ThaiPublica > สู่อาเซียน > The Economist วิเคราะห์ เวียดนามต้องการปฏิรูป “Doi Moi” ครั้งที่ 2 เพื่อก้าวเป็นประเทศ ‘รวยก่อนแก่’

The Economist วิเคราะห์ เวียดนามต้องการปฏิรูป “Doi Moi” ครั้งที่ 2 เพื่อก้าวเป็นประเทศ ‘รวยก่อนแก่’

28 พฤษภาคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Wikipeia

เมื่อสหรัฐอเมริการถอนตัวจากไซ่ง่อนในปี 1975 หรือ 50 ปีมาแล้ว เวียดนามกลายเป็นประเทศเสียหายจากสงคราม ทั้งประเทศและประชาชนยากจน แต่ทุกวันนี้ ไซ่ง่อนที่เปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า เวียดนามสามารถขจัดความยากจนที่รุนแรงหมดไปได้ เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางการผลิตของ Samsung และ Apple

นิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุด 24 พฤษภาคม เสนอบทรายงาน “การปฏิวัติครั้งต่อไป” ของเวียดนามว่า ความสำเร็จของเวียดนามที่ผ่านมา ยังไม่ใช่เวลาการเฉลิมฉลองความสำเร็จ เพราะยังมีอุปสรรคปัญหารออยู่ข้างหน้า การที่เวียดนามจะแสดงให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนายังสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศพัฒนาแล้ว เวียดนามจำเป็นต้องประสบความสำเร็จใน “ความมหัศจรรย์ครั้งที่ 2” ค้นหาหนทางใหม่ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง และผู้นำประเทศจะต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น “นักปฏิรูป”

ที่มาภาพ : https://vinpearl.com/en/vietnam-peoples-lifestyle-unveil-6-typical-features

ความสำเร็จของ “โด่ย เหมย”

นับตั้งแต่ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เรียกว่า “โด่ย เหมย” (Doi Moi) ในปี 1986 เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมาก เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา รายได้ต่อคนเพิ่ม 18 เท่าตัว ความได้เปรียบจากแรงงานต้นทุนต่ำ การเมืองมีเสถียรภาพ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งซัพพลายเออร์ของเอเชีย ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ และเมื่อบริษัทข้ามชาติต้องการกระจายการผลิตออกจากจีน ทำให้ยิ่งมีเหตุผลที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้นไปอีก

แต่ปัจจัยที่เคยทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูง เริ่มชะลอตัวลง ข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯปี 2001 ที่เคยลดภาษีนำเข้าแก่สินค้าเวียดนาม ก็ประสบปัญหาภาษีทรัมป์ที่ขู่จะเก็บ 46% เวียดนามวางตัวยากขึ้นในการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐฯและจีน ที่ล้วนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ส่วนโรงงานของต่างประเทศก็สร้างผลกระทบน้อยให้กับส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจภายใน เวียดนามเสี่ยงที่จะมีฐานะเป็นศูนย์กลางการผลิต ที่สร้างมูลค่าน้อย เพราะชิ้นส่วนอื่นๆล้วนผลิตจากที่อื่น

ในเวลานี้ โรงงานของต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญสุด ของความรุ่งเรื่องที่เกิดกับเวียดนาม ปี 2023 การลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (FDI) มากถึง 19 พันล้านดอลลาร์ ปี 1995 การลงทุนต่างประเทศ มีสัดส่วน 6% ของ GDP ถึงปี 2023 เพิ่มเป็น 20% รายใหญ่สุดคือ Samsung โรงงานผลิตสมาร์ทโฟนใกล้ฮานอย จ้างแรงงาน 160,000 คน

การลงทุนต่างประเทศที่พุ่งขึ้น ทำให้มูลค่าส่งออกเวียดนามเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เป็นมูลค่า 385 พันล้านดอลลาร์ต่อปี บริษัทต่างชาติมีสัดส่วนจ้างงาน 10% ของการจ้างงานทั้งหมด 16% ของการลงทุนรวม และ 72% ของการส่งออก เฉพาะ Samsung มีสัดส่วนการส่งออก 14%

