ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดบทเรียนจีนต่อสู้วิกฤติไวรัส (2) : 6 เรื่อง การตัดสินใจที่กล้าหาญ – การสื่อสารที่ชัดเจน

ถอดบทเรียนจีนต่อสู้วิกฤติไวรัส (2) : 6 เรื่อง การตัดสินใจที่กล้าหาญ – การสื่อสารที่ชัดเจน

25 มีนาคม 2020


อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ส่งถึงกรุงปักกิ่งโดยโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (World Food Programme) ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2020/03/1059502

ต่อจากตอนที่ 1 ถอดบทเรียนจีนสู้วิกฤติไวรัส (1): จากระบาดหนักสุดพลิกกลับมาช่วยโลก “Health Silk Road”

การต่อสู้วิกฤติไวรัสโควิด-19 ของจีน จนในที่สุดสามารถรับมือได้ ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่า แนวทางการควบคุมการระบาดของจีนสามารถใช้เป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นที่กำลังประสบกับการระบาดของโควิด-19 ได้

ดร.เกอเดน กาเลีย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ที่ได้เดินทางไปจีนในช่วงที่มีการระบาดให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินระบบหายใจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกขณะที่ในจีนลดลง แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการระบาดได้เปลี่ยนไป

โควิด-19 เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่นเดียวกับโรค MERS และโรค SARS

องค์การอนามัยโลกได้รับรู้และดำเนินการเกี่ยวกับการระบาดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เมื่อมีการรายงานว่ามีการพบผู้ป่วยโรคปอดโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุเป็นรายแรก ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน

ดร.กาเลียกล่าวว่า ในช่วงแรกของการระบาดมีคำถามสามข้อด้วยกัน คือ ไวรัสติดต่อกันได้อย่างไร รุนแรงหรือไม่ และเรื่องมาตรการในการควบคุมการระบาด

“ในช่วงสามสัปดาห์แรกการทำงานเน้นไปที่การหาสาเหตุของการระบาดในพื้นที่ ด้วยการตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หาความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก วางแนวทางการสื่อสารถึงความเสี่ยงจากข้อมูลที่มี และการให้ข้อมูลกับสื่อ รวมทั้งติดต่อพันธมิตรในสหประชาชาติและสำหรับทีมในจีน” ดร.กาเลียกล่าว

ดร.กาเลียและทีมได้ลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่นวันที่ 20-21 มกราคม ก่อนที่จะประกาศปิดเมืองหนึ่งวัน ขณะนั้นสถานการณ์การระบาดยังไม่ทำให้เกิดความต้องการบริการทางการแพทย์มากนัก แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อมีการตั้งทีมร่วมระหว่างจีนและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขนานาชาติในหนึ่งเดือนหลังจากนั้น

ดร.กาเลียกล่าวว่า ชาวอู่ฮั่นเสียสละอย่างมากที่ต้องอยู่บ้านตามมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อซื้อเวลาให้กับจีนและโลก

“การกักกันได้ผล และทำให้พื้นที่ส่วนอื่นของจีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลักษณะการระบาดและผู้ติดเชื้อนอกมณฑลหูเป่ยที่ไม่มากแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและความมีประสิทธิภาพ” ดร.กาเลียกล่าว

“สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ข้อบกพร่องนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่จีน มีอีก 2-3 ประเทศที่แสดงให้เห็นถึงการเร่งดำเนินการ” ดร.กาเบียกล่าว

จากจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่ลดลง องค์การอนามัยโลกเตรียมที่จะแบ่งปันบทเรียนที่ได้จากจีนเพื่อประโยชน์ต่อประเทศอื่นที่กำลังประสบกับการระบาดของโควิด-19

ดร.กาเลียชื่นชมการประสานงานกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนได้ทันการณ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เร็วและถี่ทำให้สามารถได้ข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัส รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติสำหรับชุดทดสอบเพื่อให้ประเทศอื่นๆ สามารถระบุผลได้

“บทสรุปคือจีนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถสกัดการระบาดได้ โดยปกติแล้ว การระบาดในลักษณะนี้จะขยายตัวเป็นหลายเท่า และขึ้นไปที่ระดับสูงสุด จากนั้นจะลดลงเองหลังจากคนที่อ่อนแอติดเชื้อทุกคน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่จีน” ดร.กาเลียกล่าว

