ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (2) : 30 ปี รื้อเพื่อเอื้อคนรวยมากกว่าคนมีรายได้ต่ำ

โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (2) : 30 ปี รื้อเพื่อเอื้อคนรวยมากกว่าคนมีรายได้ต่ำ

18 เมษายน 2012


หลังจากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อปลายปี 2554 และกลางปี 2555 กำลังจะเข้าไปรื้อโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น เหลื่อมล้ำ และให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น (อ่าน สรรพากรรื้อภาษีบุคคลธรรมดา ปรับหักลดหย่อน-ไม่ช่วยคนรวยหลบภาษี พร้อมบี้ภาษีธุรกิจคนรุ่นใหม่ซื้อขายผ่านเน็ต)

ตลอด 30 ปีผ่านมา ประเทศไทยปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแล้ว 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2525 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันแพงและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาจนถึงขั้นวิกฤต และท้ายสุดต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งในช่วงนั้นมีการลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง ขณะที่ภาคการคลังของรัฐบาลก็ตกอยู่ในอาการวิกฤตเช่นกัน เนื่องจากกระทรวงการคลังเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า ทำให้ดุลการคลังของประเทศขาดดุลเป็นจำนวนมาก รัฐบาลสมัยนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อหารายได้มาฟื้นฟูประเทศ

ช่วงนั้น โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงเน้นหนักไปที่เรื่องการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักการที่ว่า “หากเกิดมาเป็นคนไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ใครมีรายได้มากก็จ่ายภาษีมาก ใครมีน้อยจ่ายน้อย”

โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในยุคนี้เป็นระบบภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได มีทั้งหมด 13 อัตรา เริ่มเก็บภาษีจากคนจนมีรายได้สุทธิอยู่ในช่วงตั้งแต่ 1 บาทถึง 30,000 บาท เสียภาษีที่อัตรา 7% ไล่ไปจนถึงคนรวยที่มีรายได้สุทธิเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีที่อัตรา 65%

วิวัฒนาการโครงการภาษีบุคคลธรรมดา 30 ปี

ปี 2529 ช่วงปลายสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง จากเดิม 13 อัตรา ปรับลดลงมาเหลือ 11 อัตรา โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างภาษีใหม่ ป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ดีลงมาจนถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางได้รับส่วนลดภาษีไป 10% ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้สุทธิเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป เดิมเสียภาษีที่อัตรา 65% ปรับลดเหลือ 55%, รายได้อยู่ในช่วง 1-2 ล้านบาท เดิมเสียภาษีที่อัตรา 60% ลดเหลือ 50%, คนที่มีรายได้ 8 แสนบาท-1 ล้านบาท เดิมเสียภาษีที่อัตรา 55% ลดเหลือ 45% , คนที่มีรายได้ 6-8 แสนบาท เคยเสียภาษีที่อัตรา 50% ปรับลดเหลือ 40%, รายได้ 4.5-6 แสนบาท เดิมเสียที่ 45% ปรับลดเหลือ 35% เป็นต้น ขณะที่กลุ่มคนระดับล่างมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับครั้งนี้ ยังคงเสียภาษีในอัตรา 7% เท่าเดิม

ต่อมาปี 2532 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้เพื่อต้อนรับกองทัพนักลงทุนต่างชาติที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย

ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ยังคงเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ดีเหมือนเดิม รัฐบาลปรับลดภาษีให้อย่างน้อย 10% ตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป เดิมเสียภาษีที่อัตรา 55% ลดเหลือ 50%, คนที่มีรายได้อยู่ในช่วง 1-2 ล้านบาท เคยเสียภาษี 50% ลดเหลือ 40%, รายได้ 7.5 แสนบาท – 1 ล้านบาท เคยเสียภาษี 45% ลดเหลือ 30%, รายได้ 5.5 แสนบาท-7.5 แสนบาท เดิมเสียภาษี 40% ลดเหลือ 30%, รายได้ 4.5 แสนบาท-5 แสนบาท เดิมเสียภาษี 35% ลดเหลือ 20%

ขณะที่กลุ่มระดับล่าง รายได้ไม่เกิน 40,000 บาท ได้รับส่วนลดภาษีแค่ 2% เดิมเคยเสียภาษี 7% ลดเหลือ 5% และรายได้ 4 หมื่นบาท – 9 หมื่นบาท เสียภาษีในอัตรา 10% เท่าเดิม เป็นต้น