The Economist กล่าวว่า คนงานเวียดนามทำงานแค่การนำชิ้นส่วนมาประกอบการผลิตเข้าด้วยกัน ชิ้นส่วนส่วนใหญ่มาจากจีนและเกาหลีใต้ เวียดนามเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกน้อยกว่า เมื่อเทียบกับมาเลเซียและไทย เนื่องจากการประกอบสินค้าในขั้นตอนสุดท้าย ใช้แรงงานมาก จึงมีผลิตภาพต่ำ ผลผลิตต่อชั่วโมงการทำงานของเวียดนาม ต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางระดับบนอื่นๆในเอเชีย และ 90% ของงานการประกอบการผลิต ต้องการทักษะน้อยมาก

ที่มาภาพ : Linkedln

เสี่ยงติด “กับดักรายได้ปานกลาง”

The Economist ยังกล่าวอีกว่า บริษัทของเวียดนามยังพยายามอย่างมาก ที่จะให้ตัวเองได้มาตรฐานการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก บริษัทต่างประเทศในเวียดนามจัดหาชิ้นส่วนจากเวียดนาม ในสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนนำเข้าจากประเทศอื่นๆในเอเชีย Samsung ที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่สุด ชิ้นส่วนที่เป็นแกนเทคโนโลยี ไม่ได้มาจากบริษัทเวียดนาม

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเวียดนามมาถึงจุดที่เรียกว่า “จุดหักเห” คือประเทศกำลังพัฒนาไม่มีแรงงานภาคเกษตร “ส่วนเกิน” อีกแล้ว ที่จะอพยพมาเป็นแรงงานอุตสาหกรรม จุดนี้ทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ปี 2014-2021 แรงงานเกษตรเวียดนามลดลงปีละ 1 ล้านคน ปี 2022-2023 แรงงานเกษตรลดลงเหลือปีละ 200,000 คน

ทำให้ค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเวียดนาม สูงกว่าอินเดียและไทย มีรายงานการศึกษาระบุว่า เมื่อถึงปี 2029 ค่าแรงยังจะเพิ่มอีก 49% ทำให้เวียดนามตกอยู่ในสภาพคลาสสิก “การติดกับดักรายได้ปานกลาง” คืออุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานมาก แต่มีมีต้นทุนค่าแรงสูง ส่วนความช่ำชองทางเทคโนโลยียังไม่มากพอ ที่จะผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้น

นอกจากนี้ The Economist ยังระบุปัญหาอุปสรรคต่อการเติบโตของเวียดนามอีกหลายอย่าง ไม่เพียงแต่จะเริ่มขาดแรงงานอพยพจากชนบท แรงงานช่วงอายุ 15-64 ปีของเวียดนามจะมาถึงระดับสูงสุดในปี 2023 ทั้งนครโฮจิมินห์และฮานอย ที่มีสัดส่วน 25% ของเศรษฐกิจ ก็เป็นเมืองที่น้ำท่วมง่ายที่สุดในโลก พื้นที่เกษตรสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง จมลงใต้น้ำปีหนึ่ง 500 เฮกตาร์ (1 เฮคตาร์เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร) แต่ที่เป็นภัยร้ายแรงสุดคือภาษีทรัมป์ ที่คาดการณ์ว่า จะทำให้การเติบโตระยะยาวลดลงปีละ 2.5%

โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนาม ที่มาภาพ : The Economist

ทางออกสร้างภาคเอกชนที่มีความสามารถ

โต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนาม มองเห็นปัญหาประเทศอย่างดี โดยบอกว่าไม่ต้องการให้เวียดนามเป็นแค่ฐานประกอบการผลิตเท่านั้น โดยผู้ประกอบภายในประเทศไม่ได้เรียนรู้อะไร และเรียกร้องให้บริษัทเวียดนามสร้างนวัตกรรมมากขึ้น และมีผลิตภาพมากขึ้น ต้องการให้ภาคเอกชนมีสัดส่วนสร้างผลผลิต 70% จาก 50% ในปัจจุบัน

  • ประธานาธิบดีเวียดนาม “โต เลิม” ขึ้นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่
  • แต่การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในเวียดนาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกฎระเบียบซับซ้อน สถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ และมีเส้นสายการเมือง ได้ประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นักการเมืองเวียดนามชื่นชมกลุ่มธุรกิจแชโบล์ (chaebol) ของเกาหลีใต้ และต้องการให้กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เวียดนามพัฒนาไปในแบบเดียวกัน

    แต่ไม่มีกลุ่มธุรกิจเวียดนามไหนที่แข่งขันได้ในตลาดโลก นับจากปี 2021 VinFast ขาดทุนจากการผลิตรถยนต์ EV ไปแล้ว 9 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาที่จะให้การสนับสนุนบริษัทแม่ Vingroup โดยการให้สัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 60 พันล้านดอลลาร์ แก่บริษัทในเครือ VinSpeed

    The Economist เสนอว่า ผู้นำเวียดนามยังจะต้องหาทางสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจขนาดย่อม ที่มีปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ธนาคารเรียกร้องหลักทรัพย์มาประกันเงินกู้ ไม่ใช่จากการคาดการณ์รายได้ในอนาคต ธุรกิจขนาดเล็กยังขาดแรงงานทักษะ หน่วยงานรัฐมีพนักงาน 50% จบการศึกษามหาวิทยาลัย บริษัทต่างชาติมี 15% และบริษัทในประเทศ 5%

    แต่ปัญหาใหญ่คือระบบการศึกษาเวียดนาม แรงงานที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีแค่ 10% ของแรงงานทั้งหมด สิงคโปร์กว่า 30% เกาหลีใต้ 28% และไทย 15% เวียดนามไม่มีมหาวิทยาลัยระดับโลก ต่างจากจีน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นของรัฐ และรัฐควบคุมหลักสูตรอย่างเข้มงวด เวียดนามต้องการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีวิศวกรด้านนี้แค่ 5,000 คน จนถึงปี 2030 ต้องการนักออกแบบตัวชิป 15,000 คนและวิศวกรการประกอบตัวชิปอีก 10,000 คน

    การจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กดำเนินไปอย่างคล่องตัว ต้องการระบบราชการที่กระชับ และมีความสามารถ จุดนี้แสดงถึงความเด็ดขาดของผู้นำเวียดนาม เมื่อ โต เลิม ประกาศยุบ 5 กระทรวง และยกเลิกขั้นตอนการทำงานในท้องถิ่น 705 แห่ง จังหวัดของเวียดนาม ลดจาก 63 เหลือ 34 เจ้าหน้าที่รัฐถูกปลดออก 100,000 คน และจะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นขององค์กรรัฐลง 30% เพื่อทำให้หน่วยงานรัฐมีความสามารถมากขึ้น โต เลิม เสนอให้เพิ่มผลตอบแทนสูงขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถ

    The Economist กล่าวสรุปว่า หาก โต เลิม ล้มเหลวในแผนการที่จะขับเคลื่อนเวียดนาม เวียดนามคงจะเป็นแค่ศูนย์กลางการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำ และพลาดโอกาสทองของตัวเอง แต่หากประสบความสำเร็จ “การปฏิวัติโด่ย เหมยครั้งที่ 2” จะผลักดันคนเวียดนาม 100 ล้านคน เข้าสู่โลกที่พัฒนาแล้ว

    ความสำเร็จของเวียดนาม จะสร้างเครื่องจักรการเติบโตของเอเชียอีกอย่างขึ้นมา เป็นเวียดนามที่ไม่อยู่ในเขตอิทธิพลของจีน และยังเป็นโอกาสสุดท้ายที่ดีที่สุด ที่เวียดนามจะเป็นประเทศ “ร่ำรวยก่อนแก่”

    เอกสารประกอบ
    Vietnam’s next evolution, 24 May 2025, The Economist.