“บทเรียนแรก ลักษณะของการระบาด กราฟ หรือเส้นการระบาดของจำนวนผู้ติดเชื้อ ดูผิดปกติอย่างมาก เป็นการระบาดที่เกิดขึ้นฉับพลัน มีการขยายตัวและก็หยุด จากข้อมูลที่เรามีและจากการสังเกตในสังคมโดยรวม” ดร.กาเลียกล่าว

“จึงมีบทเรียนครั้งใหญ่ว่า ลักษณะของการระบาดไม่จำเป็นที่ต้องถึงระดับสูงมากจนเกินความสามารถของระบบสาธารณสุข บทเรียนจากการกักกันครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนที่ประเทศอื่นสามารถเรียนรู้และปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์” ดร.กาเลียกล่าว

ที่มาภาพ : https://www.eastasiaforum.org/2020/03/10/will-china-learn-from-the-covid-19-epidemic/

อีกบทเรียนหนึ่งคือ ความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดย ดร.กาเลียเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม การให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

สำหรับประชาชนทั่วไป ดร.กาเลียกล่าวว่า ไม่ต้องตื่นตระหนกและปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเพื่อลดการเสี่ยงของการแพร่ะระบาด ทั้งการล้างมือ ปิดปากเมื่อไอหรือจาม ทำงานที่บ้านหากจำเป็น

“ประชาชนอาจจะได้ยินสิ่งเหล่านี้มากหลายครั้ง แต่น้อยคนที่จะปฏิบัติ นี่เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นเครื่องมือที่มี ก็จงใช้เสีย” ดร.กาเลียกล่าว

การตัดสินใจอย่างกล้าหาญสกัดไวรัสระบาด

บทความของในเว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) วันที่ 11 มีนาคม ระบุว่า การตอบสนองของจีนแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจที่กล้าหาญจะสกัดการระบาดของไวรัสได้

จีนมีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็ยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้นยังไม่มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากไวรัส แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้นไม่นาน

ภายในไม่กี่สัปดาห์ จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และจีนกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลก แต่หลังจากการประกาศขององค์การอนามัยโลกให้เป็นการระบาดใหญ่ของโลกไม่นาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงว่าการควบคุมการระบาดของไวรัสได้ผล

“จีนทำสิ่งในเหลือเชื่อมากในการชะลอการระบาดของไวรัส ผมประทับใจกับการรักษาความสมดุลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการดูแลสุขภาพของประชาชนของรัฐบาลจีน และเชื่อว่าหลายประเทศสามารถเรียนรู้จากจีน” เดวิด ไอก์แมน หัวหน้าสำนักงานผู้แทนของ WEF ในจีน กล่าว

สิ่งที่รัฐบาลจีนดำเนินการ

  • ปิดเมืองล็อกดาวน์
  • ในวันที่ 23 มกราคม เมืองอู่ฮั่น และอีก 15 เมืองในมณฑลหูเป่ยได้ใช้มาตรการเข้มงวดประกาศปิดเมืองหลังจากมีการระบาดอย่างหนักของไวรัส เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ถูกระดมมาจากทั่วทุกพื้นที่ในจีนเพื่อมาช่วยเหลือ อีกทั้งมีการสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย 2 แห่งในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์

    การปิดเมืองมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 50 ล้านคน บริการรถโดยสารสาธารณสุขถูกระงับ ทั้งรถเมล์ รถไฟ เที่ยวบิน และเรือ ในเมืองอู่ฮั่น มีการปิดสนามบิน สถานีรถไฟ และระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่มีใครออกจากเมืองได้หากไม่ได้รับอนุญาต

    จากนั้นไม่นาน มีการสั่งปิดโรงงาน สำนักงาน และโรงเรียน ทางการได้ใช้โซเชียลแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของผู้คน โดยใช้ระบบสีเขียว เหลือง และเแดง บนโทรศัพท์มือถือแยกกลุ่มคน เพื่อให้เจ้าหน้าที่แยกได้ว่า ผู้ใช้มือถือรายนั้นได้รับอนุาตให้ผ่านระบบรักษาความปลอดภัยเข้าไปในสถานีรถไฟหรือจุดสกัดอื่นๆ หรือไม่

    มาตรการนี้เข้มงวดมาก แต่เป็นวิธีการที่ได้ผล

    “สำหรับมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพที่จีนได้นำมาใช้เพื่อลดอัตราการระบาด รวมถึงการให้ทำงานกับบ้าน การปิดโรงเรียน และห้ามรวมตัวของคนจำนวนมาก” นายไอก์แมนกล่าว

    นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวของประชาชนเองก็มีส่วนช่วย ทั้งการล้างมือ การลดการเดินทางและไม่เป็นภาระให้กับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง “การผสมผสานของนโยบายจากข้างบนกับการปฏิบัติตัวประชาชนมีผลอย่างมากต่อการต่อสู้กับการระบาดของไวรัส”

    เมืองอู่ฮั่นช่วงปิดเมือง ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2020/02/08/asia/wuhan-coronavirus-lockdown-life-intl-hnk/index.html

  • ถอด 6 บทเรียน เจ้อเจียง-หางโจว
  • วันที่ 12 มนาคม WEF ได้นำเสนอบทความใหม่ถอดบทเรียนจากเมืองเจ้อเจียง และหางโจว ถึง แนวทางการป้องกันและฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสของจีนไว้ 6 ข้อ

    หางโจวและเจ้อเจียง ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสก่อนที่จะผู้ติดเชื้อรายแรกเสียอีก โดยได้ใช้ big data และ IT เช่น คิวอาร์โค้ด เพื่อติดตามและหยุดการระบาดของไวรัส

    การวางแผนที่รอบคอบและการสื่อสารที่ชัดเจน เกิดจากการได้เรียนรู้จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นในอู่ฮั่น

    ขณะที่การระบาดของไวรัสได้แพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการที่ใช้ในจีนอาจจะเป็นเครื่องมือสำหรับประเทศอื่นที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของไวรัสรุนแรง

    หางโจว เมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียงซึ่งอยู่ห่างจากอู่ฮั่นที่เป็นศูนย์กลางการระบาดมากกว่า 1,000 ไมล์ ได้ใช้มาตรการหลายด้านทั้งการควบคุมและการป้องกันตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาด

  • บทเรียนแรก ความเร็วและความถูกต้องเป็นปัจจัยหลักในการแยกแยะและการตรวจจับ
  • ภายในหนึ่งสัปดาห์จากการพบเชื้อไวรัสที่ยังไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน จีนประสบความสำเร็จในการจำแนกลำดับพันธุกรรมและรายงานข้อมูลนี้ไปยังองค์การอนามัยโลก

    เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์การระบาดของโรคซาร์สปี 2003 แล้ว ตอนนั้นใช้เวลาถึง 2 เดือนในการจำแนกลำดับพันธุกรรม และใช้เวลาเป็นปีในการแยกพันธุกรรมของเชื้อ HIV ในปี 1980

    การจำแนกลำดับพันธุกรรม มีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและยารักษา การแยกพันธุกรรมได้เร็วทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถพัฒนาชุดทดสอบได้เร็ว รวมทั้งพัฒนาทางเลือกในการรักษาและวัคซีน

    ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/agenda/2020/03/coronavirus-covid-19-hangzhou-zhejiang-government-response/

    อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ควบคุมการระบาด คือ การมีวิธีการตรวจจับที่เร็ว ถูกต้อง เชื่อถือได้ เป็นการเฉพาะ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ในช่วงแรกของการระบาดที่อู่ฮั่นยังไม่มีชุดทดสอบ และการคัดกรองยังต้องพึ่งการวิเคราะห์หาลำดับนิวเคลียสในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้บุคคลากรจำนวนและมีราคาแพง สำนักงานควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์แห่งชาติ (National Medical Products Administration) ของจีนได้เร่งให้บริษัทไบโอเทคพัฒนาชุดทดสอบขึ้นทันที โดยชุดแรกออกมาใช้วันที่ 13 มกราคมและมีจำนวนเพียงพอต่อการใช้ในสองสัปดาห์ถัดมา

