รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ asia.nikkei.com รายงานเรื่อง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังหาทางป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนว่า ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2024 โรงงานสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้าของอินโดนีเซีย ปลดคนงานไปแล้ว 49,000 คน ผู้จัดการโรงงานบอกกับพนักงานว่า ยอดขายสิ่งทอบริษัทลดต่ำลง ตั้งแต่มีการเปิด TikTok Shop ในอินโดนีเซีย เริ่มจากปี 2021 มีขายสินค้าราคาถูกนำเข้าจากจีน ผ่านวีดีโอแพลตฟอร์ม
Zulkifli Hasan รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียแถลงว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเก็บภาษี 200% กับสิ่งทอที่นำเข้า และอัตราภาษีใหม่สำหรับสินค้านำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
เดือนมกราคมที่ผ่านมา มาเลเซียเก็บภาษี 10% กับสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 500 ริงกิต (3,987 บาท) ที่ซื้อทางออนไลน์ ก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นจากภาษีการค้า ภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิต ต่อมาไทยได้ดำเนินการแบบเดียวกัน โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ที่ซื้อออนไลน์
ปัญหาทางออกที่ยากลำบาก
Asia.nikkei.com บอกว่า การไหล่บ่าของสินค้าราคาถูกจากจีน สร้างปัญหาทางเลือกที่ยากลำบากแก่รัฐบาลภูมิภาคนี้ อุตสาหกรรมการผลิต และผู้ค้าปลีกต้องการให้รัฐใช้มาตรการกับสินค้าจากจีน ที่ได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็หาทางดึงบริษัทจีน ให้มาลงทุนทำการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไฮเทค การหาความสมดุลเรื่องนี้ก็ยากลำบาก เพราะจีนก็กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ที่กระจายอย่างกว้างขวางภายในจีนเอง ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากอาเซียนลดลง ขณะเดียวกัน บริษัทจีนที่มีสินค้าในสต๊อกล้นเกิน ก็ต้องหาทางระบายออกไปในราคาต่ำสุด
สภาพดังกล่าวทำให้การขาดดุลการค้าของอาเซียนกับจีนขยายตัวมากออกไปอีก นักวิเคราะห์ Goldman Sachs คำนวณว่า ในปี 2023 อาเซียนและประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย รองรับการส่งออก 1 ใน 3 ของการส่งออกจีนทั้งหมด ทั้งๆที่เศรษฐกิจรวมกันมีสัดส่วนแค่ 10% ของ GDP โลกเท่านั้น
เฉพาะเดือนมิถุนายน 2024 จีนส่งออกเพิ่มขึ้น 8.6% มูลค่าทั้งหมด 308 พันล้านดอลลาร์ ได้เปรียบดุลการค้าถึง 99 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ 85 พันล้านดอลลาร์ ตัวเลขสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ว่า ความต้องการในประเทศอ่อนตัว แต่ความสามารถของการผลิตที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยการส่งออกแทน
จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของไทย รองจากสหรัฐฯ การนำเข้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า มีสัดส่วน 25% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย การขาดดุลการค้าของไทยกับจีนเพิ่มมากขึ้นมาตลอด จาก 20 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เป็น 23 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนการขาดดุลการค้าของมาเลเซียกับจีน ในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 14.2 พันล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียได้เปรียบดุลการค้ากับจีน 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 เพราะการส่งออกแร่ไปจีนเพิ่มมากขึ้น
นักวิเคราะห์เอเชียของบริษัทหลักทรัพย์ Nomura กล่าวว่า การปรับสมดุลของกระแสการค้าระหว่างจีนกับเอเชียตวันออกเฉียงใต้ สะท้อนยุทธศาสตร์การค้าจีน ในการปรับทิศทางการส่งออกมาภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัญหาการกีดกันการค้าจากตะวันตกที่พุ่งขึ้น การล้มละลายของภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อซับพลายเออร์ด้านก่อสร้าง รวมทั้งผู้ผลิตเหล็กกล้า เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์
หากผู้ผลิตของจีนไม่สามารถส่งออกส่วนเกิน ธุรกิจพวกนี้ก็จะขาดทุน ทำให้เกิดว่างงานมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ องค์กรและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนจึงหาทางสนับสนุนผู้ส่งออกและรักษาการเติบโตเศรษฐกิจของท้องถิ่น แต่บริษัทธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า ตัวเองต้องมาแบบรับต้นทุนแทน เพื่อให้โรงงานจีนยังสามารถทำการผลิตต่อไปได้
