ASEAN Roundup ประจำวันที่ 27 กันยายน-3 ตุลาคม 2563
ลาวผ่อนปรนมาตรการโควิด เตรียมอนุญาตเที่ยวบินเช่าเหมาลำ-กรุ๊ปทัวร์
ลาวได้ขยายมาตรการป้องกันโควิด-19 ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แต่มาตรการบางด้านรวมถึงการห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำจะได้รับการผ่อนคลาย
คณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19 เปิดเผยในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า รัฐบาลลาวได้ตกลงในหลักการที่จะให้เปิดบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำกับประเทศที่ไม่พบการแพร่ระบาด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลหวังที่จะบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ญี่ปุ่นได้ประกาศแผน travel bubble กับบางประเทศแล้วรวมถึงลาวและกำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางการเข้าเมืองในช่องทางพิเศษกับ ลาว จีนและเวียดนาม
จากประกาศที่ออกโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ลาวจะยังคงระงับการออกวีซ่านักท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามเที่ยวบินเช่าเหมาลำจะอนุญาตให้บริการในเดือนนี้
ประกาศระบุว่าโดยหลักการแล้วจะอนุญาตให้กลุ่มทัวร์จากประเทศที่ไม่พบการระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาในลาวได้ อย่างไรก็ตามจะมีการหารือเพิ่มเติมในประเด็นนี้
นอกจากนี้ประชาชนลาวหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ในลาว ที่เดินทางกลับประเทศและมีผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบจะได้รับอนุญาตให้กักกันตัวในบ้าน หรือที่ทำงาน จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้กักกัน 14 วันในศูนย์กักกันหรือโรงแรมที่กำหนด
การปิดด่านพรมแดนแบบดั้งเดิมและด่านตามธรรมเนียมจะยังคงมีอยู่ ยกเว้นในกรณีที่รัฐบาลอนุญาตให้ขนส่งสินค้า และพรมแดนระหว่างประเทศจะยังคงปิดให้บริการสำหรับนักเดินทางทั่วไป ยกเว้นพลเมืองลาวหรือชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19
มาตรการป้องกันโควิด-19 ฉบับปรับปรุงจะยังคงมีผลจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม แต่อนุญาตมีการจัดเทศกาลแข่งเรือ พิธีแต่งงาน หรืองานประเพณีอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามสถานบันเทิง เช่น บาร์ คาราโอเกะ ไนท์คลับ และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จะต้องปิดให้บริการ
ลาวยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันรายใหม่ในประเทศตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน
สิงคโปร์เปิดรับนักท่องเที่ยวออสเตรเลีย-เวียดนาม 8 ต.ค.

สิงคโปร์จะอนญาตให้ นักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลีย ยกเว้นที่มาจากรัฐวิกตอเรีย และประเทศเวียดนาม เดินทางเข้าสิงคโปร์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมนี้ แต่ก็คาดว่าคงยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก เนื่องจากยังต้องกักตัวเมื่อเดือนทางกลับประเทศไป
ชาวออสเตรเลียที่มาจากรัฐวิกตอเรีย หรืออยู่ในรัฐวิกตอเรียก่อนเดิอนทางเข้าสิงคโปร์ 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสิงคโปร์ ทั้งนี้เมลเบิร์น เมืองหลวงของวิกตอเรียยังคงล็อกดาวน์ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองแม้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว
ส่วนเวียดนามนั้นไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 4 สัปดาห์แล้วหลังจากควบคุมการระบาดรอบสองได้สำเร็จ
นายอ่อง เย กุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ กล่าวว่า การตัดสินยกเลิกการสั่งห้ามออสเตรเลียและเวียดนามเข้าประเทศ เป็นผลจากการที่ทั้งสองประเทศควบคุมการระบาดของไวรัสได้สำเร็จ และจากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีคมนาคมออสเตรเลียและเอกอัคราชฑูตเวียดนามประจำสิงคโปร์ ทั้งสองประเทศจะพิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์
ในเดือนที่แล้ว สิงคโปร์อนุญาตให้มีการเดินทางแบบทั่วไปไปยังบรูไน นิวซีแลนด์ เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและอุ่นเครื่องสนามบินชางงี
นักท่องเที่ยวจากบรูไนและนิวซีแลนด์ รวมทั้งออสเตรเลีย เวียดนามจากการอนุญาตครั้งหลังนี้จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงและต้องกักตัวในที่พักจนกว่าจะมีผลตรวจเป็นลบ
นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียและเวียดนามสามารถเดินทางออกนอกที่พักได้ แต่ต้องมีระยะทางที่ไม่ไกลและมีความจำเป็นเท่านั้น
ส่วนทางด้านออสเตรเลีย รัฐบาลยังคงใช้มาตรการเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการให้ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศกักกันตัว 14 วัน โดยที่รัฐบาลอาจจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ และในนิวเซ้าท์เวลส์ จุดเข้าประเทศหลักผู้ที่เดินทางเข้าจากต่างประเทศต้องจ่ายเงิน 3,000 ออสเตรเลียดอลลาร์
ส่วนชาวเวียดนามที่จะเดินทางกลับประเทศต้องรอคิวเดินทางกลับพร้อมกับชาวเวียดนามส่วนหนึ่งที่จะถุกส่งกลับประเทศ และเมื่อเดินทางถึงเวียดนามจะต้องกักตัว 14 วันที่สถานที่ที่รัฐจัดให้
จากมาตรการเข้มงวดของทั้งสองประเทศ จึงคาดว่านักท่องเที่ยวออสเตรเลียและเวียดนาม จะไม่เร่งเข้าสิงคโปร์นัก
อินโดนีเซียส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจกับเกาหลีใต้

อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ กระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ด้วยการลงทุนมูลค่าหลายล้านล้านรูเปียะห์ ซึ่งจะสร้างโอกาสในการทำงานหลายพันตำ แหน่งในประเทศ
การเยือนล่าสุดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ นายเอริก โทอี้ และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (BKPM) นายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอา ประจำกรุงโซลส่งผลให้เกิดข้อตกลงทางธุรกิจอย่างน้อย 3 ข้อ จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นางเรตโน มาร์ซูดิเมื่อวันที่ 30 กันยายน
บริษัท เคซี กลาส จำกัดผู้ผลิตกระจกของเกาหลีใต้ ตั้งเป้าลงทุน 5.1 ล้านล้านรูเปียะห์ (342.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในข้อตกลงที่สามารถช่วยจ้างคนงานชาวอินโดนีเซียได้มากถึง 1,300 คน
ในขณะเดียวกัน บริษัทเสื้อผ้า พีทีเซยิ่น แฟชั่น อินโดนีเซียซึ่งเป็น บริษัทในเครือของผู้ผลิตรองเท้าสัญชาติเกาหลีใต้บริษัท พาร์คแลนด์ จำกัดมีแผนจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังอินโดนีเซีย
ด้วยการลงทุนมูลค่า 1.2 ล้านล้านรูเปียะห์สามารถจัดหางานใหม่ให้กับชาวอินโดนีเซียได้ถึง 4,000 ตำแหน่ง บริษัทเคมีที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้คือ บริษัทแอลจีเคม จำกัด ตั้งเป้าที่จะพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และนำเงินลงทุนจำนวนมหาศาลไปยังประเทศหมู่เกาะนี้ นางเรตโนกล่าว แม้ตัวเลขที่แน่นอนยังต้องประเมินอีกครั้งก็ตาม
ขณะที่อินโดนีเซียเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 บริษัทต่างชาติจำนวนหนึ่งได้ยืนยันแผนการที่จะย้ายโรงงานผลิตไปยังอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะนำเงินลงทุนเข้ามา 850 ล้านดอลลาร์และจ้างงานได้ถึงชาวอินโดนีเซีย 30,000 คน
ในภาคสุขภาพ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้กำลังทำงานร่วมกันผ่าน บริษัทคาลบี ฟาร์มาและเจเนซีน เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ นับตั้งแต่เริ่มอุบัติ (การแพร่ระบาด) เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซีย ในการจัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการรับมือกับโควิด-19 รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล นางเรตโนกล่าว
ท่ามกลางข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลกเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ได้จัดเตรียมเส้นทางการเดินทางสำหรับธุรกิจที่จำเป็นและการเยี่ยมเยียนอย่างเป็นทางการ (TCA) ซึ่งมีผลในวันที่ 17 สิงหาคม นอกจากนี้ระหว่างการเยือนกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 28 กันยายนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ด้านการเมือง นาย คิม กันน์ แสดงความขอบคุณต่อความสม่ำเสมอของอินโดนีเซีย ในการส่งเสริมความสัมพันธ์พหุภาคี และความมุ่งมั่นในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคในอาเซียน นางเรตโนกล่าว
“รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ด้านการเมือง ได้พิจารณาข้อความในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของอาเซียนในการรักษาสันติภาพเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค” นางเรตโนกล่าว
นอกจากนี้นายคิมได้ส่งคำเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ คัง คยอง-วา ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมในกรุงโซลในช่วงปลายปีนี้และเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในปีหน้า
ฟิลิปปินส์เล็งทำข้อตกลงการค้าพิเศษกับอินเดีย