  • ตัดสินใจถูกต้อง ถูกเวลา ถูกที่ ถูกกลุ่ม
  • ประสบการณ์ของจีนตอกย้ำความสำคัญในการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และทางสาธารณสุขระหว่างที่อยู่ในสถานการณ์การระบาด การดำเนินการที่มากเกินไปก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย

    การบริหารความเสี่ยงในเชิงรุกอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในจีน บนพื้นฐานของการประสานระหว่างรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขได้พิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการสกัดและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จากการวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อกว่า 40,000 รายในจีน ก็พบว่า 80% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องรักษา มีเพียง 20% ที่ต้องใช้บริการทางการแแพทย์และการดูแล

    เจ้อเจียงเป็นมณฑลแรกที่ยกระดับการบริหารความเสี่ยงไปที่ระดับสูงสุด ตั้งแต่วันแรกๆ ของการระบาดและยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสรายแรก

    สำหรับบทเรียนจากหางโจวในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย

    • แนวทางที่ชัดเจนการล็อกดาวน์ทั้งระดับและขอบเขต
    • ใช้ระบบการติดตามไปที่ระดับรายบุคคล อพาร์ตเมนต์ บ้านเรือน ชุมชน องค์กร พื้นที่สาธารณะ และระดับเมือง
    • จัดหาของกินของใช้ให้ต่อเนื่องผ่านการจัดการที่เป็นระบบและควบคุมโดยรัฐ
    • กำหนดสถานที่รักษาผู้ติดเชื้อ เพื่อการแยกตัว การติดตาม และการรักษา
    • ใช้ระบบอัดเสียงและติดตามอิเล็กทรอนิกส์และทีมพื้นที่เพื่อแยกผู้ติดเชื้อตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
    • กำหนดรวมศูนย์การรายงานและช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลประชาชน
  • ใช้ big data และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มีความสำคัญเพื่อเลี่ยงการกลับมาระบาด
  • หางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทอาลีบาบาเป็นเมืองแรกที่ใช้ big data และ IT ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ด้วยวิธีการที่ใช้ชื่อว่า “one map, one QR code, and one index”

    หลังจากที่โรงงานได้กลับมาเปิดการผลิตได้สองสัปดาห์ ได้มีการประกาศใช้นโยยายดังนี้

    1) มีการทยอยเปิดเป็นระยะๆ ตามลำดับความสำคัญ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพได้รับอนญาตให้กลับมาเปิดเป็นอย่างแรก

    2) ได้ผ่อนปรนข้อห้ามและข้อจำกัดจากข้อมูลการติดตามที่มี

    3) ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนที่เข้าเมือง สีเขียวหมายถึงสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี สีเหลืองหมายถึงต้องกักตัวอยู่บ้าน 7 วัน ส่วนสีแดงหมายถึงต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน สีเหลืองและสีแดงอาจกลายเป็นสีเขียวได้หลังสิ้นสุดการกักตัว มีการใช้ระบบตรวจสอบสุขภาพในทุกเมืองของมณฑลเจ้อเจียง และจะขยายไปเมืองอื่นๆ

    4) ประชาชนแต่ละคนต้องติดตามและวัดอุณหภูมิของตัวเองและรายงานผลทุกวัน เพื่อรักษาสถานะสุขภาพ

    5) ข้อมูลสุขภาพมีการติดตามโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหางโจว (Center for Disease Control and Prevention)

    เทคโนโลยีใหม่นี้ได้ให้ผลอย่างดี อย่างน้อยที่หางโจว และอาจจะมีความท้าทายอยู่บ้างในการติดตามนักเดินทางที่อาจจะนำเชื้อไวรัสเข้ามาในเมือง

    คิวอาร์โค้ด ติดตามประชาชน ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2020/03/coronavirus-covid-19-hangzhou-zhejiang-government-response/
  • ประเมินทรัพยากรทางการแพทย์และระบบตอบสนองว่าพร้อมรับมือกับการระบาดหรือไม่ และต้องใช้อุปกรณ์มากแค่ไหน มีบุคคลากรทางการแพทย์เพียงพอหรือไม่ และจะป้องกันพวกเขาอย่างไร
  • ประชาชนในจีนกล้าหาญและร่วมมือร่วมใจเพื่อต่อสู้กับไวรัส แต่การเสียชีวิตจำนวนมากในอู่ฮั่นส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอในขณะที่ตอนนั้นต้องการเร่งด่วน อู่ฮั่นไม่มีกลไกตอบสนองในการจัดการกับภัยพิบัติ จึงทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ไม่ดี จึงมีทั้งผู้ป่วยติดเชื้อและบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลติดเชื้อ นับว่าเป็นสัปดาห์ที่โกลาหล

