) ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นซองประมูล กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปมปัญหาฟ้องร้องกันในชั้นศาล

เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างด้วยข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รวบรวมเอกสารเพื่อตรวจสอบข้อมูลและขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

หลังจากที่ รฟม.มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 แล้ว ในมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 เห็นชอบ และในการจัดทำเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนนั้น ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยให้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดทำเอกสาร ทั้งนี้การรับฟังความเห็นของภาคเอกชนให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ฯประกาศกำหนด (คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) ส่วนรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ฯประกาศกำหนดเช่นกัน ซึ่งในขณะนั้นทางคณะกรรมการ PPP ยังไม่ได้มีการออกประกาศกำหนดฯแต่อย่างใด

เอกชนแนะ รฟม.ใช้ “เทคนิค+ราคา” เลือกผู้ชนะ

วันที่ 3 เมษายน 2563 รฟม.ออกประกาศรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในช่วงวันที่ 20-22 เมษายน 2563 เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน , เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ตามที่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2562 กำหนด โดยในระหว่างที่ รฟม.เปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน ปรากฎว่ามีเอกชนหลายรายอาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด , บริษัท ช.การช่าง , ธนาคารกสิกรไทย , บริษัท ซีเมนส์ และบริษัท อัลสตอม แนะนำให้ รฟม.ใช้เกณฑ์เทคนิคและราคา เป็นเกณฑ์ตัดสินคัดเลือกผู้ชนะประมูล

วันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ฯ ครั้งที่ 5/2563 รับทราบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนตามที่ รฟม.นำเสนอ จากนั้นในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ฯ ครั้งที่ 9/2563 มีมติเห็นชอบเอกสารสำหรับการคัดเลือกข้อเสนอการร่วมทุน (Request For Proposal : RFP) ให้เอกชนร่วมลงทุน ออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา จัดหาและให้บริการระบบรถไฟฟ้าแก่ประชาชนตลอดทั้งสายเป็นระยะเวลา 30 ปี โดย รฟม.จะออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และเปิดจำหน่ายเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ในระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดระยะเวลาจำหน่ายเอกสาร RFP มีเอกชนที่สนใจมาซื้อซองเอกสาร รวมทั้งสิ้น 10 บริษัท

ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน RFP ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคก่อน ถึงจะมีสิทธิเสนอราคา จากนั้นผู้ประมูลรายใดเสนอราคา หรือ ผลประโยชน์ตอบแทน หรือ “NPV” ให้แก่รัฐสูงที่สุด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยกำหนดให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลยื่นซองข้อเสนอทั้งหมดในวันที่ 23 กันยายน 2563

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ที่มาภาพ : www.mrta.co.th

ในช่วงนั้นปรากฎว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกประกาศณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระะหว่างรัฐและเอกชน 3 ฉบับตามที่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 บัญญัติไว้ ประกอบด้วยประกาศคณะกรรมการ PPP ฉบับแรก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563 , ฉบับที่ 2 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ.2563 และฉบับที่ 3 เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ.2563 ทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2563 เป็นต้น

ITD ทำหนังสือถึง “รฟม.-สำนักรัฐ” ขอทบทวนเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะ

ระหว่างที่ผู้ประมูลงานกำลังจัดทำซองข้อเสนออยู่นั้น ปรากฎว่า บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ITD” ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกส่งถึงนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 และฉบับที่ 2 ส่งถึงนายประภาศ คงเอียด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สศร.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ ในเอกสารแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 33 ระบุว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่มี NPV ของผลประโยชน์สุทธิสูงที่สุดจะได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก”

โดยข้อเสนอของอิตาเลียนไทย ฯที่ทำถึง รฟม.และสำนักรัฐ ฯนั้น ต้องการให้คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศคณะกรรมการ PPP

ชี้งานก่อสร้างใช้เทคนิคสูง ไม่ควรพิจารณาแค่เสนอราคาสูงสุด

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งสายงานก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะต้องขุดอุโมงค์ และสถานีในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีโบราณสถาน และสถานที่สำคัญ ๆหลายแห่ง รวมทั้งต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรม และวิธีการก่อสร้างชั้นสูง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในด้านต่างๆ… รวมทั้งการจัดหาระบบรถไฟฟ้า และการบริหารจัดการเดินรถก็ต้องมีประสทธิภาพเป็นตามมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยสูงสุด

การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ จึงไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ แต่เป็นการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 มูลค่าการลงทุนงานโยธาที่เอกชนจะขอสนับสนุน และผลประโยชน์ที่เอกชนต้องแบ่งให้รัฐจากการให้บริการเดินรถจะมีความสัมพันธ์กันกับ วิธีการ แผนงาน คุณภาพ และประสิทธิภาพของงานที่เอกชนจะดำเนินการให้แก่รัฐ ดังนั้น จึงไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้

กล่าวคือต้องพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (8) ที่กำหนดให้ ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการในการตัดสินให้ชัดเจนเป็นคะแนนในด้านต่าง ๆ โดยข้อเสนอผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับและการขอสนับสนุนทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะต้องระบุให้ชัดเจนเป็นคะแนน

ดังนั้น เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ประสบความสำเร็จ และสามารถเปิดให้บริการแก่สาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 ทางบริษัท ITD จึงขอให้ รฟม. และสำนักรัฐฯ พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกให้มีความเหมาะสม ชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

นายประภาศ คงเอียด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

คลังยันแก้เกณฑ์ตัดสินผู้ชนะเป็นอำนาจ คกก.คัดเลือกฯ

วันที่ 13 สิงหาคม 2563 นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักรัฐ ฯ ทำหนังสือชี้แจงผู้ว่า รฟม. กรณีที่ ITD ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลว่า “เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2562 จึงขอแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อ รฟม. เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป”

คกก.คัดเลือก ฯมีมติปรับเกณฑ์การให้คะแนนใหม่

วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ครั้งที่ 13/2563 มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนใหม่ ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องรายละเอียดร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน 2563 จึงกำหนดเกณฑ์การประเมินใหม่ โดยให้นำคะแนนทางด้านเทคนิคซึ่งมีน้ำหนักอยู่ที่ 30% มารวมกับคะแนนข้อเสนอด้านราคาซึ่งมีน้ำหนัก 70% ผู้ประมูลรายไหนได้คะแนนรวมสูงสุด เป็นผู้ชนะ ซึ่งต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตรงที่การพิจารณาซองคุณสมบัติและซองเทคนิคแค่ผ่าน หรือ ไม่ผ่านเท่านั้น ถ้าไม่ผ่าน ก็คือ “ตกรอบ” ไม่มีสิทธิเสนอราคา โดยคณะกรรมการคัดเลือก ฯมีมติขยายเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน จากเดิมกำหนดยื่นซองวันที่ 23 กันยายน 2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มาซื้อซองทุกรายได้มีเวลาในการเตรียมตัวในการจัดทำข้อเสนอทางด้านเทคนิคและราคามากขึ้น

ก่อนยื่นซองฯ รฟม.แจ้งผู้ประมูลใช้ “เทคนิค+ราคา” ชี้ขาด

ก่อนถึงกำหนดยื่นซองประมูลงาน วันที่ 27 สิงหาคม 2563 รฟม.ได้จัดส่งเอกสาร RFP Addendum แจ้งให้ผู้ที่มาซื้อซองประมูลงานทุกราย รับทราบว่า รฟม.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยใช้คะแนนรวมด้านเทคนิคและข้อเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐในสัดส่วน 30 ต่อ 70 เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะ พร้อมกับเลื่อนวันยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน ตามมติคณะกรรมการคัดเลือก

BTSC ร้องศาลปกครอง-เกณฑ์คัดเลือกใหม่ “ไม่ชอบ-ขัดมติ ครม.”

