
ตอนที่ 1 ถอดบทเรียนจีนสู้วิกฤติไวรัส (1): จากระบาดหนักสุดพลิกกลับมาช่วยโลก “Health Silk Road”
ตอนที่ 2 ถอดบทเรียนจีนต่อสู้วิกฤติไวรัส (2): 6 เรื่อง การตัดสินใจที่กล้าหาญ-การสื่อสารที่ชัดเจน
เดอะการ์เดียนสื่ออังกฤษวิเคราะห์ว่า มาตรการล็อกดาวน์ของจีนโหดแต่ได้ผล ในบทความชื่อ China’s corona virus lockdown strategy:brutal but effectivel ที่เผยแพร่วันที่ 19 มีนาคม
บทความระบุว่า เมื่อจีนประกาศว่าปิดเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส โลกพากันตะลึงและผู้เชี่ยวชาญต่างกังขา
นักระบาดวิทยาเตือนว่า การตัดสินใจของจีนเป็นการทดลองครั้งใหญ่ และอาจจะไม่ได้ผลแม้มีต้นทุนทางบุคคลากรและทางเศรษฐกิจ การกักกันไม่เคยใช้ในระดับใหญ่แบบนี้มาก่อนในโลกยุคนี้
เฉพาะอู่ฮั่นมีประชากร 11 ล้านคน และจากนั้นมีประชากรในเมืองใกล้เคียงอีกหลายสิบล้านคนที่ต้องประสบกับมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน จึงมีคำถามเกี่ยวกับมาตรการนี้อยู่หลายสัปดาห์
แต่ในเวลาเกือบ 2 เดือน แนวทางที่จีนนำมาใช้เริ่มเห็นผล และวันที่ 19 มีนาคม มีรายงานไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการติดต่อในประเทศเป็นครั้งแรก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
หลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่างพากันใช้มาตรการนี้ ทั้งอิตาลี สเปน เยอรมนี แคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ แต่ไม่เข้มเท่าที่อู่ฮั่น

ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์ การขนส่งเข้าออกเมืองถูกระงับ ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ความจำเป็นฉุกเฉินส่วนบุคคลหรือต้องการพบแพทย์ด่วน โรงเรียน มหาวิทยาลัยปิดเนื่องจากปิดในช่วงเทศกาลอยู่แล้ว แต่ได้ขยายระยะเวลาปิดออกไปอีก
ร้านค้าทุกร้านต้องปิด ยกเว้นร้านอาหาร ร้านยา รถยนต์ส่วนบุคคลห้ามนำออกมาวิ่งบนถนน หากไม่มีได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ ทำให้ถนนร้างและทั้งเมืองเงียบสงัด
ช่วงแรกๆ คนยังได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านได้ แต่ได้ยกระดับความเข้มงวดขึ้น บางพื้นที่จำกัดจำนวนคนที่นอกบ้านได้เพียง 1 คนในทุก 2 วัน เพื่อซื้อของใช้ที่จำเป็น บางพื้นที่ห้ามคนนนอกบ้าน และให้สั่งอาหาร ของใช้ผ่านธุรกิจบริการจัดส่ง
ต่อมา มาตรการนี้ได้ยกระดับให้เข้มงวดขึ้นอีก มีเจ้าหน้าที่เดินตรวจสุขภาพทุกบ้าน และบังคับให้ผู้ป่วยแยกตัว ซึ่งมีรายงานว่าเด็กพิการคนหนึ่งต้องเสียชีวิตเพราะขาดอาหารและน้ำ เนื่องจากพ่อและแม่ถูกกักตัว
นอกจากนี้ มาตรการควบคุมนี้ได้ขยายไปครอบคลุมทั่วประเทศหลังล็อกดาวน์อู่ฮั่น ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าคนจะหลบออกนอกเมืองก่อนที่จะสั่งปิด ซึ่งจะมีผลให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น