ฟิลิปปินส์และอินเดียกำลังเตรียมการที่จะทำข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement:PTA) ระหว่างกัน จากการเปิดเผยของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม
PTA คือ การให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศตามความสมัครใจ โดยการลดอัตราภาษีขาเข้าลงในอัตราต่างๆกันสำหรับสินค้าแต่ละรายการเพื่อขยายการค้าระหว่างประเทศ ปัจุบันมีการใช้ PTA กันมากขึ้นแทน FTA
ในแถลงการณ์กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ระบุว่า ทั้งสองประเทศตกลงที่จะพิจารณาที่จัดทำ PTA ระหว่างกัน ในการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการค้าและการลงทุนครั้งที่ 13 (JWGTI) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน
ภายใต้ข้อตกลง PTA ฟิลิปปินส์และอินเดียจะสามารถลดและขจัดภาษีสินค้าที่น่าสนใจของทั้งสองฝ่ายได้ ทั้งสองประเทศเห็นร่วมกันว่า การเจรจาแบบทวิภาคี จะช่วยจัดการกับประเด็นความอ่อนไหว
“แนวทางที่เน้นมากขึ้นเช่น PTA นั้นใช้ได้จริงมากกว่า ฟิลิปปินส์มีความกระตือรือร้นที่จะสรุปข้กตกลง PTA กับอินเดีย ซึ่งไม่เพียงแต่จะยกระดับการค้าในปัจจุบันในแง่ของมูลค่าและปริมาณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่จะครอบคลุม เนื่องจากการค้าในปัจจุบันมีความกระจุกตัวสูงในผลิตภัณฑ์บางประเภท” นายเซเฟอริโน โรโดอลโฟ ปลัดกระทรวงการค้ากล่าว
ในส่วนของอินเดีย นายอนันต์ สวารัป เลขาธิการร่วมกระทรวงพาณิชย์อินเดียกล่าวว่า “อินเดียตระหนักถึงประโยชน์ของการเจรจา PTA กับฟิลิปปินส์”
นายอนันต์กล่าวว่า ทั้งสองประเทศควรปรึกษาผู้มีอำนาจและกำหนดผู้แทนในการเจรจา PTA ขณะที่นายรามอน บากัตซิง จูเนียร์เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำอินเดียและนายชัมพู กุมารันเอกอัครราชทูตอินเดียประจำฟิลิปปินส์แสดงการสนับสนุนการริเริ่ม PTA
เอกอัครราชทูตทั้งสอง ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเจรจา PTA
นายอัลเลน เกปตี้ผู้ช่วยเลขาธิการด้านการค้ากล่าวว่า PTA เป็นการตอบสนองที่เป็นรูปธรรมในใช้ประโยชน์จากศักยภาพเพื่่อเสริมซึ่งกันและกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเชื่อมโยงและแก้ไขช่องว่างในห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการเพิ่มการเข้าถึงตลาดของปัจจัยการผลิต และวัตถุดิบในพื้นที่การค้าที่ระบุ
ในระหว่างการประชุม JWGTI ฟิลิปปินส์และอินเดียได้หารือเกี่ยวกับความคิดริเริ่มที่จะทำงานร่วมกันในการส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ เช่นอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ – การจัดการกระบวนการทางธุรกิจ สิ่งทอ พลังงาน การเกษตร และเวชภัณฑ์
สัปดาห์ที่แล้วหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย สถานทูตอินเดียในมะนิลา และสถานทูตฟิลิปปินส์ ในนิวเดลี ได้จัดสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตอกย้ำถึงโอกาสในการทำงานร่วมกันในสาขาเวชภัณฑ์ ไอที และเทคโนโลยีทางการเงิน
ในปีที่แล้ว อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 14 ของฟิลิปปินส์จาก 226 รายโดยมีมูลค่าการค้ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์
กัมพูชาให้สัตยาบัน AWSC รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ตกลงที่จะใช้ AWSC อย่างเป็นทางการและเริ่มนำไปใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน
“ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2020 กัมพูชา ซึ่งเป็นสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการรับรองตนเองโครงการแรก (SCPP10) จะไม่สามารถออกหรือรับใบแจ้งหนี้ของ SCPP1 ได้อีกต่อไป” ประกาศระบุ
กระทรวงได้ขอให้ผู้ส่งออกกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอใช้ AWSC ที่กรมส่งออกและนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างทันที
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เพ็ญ โสวิเชฐ กล่าวว่า สินค้าเพื่อการส่งออกโดยปกติต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (CO) และก่อนหน้านี้การส่งออกกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาเซียนไดใช้ CO เพื่อรับรองสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา
“นี่เป็นรูปแบบใหม่ของกลุ่มอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาค เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เอกสารที่ซับซ้อน ดังนั้นเราจึงได้ตกลงใช้ AWSC ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันในภูมิภาคนี้”