ความนิยมในแฟลตฟอร์อีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee ของสิงคโปร์ Lazada ที่ Alibaba เป็นเจ้าของ และ TikTok Shop ของ ByteDance ทำให้ผู้ส่งออกจีนมีสะพานที่จะเจาะตลาดในเอเชียตะวันออกเฉลียงใต้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าราคาถูก ปี 2023 บริษัทอีคอมเมิร์ซแฟลตฟอร์มในภูมิภาคนี้ มียอดขาย 114.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15%
จีนเลิกนโยบาย “ผลิตล้นเกิน” ได้หรือไม่
บทความชื่อ China’s Real Economic Crisis ของ foreignaffairs.com เขียนถึงปัญหา “การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ล้นเกิน” ของจีนว่า ในปลายปี 2022 หลังจากรัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการเด็ดขาด “โควิดเป็นศูนย์” นักวิเคราะห์คาดว่า เครื่องจักรการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวกลับมาปกติอย่างรวดเร็ว เพราะการล๊อกค์ดาวน์หลายปีจากโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจบางภาคส่วนที่หยุดชะงัก กลับมาฟื้นตัวได้ใหม่
แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนกลับขาดพลัง การเติบโตของ GDP ต่ำกว่าปกติ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดตัวลง ความขัดแย้งกับตะวันตกขยายตัวมากขึ้น และการพังทลายของราคาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนต้องล้มละลาย เดือนกรกฎาคม 2024 ทางการจีนเปิดเผยว่า GDP เติบโตต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 5%
นักวิเคราะห์ตะวันตกมีคำอธิบายหลายประการ ที่เศรษฐกิจจีนยังไม่ดีขึ้น เช่น วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เรื้อรัง ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว นโยบาย สี จิ้นผิง ที่ควบคุมเข้มงวดกับเศรษฐกิจมากขึ้น และการใช้มาตรการรุนแรงกับโควิด-19
แต่บทความ foreignaffairs.com กล่าวว่า มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพไม่ขยับตัว และหยั่งลึกกว่าวิกฤติอสังหาริมทรัพย์คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเก่าแก่นานหลายสิบปี ที่ให้ความสำคัญและอภิสิทธิ์แก่การผลิตอุตสาหกรรม เหนือภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป ยุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อให้เกิด “ความสามารถการผลิตที่ล้นเกินที่เป็นแบบโครงสร้าง” (structural overcapacity)
การดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมนี้ของจีนมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดการลงทุนในโรงงานการผลิต ที่มากไปในทุกภาคส่วน ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น แบตเตอรี่ หรือหุ่นยนต์ สิ่งนี้ทำให้ทั้งมณฑลและบริษัทจีน มีภาระหนี้สินจำนวนมาก
กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ ในหลายภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญ จีนได้สร้างผลผลิตมากกว่าที่ตลาดของตัวเองและตลาดต่างประเทศ จะสามารถดูดซับในระดับนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ก่อความเสียหายขึ้นมาทั้งต่อจีนและประเทศอื่น ผลลัพธ์ก็คือเศรษฐกิจจีนเกิดความเสี่ยงที่จะติดอยู่ใน “วังวนหายนะ” (doom loop) ที่ประกอบด้วย การตัดราคาสินค้าให้ต่ำลง การล้มละลาย การปิดโรงงาน และการสูญเสียการจ้างงาน
ผลกำไรที่ลดลงบังคับให้ผู้ผลิตจีนต้องเพิ่มปริมาณการผลิตออกมามากขึ้น รวมทั้งการลดราคาอย่างหนัก เพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้สิน เมื่อโรงงานต้องปิดตัวลง และอุตสาหกรรมเกิดการกระจุกตัว บริษัทที่เหลืออยู่ไม่จำเป็นว่า จะมีประสิทธิภาพหรือทำกำไรได้มากสุด แต่มีแนวโน้มจะเป็นบริษัท ที่ได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาล หรือได้สินเชื่อผ่อนปรน
บทความของ foreignaffairs.com กล่าวอีกว่า นับจากกลางทศวรรษ 2010 ปัญหาการผลิตที่ล้นเกินของจีน เป็นปัจจัยทำให้เกิดวามไร้เสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ การทุ่มตลาดสินค้าจีนในตลาดโลก ผู้ผลิตของจีนได้ผลักดันราคาสินค้า ให้ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของผู้ผลิตในประเทศอื่น
เมื่อเดือนธันวาคม 2023 เออร์ซูลา เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการอียู กล่าวว่า การผลิตของจีนสร้างปัญหาการขาดดุลการค้า ในแบบที่ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน จีนใช้วิธีการค้าไม่เป็นธรรม ทุ่มสินค้าจีนในตลาดยุโรปโดยการตัดราคา
ส่วนรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ นางเจเนต เยลเลน ก็กล่าวว่า การลงทุนการผลิตอุตสาหกรรมมากเกินไปของจีน เช่น เหล็กกล้า รถยนต์ EV เป็นเหตุทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยกล่าวว่า “จีนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่โลกจะดูดซับความสามารถมหาศาลนี้”
เอกสารประกอบ
Southeast Asia pushes back on cheap Chinese imports, July 31, 2024, asia.nikkei.com
China’s Real Economic Crisis, September/October 202, foreignaffairs.com