ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ปัดนั่ง “กุนซือ” พรรคประชารัฐ ยันไม่ยุบ คสช. -มติ ครม. ผ่าน กม. คุม “เงินดิจิทัล” – ชงเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย

“บิ๊กตู่” ปัดนั่ง “กุนซือ” พรรคประชารัฐ ยันไม่ยุบ คสช. -มติ ครม. ผ่าน กม. คุม “เงินดิจิทัล” – ชงเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย

13 มีนาคม 2018


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ท่ามกลางกระแสข่าวถูกทาบทามให้มาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐและนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ และยังไม่มีใครเชิญให้ไปนั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค ขณะนี้ขอทำงานในหน้าที่ของตนเองไปก่อน เพราะเรื่องการเมืองยังมีเวลาที่จะดำเนินการ”

นายกฯ ปัดเกี่ยวข้องพรรคประชารัฐ – ยันไม่ยุบ คสช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพรรคการเมืองทาบทามเป็นที่ปรึกษาพรรคว่า “ผมยังไม่เกี่ยวข้องอะไรสักอย่างเลย นั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษายังไม่มีมาเชิญผมเลย มีแต่พูดๆ กันไป ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็ยังไม่ทราบเหมือนกัน ผมขอเวลาทำงานไปก่อนแล้วกัน การเมืองยังมีเวลาว่ากันไปต่อไป”

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใหม่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คงไม่เกี่ยวข้องกับเสน่ห์ส่วนตัว เพราะความมีเสน่ห์ใช้กับเรื่องของผู้ชายจีบผู้หญิง แต่ขณะนี้ไม่ได้จีบผู้หญิง ผมไม่มีเสน่ห์ พูดจาก็เป็นแบบนี้ เสน่ห์คงไม่มีเท่าไหร่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การเมืองวันนี้มีทั้งคนสนับสนุนและไม่สนับสนุน ฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูป อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการฏิรูปและอยากให้บ้านเมืองกลับไปเหมือนเดิม ทำให้เกิดความวุ่นวายแบบเดิม จึงไม่มีความพอดีสักอย่าง ดังนั้นเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนที่จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ  แต่หน้าที่ของ คสช. วันนี้คือการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

“หน้าที่ของ คสช. วันนี้คือดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นไม่ว่านักการเมืองคนไหนหรือพรรคใดถ้าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความขัดแย้ง มีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ต้องมีการพิจารณาตามกฎหมายว่าควรจะดำรงอยู่หรือไม่อย่างไร เพราะวันนี้ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ในการรักษาความสงบของบ้านเมือง ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็พยายามจะฝ่าฝืนกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ไม่รู้สึกกดดันในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด และไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจว่าอยากให้ประเทศชาติเป็นอย่างไร ต้องการการปฏิรูปหรือไม่ เป็นเรื่องของประชาชนที่ตัดสินในการเลือกตั้ง

“วันนี้พูดกันแต่เรื่องเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งอยู่เรื่องเดียว แต่ขณะที่รัฐบาลพยายามจะพูดเรื่องของการทำงาน เรื่องอนาคต แต่ก็ถูกโจมตีแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว มันไปไม่ได้หรอกประเทศไทยถ้าเป็นแบบนี้ ทุกคนต้องช่วยกันวิเคราะห์ว่าบ้านเมืองควรจะเดินไปอย่างไร ถ้าจะไปอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ควรจะต้องทำตัวอย่างไร ต้องวางอนาคตให้ประชาชนเห็นหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการณีที่นักการเมืองเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งหากจะไปเล่นการเมืองว่า อยากให้กลับไปดูช่วงที่ผ่านมาว่านักการเมืองที่เป็นรัฐบาลมีการลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่วิจารณ์อยู่ถือเป็นคนละเรื่อง ขออย่าบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนรังเกียจตนและ คสช.

“หลายคนบอกว่าให้ผมลาออกตั้งแต่วันนี้ถ้าจะเล่นการเมือง แต่สมัยก่อนเวลานักการเมืองเป็นรัฐบาลเขาลาออกกันบ้างหรือเปล่า ก่อนการเลือกตั้งใหม่ มันคนละเรื่องกันหมด เพราะฉะนั้นอย่าไปทำให้มันบิดเบือน อย่าทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันอีก ประชาชนก็จะมารังเกียจ คสช. มารังเกียจผมเข้าไปอีก ย้อนกลับไปดูสมัยก่อนสิครับ ผมเห็นนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วก็ไปเลือกตั้ง ไปหาเสียง ขณะที่ยังเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำไป แต่วันนี้ผมยังไม่เป็นอะไรสักอย่าง แล้วผมก็ไม่ได้หาเสียงด้วย ผมกำลังทำงานอย่างหนักในการทำให้ประเทศชาติเปลี่ยนแปลง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

กรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้ยุบ คสช. นั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 265 กำหนดชัดเจนว่า คสช. ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ชงร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ส่งศาล รธน. ตีความ ยันไม่กระทบโรดแมป

พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่งให้ สนช. พิจารณาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า จะไม่ทำให้กระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้งหรือโรดแมปที่วางไว้ล่าช้าออกไป เว้นแต่จะมีกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กระบวนการพิจารณาของศาล ซึ่งเชื่อว่าศาลสามารถพิจารณาให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมได้

ไม่มีล่าช้า ทุกอย่างต้องไม่ให้ล่าช้า เป็นไปตามกำหนดกุมภาพันธ์ 2562  เว้นแต่มีอะไรที่บังคับไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเวลาที่มีอยู่ศาลน่าจะพิจารณาได้ทัน ซึ่งผมก็บอกแล้วว่าขอให้ทำอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด ดังนั้นไม่ต้องห่วง ยังไงก็ได้เลือกตั้ง แต่ปัญหาของผมก็คือทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ทำอย่างไรให้ไม่มีคนไปส่งเสริมสนับสนุนหรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวผิดๆ ถูกๆ เพราะในเมื่อบอกไปแล้วว่ากุมภาก็กุมภา แล้วจะมาเร่งเลือกตั้งอะไร จะมาไล่ คสช. ได้ยังไง ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ตนและ คสช. ไม่ต้องการมีอำนาจสำหรับตัวเอง แต่มีอำนาจไว้เพื่อในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข “วันนี้เราต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ขอด้วยเหตุด้วยผลเถอะ ผมไม่ได้ต้องการใช้กฎหมายเพื่อให้ผมมีอำนาจเยอะๆ ผมเคยบอกแล้วว่าผมไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องการเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินเวลานี้ ขอสื่อด้วย อย่าไปตีความให้วุ่นวาย”

กำชับดูแลสุนัขเร่ร่อน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าระบาด

พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ว่าขณะนี้เป็นช่วงระบาด ขอให้นำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนสุนัขจรจัดหรือเร่ร่อนได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ทำหมันหรือฉีดวัคซีนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ห้ามไปรังแกสุนัขหรือฆ่าทิ้ง

“ผมเคยเตือนไปแล้วว่าช่วงนี้เป็นช่วงระบาด ขอให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา  และต้องเรียนรู้ว่าหากถูกสุนัขกัดต้องทำอย่างไร ไปหาหมอ ไปฉีดวัคซีน รักษาตัวเอง  ส่วนสุนัขเร่ร่อนให้เทศบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วงนี้ขอให้ทุกคนเคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง ป.ป.ท. ลุยสอบการใช้จ่ายงบฯ ทุกกระทรวง-ป้องกันการทุจริต

พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และเงินกองทุนช่วยเหลือเด็กยากไร้ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปตรวจสอบในทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน และทุกงบประมาณที่มีปัญหาเนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐโดยตรง

“มีหลายหน่วยงานที่ปรากฏเรื่องเหล่านี้ออกมา รัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลย กำลังตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ แต่กระบวนการสอบสวนบางครั้งช้าเกินไป ซึ่งผมได้เร่งรัดให้ ป.ป.ท. เข้าไปตรวจสอบในทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน และทุกงบประมาณที่มีปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้มีความชัดเจนและความเป็นธรรมเกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แนะสรรพสามิตเก็บภาษีรถยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2

พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหามลภาวะที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ปัญหามลภาวะถือเป็นปัญหาทั้งโลก ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศไม่กระจายตัว รวมทั้งเกิดจากการสะสมก๊าชคาร์บอนไดร์ออกไซด์ (CO2) ที่มาจากยานพาหนะที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับปัญหาพบว่าเป็นทั้งประเทศ  ดังนั้นจะต้องดูแลสภาพอากาศให้ดีขึ้น พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการเก็บภาษีสรรพสามิตจากรถที่ปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม โดยนำเงินเหล่านี้มาแก้ไขปัญหามลพิษ แต่อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และรู้จักป้องกันตัวเอง

