รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

สิบปีที่แล้ว เมื่อรัฐสภาสหรัฐฯเพิ่มมูลค่าสินค้านำเข้าโดยไม่เสียภาษี จาก 200 ดอลลาร์เป็น 800 ดอลลาร์ เท่ากับเป็นการเปิดประตูตลาดผู้บริโภคอเมริกาครั้งสำคัญ บริษัทจีนบุกตลาดทันที ตอนแรกผ่านแพลตฟอร์มของ eBay และ Amazon หลังจากนั้นผ่านแอปของ Shein และ TEMU ทำให้ห่วงโซ่อุปทานจำนวนมหาศาลของจีน สามารถเจาะไปถึงประตูบ้านคนอเมริกัน
ในอดีต ผู้ผลิตจีนเป็นแค่ซัพพลายเออร์ป้อนสินค้าให้กับบริษัทอเมริกัน นโยบายยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าทางพัสดุมูลค่า 800 ดอลลาร์ กลายเป็นช่องโหว่ที่เปลี่ยนความสัมพันธ์เศรษฐกิจของสองประเทศ คนอเมริกันติดยึดกับการซื้อสินค้าต่างๆจากจีนในราคาต่ำสุด ส่วนจีน คนงานจีนหลายล้านคนทำงานในโรงงาน ที่ขายสินค้าออนไลน์บนตลาดอีคอมเมิร์ซ ทั้งของจีนเอง เช่น Shein, TEMU, TikTok และรวมถึงอีคอมเมิร์ซของ Amazon และ Walmart
ปี 2024 มีพัสดุเข้าสหรัฐฯวันหนึ่ง 4 ล้านชิ้น ปี 2018 บริษัทจีนส่งออกสินค้าในรูปพัสดุมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ ปี 2023 มูลค่าเพิ่มเป็น 66 พันล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม รัฐบาลทรัมป์ปิดช่องโหว่โดยประกาศว่า สินค้านำเข้าในรูปพัสดุ ที่เรียกเป็นภาษาลาตินว่า de minimis goods มูลค่าต่ำ 800 ดอลลาร์ จะต้องเสียภาษี 120%
จากจุดเริ่มต้นสู่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ
หนังสือชื่อ From Click to Boom (2024) เขียนถึงการก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนว่า เป็นเวลาหลายร้อยปี หมู่บ้าน Wantou มณฑลชานตง เป็นดินแดนชายขอบการพัฒนา ชาวบ้านมีรายได้จากตะกร้าสานจากไม้ไผ่ แต่ตลาดท้องถิ่นก็มีขนาดจำกัด ในปลายทศวรรษ 2000 แรงงานคนหนึ่งกลับมาหมู่บ้าน นำเอาตะกร้าสานไปขายใน Taobao.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดของจีน ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้หมู่บ้านอื่นเลียนแบบ
ปี 2022 คนจีน 850 ล้านคน เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าออนไลน์ คนจีน 69 ล้านคนทำงานเกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ วันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี เรียกว่า Singles’ Day เป็นวันแจ็คพ็อตชอปปิ้งใหญ่สุดของโลก ยอดซื้อสินค้าออนไลน์ทำสถิติมากขึ้นในแต่ละปี วัน Sings’s Day ในปี 2020 ยอดพัสดุมีมากกว่า 4 พันล้านชิ้น Jack Ma เคยพูดว่า “ในสหรัฐฯ อีคอมเมิร์ซเป็นแค่ของหวาน แต่ในจีนคืออาหารหลัก”
อีคอมเมิร์ซกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของจีน ความนิยมในอีคอมเมิร์ซทำให้เกิดการใช้การจ่ายเงินแบบดิจิทัล และกระเป๋าสตางค์โมบาย ขับเคลื่อนจีนไปสู่สังคมไร้เงินสด ที่หางโจ โจรปล้นร้านสะดวกซื้อ 3 ร้านในวันเดียวกัน ได้เงินสดไป 1,800 หยวน เนื่องจากไม่ใช่คนท้องถิ่น พวกโจรจึงไม่รู้ว่าหางโจกลายเป็นเมืองไร้เงินสดไปแล้ว
ความเจริญรุ่งเรืองของอีคอมเมิร์ซในจีน ทำให้เกิดพัฒนาการต่างๆตามมา เช่น ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ธุรกิจการส่งสินค้าด่วน การเกิดขึ้นมาของแพลตฟอร์มด้านอีคอมเมิร์ซ และการตกต่ำของร้านค้า ความก้าวหน้าด้าน Big Data และปัญญาประดิษฐ์ การเกิดขึ้นของธุรกิจ live streaming หรือการส่งข้อมูลโดยตรงจากอินเตอร์เน็ตถึงคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องดาวน์โลด นิตยสาร Business Week จึงกล่าวว่า อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนแปลงจีนไปแล้ว
การพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน เกิดขึ้นแบบที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อน ต้นทศวรรษ 2000 ยอดขายอีคอมเมิร์ซจีนยังตามหลังประเทศเจริญแล้ว นักวิจัยมองว่า จีนมีอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดขวางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เช่น ผู้บริโภคกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ขาดภาคบริการที่จะรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ และรัฐบาลจีนมีนโยบายไม่ชัดเจนเรื่องธุรกิจแพลตฟอร์ม
อีคอมเมิร์ซจีนกับภาษีทรัมป์
บทรายงานของ The New York Times เรื่อง Trump’s Tariff Put China’s E-Commerce Superpower to the Test กล่าวว่า ในห้องประชุมของสำนักงานใหญ่ Alibaba ผู้บริหารด้านตลาดดิจิทัลอธิบายให้กับเจ้าของธุรกิจ SME จำนวนมากของจีนว่า นับจากต้นเดือนเมษายน ผู้บริหาร Alibaba หารือกันในประเด็นที่ว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในนโยบายภาษี และการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ข้อสรุปคือว่า ธุรกิจยังคงจะต้องออกสู่ตลาดภายนอก ในที่สุด สิ่งที่จะทดสอบคือความสามารถของเรา
ทัศนะคติแบบการสู้รบกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ของบรรดาคนจีนค้าขายออนไลน์กับสหรัฐฯ ภาษีทรัมป์เป็นเรื่องใหญ่หลวง สหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่สุดของการส่งออกด้านออนไลน์ของจีน มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดขาย ที่รวมถึงคนอเมริกันแต่ละรายที่ซื้อของจาก Shein และ TEMU หรือเจ้าของร้านค้าขนาดเล็กในสหรัฐฯ ที่ซื้อของจากจีนผ่าน Alibaba มาขายต่อ
ความสำเร็จด้านอีคอมเมิร์ซถือเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวการพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีน ชีวิตของ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba คือตัวอย่างเรื่องราวการพัฒนาของจีน จากความยากจนสู่ความมั่งคั่ง จากครูสอนภาษาอังกฤษ สู่ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ จนทำให้ Jack Ma เป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยสุดของโลก

ความสำเร็จของ Jack Ma ส่วนหนึ่งมาจากระบบนิเวศเศรษฐกิจ ที่จีนสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมจักรกลการส่งออก จักรกลนี้ไม่เพียงแค่โรงงานผลิต การตลาด หรือบริษัทขนส่งทางเรือเท่านั้น แต่รวมถึงซับพลายเออร์ที่จัดการส่งออกให้ลูกค้า พวก live-streamer หรือคนเสนอขายตรงทางอินเตอร์เน็ตถึงลูกค้า และบรรดาครูผู้ฝึกสอนที่ช่วยเจ้าของ SME ขายสินค้าจีนในตลาดต่างประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกำหนดให้การขายสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศ มีความสำคัญอันดับต้นๆ โดยเสนอให้การลดหย่อนภาษี และให้มหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรการสอนในสาขาที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลท้องถิ่นเมืองหางโจลดค่าเช่าสำนักงานแก่ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ
เมื่อประสบปัญหาภาษีทรัมป์ รัฐบาลและบริษัทแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน ให้การสนับสนุนมากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมืองหางโจสัญญาจะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บริษัทที่มุ่งไปขายตลาดที่ไม่ใช่สหรัฐฯ แม้แต่เจ้าหน้าที่จาก Amazon ที่ตั้งศูนย์ในเมืองหางโจ เพื่อฝึกฝนธุรกิจจีนให้ขายสินค้าของแพลตฟอร์มของ Amazon ก็จัดการอบรมเรื่องภาษีสำหรับสินค้าของ Amazon
แต่นับจากที่ความขัดแย้งทางการค้าจีนกับสหรัฐฯรุนแรงมากขึ้น ยุทธศาสตร์สำคัญของจีนคือหันเหการส่งออกไปประเทศอื่น ผู้ประกอบการของจีนเองก็เน้นหนักการขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป แต่การเปลี่ยนผ่านต้องทำอย่างรวดเร็ว สำหรับนักธุรกิจจีนที่เคยมีลูกค้าหลักคือคนอเมริกัน
นอกเหนือจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของจีนเอง การขยายตลาดต่างประเทศเป็นความจำเป็น มากกว่าเป็นทางเลือก เพราะตลาดภายในของจีนมีการแข่งขันสูงมาก เศรษฐกิจก็เติบโตช้าลง และคนจีนยังลังเลที่จะใช้จ่ายเงิน สิ่งนี้ก็คือเหตุผลเดียวกัน ที่รัฐบาลจีนเองต้องการอย่างมาก ที่จะให้ผลักดันอีคอมเมิร์ซในตลาดต่างประเทศ
เอกสารประกอบ
How a US Tax Loophole Supercharged China’s Export, May 2, 2025, nytimes
Trump’s Tariffs Put China’s E-Commerce Superpower to the Test, April29, 2025, nytimes.com
From Click to Boom, Lizhi Liu, Princeton University Press, 2024.