สำหรับตลาดอื่น ๆ การใช้ CO ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตามข้อตกลงกับประเทศและภูมิภาค นายเพ็ญกล่าว อย่างไรก็ตามจะค่อยๆถูกแทนที่ด้วยระบบผู้ส่งออกที่ลงทะเบียน (REX) สำหรับตลาดสหภาพยุโรป
REX เป็นระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของสหภาพยุโรปโดยอาศัยหลักการรับรองตนเอง ด้วยการเข้าร่วมระบบ บริษัทต่างๆจะกลายเป็นผู้ส่งออกที่ลงทะเบียนซึ่งทำให้สามารถออกใบแจ้งแหล่งกำเนิดสินค้าได้เอง
CO เป็นเอกสารอย่างเป็นทางการที่ใช้ในการรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นพัฒนาหรือผลิตในประเทศทั้งหมด โดยทั่วไปเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้ซื้อต้องการและใช้กับผลิตภัณฑ์แต่ละรายการ
นักลงทุนต่างชาติในกัมพูชาได้ขอให้รัฐบาลลดต้นทุน CO ซึ่งปัจจุบันแพงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมาก
สมาคมธุรกิจญี่ปุ่นแห่งกัมพูชา (JBAC) ระบุว่า ค่าธรรมเนียมการขอ CO ในกัมพูชามีราคาสูงถึง 58 ดอลลาร์ แต่ในเวียดนามว่า CO นั้นฟรีไม่ว่าจะต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม ในประเทศไทยมีใบคำขอสามประเภทและมีค่าธรรมเนียม 24.50 ดอลลาร์ ในสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์ ในมาเลเซีย 2.39 ดอลลาร์และในญี่ปุ่น 10 ดอลลาร์
การปรับระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาเป็นระบบ AWSC เกิดขึ้นเพราะอาเซียนมีระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตน เอง 2 ฉบับ โดยแต่ละฉบับมีเงื่อนไขรายละเอียดแตกต่างกันในบางกรณี เช่น ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายผู้ที่มีสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง หรือจำนวนรายการสินค้าที่ผู้ประกอบการสามารถรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ ส่งผลให้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนยุ่งยาก และซับซ้อน และแต่ละโครงการก็มีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมไม่เหมือนกัน โดยโครงการที่ 1 มีสมาชิก คือ บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และไทย และโครงการที่ 2 มีสมาชิก คือ อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย อาเซียนจึงให้มีการเจรจาควบรวมระเบียบปฏิบัติโครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 ให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อลดความยุ่งยากและซับซ้อนของการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
กัมพูชาออกใบขับขี่สากล

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งได้ประกาศว่า ได้เริ่มออกใบอนุญาตขับขี่สากล เพื่ออนุญาตให้ชาวกัมพูชาขับรถในต่างประเทศโดยผู้ถือใบอนุญาตจะได้รับอนุญาตให้ขับรถได้อย่างถูกกฎหมายใน 99 ประเทศ
การประกาศเกิดขึ้นในกรุงพนมเปญระหว่างการเปิดศูนย์บริการประชาชนแห่งใหม่ในศูนย์การค้า
ศูนย์แห่งใหม่นี้ได้เปิดให้บริการสำหรับประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย “ระบบอัตโนมัติ” ซึ่งครอบคลุมถึงการโอนกรรมสิทธิ์รถ การจดทะเบียนรถและการต่ออายุใบขับขี่โดยร่วมมือกับกรมสรรพากร
นายซุน จันทล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวว่า ชาวกัมพูชาที่มีใบอนุญาตขับขี่สามารถยื่นขอใบขับขี่สากลได้ที่กระทรวง
โดยจะต้องจ่ายค่าบริการ 25 ดอลลาร์เพื่อเป็นคาการออกใบอนุญาตอายุหนึ่งปี
“ใบขับขี่สากลจะอนุญาตให้เจ้าของขับรถในประเทศสมาชิก UN ได้อย่างถูกกฎหมาย ค่าธรรมเนียมถูกกำหนดให้สอดคล้องกับราคาที่กำหนดในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ” โดยใน 99 ประเทศนั้นครอบคลุม ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกันนายจันทลกล่าวว่า“ ระบบอัตโนมัติ” ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการเป็นเจ้าของถูกต้องตามกฎหมาย ขจัดการฉ้อโกง ง่ายต่อการจัดการรถยนต์ รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทางสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจ่ายภาษีรถยนต์ให้กับรัฐสถานะ.
ด้านนาย เกน สมบัติ รองอธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ระบบอัตโนมัติใหม่ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับกระทรวงถือเป็นความสำเร็จครั้งในประวัติศาสตร์
ที่นำไปสู่การปฏิรูปที่มากขึ้นในการบริการสาธารณะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การสร้างความทันสมัยของรัฐบาล
“ระบบใหม่จะให้ความมั่นใจกับประชาชนในเรื่องความโปร่งใส นอกจากนี้ยังรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ใช้งานง่ายและจะช่วยปรับปรุงการจัดการข้อมูลอย่างมาก”