ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (จบ)

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (จบ)

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

“อวสานต้มยำกุ้ง” ตอนที่ 7 ได้เวลา ฟินาเล่ เสียที

วิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ใช้เวลาตั้งแต่การเริ่มบ่มเพาะฟองสบู่ ในปี 2534 ปีมะแม จนกระทั่งถึงจุดวินาศในปี 2540 และใช้เวลาแก้ไข ทั้งฟื้นฟู อีกร่วม 5 ปี จนถึงปี 2545 ปีมะเมีย ซึ่งผมถือว่าเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะระบบการเงินเริ่มทำงานได้ดี ธนาคารเริ่มขยายการปล่อยสินเชื่อหลังจากที่หดตัวเข้ากระดองมานาน รวมระยะเวลา 12 ปี ครบรอบปีนักษัตรพอดี โดยผมใช้เวลาเรียบเรียงร้อยเรื่องราวความทรงจำเท่าที่มีมาเล่าให้ฟังร่วมสองอาทิตย์

มีคนถามว่าผมรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร ขอตอบว่า ผมเป็นคนมีสันดาน “เสือกอ่าน เสือกฟัง เสือกรู้ เสือกเห็น” มาแต่ไหนแต่ไร เสร็จแล้วก็ยัง “เสือกคิด เสือกจำ” เลยเอามา “เสือกเขียน” โดยที่ไม่มีใครขอ ใครสั่ง แถมตังค์ก็ไม่ได้ แต่ก็ขอเตือนอีกนะครับว่าถึงจะรู้เยอะแค่ไหน ก็คงรู้ไม่ครบ ไม่หมด โปรดใช้วิจารณญาณให้มากก่อนที่จะเชื่อ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นความเห็น เป็นดุลยพินิจ เพราะผมมักได้ชื่อว่าคิดอะไรไม่ค่อยเหมือนคนส่วนใหญ่เสมอมา ยิ่งในบทสรุปยิ่งเป็นเรื่องความเห็นเสียเยอะ ใช้ “กาลามสูตร” เข้าจับนะครับ

ในช่วงที่เกิดวิกฤติ หลายคนรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เจ้าของกิจการจำนวนมาก ลำบากแทบเลือดตากระเด็น โดยเฉพาะ SMEs ผู้บริหาร พนักงาน รวมไปถึงแรงงาน ตกงานนับล้านคน จนทุกอย่างดูมืดมน บ้างก็กลับมายืนได้อีก บ้างก็ไม่สามารถกลับมาที่เดิมได้อีกเลย

แม้แต่คนที่เคยดีเคยแข็งแรง ไม่ได้รับผลกระทบตอนเกิดวิกฤติ แต่กลับได้รับผลกระทบเพราะกระบวนการแก้ไขก็มี ผมขอยกตัวอย่าง เพื่อนผมเป็นนักธุรกิจที่ดี ลงทุน 400 ล้านอย่างระมัดระวัง กู้เงินบาทจากสถาบันการเงินที่ดี ขณะที่คู่แข่งซึ่งประกอบกิจการเหมือนกัน ขนาดเท่ากันทุกอย่าง แต่สุรุ่ยสุร่าย ลงทุนปาเข้าไป 800 ล้านบาท เพราะยักยอกไปซื้อ Ferrari บ้าง ไปยัดเงินผู้บริหาร บง. บ้าง กู้เงินดอลลาร์ผ่าน บง. พอเกิดวิกฤติ ตอนแรกคู่แข่งเจ๊ง หยุดชะงัก เพื่อนก็ดูเหมือนดี แต่สักพักคู่แข่งไปซื้อหนี้กลับมาได้แค่ 200 ล้านผ่านกระบวนการ ปรส. เหลือต้นทุนแค่ครึ่งเดียว ตีกลับจนเพื่อนผมยับ รู้ยังครับว่าทำไมเขาถึงห้ามลูกหนี้เข้าซื้อหนี้ตัวเอง เพราะมันเป็น moral hazard ขั้นร้ายแรง แต่อย่างว่า จะให้คนอื่นซื้อก็ไม่มีใครกล้า เพราะพี่แกวางกับดักไว้เยอะ มาตรฐาน CG ที่ตำ่ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นหลายเท่า (เราถึงแก้อย่างประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้)

อีกตัวอย่างหนึ่ง Conglomerate ไทยขนาดใหญ่มาก (ติดอันดับต้นๆ ของ Forbes Thailand) มีหนี้กับ สบง. หลายสิบแห่ง พอเกิดวิกฤติถึงจะซวดเซ แต่ไม่ถึงกับแย่ แต่พอมีโอกาสที่จะไล่ซื้อหนี้ส่วนที่ติดกับ ปรส. ได้ ในราคาตำ่กว่าครึ่ง ก็เลยต้องกั๊กเงินสดทุกบาทไว้ซื้อหนี้ เลยเป็น NPL กับทุก สบง. ที่ดีที่ไม่ถูกปิด (จนเกือบทำให้ถูกปิดไปด้วย) ถามว่าท่านผิดไหมที่เป็น strategic NPL อย่างนี้ ตอบว่า ถ้าระบบ กระบวนการ กฎหมาย อนุญาตให้ทำได้ ก็ต้องทำ ไม่งั้นก็ไม่รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น

เห็นไหมครับ การมีสถาบันที่ดี CG ที่ดี กฎหมายที่ดี มีความสำคัญเพียงใด แต่นี่เราไม่มีสักอย่าง จะออกกฎหมายก็ถูกต่อต้านว่าขายชาติ แต่ปัญหาความหายนะก็อยู่ตรงหน้า ทิ้งไว้ก็ลงเหว จะแก้อย่างไรก็ไม่มีทางสมบูรณ์แบบ วันข้างหน้าก็ต้องมีคนมาด่ามาขุดคุ้ย ถึงความไม่สมบูรณ์ต่างๆ ส่วนเรื่องดีๆ เรื่องประโยชน์ สังคมมักลืมไปหมด (ถ้าไม่ด่าซำ้ว่าน้อย ไม่พอ ไม่คุ้ม หรือไม่ก็มีคนมาเคลมไปว่า “เพราะกู”)

ยิ่งสังคมนี้มีกลุ่มคนที่ “เอาแต่ด่า” หาแต่ช่องที่จะติ จะว่าคนอื่นตลอดเวลา ไม่ยอมเข้าใจเงื่อนไขข้อจำกัด เอาแต่เรียกร้องโลกในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง ด่าแต่มักไม่มีข้อแนะนำข้อเสนอเสียด้วยซำ้ ทำอย่างกับว่าหาช่องด่าคนได้แล้วเราจะรุ่งเรืองเสียอย่างนั้น คนดีที่รู้แกวเขาก็ไม่อาสา ไม่ยอมมาทำงานแก้ปัญหา มีแต่พวกอยากได้ประโยชน์กรูเข้ามา ผมเองขอสารภาพว่าได้รับการทาบทามให้ไปช่วยทำนั่นทำนี่อยู่หลายครั้ง แต่หลังจากคิดหนักก็กลับไปปฏิเสธทุกครั้ง ด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาว่า “ผมมีความเสียสละไม่พอ” อย่างการแก้ปัญหา ปรส. ถ้าจะให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างรวดเร็วโดยไม่มีช่องว่างรอยโหว่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เอาพ่อของ Bill Gates มารวมกับพ่อของ Jack Welch ยังทำไม่ได้เลย ถึงตอนนี้ขอคารวะและให้กำลังใจแก่ คุณอมเรศ ศิลาอ่อน และคุณวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ที่กำลังสู้คดีอยู่ อีกทีหนึ่งครับ อย่างคุณวิโรจน์ นวลแข เจ้านายของผม ไปลุยไปปลุกให้ธนาคารกรุงไทยลุกขึ้นมานำร่องปล่อยสินเชื่อจนทั้งระบบตื่นขึ้นมาทำหน้าที่ สุดท้ายก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีมานั่งสู้คดีที่ไม่เห็นจะมีมูลเกี่ยวกับท่านเลย (ที่ไม่ยกให้คุณวิโรจน์เป็นพระเอกอีกคนเพราะท่านเป็นคนเดียวในหมู่พระเอก ที่ไม่เคยมองผมหัวจรดเท้าด้วยหางตา….เดี๋ยวคนจะหาว่าซูเอี๋ย)