“ที่ผมกำชับไปก็คือ เราต้องไปดูว่ารถยานพาหนะของเรา แต่ก่อนเสียภาษีอย่างเดียว วันนี้ต้องเสียภาษีสรรพสามิตหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพหรือไม่  ตรวจก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตออกมาจากรถ มันต้องมีภาษีเหล่านี้ เพื่อนำเงินมาชดเชยเรื่องการแก้ปัญหามลพิษด้วย ซึ่งเราก็ต้องแก้ไขให้ได้ และทุกคนต้องร่วมกันป้องกันตัวเองด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกฯ ชม “ละครบุพเพสันนิวาส” สืบสานวัฒนธรรมไทย

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการต่อยอดงานอุ่นไอรักคลายความหนาว และละครบุพเพสันนิวาส เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ว่า รัฐบาลได้จัดงานอุ่นไอรักตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับสั่งให้รักษา สืบสาน และต่อยอดขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นกระแสที่ประชาชนได้ร่วมกันทำความดีและระลึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าของประเทศไทย และได้ให้แนวทางไปต่อยอดว่าจะต้องส่งเสริม รักษาต่อไป

“ผมได้ให้แนวทางไปแล้วว่าให้ส่งเสริมและรักษาต่อไป เช่น การท่องเที่ยวชุมชน การรักษาสถานที่โบราณสถานต่างๆ นำไปสู่การจัดกิจกรรมในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยใช้ประวัติศาสตร์นำ ให้ประเทศไทยไม่ลืมประวัติศาสตร์ของตัวเอง และสืบสานวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณผู้จัดและทีมงานละครบุพเพสันนิวาส ที่ได้ทำละครอิงประวัติศาสตร์ออกมาให้คนไทยได้ดู ขอให้ทำกันต่อไป โดยที่ไม่ทำอะไรให้เสียหาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า “ออเจ้าฉายวันพุธ และวันพฤหัส ตอนกลางคืน หลายคนบอกว่าผมไปใช้เวลาของเขา ผมพูดวันศุกร์ ไปเกี่ยวอะไรกับวันพุธ วันพฤหัสล่ะ รายการคืนวันศุกร์ไม่ได้รบกวนออเจ้าเลย”

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ซ้าย) และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ผ่านร่าง พ.ร.ก.คุม “เงินดิจิทัล”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ทางดิจิทัล เพื่อกำกับดูแลธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่าไอซีโอ (Initial Coin Offering: ICO) เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกฉ้อโกงและไม่ให้เกิดการฟอกเงินขึ้น เนื่องจากปัจจุบันได้มีการมีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว และมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีกฎหมายโดยเฉพาะที่จะมาดูแลเรื่องนี้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะต้องตรา พ.ร.ก. อย่างไรก็ตาม ไม่ปิดโอกาสเอกชนในการทำธุรกิจ

“กฎหมายดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมีประเด็นไปถึงเรื่องการเก็บภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดจากการซื้อขายสินทรัพย์ทางดิจิทัลด้วย ซึ่งตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดเรื่องภาษีจะต้องออกมาให้สอดรับกับ พ.ร.ก. นี้ โดยรายละเอียดของกฎหมายจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์หน้า” นายณัฐพรกล่าว

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกฎหมายลูกอื่นๆ ที่จะออกตามมาโดยกระทรวงการคลัง มีประมาณ 10 ฉบับ และจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีก 5 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ผู้ที่เป็นตัวกลาง หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ผู้ที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) และผู้ที่เป็นผู้ค้า (ดีลเลอร์) เพื่อให้ทราบข้อมูล จำนวน ของผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว

“ตามหลักการขึ้นกับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นไปลักษณะไหน หากมีการซื้อขายกันแล้วเกิดกำไรขึ้น จะต้องเสียภาษีตามปกติทั่วไป แต่หากว่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะเหมือนคล้ายๆ ผู้ถือหุ้น มีการจ่ายปันผลก็ควรจะต้องเสียภาษีตามปันผล พูดง่ายๆ คือให้ทุกอย่างนั้นเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมาในรูปแบบของดิจิทัลหรือรูปแบบหุ้น” นายณัฐพรกล่าว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายวิษณุได้ชี้แจงและอธิบายรายละเอียดของกฎหมายว่าจะกำกับดูแลไม่ให้มีการนำเรื่องนี้ไปใช้ในกระบวนการฟอกเงินหรือหลอกลวงประชาชนเช่นเดียวกับกรณีของแชร์ลูกโซ่ โดยในที่ประชุมเห็นว่า การกำกับดูแลเงินดิจิทัลนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในไทย ขณะเดียวกันยังพบว่ามีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เพราะเวลานี้มีธุรกิจเอกชนเป็นจำนวนมากเตรียมระดมทุนด้วยเงินสกุลดิจิทัล ดังนั้นจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมมากที่สุด และจะประกาศเมื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงขอนำเรื่องนี้ไปตรวจสอบในรายละเอียดให้ถูกต้องชัดเจนอีกครั้งก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน หากจำเป็นต้องแก้ไขในสาระสำคัญของกฎหมายก็ต้องนำเสนอให้ ครม. เห็นชอบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ชงเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย “คริปโทเคอร์เรนซี”

