ThaiPublica > คอลัมน์ > The Changing Game : ทุนนิยมฟุตบอลในโลกหลังโควิด (ตอนที่ 1)

The Changing Game : ทุนนิยมฟุตบอลในโลกหลังโควิด (ตอนที่ 1)

5 พฤษภาคม 2025


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

“ฟุตบอลไม่ใช่แค่เกมอีกต่อไป: เสียงสะท้อนจากสนามหญ้าในโลกใหม่”

“โลกหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ‘สนามฟุตบอล’ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เตะบอลอีกต่อไป… แต่มันคือเวทีของทุน เทคโนโลยี และการทูตรูปแบบใหม่”

ย้อนกลับไปก่อนปี 2020 …ทุนวัฒนธรรม (cultural capital) ที่เรียกว่า “ฟุตบอล” คือ หนึ่งในความบันเทิงที่เสมือนจะหยุดโลกได้ชั่วขณะ เวลา 90 นาทีในสนามเชื่อมโยงผู้คนจากหลากเชื้อชาติ ต่างทวีป ต่างภาษา ต่างศาสนา และต่างชนชั้น ด้วยจังหวะเกม ความเร้าใจ และความเป็นมนุษย์ของที่แสดงออกมาในเกมการแข่งขัน

“ทุนวัฒนธรรม” ตามแนวคิดของ Pierre Bourdieu และต่อมาในบ้านเราถูกขยายความโดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คือ ความรู้ ทักษะ สัญลักษณ์ หรือรสนิยมที่มีคุณค่าในสังคม และสามารถแปลงเป็นทุนทางเศรษฐกิจหรืออำนาจได้

ด้วยเหตุนี้ ฟุตบอล จึงไม่ได้เป็นแค่ “กีฬา” หรือ “เกม” อีกต่อไป หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ เช่น ฟุตบอลในบราซิลเปรียบได้ดั่งศาสนา

…ฟุตบอลในฐานะเครื่องมือสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เช่น EPL กับภาพลักษณ์ความเป็นลีกเมืองผู้ดีที่เต็มไปด้วยพ่อค้าแข้งจากทั่วโลก

…ฟุตบอล คือ ช่องทางธุรกิจระดับโลก ทุกวันนี้สโมสรฟุตบอลอย่างลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา ล้วนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง

…ฟุตบอล คือ พื้นที่สร้าง “ความภูมิใจร่วมกัน” (collective identity) ของชนชั้นแรงงานหรือชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ ทีมชาติเวียดนาม ฟุตบอลจึงความเป็นความภูมิใจร่วมกัน

แต่แล้วการระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์หลายอย่างไปโดยสิ้นเชิง

เกมในฟุตบอลในช่วงโควิด-19 และมนตร์เสน่ห์ที่คลายไปชั่วคราว ที่มาภาพ:[The Guardian] https://www.theguardian.com/football/2021/dec/27/premier-league-announces-record-103-new-positive-covid-19-cases

ฟุตบอลต้องหยุดชะงัก ลีกยกเลิก แฟนบอลหายไปจากอัฒจันทร์ รายได้ของสโมสรหายวับราวกับสายลม ยักษ์ใหญ่บางทีมเริ่มมีสถานะทางการเงินสั่นคลอน เช่น บาร์เซโลนา, อินเตอร์ มิลาน หรือแม้แต่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเองเคยรายงานภาวะขาดทุนชั่วคราว

ขณะที่โลกกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาด วงการฟุตบอลได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปพร้อมกัน เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ทุน เทคโนโลยี และภูมินโยบายทางการทูตกลายเป็นผู้เล่นตัวจริง

สนามหญ้าใหม่ของอำนาจ: จากเกมกีฬา สู่แพลตฟอร์มเศรษฐกิจโลก

ในปี 2023 คริสเตียโน โรนัลโด คือ ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกที่ย้ายไปลีกซาอุฯ ด้วยค่าเหนื่อยที่มากกว่างบประมาณรายปีของทีมในยุโรปหลายสิบทีมรวมกัน การย้ายครั้งนั้นไม่ได้เป็นแค่การซื้อขายนักเตะ แต่คือจุดเริ่มต้นของ “การประกาศอำนาจทางการทูตด้วยลูกหนัง”

