ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (1) : ปรับหักลดหย่อน-ไม่ช่วยคนรวยหลบภาษี

โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา (1) : ปรับหักลดหย่อน-ไม่ช่วยคนรวยหลบภาษี

8 เมษายน 2012


แผนงานกรมสรรพากร

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยปฎิรูประบบโครงสร้างภาษีสรรพากร ขณะที่ประเทศคู่แข่งทยอยปรับโครงสร้างภาษีกันไปหลายรอบ อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม จีน ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาอยู่ที่ 25% ของกำไรสุทธิ, สิงคโปร์ 18% และฮ่องกง 16% ส่วนของไทยเก็บภาษีอยู่ที่อัตรา 30% ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ถึงแม้ว่าประเด็นภาษีจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ช่วงเลือกตั้ง เกือบทุกพรรคการเมืองชูประเด็นนี้ขึ้นมาเรียกคะแนนเสียง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ครม.มีมติให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของกำไรสุทธิ เหลือ 23% ในรอบระยะเวลาบัญชี ทำให้ปี 2555 คาดว่ารัฐจะมีรายได้ลดลง 52,500 ล้านบาท จากนั้นรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 จะปรับลดเหลือ 20% คาดว่าทำให้รัฐขาดรายได้อีก 97,500 ล้านบาท รวม 2 ปี รัฐสูญเสียรายได้ไปทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรก ส่วนก้าวต่อไปของรัฐบาลชุดนี้จะทำ คือการรื้อโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งนักวิชาการจากสำนักต่างๆ ตั้งข้อสังเกตุว่าโครงสร้างภาษีปัจจุบัน มีความเหลื่อมล้ำ โดยอัตราภาษีสูงเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้โครงสร้างภาษีปัจจุบัน ยังเต็มไปด้วยรายการลดหย่อนภาษี และรายการยกเว้นภาษีมากมาย จนเป็นช่องให้คนที่มีรายได้สูงๆเข้ามาใช้สิทธิ หลบเลี่ยงภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

ขณะที่คนมีรายได้น้อย(รายได้ต่ำกว่า 1.5 แสนบาทต่อปี)แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากการหักลดหย่อนที่กรมสรรพากรหยิบยื่นให้ รวมไปถึงรายการหักค่าใช้จ่ายที่กรมสรรพากรอนุญาตให้หักได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี หรือ 5,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพปัจจุบัน

หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ในปีนี้กรมสรรพากรกำลังเตรียมแผนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งใหญ่ตามมา โดยนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เน้นความช่วยเหลือไปยังกลุ่มระดับฐานล่าง เพื่อให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม และลดการรั่วไหล

ทั้งนี้มาตรการภาษีที่จะเข้าไปบรรเทาภาระภาษีให้กลุ่มผู้เสียภาษีที่มีรายได้น้อยจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่าย (มากกว่า 60,000 บาทต่อปี) หรือ ปรับฐานผู้เสียภาษีที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี (ปัจจุบันผู้ที่มีเงินได้ไม่ถึง 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี) ส่วนจะปรับเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกิตติรัตน์ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 กรมสรรพากรพร้อมจะเสนอพระราชกฤษฎีกาแก้ไขประมวลรัษฎากรส่งให้ครม.อนุมัติ ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที

นายสาธิตกล่าวว่าการปรับปรุงค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งมีทั้งหมดเกือบ 20 รายการ อาทิ ค่าอุปการะเลี้ยงดู บิดา มารดา หรือคนพิการ,ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นต้น ในหลักการอะไรที่กรมสรรพากรเคยให้สิทธิลดหย่อนแก่ผู้เสียภาษีไปแล้ว คงไปตัดทิ้งไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการกำหนดเพดานในการหักลดหย่อน หรือ “จำกัดวงเงินหักลดหย่อนภาษี” รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท

ทั้งนี้กรมสรรพากรเคยเสนอกระทรวงการคลัง ไปแล้ว ซึ่งในสมัยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัดสินใจเลือเพดานสูงสุดไว้ที่ 7 แสนบาท แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่านโยบายของนายกิตติรัตน์จะเอาอย่างไร เพราะยังไม่ได้นำเสนอกลับขึ้นไปขอความเห็นใหม่อีกรอบ

นายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร

นายสาธิตกล่าวต่อว่าการปรับปรุงค่าลดหย่อนที่มีเกือบ 20 รายการ ครั้งนี้อยู่ภายใต้แนวความคิดที่ว่าทำอย่างไร ค่าลดหย่อนภาษีถึงจะไม่ตกเป็นเครื่องมือช่วยคนรวยหลบภาษี เพราะถ้าหากใช้สิทธิลดย่อนภาษีครบทุกรายการ จะช่วยให้คนที่มีฐานะดีประหยัดค่าภาษีไปได้หลายล้านบาท ยกตัวอย่างซื้อกองทุนRMF และ กองทุนLTF จนเต็มวงเงิน ก็จะได้รับสิทธิลดหย่อน 1 ล้านบาท ซื้อประกันชีวิต จ่ายค่าดอกเบี้ยซื้อบ้านได้อีก 2 แสนบาท และนำเงินบริจาคมาหักภาษีได้อีก 10% ของรายได้

โดยอธิบายว่า สมมุติว่าสิทธิลดหย่อนภาษีรวมกันรวมเป็นวงเงิน 2 ล้านบาท เอา 12 หาร เฉลี่ยเดือนละ 2 แสนบาท คิดว่ามากไปเกินไปหรือเปล่า แต่ถ้าคิดว่ามากเกินไป แนวทางแก้ไข คือ ต้องมีการกำหนดเพดานวงเงินในการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี ในอนาคตหากรัฐบาลจะมีนโยบายเพิ่มรายการหักลดหย่อนภาษีตัวใหม่ๆขึ้นมา จาก 20 รายการ เป็น 30 รายการ ก็ไม่มีประเด็นปัญหาว่าช่วยแต่คนรวยอย่างเดียว เพราะกฏหมายกำหนดเพดานสูงสุดเอาไว้แล้ว

ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมี 33 ล้านคน ที่เหลือเป็นคนชรา พระภิกษุ และผู้ช่วยครัวเรือน หมายความว่า พ่อผัดก๋วยเตี๊ยว ลูก เมียช่วยกันเสิร์ฟ เวลาจะใช้จ่ายเงิน ก็หยิบเงินเอาจากเก๊ะ ถึงเวลาเสียภาษี พ่อยื่นแบบคนเดียว ที่เหลือตรวจเช็ดไม่ได้ ปัจจุบันจึงมีประชาชนมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10 ล้านคน ตนยืนยันว่ายอดผู้เสียภาษีไม่ได้ลดลง ในทางตรงกันข้ามตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เสียภาษีหลุดออกไปอยู่นอกระบบ คือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี (ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท)

ยกตัวอย่าง จบปริญญาตรีรับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ใช้เวลาหลายปีกว่าเงินเดือนจะถึง 20,000 บาทขึ้นไป ถึงจะเริ่มเสียภาษี ขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกเป็นจำนวนมากไม่ต้องเสียภาษี เพราะใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี

“ประเด็นที่คุณกิตติรัตน์ต้องพิจารณา คือ หากจะช่วยบรรเทาภาระภาษีใช้คนระดับล่าง โดยการขยับฐานเงินได้ขึ้นไป เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้รับการยกเว้นภาษี หรือ จะปรับเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่าย ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือคนที่อยู่ในระบบภาษีจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะมีความเหมาะสม ส่วนคนที่มีรายได้น้อยที่ไม่ไปซื้อ RMF หรือ LTF ไม่ใช่เพราะมือเอื้อมไม่ถึง แต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซื้อไปก็ไม่ได้สิทธิอะไร ส่วนการปรับฐานเงินได้ขึ้นไป ก็ไม่ได้ไปช่วยคนจน เพราะคนจนได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว แต่จะไปช่วยกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางมากกว่า” นายสาธิตกล่าว

โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนเทคนิคหรือกระบวนการยกร่างกฏหมายนั้น ถ้าเป็นกรณีของการปรับเพิ่มค่าใช้จ่าย หรือ ยกเว้นภาษีให้กับผู้เสียภาษี ตามกระบวนยกร่างกฏหมาย ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แก้ไขประมวลรัษฎากร ขั้นตอนคือต้องส่งให้ฝ่ายบริหาร หรือ ครม.อนุมัติ ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที แต่ถ้าเป็นกรณีปรับปรุงค่าลดหย่อนภาษี หรือกำหนดเพดานวงเงิน ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภา ผ่านความเห็นชอบ ถึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งตามแผนงานของกรมสรรพากร จะเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้นายกิตติรัตน์พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคม 2555