ดังนั้น บทเรียนบทแรกที่ผมคิดว่าเราได้รับจาก “มหาวิกฤติ” ก็คือ “การไม่รู้คุณคน” ทั้งๆ ที่ “ความกตัญญูรู้คุณ” ถูกพรำ่สอนตลอดมาว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นไทย มีองค์กรและผู้คนมากมายที่เสียสละทำงานอย่างหนัก กล้าเสี่ยงภัยทางกฎหมาย ทำให้เรากลับมาตั้งตัวเดินได้อีก แต่สุดท้าย ถ้าไม่ได้รับรางวัลเป็นคดีติดตัว ก็ถูกก่นถูกประณามอย่างไม่เป็นธรรม องค์กรอย่าง IMF ที่ถูกก่อตั้งมากว่า 50 ปี มีวัตถุประสงค์และมาตรฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน ก็ถูกป้ายสีแต่งเรื่องเสียอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนหลายพันคน หลายยุคหลายสมัยจะร่วมมือกันทำเรื่องอย่างที่ถูกป้ายสีได้ จนแม้ในหนังเขายังไม่นิยายเกินเลยขนาดนี้เลย (ถึงตอนนี้ผมหวังว่า ไม่ได้ก้าวล่วง “กูรู” ใน Facebook หลายท่านนะครับ ขอให้ถือเสมือนว่าเป็นความเห็นต่างมุม มือใหม่อย่างผมไม่ค่อยมีใครฟังหรอกครับ)

เรื่อง “คนดีจะไม่กล้าอาสา” นี้ ส่งผลมาถึงทุกวันนี้ อดีตนายกฯ ท่านหนึ่ง (ไม่บอกว่าใคร และไม่บอกว่าสมาคมไหน) เคยปรารภกับผม (นานมาแล้ว) ว่า “เมืองไทยนี่แปลก พวกคนดีนี่เปราะ มีอะไรกระทบนิด กระทบหน่อยทนไม่ได้ ไขก๊อกตลอด ส่วนไอ้พวกคนเลว ให้ทำอะไรก็ทนได้ ให้ย้ายไปดูจับกังดูแรงงานก็ไป อดทนกล้ำกลืนได้” (อ้าวไหนว่าจะไม่บอกว่านายกฯ อะไรไง แต่โปรดอย่าลืมคำว่านานแล้วนะครับ นานแล้วจริงๆ ไม่ใช่เดือนก่อน) นี่เป็นเรื่องอันตรายมาก ถ้าคนที่มาสาบานพรำ่พูดว่าจะมารับใช้ชาติ เหลือแต่พวกที่หวัง “รับไซ้ชาติ” ไม่นานชาติคงถูกไซ้จนเปลี้ย เหลือแต่กระดูกแน่

ปกติ วิกฤติขนาดนี้มักจะก่อให้เกิดการปฏิรูป (reform) ใหญ่ในหลายๆ เรื่อง เช่น ระบบการเงิน ระบบกฎหมาย ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ระบบดีขึ้น พร้อมที่จะเดินหน้าได้อย่างแข็งแรงขึ้น เผชิญวิกฤติอนาคตได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเวลาพัฒนามา ย่อมมีการบิดเบือน บิดเบี้ยวบ้าง การปฏิรูปหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่มักจะไม่มีลักษณะ win-win (คำเพราะๆ ที่ถูกยกเพื่อไม่ต้องทำอะไรเลย หรือเมื่อต้องการเอาเปรียบผู้เสียภาษี) จะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งในเวลาปกติมักถูกต่อต้าน ทำได้ยาก เวลามีวิกฤติจะมีแรงผลักดันทำให้เกิด ก็มาตรการ IMF ทั้งหลายนั่นแหละครับ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูปที่ดีขึ้นในระยะยาว แต่ก็อย่างที่บอก ถูกต่อต้าน ใส่ไคล้ป้ายสี จนทำได้ไม่ครบ หรือไม่ก็บิดเบี้ยว บิดเบือนไปไม่น้อย

สรุปว่า ถึงจะมีการปฏิรูปบ้างหลายด้าน (ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะมีรายงานการศึกษาหาได้ทั่วไป) ผมคิดว่าเราเสียโอกาสในการปฏิรูปไปไม่น้อย น่าเสียดายโอกาส จะภาวนาให้โอกาสแบบนี้กลับมาอีกไวๆ ก็ยังแหยงฝุดๆ เอาเป็นว่าชาติหน้าค่อย reform ใหญ่แล้วกัน อยู่กันอย่างยื้อๆ ไปวันๆ ก่อน

ความจริงเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ขนาดนี้ มักเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และนำไปสู่ความโกรธแค้นของฝูงชน เกิดการจลาจลวุ่นวาย แต่ในประเทศไทย แทบไม่มีความวุ่นวายใดๆ (social unrest) เลย ม็อบที่มีก็น้อยและมักเป็นเรื่องที่มีการเมืองหรือผลประโยชน์แฝง เช่น ม็อบต่อต้านกฎหมายขายชาติที่จัดตั้งโดยกลุ่มวุฒิฯ ที่กลัวว่านายทุนจะเดือดร้อน