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน โดยได้กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่นๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นๆ

สำหรับนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลตามประมวลรัษฎากรฯ หมายความว่า (1) คริปโทเคอร์เรนซี (2) โทเคนดิจิทัล และ (3) ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด, คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด, โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใดๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

และกำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินรายได้พึงประเมิน โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ในอัตราร้อยละ 15 สำหรับรายได้พึงประเมิน ส่วนนิติบุคคลจะมีการกำหนดอัตราภาษีภายหลัง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ มีผลใช้บังคับแล้ว

อย่างไรก็ตาม อัตราการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ที่กระทรวงการคลังนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. อยู่ระหว่าง 10-15% ซึ่งในการหารือกันนั้นให้ขึ้นอยู่กับรองนายกฯ วิษณุจะตัดสินใจ เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่เคยจัดเก็บถึง 15% ไม่ว่าจะเก็บภาษีจากดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคา ส่วนทางด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ท้วงติงอะไร และชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการได้รวดเร็วแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

เห็นชอบ “งบกลางปี 61” วงเงิน 1.5 แสนล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวนไม่เกิน 100,358,077 ล้านบาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลังเป็นจำนวน 49,641,923 ล้านบาท โดยจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาขอ สนช. ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 นี้

รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ จำแนกตามยุทธศาสตร์ และการจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ จำนวน  24,300 ล้านบาท จะจัดสรรไว้ในแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร
  • ยุทธศาสตร์ด้านแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 76,057 ล้านบาท แบ่งเป็น แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน  21,078 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน 54,978 ล้านบาท
  • งบกลาง รายการใช้จ่ายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน 4,600 ล้านบาท
  • รายการค่าดำเนินการภาครัฐเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน  49,641 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบกลางจำนวน 4,600 ล้านบาท แบ่งแยกรายกระทรวงได้ดังนี้ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 34,022 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 31,875 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 22,700 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 3,988 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 2,120 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม 498 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 258 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 106 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 72 ล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรม 68 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง 5 ล้านบาท

“แนวทางในการจัดทำงบกลางปี มี 3 หลักด้วยกัน คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับสวัสดิการ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพ และการจ้างงาน ส่วนหนึ่งของงบประมาณนี้จะลงสู่การช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ในเมนูอาชีพ โครงการสวัสดิการประชารัฐ เฟส  2 2) การพัฒนาเชิงพื้นที่ ผ่านกระบวนการประชาคม สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชน ในการพัฒนาอาชีพ หลักๆ คือ การพัฒนาชุมชน หรือหมู่บ้าน ทางด้านชุมชนการท่องเที่ยว และ 3) การปฏิรูปโครงสร้างการผลิต ภาคการเกษตรทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรทั้งสิ้น 4.7 ล้านรายให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น” นายณัฐพรกล่าว

อนุมัติงบประกันสุขภาพปี 62 กว่า 1.9 แสนล้าน – ลดเหมาจ่าย/หัวเหลือ 3,426 บาท

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณสำหรับงนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงินทั้งสิ้น 195,768 ล้านบาท แยกเป็น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 193,922 ล้านบาท และงบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1,846 ล้านบาท และกรอบงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 207,504 ล้านบาท

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมางบประมาณของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ได้เสนอในวงเงิน 171,000 ล้านบาท โดยมีการปรับลดวงเงินลงมาเล็กน้อย ในหลักร้อยล้าน ในปี 2561 ได้เสนอวงบประมาณเข้ามาในวงเงิน 185,744 ล้านบาท รัฐบาลเห็นชอบ 176,000 ล้านบาท โดยปรับลดจากที่เสนอขอประมาณ 4.7% และที่เสนอในครั้งนี้ปรับลดงบประมาณในบางเรื่องลงมาได้ 6.3% ทำให้วงเงินที่ได้รับอนุมัติลดลงเหลือ 183,430.30 ล้านบาท จากวงเงินที่เสนอขอ 195,768 ล้านบาทข้างต้น

“เงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแยกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนการบริการทางการแพทย์ สามารถปรับลดค่าเหมาจ่ายรายหัวจาก 3,634.82 บาท/คน/ปี ลงเหลือ 3,426.56 บาท/คน/ปี และส่วนงบบริหารจัดการ สปสช. วงเงิน 1,846.30 ล้านบาทนั้น ทางสำนักงบประมาณขอไปพิจารณาในรายละเอียดและพิจารณาปรับลดตามความเหมาะสม ซึ่งทาง สปสช. ไม่ขัดข้อง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบ “ร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ” ฉบับใหม่ หนุนธุรกิจการบิน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ เพื่อประกาศใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศ ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบห้วงอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปตามแนวทางสากลและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยใช้หลักการของ Flexible Uses of Airspace (FUA)

โดยที่ผ่านมาห้วงอากาศของไทยหรือพื้นที่บนท้องฟ้าไทยจำนวน 777,760 ตารางกิโลเมตร ได้กำหนดพื้นที่เดินอากาศแบบตายตัว คือกำหนดว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่หวงห้าม เช่น พื้นที่ตั้งของหน่วยทหาร หรือพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่กำกัด เช่น พื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น พื้นที่เขตท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นพื้นที่ปลดปล่อยน้ำมันของทหาร เป็นต้น และพื้นที่อันตรายที่ทหารใช้สำหรับฝึกทำการรบ สายการบินพาณิชย์จะบินผ่านไม่ได้ โดยพื้นที่ลักษณะดังกล่าวมีประมาณ 50% ของพื้นที่การบินในเขตน่านฟ้าไทยทั้งหมด

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรจะต้องบริหารจัดการใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสากลให้การบริหารจัดการห้วงอากาศมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้ใช้งานในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะทำให้บริษัทการบินมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เป็นที่ดึงดูดใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น พื้นที่การบินที่มีอยู่ในประเทศ จะนำมาบริหารจัดการใหม่ร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคง กระทรวงคมนาคม และการบินพลเรือน

“ครม. ยังมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับยุทธการ และระดับปฏิบัติการ ซึ่งในระดับนโยบายมีคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการห้วงอากาศ ส่วนระดับยุทธการจะมีคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการห้วงอากาศ มีหน้าที่แปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติหรือทำแผนปฏิบัติการ และคณะกรรมการระดับปฏิบัติการ มีหน้าที่บริหารการจราจรทางอากาศ ระหว่างฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ไฟเขียวแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม 5) ด้านเศรษฐกิจ 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) ด้านสาธารณสุข 8) ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9) ด้านสังคม 10) ด้านพลังงาน และ 11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

โดยแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีประเด็นแยกย่อย รวม 132 ประเด็น มี 478 กิจกรรม และ 791 ตัวชี้วัด โดยนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกกระทรวงนำเป้าหมายการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ตรวจสอบว่ามีกิจกรรมใดที่สอดคล้องกับแนวทางของแต่ละกระทรวง เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

“แผนปฏิรูป 11 ด้านได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้ สนช. ซึ่งหลัง สนช.ให้ความเห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านมีระยะเวลาในการทำงาน 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปไปสู่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จนนำไปสู่การออกกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะคอยรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ป.ป.ช. รับทราบ ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องดำเนินการ ถ้าทำไม่ได้ก็เสนอความเห็นให้คณะกรรมการปฏิรูปปรับแก้ได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เคาะ 5,607 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตยารังสิต เฟส 2

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ในวงเงินลงทุนรวม 5,607 ล้านบาท โดยให้ใช้แหล่งเงินทุนจากเงินรายได้ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 2,243 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ จำนวน 3,364 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2561-2564) มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่มีมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ เป็นการส่งเสริมทั้งบุคลากรและการวิจัย

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิตยา รวม 2 แห่ง คือ โรงงานพลิตยาพระราม 6 และ โรงงานผลิตยารังสิต 1 ซึ่งทั้ง 2 แห่งจะต้องผ่านการตรวจรับรองตามข้อกำหนดมาตรฐาน ที่เรียกว่า PIC/S (Pharmaceutical Inspection Convention and Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตหรือ GMP ของสินค้าทางการแพทย์

อนึ่ง เนื่องจากโรงงานผลิตยาพระราม 6 ใช้ผลิตยายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว และตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและด้านความปลอดภัย และสายการผลิตยาทุกประเภทนั้นตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงข้อบกพร่องได้อย่างเป็นระบบ องค์การเภสัชกรรมจึงเสนอให้สร้างโรงงานผลิตยาอีกแห่งหนึ่ง โดยใช้เครื่องจักรและการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน GMP ที่รังสิตในพื้นที่ส่วนต่อขยาย โรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของราชพัสดุอยู่แล้ว

อ่าน มติ ครม. วันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่นี่