ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แบงก์ยุโรปสภาพคล่องใกล้วิกฤต รอเม็ดเงินเพิ่มทุน 2.75 แสนล้าน

แบงก์ยุโรปสภาพคล่องใกล้วิกฤต รอเม็ดเงินเพิ่มทุน 2.75 แสนล้าน

27 กันยายน 2011


ที่มา : http://turkeymacedonia.files.wordpress.com/2010/05/european-bank.jpg

วังวนของวิกฤตหนี้โลกกำลังเข้าสู่ระยะอันตรายอีกครั้งหนึ่ง หากพิจารณาจากพัฒนาการที่สำคัญๆ ในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 เหตุการณ์

โดยเหตุการณ์แรกเป็นคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับความเพียงพอของเงินทุนที่มีอยู่ต่อความต้องการเงินกู้ในภาวะฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน คริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนว่า เงินทุนที่สำรองไว้สำหรับการปล่อยกู้ 3.84 แสนล้านดอลลาร์อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการเงินกู้หากเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง

ตามด้วยแรงกดดันของเหล่าสมาชิกประเทศในกลุ่ม G-20 ที่ต้องการให้สหภาพยุโรปเร่งแก้ปัญหาวิกฤตหนี้กรีซก่อนที่จะลุกลามออกไปยังประเทศอื่นๆ จนยากต่อการจำกัดความเสียหาย

เหตุการณ์ถัดมาเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางแห่งยุโรปกับธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเติมสภาพคล่องเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบการเงินยุโรป ซึ่งสะท้อนถึงภาวะตีบตันในการเข้าถึงแหล่งทุน หรือสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์ของธนาคารต่างๆ ในยุโรป

เหตุการณ์สุดท้ายคือ พัฒนาการของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั่วยุโรป โดยเฉพาะธนาคารในฝรั่งเศส

ราคาหุ้นของบีเอ็นพี พาริบาส์ ธนาคารรายใหญ่สุดของฝรั่งเศสทรุดลงมาแล้วมากกว่า 41 % นับจากต้นปี เช่นเดียวกับเครดิต์ อากริโกล และโซซิเอเต เจอเนอราลที่ดิ่งลง 46 % และ 55 % ตามลำดับ แรงกดดันดังกล่าวเป็นผลมาจากความเสี่ยงผูกพันที่ธนาคารฝรั่งเศสเหล่านี้มีอยู่กับกรีซ

จูเลียน ฟิลิปส์ แห่งเว็บไซต์ mineweb.com อ้างข้อมูลผลสำรวจของฟิทช์ เรทติ้ง เผยแพร่เมื่อ 22 สิงหาคม ระบุว่า กองทุนเพื่อการลงทุนในตลาดเงินของสหรัฐได้ลดการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารต่างๆ ในยุโรปลงประมาณ 20 % ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยกองทุนเหล่านี้ได้ลดการปล่อยกู้แก่ธนาคารในสเปน และธนาคารในอิตาลีลงอย่างฮวบฮาบราว 97 % ขณะเดียวกันได้ลดการปล่อยกู้ให้กับธนาคารเยอรมนีลงราว 42 % และธนาคารฝรั่งเศส 18 %

แม้แต่สถานการณ์เงินฝากในหมู่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปก็เริ่มประสบปัญหา ข้อมูลจากธนาคารกลางกรีซระบุว่า นักลงทุนกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งมีสัดส่วนราว 12 % ของเงินฝากทั้งระบบในธนาคารพาณิชย์กรีซได้ลดเงินฝากของพวกเขาลงเกือบ 1 ใน 3 มาตั้งแต่ต้นปี 2553 ขณะที่บัญชีเงินฝากของบริษัทที่ไม่สถาบันการเงิน และผู้มีถิ่นพำนักในกรีซลดลง 9 %

ในเยอรมนีเงินฝากของสถาบันการเงินในธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของทั้งระบบได้ลดลง 12 % และลดลง 24 % นับจากเดือนกันยายน ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิฤตเลห์แมน บราเธอร์ส

ฝรั่งเศสไม่ได้แตกต่างกัน เงินฝากของสถาบันการเงินในระบบธนาคาร ซึ่งสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งระบบได้ลดลง 6 นับจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เช่นเดียวกับเงินฝากในสเปนที่ลดลงแล้ว 14 %

ในกรณีของสเปน ปัญหาการลดลงของเงินฝากมีขึ้น ทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสเปนได้พยายามดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงการจับธนาคารเงินฝากในประเทศควบรวมกัน เพื่อให้อยู่ในจุดที่สามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น และอัดฉีดเงินเพื่อเพิ่มทุนให้กับธนาคารหลายแห่งเป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 1.1 หมื่นล้านยูโร รวมทั้งยังได้ตั้งสำรองเงินเพื่อพยุงฐานะธนาคารในประเทศเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วย

เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปได้หันพึ่งการกู้ยืมระยะสั้น โดยพบว่าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม สถาบันการเงินในอิตาลีได้กู้ยืมเงินระยะสั้นจากธนาคารกลางแห่งยุโรปรวม 8.5 หมื่นล้านยูโร ธนาคารจากกรีซและไอร์แลนด์กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางแห่งยุโรปในเดือนสิงหาคม 1 แสนล้านยูโน ขณะที่ธนาคารในโปรตุเกสและธนาคารสเปนกู้เงินระยะสั้นในเดือนกรกฎาคม 4.6 หมื่นล้านยูโรและ 5.2 หมื่นล้านยูโรตามลำดับ

ต้องการเงินเพิ่มทุน 2.75 แสนล้านดอลลาร์

ภาวะบีบคั้นในระบบธนาคารพาณิชย์ยุโรปมีขึ้นในช่วงที่มีข้อมูลรั่วไหลจากไอเอ็มเอฟว่า ธนาคารในยุโรปต้องการเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องรวมกันประมาณ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่นิตยสารฟอร์จูนอ้างการประเมินของบรรดาผู้จัดการกองทุนที่ได้สอบถามความเห็นไป ระบุว่าความต้องการเงินทุนของธนาคารในยุโรปอาจพุ่งสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์

เฉพาะในเยอรมนี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งเยอรมนีประเมินว่า ธนาคารขนาดใหญ่สุด 10 แห่งในประเทศต้องการเม็ดเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 1.27 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 1.71 แสนล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น บทวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล วาณิชธนกิจชั้นนำของอังกฤษชี้ว่า มีธนาคารขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค อย่างน้อย 9 รายจากทั้งหมด 14 รายมีเงินกู้สุทธิขาดสภาพคล่องในปริมาณที่สูงกว่าเงินฝากมาก อาทิ โซซิเอเต เจอเนอราลของฝรั่งเศสมีสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝากประมาณ 130 % ขณะที่ในอิตาลี ธนาคารอิเตซา ซานเปาโลมีสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝาก 160 % และยูนิเครดิตมีสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝาก 149 % เท่ากับธนาคารของอังกฤษอย่างลอยด์สซึ่งมีสัดส่วนเงินกู้ต่อเงินฝาก 149 % เช่นกัน

ธนาคาร 3 รายหลังมีเงินฝากต่ำกว่าสินเชื่อคิดเป็นเงินประมาณ 1.39 แสนล้านยูโร 1.85 แสนล้านยูโรและ 2.14 แสนล้านยูโรตามลำดับ

หนี้กรีซหายนะทุบเงินกองทุนแบงก์ทรุดยกแผง

บาร์เคลย์สยังได้ประเมินความเสี่ยงผูกพันของธนาคารในยุโรปที่มีต่อวิกฤตหนี้กรีซ โดยอ้างอิงผลประเมินความแข็งแกร่งของฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาค จัดทำโดยธนาคารกลางแห่งยุโรป ปี 2553 พบว่า ธนาคารโพสต์แบงก์ ของเยอรมนี ธนาคารคอมเมินซ์แบงก์ และเดเซีย กรุ๊ป เป็น 3 รายที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในกรณีของโพสต์แบงก์ มีสัดส่วนของผูกพันจากการลงทุนในพันธบัตรกรีซต่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ประมาณ 36 % ซึ่งภายใต้สมมติฐานการขาดทุนในสัดส่วน 40 % และ 60 % ของความเสี่ยงผูกพันที่มีอยู่ จะกระทบให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของโพสต์แบงก์ลดลงต่ำมากที่ระดับ 4.9 % และ 4.5 % ตามลำดับ

ขณะที่คอมเมอร์ซแบงก์ ธนาคารพาณิชย์อีกรายหนึ่งของเยอรมนีมีความเสี่ยงผูกพันกับหนี้ประเทศของกรีซในสัดส่วนราว 19 % หากใช้สมมติฐานการขาดทุนที่ 40 % และ 60 % ตามลำดับ คาดว่าจะกระทบต่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้ลดลงเหลือ 5.3 % และ 5.1 % ตามลำดับ

ในส่วนของเดเซีย ธนาคารอีกรายของฝรั่งเศสซึ่งมีความเสี่ยงผูกพันกับกรีซมากกว่า 62 % หากพิจารณาภายใต้สมมติฐานการขาดทุนเดียวกัน จะกระทบต่อเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารรายนี้ให้ลดลงเหลือ 3 % และ 2.5 % ตามลำดับ

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์โดยยูบีเอส พบว่า ธนาคารในเศรษฐกิจขนาดเล็กก็มีความเสี่ยงผูกพันอยู่กับหนี้กรีซในสัดส่วนที่สูงอย่างน่าเป็นห่วง อาทิ เดเซียมีความเสี่ยงผูกพันอยู่กับกรีซในสัดส่วนราว 21.60 % ขณะธนาคารของโปรตุเกส อาทิ บีพีไอมีความเสี่ยงผูกพันอยู่ที่สัดส่วน 25.51 % บีอีเอสมีความเสี่ยงผูกพัน4.69 % และบีซีพีมีความเสี่ยงผูกพัน 11.70 %