เหตุผลที่ประเทศไทยไม่มีความวุ่นวาย และไม่จำเป็นต้อง reform ใหญ่ก็สามารถกลับมาตั้งหลักได้ เพราะเรามีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง เช่น

  • สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญจำเป็น อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยาสำคัญส่วนใหญ่ และที่อยู่อาศัย เป็นสินค้าที่เราผลิตได้เองพอเพียงแทบทั้งสิ้น วิกฤติค่าเงินไม่ได้ทำให้เกิดการขาดแคลนหรือราคาขึ้นรุนแรงใดๆ
  • ลักษณะครอบครัวแบบไทย ที่ยังมีความผูกพันเกื้อหนุนกันในวงกว้าง ทำให้ช่วยกระจายแบกรับผลกระทบได้ดี การช่วยเหลือกันทำให้ไม่มีใครลำบากขนาดอดตาย แรงงานตกงานสามารถกลับชนบท และยังมีที่อยู่ อาหารสมบูรณ์
  • สินค้าและผลผลิตอยู่ในลักษณะกระจายตัว ไม่พึ่งพิงอุตสาหกรรมใดมากเกินไป มีการกระจายที่ดี ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าปฐมภูมิ (ประโยชน์ของความไม่เจริญ) ทำให้เผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี
  • ตลาดคู่ค้าของเราก็กระจายตัวดี ไม่มีประเทศไหนมีสัดส่วนสินค้าส่งออกเกิน 20%

พอค่าเงินลด ต้นทุนของสินค้าส่งออกเราก็ลดหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุผลหลักที่เศรษฐกิจเราฟื้นตัวอย่างที่เรียกว่า export driven จากส่งออกแค่ 30% เป็นกว่า 70% ของ GDP น่าเสียดายที่เราหลงระเริงกับต้นทุนลด เลยละเลยที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จะเห็นว่า Total Factor Productivity เพิ่มน้อยมาก โดยเฉพาะธุรกิจไทย ทำให้เรากดค่าแรง และพอค่าเงินแข็งขึ้น (ยังสูงกว่าก่อนวิกฤติตั้งกว่า 20%) เราก็โวยวาย

ผมขอสรุปว่า บทเรียนที่เราได้รับมีไม่มากนัก โดยเฉพาะในระดับโครงสร้างใหญ่ ในระดับไมโครมีการเปลี่ยนแปลง โยกย้ายความมั่งคั่งบ้าง ประเทศเปิดมากขึ้น แต่คนรวยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น (รายละเอียดในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำฯ” โพสต์ เมื่อ 22 มิ.ย.)

ในด้านระบบการเงินซึ่งถูกกล่าวหาเป็นจำเลยสำคัญ ได้รับการปฏิรูปอย่างมากจนแข็งแรง มีเสถียรภาพ (ผมมีความเห็นว่าการที่ ธปท. มุ่งเสถียรภาพ at all cost ก่อให้เกิดต้นทุนต่อระบบมากไป…และเป็นข้ออ้างให้เปิดเสรีช้าลง) ธุรกิจธนาคารเข้มแข็ง และมีกำไรสูงมาก (ต้นทุนของระบบ…ดีกับพวกผม) ภาคเอกชนมีฐานะการเงินแข็งแกร่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ถ้าเราจะเกิดวิกฤติอีก จะไม่เป็นแบบเดิม ในระยะอันสั้นไม่น่าจะมีวิกฤติที่เกิดจากเอกชนหรือจากตลาดการเงินอีก ถ้าจะมีวิกฤติน่าจะมาจากทางสังคม การแตกแยกวุ่นวาย หรือจากการเมือง หนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ นอกจากว่าจะมี พ.ร.บ. 2.0 ล้านล้าน พ.ร.ก. 350,000 ล้าน ขาดทุนจำนำข้าวปีละ สองแสนล้าน ต่อเนื่องไปทุกปี ถ้าอย่างนั้น ไม่กี่ปี ก็น่าจะได้ไปสมทบกับพวก PIGS ในยุโรป เอารสชาติต้มยำกุ้งเราไปทำ “ต้มยำหมู” ให้ลือลั่น

เห็นทีจะต้องจบมหากาพย์ต้มยำกุ้งนี้เสียที นี่เป็นหนังสือเรื่องยาวที่สุดในชีวิตที่เคยเขียน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 15 กรกฎาคม 2556