จากนั้นก็เข้าสู่ยุคของการปรับโครงสร้างระบบภาษีอากรครั้งใหญ่ วันที่ 1 มกราคม 2535 ตรงกับสมัยของรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ประเทศไทยมีการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้า พร้อมกับปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือเพียง 5 อัตรา

การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้มีการกระจายความเป็นธรรมดีขึ้น ตั้งแต่กลุ่มคนที่มีรายได้ดีไปจนเกือบจะถึงกลุ่มคนระดับล่างรับรับประโยชน์ทั่วถึง แต่กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์มากสุดยังตกอยู่กับกลุ่มคนที่มีรายได้ดี ตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป เดิมเสียภาษีที่อัตรา 50% ลดเหลือ 37%, คนที่มีรายได้ 1 – 2 ล้านบาท เดิมเสียภาษี 40% ลดเหลือ 30%, รายได้ 5 แสนบาท – 1 ล้านบาท เดิมเสียภาษี 30% ปรับลดเหลือ 20%, รายได้ 2 แสนบาท – 5 แสนบาท เคยเสีย 20% ลดเหลือ 10%, รายได้ 5 หมื่น – 1 แสนบาท เดิมเสีย 10% ลดเหลือ 5% ส่วนคนมีรายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท เสียภาษีที่อัตรา 5% เท่าเดิม

ถัดมาก็เป็นยุคประชานิยมเฟื่องฟู นักการเมืองเริ่มหันมามองกลุ่มคนในระดับฐานรากมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงนโยบายภาษีเข้าไปซื้อใจคนกลุ่มนี้ หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 โดยถัดมาในปี 2542 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประกาศยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี

ปี 2546 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีเงินได้ไม่เกิน 80,000 บาท

ปี 2547 ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะครบวาระ 4 ปี ยกเว้นภาษีให้กับผู้มีเงินได้ไม่เกิน 100,000 บาท

จนมาถึงปี 2551 รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่มีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการปรับปรุงรายการหักค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาหลายรายการ อาทิ ค่าอุปการะเลี้ยงดู บิดา มารดา หรือคนพิการ, ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งส่วนใหญ่ก็เอื้อให้คนมีรายได้สูงได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้ระดับล่าง

ล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้เน้นไปที่เรื่องกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม อาทิ ผู้ที่มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ส่วนผู้ทีมีรายได้ต่ำก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ขณะเดียวกัน โครงสร้างภาษีใหม่ต้องไม่เป็นอุปสรรคกับแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีให้กับคนไทย

ดังนั้น หากจะให้สอดคล้องกับโจทย์แรก ที่นายกิตติรัตน์ฝากให้กรมสรรพากรไปคือเป็นการบ้านในประเด็นของการกระจายรายได้ กระจายภาระภาษีให้ทั่วถึงและยุติธรรม โครงสร้างภาษีที่จะตอบโจทย์นี้ได้คือโครงสร้างภาษีในสมัยพลเอกเปรม ซึ่งมีทั้งหมด 13 อัตรา ขณะที่ปัจจุบันมีแค่ 4 อัตรา (10%, 20%, 30% และ 37%)

ในเบื้องต้น นายสาธิต รังดสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เสนอให้แผนการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7 อัตรา กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่อัตรา 5%, 10%, 15%, 20%, 25%, 30% และ 35% พร้อมกับกำหนดเพดานในการนำค่าลดหย่อนมาคำนวณภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 700,000 บาทต่อปี

ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลกรมสรรพากร เสนอให้เก็บภาษีคนรวยเพิ่มจากอัตรา 37% เป็น 40% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยเหมือนในอดีต 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่นายกิตติรัตน์โต้แย้งว่า “การปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขึ้นไปสูงๆ คงต้องไปศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านปัจจุบันเก็บอยู่ในอัตราเท่าไหร่”

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลใหม่ที่มี 7 อัตรา ยังเป็นเพียงแค่ “ตุ๊กตา” ที่กรมสรรพากรหยิบขึ้นมาหารือในที่ประชุมที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องศึกษาและเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ เช่น หากจะเริ่มกลับไปเก็บภาษีกับกลุ่มคนระดับล่างที่อัตรา 5% ในทางการเมืองทำได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันยกเว้นภาษีให้กับคนที่มีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี และถ้าไม่เก็บภาษีกับคนกลุ่มนี้จะให้ไปเริ่มเก็บภาษีกับคนที่มีรายได้ตั้งแต่ช่วงไหน และจะไปขัดกับหลักการของการกระจายรายได้กระจายความเป็นธรรมหรือไม่ เป็นการบ้านที่กรมสรรพากรต้องไปศึกษา และมาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้