    รัฐบาลท้องถิ่นเจ้อเจียงได้เตรียมรับมืออย่างดี โดยจัดหาและจัดสรรทรัพยากรรวมทั้งจัดการและติดามการระบาดในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี ที่หาวโจวมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จำนวน 204 รายทำหน้าที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อ หาตัวบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

    การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์และขาดความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อในสัปดาห์แรกๆ ที่มีการระบาดในอู่ฮั่น แต่เมื่อผ่านไปได้ 6-8 สัปดาห์ ทีมทางแพทย์จำนวน 31 ทีม ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาลกว่า 42,000 คน ได้ลงพื้นที่อู่ฮั่นเพื่อช่วยเหลือ มีการสร้างโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียงขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 10 วันที่อู่ฮั่น

  • การดำเนินการตามมาตรการป้องกันในชุมชน โรงเรียน ธุรกิจ หน่วยงานราชการและที่อยู่อาศัย มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้
  • ในการต่อสู้กับไวรัส ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีภาระความรับผิดชอบเหมือนกันและมีความเสี่ยงเหมือนกัน โควิด-19 ติดต่อได้และระบาดได้โดยไม่แสดงอาการ ดังนั้นการระดมทุกภาคส่วนของสังคมและทุกคนให้มีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญ ความสำเร็จของการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมของหางโจว ซึ่งมีพลเมือง 10 ล้านคนเป็นตัวอย่าง ที่ที่อื่นๆ ของโลกควรทำตาม และปัจจัยของความสำเร็จคือ ต้องให้ทุกร่วมรับผิดชอบ ให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบร่วมกัน และต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรับมือกับสถานการณ์

    การวางแผนที่รัดกุมและรอบคอบ รวมทั้งแนวทางที่ชัดเจนก็มีประโยชน์ หางโจวอนุญาตให้ลูกจ้างกลับไปทำงานได้ตามระยะการเปิดของโรงงาน หลายธุรกิจ องค์กร โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการใช้การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต

    ระหว่างการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการรวมตัว และการสัมพันธ์กับคนหลายคน จีนอาจจะเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์จากการที่ธุรกิจหยุดชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดและเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง

    เมืองหางโจวช่วงล็อกดาวน์ ที่มาภาพ:https://www.reuters.com/article/us-china-health-zhejiang/chinas-zhejiang-to-prioritize-restarts-at-key-exporters-manufacturers-after-virus-lockdown-idUSKBN1ZZ1DB
  • ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันการณ์ต่อสาธารณชน
  • จีนมีการสื่อสารต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ในหางโจวมีตัวอย่างให้เห็นคือ ข่าวส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผลการรักษาทุกวัน ตลอดจนแผนที่จะดำเนินการและแนวทางกระบวนการที่ประชาชนต้องปฏิบัติ

    คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่นับตั้งเริ่มการระบาด มีการพัฒนาสื่อที่เข้าใจง่ายสำหรับนักเรียนและประชาชนทั่วไปพร้อมข้อมูลของไวรัสและวิธีการป้องกันการระบาด มีการให้ข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์และเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริงแก่ประชาชนเป็นความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธาณสุขรวมทั้งต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้กับไวรัส

    จีนกำลังกลับมาฟื้นเศรษฐกิจ มีการเปิดโรงเรียนและกลับสู่ภาะปกติ

    มีหลายบทเรียนที่โลกสามารถเรียนรู้ได้จากจีนทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ความเสี่ยงด้านสุขภาพของโลกได้สอนให้รู้ถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค และช่วยให้หาแนวทางการปรับระบบการป้องกันและควบคุมทั้งในจีนและของโลกให้ทันสมัยขึ้น