ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมาผ่านพ้นไปได้ 1 เดือนเต็ม สื่อหลายแขนงในเมียนมาได้เผยแพร่ตัวเลขความเสียหายอย่างเป็นทางการ รวมถึงสถิติในด้านต่างๆ ที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเมียนมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 การสั่นไหวครั้งแรกเริ่มขึ้นในเวลา 12.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความแรง 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงมัณฑะเลย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร
จากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก สร้างความเสียหายรุนแรงกระจายเป็นวงกว้างในอีกหลายพื้นที่
ตามข้อมูลจากทางการเมียนมา แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายแก่ 6 พื้นที่ ได้แก่ ภาคสะกาย ภาคมัณฑะเลย์ ภาคมะกวย ภาคพะโค รัฐฉานภาคเหนือ และกรุงเนปยีดอ
เนื้อหาถัดจากนี้ เป็นข้อมูลที่ได้จากการประมวลข่าวหลายชิ้นที่นำเสนอจากสำนักข่าว Eleven Media Group ระหว่างวันที่ 23 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568 แหล่งข่าวที่ Eleven Media Group ใช้อ้างอิงส่วนใหญ่ มาจากการเปิดเผยตัวเลขของคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (The National Disaster Management Committee หรือ NDMC) ซึ่งมี พล.อ.อาวุโส โซวิน รองประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา เป็นประธาน
ประเภทของสถิติและตัวเลขความเสียหายเบื้องต้น จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม แบ่งตามวันที่ ที่ได้มีการสรุปข้อมูลเอาไว้ไล่ย้อนหลังได้ดังนี้…
– ตัวเลขความสูญเสียของประชาชนที่ยืนยันแล้วใน 6 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ผู้เสียชีวิต 3,835 ราย สูญหาย 105 คน และได้รับบาดเจ็บ 5,105 คน
– ตลอด 1 เดือนเต็ม เจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งจากองค์กรการกุศลในเมียนมาเองและเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากต่างประเทศ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายใต้ซากอาคารที่ถล่มลงมาจากแรงแผ่นดินไหวขึ้นมาได้ 653 คน กู้ร่างของผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ภายใต้ซากอาคารเหล่านี้ขึ้นมาได้ 779 ร่าง
– กระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรม แถลงว่า มีโบราณสถาน 614 แห่ง จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 961 แห่ง ในเขตมรดกอังวะ ได้รับความเสียหาย
– ปฏิบัติการช่วยเหลือและกู้ร่างผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารสกาย วิลลา คอนโดมิเนียม ขนาดความสูง 10 ชั้น ในเขตเมืองเก่ามัณฑะเลย์ ตลอดเกือบ 1 เดือนเต็ม สามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารขึ้นมาได้ 52 คน และกู้ร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้ 107 ร่าง และจนถึงขณะนี้ การค้นหาร่างผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารสกาย วิลลา คอนโดมิเนียม ยังคงเดินหน้าต่อไม่หยุด
– ผลสำรวจอาคารของหน่วยงานรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเนปยีดอ ซึ่งได้รับความเสียหายและจำเป็นต้องซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย อาคารสำนักงานศาลฎีกา กระทรวงแรงงาน กระทรวงกิจการกฎหมาย กระทรวงแผนงานและการเงิน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศ และอาคารสำนักงานประกันสังคม นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายหลัง คณะกรรมการพัฒนาเมืองเนปยีดอ ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เคยรับงานจากภาครัฐทุกแห่ง ให้รีบเข้ามาติดต่อกับหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม เพื่อวางแผนการซ่อมแซม รื้อถอน หรือสร้างอาคารที่ได้รับความเสียหายเหล่านี้ขึ้นใหม่
– แผ่นดินไหวครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงหลังเที่ยงของวันที่ 28 มีนาคม ด้วยความแรง 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ แต่หลังจากนั้นเกือบ 1 เดือนเต็ม ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกถึง 156 ครั้ง ส่วนใหญ่มีความแรงอยู่ระหว่าง 3-4 ตามมาตราริกเตอร์ และมีบางครั้ง ที่ความแรงขึ้นไปสูงเกิน 5 ตามมาตราริกเตอร์
– เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2,095 คน จาก 26 ประเทศ เดินทางเข้ามาร่วมปฏิบัติการในเมียนมา เป็นการเดินทางเข้ามาโดยเครื่องบิน 147 เที่ยว เรือเดินสมุทร 7 ลำ และทางรถยนต์ 23 คัน พร้อมนำอุปกรณ์บรรเทาทุกข์เข้ามา คิดเป็นน้ำหนักรวม 3,833.84 ตัน ในนี้เป็นสินค้าฉุกเฉิน 2,635.92 ตัน กับอุปกรณ์การแพทย์อีก 1,197.12 ตัน
– ทีมแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารเหล่าเสนารักษ์จากต่างประเทศ ได้ตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวขึ้นในภาคสะกาย มัณฑะเลย์ และกรุงเนปยีดอ เพื่อให้การรักษาผู้ประสบภัย มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่การแพทย์ 337 คน จาก 6 ประเทศ ทำงานร่วมกับทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขเมียนมา
– รัฐบาลเมียนมา ได้รับเงินบริจาคทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็นเงินมากกว่า 115.876 พันล้านจัต กับอีก 2.437 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, 5 ล้านวอนเกาหลีใต้, 15 ล้านรูปีอินเดีย, 2 ล้านบาทไทย และ 3,150 ดอลลาร์สิงคโปร์ เงินจำนวนนี้ได้ถูกส่งไปรวมไว้ในบัญชีของคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMC) เพื่อจัดสรรไปให้ความช่วยเหลือตามจุดต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย
– นอกจากอาคารของหน่วยงานรัฐบาลแล้ว บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และเส้นทางคมนาคมจำนวนมาก ได้ถูกทำลายลงจากแรงแผ่นดินไหวครั้งนี้ ประกอบด้วย บ้านเรือนประชาชน 63,854 หลัง, โรงเรียน 6,752 แห่ง, วัด สถานปฏิบัติธรรม และสำนักชี 5,474 แห่ง, เจดีย์ 5,342 องค์, ศาสนสถานอื่นๆ 613 แห่ง, โรงพยาบาลและคลินิก 576 แห่ง, เส้นทางรถไฟ 56 จุด, ถนน 271 จุด, ทางด่วน 188 จุด, เขื่อนและพนังกั้นน้ำ 586 แห่ง, สะพาน 172 แห่ง และสถานีไฟฟ้าอีก 353 สถานี

– ประชากร 629,206 คน ใน 128,965 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดย 48,656 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัยและต้องย้ายไปอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวที่เปิดขึ้นมา 135 แห่ง ส่วนอีก 159,239 คน ต้องย้ายออกจากบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ด้วยตัวเอง ขณะที่ 421,311 คน จำต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมของตน ทั้งๆ ที่ตัวบ้านได้รับความเสียหายไปแล้วจากแผ่นดินไหว
– กระทรวงก่อสร้างรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทั่วประเทศเมียนมามีโรงงานปูนซีเมนต์อยู่ 9 แห่ง สามารถผลิตปูนซีเมนต์ผงได้วันละ 30,700 ตัน หรือ 614,000 ถุง แต่หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานบางแห่งจนได้รับความเสียหาย ทำให้เหลือโรงงานปูนซีเมนต์ที่สามารถผลิตได้เพียง 6 แห่ง กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ผงเหลือเพียงวันละ 17,100 ตัน หรือ 342,000 ถุง รัฐบาลได้กระตุ้นโรงงานที่เหลืออยู่ทั้ง 6 ให้ขยายกำลังการผลิตอย่างเร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในวันที่ 15 พฤษภาคม โรงงานทั้ง 6 แห่งต้องสามารถผลิตปูนซีเมนต์ผงได้เพิ่มเป็นวันละ 22,100 ตัน หรือ 442,000 ถุง และภายในเดือนกันยายน ต้องเพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 32,100 ตัน หรือ 642,000 ถุง และรัฐบาลมีคำสั่งควบคุมราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ผงทั่วประเทศไว้ที่ถุงละ 17,000 จัต
……
วันที่ 25 เมษายน 2568 พล.อ.อาวุโส โซวิน ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมกระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐาน ในกรุงเนปยีดอ
เขายืนยันว่า รัฐบาลเมียนมามุ่งมั่นจะฟื้นฟูสภาพเมืองที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การก่อสร้าง ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย จะเริ่มต้นได้หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสอบสภาพผืนดินบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวเสียก่อน เพื่อความมั่นคง แข็งแรงของสิ่งปลูกสร้างที่จะสร้างขึ้นใหม่ และเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อสร้างตามแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก
พล.อ.อาวุโส โซวิน ย้ำว่า สิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ ต้องสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้มากกว่า 8 ตามมาตราริกเตอร์ รวมถึงต้องมีการประเมินและเสริมสร้างความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ และไม่ได้เสียหายไปจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ให้ต้องได้มาตรฐานเดียวกับสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ คือสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวมากกว่า 8 ตามมาตราริกเตอร์…

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สื่อออนไลน์หลายแห่งในเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพการซ่อมแซมสะพานอังวะเก่า หรือสะพานสะกาย สะพานรถไฟเก่าแก่ข้ามแม่น้ำอิรวดี ที่มีอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งได้พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม
ภาพที่ถูกเผยแพร่ เป็นภาพเรือปั้นจั่นกำลังยกโครงสร้างเหล็กกับส่วนคานของสะพาน ที่ถูกแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจนหลุดจมลงไปในแม่น้ำอิรวดี กลับขึ้นไปวางบนแนวตอม่อสะพานอีกครั้ง โดยด้านบนของสะพานมีวิศวกรและช่างของกระทรวงก่อสร้างยืนกำกับอยู่
สะพานสะพานอังวะเก่า หรือสะพานสะกาย สร้างขึ้นโดยอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ในยุคที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เคยถูกทำลายมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพอังกฤษเป็นฝ่ายทำลายทิ้งเองขณะล่าถอย ถอนทัพออกจากพม่า เพื่อสร้างอุปสรรคในการรุกไล่ของกองทัพญี่ปุ่น แต่หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว สะพานอังวะก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2497
สะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองอังวะ และห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร บริเวณใกล้ปากแม่น้ำมิดแหง่ที่บรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองสะกาย เมืองเอกของภาคสะกาย ทางตอนเหนือขึ้นไปจากสะพานอังวะเก่าประมาณ 600 เมตร เป็นที่ตั้งของสะพานอิรวดี หรือสะพานยะดะนาโบ่ง หรือสะพานอังวะใหม่ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้รถยนต์ข้ามเมื่อปี 2551
ตำแหน่งของสะพานอังวะทั้งเก่าและใหม่ อยู่ตรงศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญในตอนกลางของเมียนมา เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคและรัฐต่างๆ ของเมียนมากับกรุงมัณฑะเลย์ เนปยีดอ และย่างกุ้ง รวมถึงเป็นชุมทางเชื่อมทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ และทางหลวงเอเซียหมายเลข 1 (AH 1) จากมัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำอิรวดี ผ่านภาคสะกายไปยังด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ ประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของอินเดีย-เมียนมา…