ThaiPublica > คอลัมน์ > ChatGPT…อย่าให้ “ปัญญาประดิษฐ์” ทำให้เรากลายเป็น “ปัญญาประดับ”

ChatGPT…อย่าให้ “ปัญญาประดิษฐ์” ทำให้เรากลายเป็น “ปัญญาประดับ”

30 มีนาคม 2023


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

นับตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวมาเมื่อปลายปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ ChatGPT กำลังกลายเป็น AI ที่ทรงอิทธิพลและเป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกับ Google ที่ครองโลก Search engine มานานกว่าสองทศวรรษ

ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ชนิดที่ “ถามอะไร” ตอบได้หมด กระชับ ชัดเจน สร้างกรอบความคิด แถมออกแบบชุดความรู้ให้ได้ด้วย คุณสมบัติเหล่านี้ ChatGPT ได้กลายเป็นเครื่องมือดิจิทัลที่ทรงอานุภาพในวันหน้า

อย่างไรก็ดี AI ประเภทนี้คงไม่ได้มีแค่ข้อดีอย่างเดียว หากแต่ทุกอย่างมี”ข้อพึงระวัง”เช่นกัน

ผู้เขียนติดตาม ChatGPT มาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดตัวประมาณเดือน พ.ย. จนถึงวันที่ผู้เขียน Subscribe GPT เป็น ChatGPT Plus เสียค่าสมาชิกรายเดือน ๆ ละ 20 เหรียญ และเพิ่งใช้ ChatGPT 4.0 เมื่อวันอังคารที่ 16 มี.ค.2566

ประโยชน์ของ GPT นั้นมีมากมาย จนผู้เขียนเรียกชื่อ GPT ภาษาไทยว่า “จิปาถะ” เพราะถามหรือคุยอะไรกับ Chatbot ตัวนี้ เราแทบจะได้คำตอบที่ดีเกือบทุกเรื่องจิปาถะ

ด้วยความเป็นปัญญาประดิษฐ์…สิ่งที่เราคิดต่อจากนี้ คือ เราควรหาวิธีทำงานร่วมกับ AI อย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยังหลงเหลือภูมิปัญญาความเป็นมนุษย์อยู่

สำหรับผู้เขียนแล้ว การใช้ข้อมูลจาก GPT ควรสอบทานความถูกต้องข้อมูลอีกครั้ง ก่อนนำไปใช้งาน…ด้วยเหตุที่ว่า “อย่าเชื่อ” เพราะเป็นปัญญาประดิษฐ์

GPT สามารถให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ กระชับ ชัดเจน ถึงขนาดวันนี้ เราสามารถใช้ ChatGPT ควบคู่ไปกับ Google Chrome extention เวลาเราค้นหาข้อมูล

เราต้องการข้อมูลที่กระชับ เข้าใจง่าย ชัดเจน โดยไม่ต้องการข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างที่ Search engine พยายามค้นให้เรา

GPT สามารถประหยัดเวลา ลดต้นทุนการสืบค้น ขณะเดียวกันสามารถออกแบบ สร้างสรรค์สิ่งที่มนุษย์ยังคิดไม่ได้

ปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ หากเราต้องพึ่งพามันตลอดเวลา …ท้ายที่สุด วันหนึ่งปัญญามนุษย์เราจะเหลือเพียง “ปัญญาประดับ”

ความหมายของปัญญาประดับ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Superficial Intelligent อาจทำให้เรากลายเป็น Pseudo Intellectual หรือปราชญ์จอมปลอมแบบไม่รู้ตัว

ChatGPT ได้ฉีกกฎขั้นตอนการพัฒนาภูมิปัญญามนุษย์ กล่าวคือ แทนที่มนุษย์เริ่มต้นจากการสงสัย ใคร่รู้ และตั้งคำถาม…จากนั้นจึงค้นคว้า ทดลอง ใช้เวลาศึกษาวิจัย จนกระทั่งได้แนวคิด ต่อยอดสู่ทฤษฎี สร้างกฎ