รัฐบาลซาอุฯ ใช้ Public Investment Fund (PIF) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ขนาดใหญ่ระดับโลก เข้าไปถือหุ้นใน 4 สโมสรชั้นนำของ Saudi Pro League (SPL) และดึงนักเตะระดับโลกมาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงการตลาดและภาพลักษณ์ของประเทศ

ผู้สนใจโปรดดู https://time.com/6304203/strongsaudi-arabia-soccer-pro-league/?utm_source

การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลไม่ใช่เรื่องของทีม-นักเตะ-แฟนบอลอีกต่อไป

แต่เป็นเกมที่มีผู้เล่นใหม่ ได้แก่ รัฐที่มีทุนมหาศาล, กองทุนระหว่างประเทศ บริษัทเอไอ และแพลตฟอร์มดิจิทัล

จากทีมกีฬา สู่แพลตฟอร์มระดับโลก

หลายสโมสรระดับท็อปของยุโรป เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้, บาเยิร์น มิวนิค, หรือแม้แต่เบรนท์ฟอร์ด ไม่ได้คิดถึงการเตะบอลเพียงเพื่อชนะอีกต่อไป พวกเขาเริ่มลงทุนในสิ่งที่อยู่ “นอกสนาม” อย่างเป็นระบบ ได้แก่

    – สร้างแอปพลิเคชันของตัวเอง
    – ปล่อยสารคดีบน Netflix หรือ Amazon
    – ทำแพลตฟอร์ม Metaverse
    – เปิดแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
    – พัฒนา AI สำหรับ scouting และ tactical analysis

ไม่เพียงแต่เกมเปลี่ยน… “โครงสร้างของเกม” เองก็ถูกเขียนขึ้นใหม่เช่นกัน

สารคดีลูกหนังที่เต็มไปด้วยการบันทึกเรื่องราวของสโมสรและเหล่านักเตะซูเปอร์สตาร์

ฟุตบอลกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “creative economy” ขยับขยายจากเดิมที่เคยเป็น cultural capital หรือทุนวัฒนธรรม ที่ทุน เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก

แล้วแฟนบอลอยู่ตรงไหนในเกมใหม่นี้

แฟนบอลที่เคยมีสิทธิ์มีเสียงแสดงเป็นเจ้าของสโมสรในบางประเทศ เช่น เยอรมัน (ผ่านกฎ 50+1) กลับต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย เมื่อเจ้าของทีมจำนวนมากไม่ใช่คนในพื้นที่อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นกลุ่มทุนจากต่างชาติที่มองทีมฟุตบอลเป็น “สินทรัพย์การลงทุน” เจ้าของสโมสรมองฟุตบอล คือ ธุรกิจที่รายได้ไม่ใช่แค่ตั๋วเข้าชม แต่มาจากการตลาด, อีสปอร์ต, NFT, และสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั่วโลก

…แฟนบอลกลายเป็น “global consumer” (ผู้บริโภคระดับโลก) มากกว่า “local supporter” (ผู้สนับสนุนในท้องถิ่น)
น่าสนใจว่าความผูกพันแบบเดิมระหว่าง “ชุมชน” กับ “สโมสร” เริ่มถูกลดบทบาทลงอย่างช้า ๆ

บทส่งท้ายของตอนที่ 1: การเปลี่ยนแปลงเพิ่งเริ่มต้น

ผู้เขียนเริ่มต้นบทความนี้เป็นการโหมโรงตอนแรกในซีรีส์ที่พาผู้อ่านสำรวจโลกฟุตบอลในมิติใหม่ ที่ไม่เพียงเกี่ยวกับชัยชนะในสนาม แต่รวมถึงการเมืองของอำนาจ เศรษฐกิจของทุน เทคโนโลยีของข้อมูล และคำถามใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ว่า…

“เราจะรักษาแก่นของเกมลูกหนัง ความเป็นมนุษย์ ความสุข และความรัก ไว้ได้อย่างไร ในโลกที่ทุกอย่างมีราคา”

ตอนต่อไป: “การบูมของลีกซาอุฯ: จากน้ำมันสู่ลูกหนัง – Saudi Pro League และ Football Diplomacy