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะไปถึงการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในเดือนเมษายน 2555 กรมสรรพากรจะทำเรื่องขออนุมัติ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดโอกาสให้ภรรยา ไม่ต้องนำเงินได้อื่นๆไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ร่วมกับสามีได้

ทั้งนี้เนื่องจากสังคมไทยในอดีต ภรรยาอยู่บ้าน สามีออกไปทำงาน ยุดต่อมาภรรยาเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน ภรรยาทำงานได้ทุกอย่าง ไม่แพ้สามี เป็นหมอ วิศวกร ทำการค้า ขณะที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้สามี-ภรรยา แยกกันยื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ส่วนรายได้พิเศษอื่นๆต้องนำไปยื่นแบบฯรวมกันสามี ทำให้สามีต้องจ่ายภาษีมากขึ้น

ขณะเดียวกันวันนี้สภาพของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก สามี-ภรรยาแยกทางกัน แต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนหย่าร้างกันที่ทำการอำเภอ พอภรรยามีเงินได้ขึ้นมา ก็ไม่บอกให้สามีทราบ เพราะแยกกันอยู่ ผลลัพธ์คือสามีถูกสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เพราะจ่ายภาษีไม่ครบ แต่ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้คนไทยทุกคนต้องมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเห็นควรให้แก้ไขกฏหมาย เพื่อให้สามี หรือ ภรรยา มีสิทธิแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อยที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตุ ในเรื่องของความเป็นธรรมอีกหลายประเด็น อาทิ กรณีกรมสรรพากรทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และจะเหลือ 20% ในปีหน้า แต่โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่มีการปรับปรุง อาจจะส่งผลดีกับคนที่มีฐานะดีได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม

นายสาธิตกล่าวว่า ในหนังสือพ่อสอนลูกให้รวยของดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ตอนหนึ่งเขียนว่า “คนรวยใช้จ่ายเงินก่อนแล้วถึงจะมาเสียภาษี แต่คนจนเสียภาษีก่อนแล้วถึงจะได้ใช้เงิน” หมายความว่า เจ้าของบริษัท กินอาหาร ก็เอาเงินบริษัทจ่าย รถยนต์ไม่ต้องซื้อ ค่าน้ำมันไม่ต้องจ่าย แถมมีคนขับรถให้ด้วย ขณะที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินเองเกือบทั้งหมด ก่อนได้รับเงินเดือน ก็ถูกหักภาษี ตรงนี้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะต้องเข้าไปประเมินผลประโยชน์ที่เจ้าของกิจการได้รับทั้งหมด คำนวณออกมาเป็นเงินได้ที่จะต้องนำไปเสีย เพราะเจ้าของกิจการนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้หักภาษีเงินได้นิติบุคคล

“เจ้าของกิจการบางราย ตั้งเงินเดือนตนเองไว้ต่ำๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 37% แต่ไปรับไปรับเป็นเงินปันผลแทน ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแค่ 10% ซึ่งตามประมวลรัษฎากร เปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีเลือกได้ 2 ช่องทาง กล่าวคือ เลือกไม่นำมาคำนวณรวมกับเงินได้ประจำปี ยอมถูกหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือจะนำมาคำนวณรวมกับเงินได้ปกติ เพื่อขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืน”

ประเด็นนี้ก็มีนักวิชาการเสนอให้ยกเลิกการคืนภาษีเงินปันผล กรณีนี้หากทำตามข้อเสนอของนักวิชาการ คนรวยที่มีรายได้จากเงินปันผลเป็นจำนวนมากๆชอบ เพราะไม่เคยใช้สิทธิขอเครดิตภาษีคืนเลย ยอมถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้วจบ แต่คนที่มีฐานะปานกลางจะเดือดร้อน เพราะที่ผ่านมาเมื่อนำรายได้จากเงินปันผลไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ปกติประจำปีแล้วจะได้เงินภาษีคืน แต่ถ้ายกเลิกก็ไม่ได้คืน อย่างไรก็ตาม สูตรในการขอคืนภาษีเงินปันผล 3 ใน 7 ต้องมีการปรับปรุง หลังจากที่กรมสรรพากรทยอยปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาเหลือ 20% (อ่าน”สารพันปัญหา “ค่าลดหย่อน”)