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัท BTSC ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่ โดยกล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และ รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนำผลคะแนนด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ชนะ อาจขัดกับมติ ครม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการคัดเลือก ฯจึงไม่น่าจะมีอำนาจในการแก้ไขเกณฑ์การประเมิน และการปรับเกณฑ์ดังกล่าว อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทำให้ BTSC เสียหาย

โดยมีกระแสข่าวออกมาว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนครั้งนี้มีการไปแก้ไขเพิ่มเติม RFP เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จากการตรวจสอบเอกสารข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ RFP ฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็ไม่พบข้อความที่กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องเคยมีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด มีแต่ในเอกสาร RFP ฉบับแรก ข้อ 10.4.1 (1) กำหนดผู้ยื่นซองประมูลจะต้องมีประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภท คือ 1.งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า 5 เมตร 2.งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินในระบบขนส่งมวลชน และ 3.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่ง แบบไม่ใช้หินโรยทาง

สรุปก็คือใน RFP ฉบับแรกเขียนไว้ว่าต้องมีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินอย่างเดียว ไม่ได้ระบุว่าต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด ส่วน RFP ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกเอกชน โดยมีรายละเอียดแยกเป็นรายหัวข้อ

สำนักงบ ฯแย้งกรณีปรับเกณฑ์คัดเลือกฯ ต้องขออนุมัติ ครม.ก่อน

หลังจากที่ BTSC ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางได้ไม่นาน วันที่ 29 กันยายน 2563 มีตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการคัดเลือก ฯ อ้างถึงมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 อนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “คณะกรรมการ PPP” นำเสนอนั้น มีรายละเอียดอยู่ใน หนังสือของคณะกรรมการ PPP ที่ กค 0820.1/4599ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 (หน้าที่ 6-7 ข้อ 4.6 รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนและหน้าที่ของรัฐและเอกชน) ได้กำหนดหลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนเอาไว้ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุนรวมทั้ง 2 ส่วนจากภาครัฐเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเจตนาให้ประเมินข้อเสนอโดยใช้มูลค่าปัจจุบัน (NPV)หรือราคา ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐสูงสุดในการประเมินผู้ชนะการคัดเลือก

ขณะที่เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ชี้แจ้งว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นมติคณะกรรมการ PPP แต่เป็นการประมวลสาระสำคัญที่คณะกรรมการ PPP นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการคัดเลือก ฯบางคน มีความเห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ เพื่อคัดเลือกเอกชน เป็นอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือก ฯนั้น สุดท้าย กรรมการผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ยืนยันความเห็นว่า “หลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนที่กล่าวไว้ในเอกสารของคณะกรรมการ PPP ที่ กค 0820.1/4599 เป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่ ครม.มีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ….หากคณะกรรมการคัดเลือก ฯจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ ครม.มีมติอนุมัติไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน คณะกรรมการคัดเลือกจะต้องนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดำเนินการได้

ศาลปกครองกลางสั่งทุเลาบังคับใช้เกณฑ์ใหม่

วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ทาง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอระงับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่สั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่

“ศักดิ์สยาม” ถามเลขา ฯครม.มีมติอนุมัติวิธีคัดเลือกผู้ชนะหรือไม่?

จากการที่คณะกรรมการคัดเลือก ฯได้แสดงความคิดเห็นในกรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะกันอย่างกว้างขวาง และมีคณะกรรมการคัดเลือก ฯ บางท่าน เห็นว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอดังกล่าว ต้องเสนอ ครม.อนุมัติก่อนที่จะดำเนินการ เนื่องจากที่ประชุม ครม.วันที่ 28 มกราคม 2563 มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตามที่คณะกรรมการ PPP นำเสนอ ซึ่งในหนังสือที่คณะกรรมการ PPP เสนอ ครม.หน้าที่ 6-7 ได้กำหนดรูปแบบและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนเอาไว้ โดยให้พิจารณาผู้ที่เสนอตอบแทนให้แก่รัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) สูงสุด (ดูราคาเป็นหลัก) เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งตรงนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่ ครม.อนุมัติ หากจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องทำเรื่องเสนอ ครม.อนุมัติก่อนที่จะดำเนินการ

ขณะเดียวกันก็มีคณะกรรมการคัดเลือก ฯบางท่าน มีความเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ใช่มติของคณะกรรมการ PPP แต่เป็นการประมวลสาระสำคัญเพื่อเสนอ ครม. และบางท่านก็มีความเห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามกฎหมาย รวมทั้งกรณีที่ประชุมครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการกว้างๆ(ตามที่กล่าวมาข้างต้น) หรืออนุมัติลงไปถึงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชน

ด้วยเหตุนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอหารือกรณีที่ประชุม ครม.วันที่ 28 มกราคม 2563 มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตามที่คณะกรรมการ PPP นำเสนอนั้น “มติ ครม.ดังกล่าว เป็นการอนุมัติหลักการของโครงการร่วมลงทุน ตามนัยมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2556 หมวด 4 การเสนอโครงการ ประกอบบทเฉพาะกาลมาตรา 68 (1) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 และไม่ได้เป็นการอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคัดเลือกเอกชนไว้เป็นการเฉพาะ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือก ฯไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ใช่หรือไม่ อย่างไร”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เลขา ฯครม.ตอบ “ศักดิ์สยาม” มติครม.อนุมัติแค่หลักการ

วันที่ 26 ตุลาคม 2563 รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบข้อหารือว่า มติ ครม.ดังกล่าว เป็นการอนุมัติโครงการ ฯ และวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2556 ตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ ซึ่งถือเป็นการอนุมัติหลักการของการดำเนินโครงการ ฯเท่านั้น สำหรับรายละเอียดในการดำเนินการ หน่วยงานเจ้าของเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องพิจารณาดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 ที่ให้ถือว่า มติคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ เห็นชอบ หรือ มีมติ

ถึงกำหนดวันยื่นซอง ฯมีมา 2 รายคือ “BEM-BSR”

เมื่อถึงกำหนดวันยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 (เลื่อนจากวันที่ 23 กันยายน 2563 )มีผู้มายื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุน 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) แต่ รฟม.ก็ยังไม่ได้ดำเนินการประเมินข้อเสนอใด ๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลปกครอง

ล้มประมูลสายสีส้ม ยุติปมขัดแย้ง-เดินหน้าคัดเลือกใหม่

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 มีมติยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีเหตุผลสำคัญ ๆดังนี้

    1. คดีพิพาทมีผลทำให้การคัดเลือก ฯ ต้องล่าช้าไปโดยปริยาย เพราะต้องรอผลคดีของศาลก่อน ส่งผลให้กำหนดการเปิดให้บริการต้องล่าช้าออกไป รฟม.มีภาระต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อบำรุงรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่ก่อสร้างไปแล้ว และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

    2. การยกเลิกการคัดเลือก และเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่ เป็นประโยชน์แก่การดำเนินโครงการสูงสุด เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการ สามารถเร่งรัดดำเนินโครงการให้เปนไปตามกำหนดเวลาต่าง ๆตามที่วางแผนงานที่วางไว้

    3. การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเป็นไปตามอำนาจที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน ฯข้อ 12.1 และใน RFP ข้อง 35.1 ให้สิทธิคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และ รฟม.ที่จะยกเลิกการคัดเลือกได้ โดยเอกชนไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ อีกทั้งยังสอดคล้องตาม

    ประกาศคณะกรรมการ PPP ข้อ 4 (9)ว่าด้วยเรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ.2563

จากนั้น รฟม.ก็ได้ออกประกาศยกเลิกการประมูล คืนเอกสารข้อเสนอ พร้อมคืนเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้ผู้ยื่นซองทั้ง 2 ราย โดยผู้ที่ซื้อซองเอกสาร RFP เดิมมีสิทธิขอรับเอกสาร RFP ใหม่ โดยไม่เสียเงินค่าซื้อซองเอกสารใหม่อีก

ศาลปกครองสูงสุดสั่งถอนอุทธรณ์-จำหน่ายคดี

หลังจากที่ รฟม. ประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนแล้ว ก็ไปยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และขอจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามที่ รฟม.มาขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทได้สิ้นสุดลงแล้ว ส่งผลทำให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์ประเมินใหม่ สิ้นผลการบังคับใช้ตามไปด้วย

BTS ฟ้องศาลอาญาทุจริตต่อ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัท BTS ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และผู้ว่า รฟม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนใน RFP ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ BTS เสียหาย

ขณะที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ฯตามมาตรา 36 ยังคงเดินหน้ากระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนต่อไป ทั้งหมดก็เป็นเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนรอบ 1 ปีที่ผ่านมา…..

ป้ายคำ :