รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อปี 1990 รายได้ต่อคนจาก GDP ของเวียดนามอยู่ที่ 98 ดอลลาร์ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก ขณะที่โซมาเลียในแอฟริกายังมีรายได้ต่อคนสูงกว่าที่ 130 ดอลลาร์ และเซียร์ราลีโอนอยู่ที่ 163 ดอลลาร์ ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1986 หากปีไหนที่การผลิตพืชผลการเกษตรตกต่ำ เวียดนามจะประสบปัญหาความอดอยาก ปี 1993 ประชากร 79% ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน
แต่ปัจจุบัน เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีพลังพลวัตมากที่สุดของโลก พลวัตดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้กับประชากนและผู้ประกอบการที่ทำงานขยันขันแข็ง จากประเทศที่ครั้งหนึ่งไม่สามารถผลิตอาหารพอเพียงแก่ประชาชน ปัจจุบันกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก ปี 2023 รายได้ต่อคนอยู่ที่ 4,347 ดอลลาร์
จากประเทศที่เคยยากจนที่สุด
หนังสือ How Nations Escape Poverty (2024) ได้เขียนถึงการหลุดพ้นความยากจนของเวียดนามกับโปแลนด์ และจุดเริ่มต้นการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ ในทางเศรษฐศาสตร์ เรามักเลือกประเทศหรือภูมิภาคที่เศรษฐกิจประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศเหล่านี้จึงสามารถดำเนินการได้ล้ำหน้าและแตกต่างออกไปจากประเทศอื่น
หากมองจากความคิดเศรษฐศาสตร์ตามธรรมเนียมทั่วไป เวียดนามไม่ได้มีจุดเด่นทางเศรษฐกิจใดๆ แต่หากมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นเวียดนามอีกภาพหนึ่ง
ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เวียดนามกับโปแลนด์คือผู้ชนะเลิศด้านการเติบโตเศรษฐกิจของโลก และยังเป็นประเทศที่เปิดเสรีมากที่สุด ทั้งๆ ที่มีทุนเดิมคือเริ่มต้นจากรากฐานการผลิตในระดับต่ำมาก
หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 1975 ความเสียหายจากสงครามทำให้เวียดนามตกอยู่ในสภาพที่ยากจน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจเวียดนามกลับยังอยู่ในสภาพตกต่ำ เวลานั้นเวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรม เมื่อรวมเป็นประเทศเดียว ระบบเกษตรกรรมรวมหมู่ถูกนำไปใช้ในเวียดนามใต้ การใช้ระบบเกษตรกรรมรวมหมู่ทำให้ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในโซเวียตและจีน ปี 1980 เวียดนามผลิตข้าวได้ 14 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคในประเทศต้องการ 16 ล้านตัน
ตลอดทศวรรษ 1980 เวียดนามยังคงเป็นประเทศยากจนที่สุดของโลก ยากจนกว่าประเทศในแอฟริกาอย่างโซมาเลีย เอธิโอเปีย และมาดากัสการ์ ถึงปี 1993 ประชากรเวียดนาม 80% ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน ทุกวันนี้ ความยากจนในเวียดนามลดเหลือเพียง 4% เท่านั้น สิ่งที่เวียดนามแตกต่างจากประเทศที่ยากจนอื่นๆ ก็คือ เวียดนามไม่ได้อยู่อย่างยากจนไปตลอด
เอาชนะความยากจนอย่างไร
ในปลายปี 1986 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจค่อยๆ ถอนตัวออกจาก “ระบบเศรษฐกิจวางแผนโดยรัฐ” หันมาอาศัยกลไกตลาดมากขึ้น และอนุญาตให้มีทรัพย์สินเอกชน ก้าวต่อไปที่สำคัญคือค่อยๆ ยกเลิกบทบาทรัฐที่เป็นผู้กำหนดราคาสินค้า ปล่อยให้มีระบบราคาสินค้าตามกลไกตลาด อนุญาตให้การผลิต SME ของภาคเอกชน จ้างแรงงานได้ถึง 10 คน ต่อมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในระยะแรกยังไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่อนุญาตให้มีการซื้อขายวัตถุดิบการผลิตระหว่างรัฐวิสาหกิจกันและกัน ทำให้เกิดระบบกึ่งกลไกตลาดขึ้นมา
ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์เคยวิเคราะห์ไว้ว่า เมื่อไม่มีระบบกลไกตลาดสำหรับสิ่งที่เป็นปัจจัยการผลิต ปัจจัยการผลิตก็ไม่มีราคาตลาด เมื่อไม่มีราคาตลาด ก็ไม่สามารถจะคำนวณความหมายและคุณค่าทางเชิงเศรษฐกิจออกมาได้ นักวางแผนเศรษฐกิจส่วนกลางและผู้จัดการรัฐวิสาหกิจจึงไม่สามารถบอกได้ว่า การผลิตแบบไหนมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ในความเป็นจริง เศรษฐกิจแบบวางแผนโดยรัฐจะเต็มไปด้วยความไม่เป็นระเบียบสับสน
ในปี 1990 เวียดนามเปิดประเทศต่อโลกภายนอก อนุญาตให้มีการลงทุนต่างประเทศ ยกเลิกการผูกขาดการค้าต่างประเทศโดยรัฐฝ่ายเดียว และเริ่มบูรณาการตัวเองกับเศรษฐกิจโลก เมื่อถึงทศวรรษ 2000 เวียดนามก้าวไปไกลมากขึ้น โดยขยายการค้ากับประเทศทุนนิยม ปี 2001 ทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ และปี 2007 เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ความสำเร็จของเวียดนามในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวการพัฒนาที่โดดเด่นมากประเทศหนึ่ง ในระยะเวลา 33 ปี จาก 1990-2023 รายได้ต่อคนของเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 98 ดอลลาร์เป็น 4,346 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 44 เท่าตัว
เวียดนามกลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ค้ารายใหญ่สุดของสหรัฐฯ จากเดิมสินค้าหลักส่งไปสหรัฐฯ คือกาแฟและมะพร้าว กลายมาเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ปี 2038 เศรษฐกิจใหญ่ที่ 21 ของโลก
ปี 2023 เศรษฐกิจเวียดนามมีขนาด GDP ที่ 429 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ามาเลเซียที่ 399 พันล้านดอลลาร์ ปี 2024 คาดการณ์ว่า GDP เวียดนามจะเพิ่มเป็น 469 พันล้านดอลลาร์ ใหญ่อันดับ 5 ของอาเซียน โดยอันดับ 1 คืออินโดนีเซียมี GDP ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ประเทศไทย 543 พันล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ 520 พันล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ 475 พันล้านดอลลาร์
องค์กรวิจัยของอังกฤษชื่อ Centre for Economics and Business Research (ECBR) ประเมินไว้ในเอกสาร World Economic League Table 2024 ว่า ในอนาคต ลำดับเศรษฐกิจของเวียดนามจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกเปิดโอกาสแก่เวียดนาม เมื่อบริษัทข้ามชาติย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนมาเวียดนาม
ปี 2024-2028 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.7% และหลังจากนั้นอีก 9 ปี การเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละ 6.4% ดังนั้น ในระยะเวลา 15 ปี จาก 2023-2038 ลำดับเศรษฐกิจโลกของเวียดนามจะขยับจากอันดับที่ 34 ในปี 2023 มาเป็นอันดับที่ 21 ในปี 2038 เพราะจากความได้เปรียบที่มีประชากรวัยทำงานในสัดส่วนที่สูง จึงเป็นไปได้ที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะบรรลุเป้าหมาย ที่เวียดนามจะเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2045
บทเรียนเอาชนะความยากจน
ความสำเร็จของเวียดนามในการเอาชนะความยากจน เป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังก้าวไม่พ้นจากปัญหานี้ ประเทศที่มีฐานะยากจนในปัจจุบัน เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็มีสภาพแบบเดียวกัน ประเทศพวกนี้อาศัยการช่วยเหลือจากต่างประเทศ สหประชาชาติเองก็กล่าวว่า การช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นกุญแจสำคัญในการบรรเทาความยากจน
แต่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนามองว่า การช่วยเหลือต่างประเทศไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาความยากจน แต่ประโยชน์กลับไปตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจน จึงมาจากนโยบายการพัฒนาแบบระดับบนสั่งการลงมา (top-down)
แต่การแก้ปัญหาความยากจนของเวียดนาม อาศัยวิธีการตรงกันข้ามกับการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศในแอฟริกา นับจากปี 1990 เป็นต้นมา การแก้ปัญหาความยากจนของเวียดนามไม่ได้อาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศเลย
How Nations Escape Poverty สรุปด้วยคำพูดของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ ที่ว่า “ความไม่มีวุฒิภาวะทางจิตใจคือ การทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำซากโดยคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป” 50 ปีที่ผ่านมา การช่วยเหลือต่างประเทศไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาการพัฒนา
แต่อดัม สมิธกล่าวมานานแล้วว่า การเติบโตเศรษฐกิจสามารถขนะความยากจน และเงื่อนไขของการเติบโตเศรษฐกิจ คือเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เวียดนามแสดงให้โลกได้เห็นว่า จะเอาชนะความยากจนได้อย่างไร
เอกสารประกอบ
How Nations Escape Poverty: Vietnam, Poland and the Origins of Prosperity, Raine Zitelmann, Encounter Books, 2024.