ถัดมาก็มีผู้ตั้งคำถามว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 37% เป็นอัตราที่สูงเกินไปหรือเปล่า ประเด็นนี้นายสาธิตกล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าแพงเกินไปหรือเปล่า หมายความว่า ถ้าเก็บภาษีเข้ารัฐแล้ว มาเป็นงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล ถึงมือประชาชน ไม่มีรั่วไหล และมีระบบรัฐสวัสดิการที่ดี กรณีอย่างนี้ถือว่าไม่แพง ถ้าเก็บภาษีไปแล้วไม่ถึงมือประชาชน อย่างนี้ถือว่าแพง”

หากเปรียบเทียบกับสิงค์โปร์ ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าสิงค์โปร์เล็กน้อย เพราะสิงค์โปร์พยายามปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่มุ่งเน้นไปที่การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และถ้าไปเทียบกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 25% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บในอัตรา 33% และยังมีภาษีอื่นๆอีกหลายตัว โดยรวมแล้วเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพี แต่ไทยเก็บภาษีแค่ 17% ของจีดีพีเท่านั้น

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเปรียบเทียบต่างประเทศ

“ปัจจุบันกรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับคนที่มีฐานะดีเสียภาษีอัตราที่ 37% ถึงแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ได้เม็ดเงินภาษีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้ ส่วนกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลาง คนจนมีจำนวนมาก แต่เก็บภาษีได้ไม่มาก น้ำหนักจึงไปอยู่ที่คนรวย ดังนั้นสิ่งที่กรมสรรพากรต้องทำคือพยายามดึงคนให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้มากที่สุด ส่วนคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ก็ต้องพยายามรักษาเอาไว้ไม่ให้หลุดออกไปอยู่นอกระบบภาษี ยกเว้นรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มสิทธิค่าลดหย่อน เพิ่มค่าใช้จ่ายหรือยกเว้นภาษี”นายสาธิตกล่าว

ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องการซื้อ-ขายสินค้าผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเฟซบุ๊ค ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ทำธุรกิจการค้า และบริการผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต แต่ผู้เสียภาษีเอง ก็ต้องรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่จะเอาแต่รวยอย่างเดียว

ขณะนี้กรมสรรพากรได้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการตรวจสอบภาษีจากการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมสามารถตรวจสอบได้ว่าเว็บไซต์ไหนมีการซื้อ-ขายสินค้ากันมากที่สุด เป็นสินค้าประเภทไหน และเว็บไซต์ไหนมีคนนิยมชมชอบมากที่สุด ชำระเงินผ่านธนาคารอะไร โปรแกรมสามารถเรียกข้อมูลการโอนเงินจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาดูได้

ที่ผ่านมาก็มีการระดมเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆที่เปิดให้มีการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ พอเจ้าหน้าที่ดึลข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ มาตรวจเส้นทางเดินของเงิน พบว่ามีคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ การศึกษาสูงเป็นจำนวนมาก ไม่เคยเสียภาษีเลย จึงออกหมายเรียกให้เข้ามาเสียภาษี ปรากฏว่าเด็กหนุ่มสาวร้องไห้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าภาษีและเบี้ยปรับ

“ปกติกรมสรรพากรมีอำนาจในการประเมินภาษี กรณีที่ไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีเลยจะถูกประเมินภาษีย้อนหลังได้นาน 10 ปี แต่ถ้าเคยยื่นแบบฯจะย้อนหลังได้ 5 ปี แต่ที่สำคัญจะต้องจ่ายค่าปรับ 2 เท่าของภาษีที่ไม่ได้ชำระ และดอกเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่กระทำความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็สงสารจึงต้องให้โอกาสเด็กจ่ายค่าปรับย้อนหลังแค่ 1 ปี แล้วจับขึ้นทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีให้ถูกต้องต่อไป ตรวจสอบทีไร ก็เจอทุกครั้ง ในเร็วๆนี้สรรพากรจะมีเคมเปญออกมาเชิญชวนให้ผู้ที่ค้าขายผ่านอินเทอร์เนตเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ”