ThaiPublica > เกาะกระแส > “Taobao Villager” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชนบทจีนด้วย Platform ที่แตกต่างจากแนวคิด OTOP

“Taobao Villager” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชนบทจีนด้วย Platform ที่แตกต่างจากแนวคิด OTOP

18 พฤษภาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://hal.science/hal-03617811/document

ในรายงานชื่อ China Taobao Village Research Report 2020 ของ AliResearch ที่อยู่ในเครือของกลุ่ม Alibaba เปิดเผยว่า จำนวน Taobao Village (“หมู่บ้านเถาเป่า”)และ Taobao Town (“เมืองเถาเป่า”) เพิ่มขึ้นเป็น 5,425 และ 1,756 แห่ง ส่วนยอดขายสินค้าออนไลน์ในปี 2020 ของ Taobao Village มีมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน หรือ 146 พันล้านดอลลาร์ และช่วยสร้างงานในชนบทของจีนขึ้นมา 8.2 ล้านงาน

Taobao Village ของจีนเป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการ “หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) ของญี่ปุ่น เพราะใช้ e-commerce platform เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชนบท

รายงานปี 2020 กล่าวอีกว่า Taobao Village ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปสู่พื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญของจีน โครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวออกไปในพื้นที่ห่างไกลในชนบท ทำให้เกิดการจ้างงานและโอกาสการประกอบธุรกิจสำหรับคนที่อยู่ชายขอบการพัฒนา ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ต้นกำเนิดของ Taobao Village

รายงานวิจัยชื่อ Taobao Villages (2019) กล่าวว่า การเกิดขึ้นของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Taobao.com ของกลุ่ม Alibaba ทำให้เกิดการรวมตัวด้านการค้าการผลิตและบริการขึ้นมา

การถือกำเนิดของ Taobao Village คือกรณีตัวอย่างดังที่กล่าวมานี้ Ali Research ให้ความหมายของ Taobao Village ว่าคือพ่อค้าออนไลน์จำนวนหนึ่ง ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทำธุรกิจค้าขายผ่านเว็บไซต์ Taobao.com และอาศัยระบบนิเวศน์อีคอมเมิร์ซของ Taobao

AliResearch ยังระบุว่า หมู่บ้านที่จะมีคุณสมบัติเป็น Taobao Village จะต้อง (1)มียอดขายสินค้าผลิตภัณฑ์ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 ล้านหยวน และ (2)จำนวนพ่อค้าขายของออนไลน์ในหมู่บ้าน มีไม่น้อยกว่า 50 คน หรือ 10% ของครัวเรือนในหมู่บ้าน

ในปี 2009 ที่มีตั้งโครงการ Taobao Village ขึ้นมาครั้งแรก มีหมู่บ้านในจีนแค่ 3 หมู่บ้าน ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ปี 2017 เพิ่มเป็น 2,118 หมู่บ้าน จากตัวเลขปี 2015 Taobao Village ส่วนใหญ่ 97.8% จะอยู่ในมณฑลชายฝั่งทะเล 1.5% ทางตอนกลางของจีน และ 0.7% ทางตะวันตกของจีน ส่วนใหญ่ Taobao Village จะรวมตัวกันในมณฑลเจ้อเจียง ที่ Alibaba มีสำนักงานใหญ่ในมณฑลนี้

AliResearch เผยแพร่รายงานว่า ในปี 2017 มูลค่าสินค้าที่ขายออนไลน์มากสุดคือเสื้อผ้า 21% อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 11% คอมพิวเตอร์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า 9% อาหารเครื่องดื่ม 8% และสินค้าแม่และเด็ก 7% ส่วนสินค้าขายดีของกลุ่ม Taobao Village ได้แก่ สินค้าเล็กๆน้อยๆ รองเท้า ชุดประจำท้องถิ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน และดอกไม้กับต้นไม้ เป็นต้น

ที่มาภาพ : World Bank

เศรษฐกิจ Platform กับชนบท

เศรษฐกิจแบบระบบปฏิบัติการ Platform ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน Platform ที่มีอิทธิพลอย่าง Amazon, Facebook, Airbnb, Uber, TikTok กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนเรา
ต่อการดำเนินธุรกิจ และประกอบการผลิต

ส่วนผลกระทบของ Digital Platform ต่อท้องถิ่นต่าง ๆ มีในหลายด้าน เช่น การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตร และเสื้อผ้า Platform ยังสามารถเป็นเครื่องมือของท้องถิ่นต่างๆ ในการขจัดความยากจน เช่นกรณีของจีนและอินเดีย ในระดับชนบทที่เป็นหน่วยเล็กที่สุด Platform ยังสร้างงานในท้องถิ่น สร้างผู้ประกอบการครัวเรือน และสร้างรายได้แก่ครอบครัว ในจีน

การเติบโตด้านเศรษฐกิจแบบ Platform เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล เนื่องจาก Platform ของตะวันตกมักจะครอบงำตลาด ทำให้โลกมองข้ามหรือไม่เห็นคุณค่าความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ Platform ของจีน เช่น ความสำเร็จของกรณี Taobao Village ที่เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจแบบ Platform กับเศรษฐกิจของท้องถิ่น มาบรรจบพบกันเศรษฐกิจแบบ Platform มีลักษณะไปถึงและกระทบกว้างขวางไปทั่วโลก (global) จึงสามารถลดระยะทาง ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า เศรษฐกิจ Platform ได้สร้าง “โลกที่ไร้พรมแดน” ทำให้ระยะทางสูญหายไป หรือโลกเรามาถึงจุดจบของภูมิศาสตร์

ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจ Platform จะฝังตัวอยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งทำให้ท้องถิ่นนั้น สามารถเข้าไปมีในบทบาทในเศรษฐกิจ Platform และตัว Platform เองกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ที่ท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่อยู่ในทุกส่วนของโลก (global reach)

ที่มาภาพ : https://world.taobao.com/?

จากหมูบ้านเดิมสู่ Taobao Village

บทความชื่อ Placing the platform economy (2023) เขียนไว้ว่า ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซในจีนมีการพัฒนาอยู่ 2 แบบ

    แบบที่ 1 คืออีคอมเมิร์ซแบบเดิม ที่ “ผู้บริโภคมองหาสินค้า” อีคอมเมิร์ซแบบนี้มีลักษณะ “เป็นชั้นวางสินค้าของร้านค้าปลีก”

    แบบที่ 2 คืออีคอมเมิร์ซแบบ “สินค้ามองตามหาผู้ซื้อ” เป็นแบบกึ่งๆอีคอมเมิร์ซ เพราะนำเอาความบันเทิงมาผสมกับการขายสินค้าออนไลน์ โดยอาศัยคนมีชื่อเสียงมานำเสนอ

รายงานวิจัย Taobao Village ของกล่าวว่า การพัฒนาและเติบโตขึ้นมาของ Taobao Village เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการระดับรากหญ้าของจีน ระบบปฏิบัติการแบบ Platform และนโยบายสนับสนุนของทางการจีน โดยผู้ประกอบการชนบทถือเป็นพลังสำคัญที่สุดที่ทำให้ Taobao Village เติบโตขึ้นมา ปี 2017 มีการสร้าง “ร้านค้าออนไลน์” ขึ้นมาถึง 490,000 แห่ง ที่ให้การสนับสนุนผู้กอบการระดับรากหญ้าในเรื่อง การชำระเงิน ระบบโลจิสติกส์ การสนับสนุนด้านข้อมูล และเส้นทางส่งสินค้า บางมณฑลของจีนให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่ Taobao Village บางมณฑลตั้งศูนย์ฝีกอบรมบุคลากรจากชนบทในด้านอีคอมเมิร์ซ

สรุปการเติบโตของ Taobao Village เกิดจากปัจจัยต่างๆคือ

    (1) การเติบโตของการซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้เกิดลู่ทางและโอกาสธุรกิจครั้งใหญ่
    (2) การเติบโตของธุรกิจการส่งสินค้าด่วน
    (3) การให้บริการด้านระบบปฏิบัติการ Platform (
    (4) ปัจจัยทางสังคม เช่นผลกระทบของ Taobao Village ต่อหมู่บ้านข้างเคียง
หมู่บ้านเถาเป่า ที่มาภาพ : https://www.chinadaily.com.cn/bizchina/2015-12/31/content_22885325.htm

การจ้างงานใน Taobao Village

เอกสาร Taobao Village กล่าวว่า ระบบอีคอมเมิร์ซชนบท จะประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน เช่น

(1) หน่วยงานที่เป็นแกนคือ หน่วยงานขายสินค้าบน Platform ของอีคอมเมิร์ซที่อาจจะยังประกอบด้วยงานในหน้าที่การออกแบบ การ บริการลูกค้า การตลาด และการรับการสั่งซื้อ เป็นต้น

(2) หน่วยงานจัดหาสินค้า ที่ทำหน้าที่การผลิตสินค้า โรงเก็บสินค้า การจัดซื้อวัตถุดิบต่างๆ

(3) หน่วยงานสนับสนุนด้านวัตถุดิบในการผลิต และงานด้านโลจิสติกส์แต่ละหน่วยงานดังกล่าว จะจ้างงานคนที่มีทักษะ เพศ และอายุ แตกต่างกันไปความสำเร็จของ Taobao Village ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบทจีน ผ่าน ecommerce platform คือโมเดลแบบบูรณาการ ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ให้กับผู้ผลิตรายเล็กสุดในชนบท และยังเป็น “แบบอย่าง” ว่าภาคเอกชนสามารถมีบทบาทเชิงรุก ในการพัฒนาและขจัดความยากจนในชนบท

เอกสารประกอบ

Taobao Village, Fan Lulu, Friedrich Ebert Stiftung, 2019.
Placing the platform economy, Han Cho and Others, Cambridge Journal of Regions,
Economy and Society, 2023.