ทดลองซ้ำ… เพื่อยืนยันสิ่งที่ตนเองพบ และต่อยอดใหม่ จนสร้างภูมิปัญญามนุษย์ หรือ Wisdom

โจทย์ที่ท้าทายเรื่องการใช้ GPT คือ เราจะใช้ GPT อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ทำให้เราฉลาดขึ้นและพัฒนาไปพร้อมกับเจ้าปัญญาประดิษฐ์

ผู้เขียนสนับสนุนการใช้งาน GPT จิปาถะอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อเสมอว่า เราสามารถพัฒนา เก่งขึ้นได้ หากใช้งานมันเป็น

Bernard Marr ที่มาภาพ : https://bernardmarr.com/

Bernard Marr นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) และ Influencer คนสำคัญในวงการเทคโนโลยีและ Foresight ได้เขียนหนังสือชื่อ Future Skills : The 20th Skills and Competencies Everyone Needs to Succed in a Digital World

หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นไทยแล้วในชื่อ “ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้” แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Nanmeebooks

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับสังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีตั้งแต่เกิดจนตาย…ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน

เราควรมีทักษะอะไรบ้างที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับ AI อย่างเข้าใจและมีความสุข

เราสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์มาประดับปัญญา ความสามารถเรา ไม่ใช่ AI ทำให้เราเป็นเพียงแค่ปัญญาประดับ

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/

ทักษะที่ Marr เสนอมีอยู่ยี่สิบทักษะ ไล่ตั้งแต่เรื่องของการดูแลสุขภาพกายและใจของเราเองในฐานะที่เป็น Health and Mental literacy

ทักษะที่อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมอย่างมีความสุข โดยเฉพาะการยอมรับ ชื่นชมกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราปรับตัว สงสัยใคร่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หรือ Life long learning

ทักษะในการบริหารเวลา (Time Management) จัดระเบียบชีวิตตัวเอง ลำดับความสำคัญเป็น

ทักษะความเป็นผู้นำที่ไม่ได้แค่สอนในห้องเรียน MBA แต่หมายถึงทักษะที่เป็นผู้นำที่เริ่มจากเป็นผู้ตาม Follower ที่ดีด้วย

นอกจากนี้ยังมีทักษะเรื่องความฉลาดทางวัฒนธรรมและยอมรับความหลากหลายแตกต่าง (Cultural Intelligent & DEI หรือ Diversity-Equity-Inclusion)

ไม่นับรวมทักษะอื่น ๆ ที่ยุคก่อน Covid-19 พูดไว้สักพักแล้ว เช่น Digital literacy , Data Analytic, Data Visualization, Creativity, Critical thinking, Agile & Flexibility

คำใหม่ ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร จนแทบไม่มีวันหยุดพัก

…การเติบโตของข้อมูลข่าวสารแบบทับทวีคูณทำให้เราจำเป็นต้อง “กรอง” ข้อมูลเป็นด้วยสติปัญญาที่แท้จริงของเราเอง

“กาลามสูตร” ข้อที่เก้าที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ คือ
มา ภพฺพรูปตา – อย่าเพิ่งเชื่อเพราะดูน่าเชื่อถือ…แน่นอนว่า AI ทุกประเภทไม่เว้นแม้แต่ ChatGPT จัดเป็นความเชื่อประเภทนี้ เพราะเต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือ

หากเราเชื่อ AI โดยไม่คัดกรอง ใช้วิจารณญาและสติปัญญาเราพิสูจน์อีกหลายครั้ง…กระบวนการสร้างปัญญาของมนุษย์ในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่แก้โจทย์ปัญหา หาคำตอบ ออกแบบให้เราภายในไม่ถึง 1 นาที

…มิพักต้องเอ่ยถึงภูมิปัญญามนุษย์ที่สั่งสมกันมานับพันปี เพราะมันจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและทำให้ภูมิปัญญาเรากลายเป็นเพียง “ปัญญาประดับ” ที่แนบมากับปัญญาประดิษฐ์