วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

อีกไม่เกินเดือนข้างหน้า
คนไทยจะได้พบกับฤดูฝุ่นและควันอีกแล้ว
คนเมืองเจอฝุ่นที่จากกำมะถันในเชื้อเพลิงดีเซลเป็นส่วนหลัก โดยมีฝุ่นจากการเผาขยะ และเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้งซ้ำเป็นดาบที่สอง
คนภูธร เจอฝุ่นควันจากการเผาชีวมวลในพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก และมีฝุ่นจากกำมะถันตามมาบ้าง แต่ในภาคเหนือมีไฟในป่าเติมเข้าไปอีก ยิ่งถ้าเมืองภูธรนั้นรับลมจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะได้รับควันและฝุ่นจากการเผาเตรียมแปลงเพาะปลูกจากเหล่าเพื่อนบ้านด้วย
ที่น่าสังเกตเพิ่มก็คือ ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แปลงใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นมีทุนไทยอยู่เบื้องหลังมากแค่ไหน
ย้ายหรือขยายไปปลูกแล้วเผาในต่างประเทศเพิ่มเสียอีกหรือไม่
ในอดีต เรามองข้ามประเด็นนี้มาตลอด จึงทำให้นึกถึงแต่การเจรจากับรัฐต่อรัฐให้ช่วยลดควันแก่กันหน่อย
แต่รัฐเพื่อนบ้านไม่ใช่ผู้ปลูกเอง คนจุดเผาเป็นคนปลูกเกษตรแปลงต่างๆ ทั้งนั้น ถ้าทุนไทยมีส่วน การตามสะกิดก็น่าจะได้ถูกตัวมากขึ้นอีกหน่อย
นี่ข้อสังเกตแรก
ข้อสังเกตที่สอง คือ ไฟในป่าลึก 90% มาจากฝีมือคนทั้งนั้น จะจุดเพราะโกรธ จะจุดเพราะโลภอยากได้เห็ดหลังไฟมอด อยากล่าสัตว์ป่าที่กำลังหนีไฟ หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม ถ้าหากเราใช้ประโยชน์จากบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ๒๕๖๒ ที่เป็นผลงานการปฏิรูป เรื่อง คนอยู่กับป่า ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุครัฐบาลก่อนการเลือกตั้งได้ทำไว้สำเร็จ ซึ่งกี่รัฐบาลย้อนไป 40 ปี ไม่เคยทำได้
รัฐบาลนี้ก็จะสามารถเร่งออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขให้ราษฏรที่ครอบครองที่ดินที่มีข้อพิพาทกับเขตอุทยาน สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้นต่อ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องรักษาป่า เป็นมิตรกับป่า เป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แลกกับสิทธิที่จะได้ใช้ที่ดินที่ครอบครองต่อไปได้อีกคราวละไม่เกิน 30 ปี ไม่มีค่าเช่า
ถ้ารัฐเปลี่ยนบทบาทของผู้พิพาทกับเจ้าหน้าที่ผู้เฝ้าป่า ให้กลายมาเป็น “ผู้ทำหน้าที่เฝ้าบำรุงป่า”….
เราคงเหลือไฟป่าน้อยลง
ข้อสังเกตที่สาม
ฝุ่นควันจากไฟในป่ามักจะดับยาก เพราะใบไม้แห้งทับถมหนาหลายชั้นเต็มพื้นไปหมด ต้นไม้ระดับกลางและเถาวัลย์ที่พันลำต้นสูงก็แห้งกรอบพร้อมเป็นเชื้อเพิ่มความสูงให้เปลวไฟ
ไฟทำให้เกิดมวลอากาศร้อนลอยขึ้น เกิดแรงดูดอากาศรอบข้างที่เย็นกว่าไหลเข้าไปแทนที่
ไฟป่าจึงเรียกลมครับ…เปลวไฟใหญ่ก็จึงยิ่งดึงลมเข้ามาหาตัวมัน
ลมใหม่จึงเติมออกซิเจนให้การลามไปได้เร็ว ลมที่เข้ามาจะดึงเอาใบไม้ให้ลอยเข้ามากลายเป็นเชื้อไฟและกลายเป็นดวงไฟขนาดต่างๆ ลอยไปตกในที่ใหม่
ถ้าขึ้นสูงก็เผาต้นไม้สูงและลามขึ้นเขา ถ้าลอยไปตกในหุบในเหวก็เท่ากับส่งไฟลงไปเริ่มที่โคนเขาไล่ขึ้นมาใหม่
ที่ควรรู้อีกสองอย่างคือ เมื่อไฟไปตกในร่องแห้งๆ ที่เต็มไปด้วยใบไม้แห้งหลายๆ ชั้น การติดไฟอาจไม่เริ่มจากกองที่อยู่บนผิวหน้า แต่กลับคุ ลามอยู่ใต้ระดับสายตา ซึ่งการดับไฟในแอ่งแห้งๆ เหล่านี้ อันตรายต่อเจ้าหน้าที่มาก นี่คือไฟที่หลบลงใต้ระดับสายตา บางคนเรียกว่าไฟมุดใต้ดิน
ส่วนไฟที่ลามสูงขึ้นเขาไป ก็จะเผากิ่งไม้ท่อนไม้ต่างๆ หักร่วงแล้วกลิ้งเป็นลูกไฟหมุนกลิ้งตกลงมาตามไหล่เขา ทั้งเผาทั้งทับเอาทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทาง รวมทั้งทำอันตรายคนที่กำลังพยายามควบคุมเพลิงด้านล่างซึ่งจะมีที่ให้วิ่งหลบหลีกได้ยากมาก
ปัญหาควัน ปัญหาฝุ่น จึงเป็นปัญหาไฟพุ่งไฟกลิ้งมาคร่าชีวิต ทำร้ายร่างกายผู้พยายามช่วยสังคมพิทักษ์ป่า ปีละจำนวนไม่น้อยด้วย
ด้วยข้อสังเกตที่สามนี้นี่แหละ ที่ทำให้ต้องคิดเสนอให้จ้างคนตามพื้นที่ต่างๆ ในปีโควิดที่ทำคนตกงาน ให้มาร่วมสร้างแนวกันไฟให้มาก ถ้ามีแนวกันไฟอยู่แล้วก็ควรขยายให้แนวกันไฟกว้างขึ้น ถี่ขึ้น
รวมถึงออกกติกาเพื่อลดปริมาณเชื้อไฟในป่าสม่ำเสมอ ทำโครงการกวาดเก็บใบไม้ตามชายป่าออกมาผสมดินเป็นปุ๋ย จำหน่ายจ่ายแจกแก่เกษตรกร หรือจะจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลส่งโรงไฟฟ้าชุมชน เท่าที่พอทำได้
หรือจะทำกิจกรรมเข้าป่าลึกหน่อยเพื่อจัดแบ่งเขตเป็นตารางย่อย จากนั้นจึงเผาเป็นพื้นที่เล็กๆ แล้วรีบดับเพื่อจะได้ลดเชื้อไฟจากเศษใบไม้ ไม่ให้สะสมไว้มากเกินไป
สิ่งที่จะได้ตามมาคือทุ่งหญ้าระบัดใบใหม่ ซึ่งจำเป็นต่อกิจกรรมของสัตว์ในป่า และอาจจะได้ทำแอ่งน้ำไว้ในป่าเพิ่มเสียด้วย ช้างป่าออกมากวนไร่และสวนของชาวบ้าน ส่วนมากเริ่มมาจากขาดแหล่งน้ำในป่าลึกนี่แหละ
ที่จริงวิธีดูแลบำรุงรักษาป่านั้น คนชายป่าเค้ารู้ดีกว่าคนเมืองครับ
แต่ต้องช่วยให้คนชายป่าสามารถจัดวางระเบียบกติกา ในแต่ละถิ่น ที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อดึงเอาเทคนิคและความรู้จากผู้ที่เข้าใจระบบธรรมชาติมาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น
ที่ผ่านๆ มา เราคนเมืองมักจะสนใจควบคุมไม่ให้มีไฟเกิดในป่าแบบเด็ดขาด พยายามใช้กฎหมายและอำนาจควบคุม เป็นแนวหลัก แต่กลับไม่ค่อยมีความรู้มากพอเกี่ยวกับธรรมชาติของไฟในป่า แถมยังไม่ได้ใจจากคนชายป่าเสียอีกด้วย
ข้อสังเกตที่สี่คือเรื่องฝุ่นควันที่มาจากไฟในทุ่ง
ไฟในทุ่งนั้น ยังไงก็ต้องพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการเผาทำลายตอซัง เพราะเกษตรกรเห็นว่าทำได้ง่ายและถูกกว่าวิธีอื่น แต่ถ้าสังคมจะให้หยุดเผาในไร่ สังคมเองก็คงต้องสนับสนุน ร่วมกับรัฐ ใช้กลไกราคา และใช้กลไกส่งเสริมเทคโนโลยีลดการเผาเพื่อเก็บเกี่ยว เช่น ลดต้นทุนการนำรถตัดอ้อยเข้ามาใช้งานแทนการจ้างคนงานต่างด้าวเข้าตัดอ้อย ซึ่งจะเผาใบอ้อยก่อนเสมอเพื่อทำลายหนามใบอ้อยที่จะทำอันตรายต่อคนตัดอ้อย ถ้าไม่เผาไร่ควันและฝุ่นก็จะน้อยลงมาก
ด้วย 4 ข้อสังเกตข้างต้น
ผมจึงนำมาเล่าให้คนเมืองได้เกิดมุมคิดที่มากกว่าการหวังง่ายๆ เรียกร้องรัฐใช้กฎหมายห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งยังไงก็คงไม่สำเร็จ
เรื่องใหญ่พอๆ กับไฟในป่า จึงเป็นเรื่องจัดการ “ไฟในใจคน” ที่เรายังไม่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในสมการให้ได้รับประโยชน์ร่วม จากการลดไฟลดควันลดฝุ่น ที่เราบ่นเรากังวลนี่แหละ