ตามอาคารต่างๆ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจวัดอุณหภูมิ คนที่เข้าอาคาร และที่พักอาศัยหลายแห่งก็ปิดไม่ให้คนเข้ายกเว้นผู้ที่อาศัยอยู่ที่นั่น
มีการใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ และในหลายพื้นที่ที่กำหนดให้ใช้ โกลบอลไทมส์ สื่อท้องถิ่นของรัฐได้โชว์วิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงการใช้โดรนบังคับให้ชาวมองโกเลียตอนในใส่หน้ากาก หากพบว่าออกจากบ้านโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย
แม้มาตรการที่ใช้กับอู่ฮั่นไม่ได้เป็นข้อบังคับในการควบคุมการระบาดของไวรัส แต่ประเทศที่มีความสัมพันธ์กับจีนดำเนินการเชิงรุกและรวดเร็ว ทั้งไต้หวัน สิงคโปร์ ควบคุมการระบาดของไวรัสได้อย่างดีผ่านการคัดกรองอย่างละเอียด การตรวจสอบและการติดตามเส้นทาง รวมทั้งนำมาตรการระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing มาใช้
เฉิน สี ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยล ให้ความเห็นว่า เขาเชื่อว่าจีนประสบความสำเร็จในควบคุมไวรัส แต่ไม่ใช่มาตรการทุกอย่างที่นำมาใช้นั้นมีความจำเป็น
“ผมไม่คิดว่ามาตรการล็อกดาวน์คนจำนวนมากมีความจำเป็นและเป็นไปได้ หูเป่ยใช้มาตรการล็อกดาวน์เพราะปกปิดข้อมูลไว้นาน จนเกิดวิกฤติและเกินกำลังความสามารถ”
มาตรการที่ได้ผลที่ประเทศทำตามได้นั้น เฉิน สี กล่าวว่า ได้แต่มาตรการที่จำกัด เช่น มาตรการระยะห่างทางสังคม การตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ การแยกผู้ป่วยออกโดยเร็ว และการรักษาโดยเร็วมีความจำเป็น ที่ประเทศควรนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง”
จีนยังคงเฝ้าระวัง เมืองอู่ฮั่นยังอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ แม้ประชาชนบางกลุ่มได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงาน แต่ทั่วประเทศยังคงมีการควบคุมที่เข้มงวดเพราะเกรงว่าการระบาดจะกลับมาอีก
ร้านอาหารหลายแห่งและร้านค้าหลายร้าน ต้องให้เจ้าของตรวจวัดอุณหภูมิรวมทั้งบันทึกข้อมูลก่อเข้าไปในร้าน บางอาคารอนุญาตให้คนที่มีคิวอาร์โค้ดตรวจสอบสุขภาพที่ขึ้นสีเขียว หมายถึงสุขภาพปกติ
ทางการกังวลต่อผู้ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ ปักกิ่งและอันฮุยจึงกำหนดให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศกักดันตัวในพื้นที่ที่จัดไว้
ส่วนที่เซี่ยงไฮ้ และกว่างตง ออกคำสั่งให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่มีการระบาดรุนแรงของไวรัส รวมทั้งสหราชอาณาจักร และอิตาลี กักกันตัวเองที่บ้าน หรือในสถานที่รัฐบาลเตรียมไว้เป็น 14 วัน และโรงแรมแห่งหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้มีการตรวจวัดอุณหภูมิแขกที่เข้าพักช่วงเย็น

ทำไมประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เข้มงวด
ทางด้านโกลบอลไทมส์ สื่อรัฐบาลจีน เผยแพร่บทความเรื่อง Why do Chinese follow strict control and prevention measures? ทำไมชาวจีนถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมที่เข้มงวด
ข้อแรก การควบคุมที่เข้มงวดคือมาตรการพื้นฐานที่สำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ มาตรการนี้ได้รับการเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญและมีอำนาจในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ คือ จง หนานซาน มาตรการควบคุมและป้องกันมาจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และจำเป็นในการช่วยควบคุมแหล่งติดเชื้อและรักษาความปลอดภัย และสุขภาพของพลเมืองทุกคน ประชาชนส่วนใหญ่จึงยอมรับและสนับสนุนมาตรการนี้
ข้อสอง ชาวจีนเชื่อมั่นในรัฐบาลสูงมาก โดยเฉพาะรัฐบาลกลาง ข้อมูลล่าสุดจาก Edelman Trust Barometer พบว่า มากกว่า 80% ของพลเมืองชาวจีนเชื่อมั่นในรัฐบาล และจีนติดอันดับหนึ่งในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติดต่อกันมา 3 ปี ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ประชาชนทั่วไปเชื่อว่า รัฐบาลจะคำนึงถึงประชาชนก่อน รับผิดชอบต่อประชาชนและเชื่อถือได้ และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพลังที่สำคัญที่สุดและพึ่งพาได้เมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่
ข้อสาม ชาวจีนมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกัน แม้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดจะจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง หรือการประกอบธุรกิจ ชาวจีนทั้งหมดได้แสดงออกว่าเข้าใจมาตรการเหล่านี้อย่างดี และเต็มใจที่จะเสียสละเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคล เพื่อส่วนรวมและผลประโยชน์ของสังคมในระยะยาว

ข้อสี่ พื้นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนได้รับการดูแลระหว่างการใช้มาตรการที่เข้มงวด ระบบการจัดการสังคมและบริการสาธารณถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ในสังคมรากหญ้าของจีน คนที่อยู่ในเมืองและคนในชนบทมีค่านิยมทางสังคมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน ก็มีระบบอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ที่พัฒนาค่อนข้างมาก ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ถูกควบคุมเข้มงวดและการช่วยเหลือจากรัฐบาล สังคม และตลาด การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจึงไม่ได้ชะงักรุนแรง
ข้อห้า ผลที่เกิดขึ้นของคนกลุ่มหนึ่งกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันที่เข้มงวด การประสบกับความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากตื่นตระหนกและกังวล สังคมโดยรวมจึงเรียกร้องให้ใช้มาตรการควบคุมในหลายระดับ รวมทั้งมาตรการควบคุมของรัฐบาลและชุมชน ตลอดจนการกำกับดูแลระหว่างกันเองและการงดเว้นที่เกิดจากชุมชนเอง ความรู้สึกและมาตรการทำให้เกิดผลแบบกลุ่มก้อนจากมาตรการที่เข้มงวดในระดับหนึ่ง จึงมีผลให้คนอื่นๆ ปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวด