ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2568
เวียดนามหนุนเอกชนขับเคลื่อนประเทศ มีบทบาทเชิงรุกในห่วงโซ่อุปทานโลก

ตามมติดังกล่าว หลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจมาเกือบสี่ทศวรรษ ภาคเอกชนได้เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ จนกลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม
ภาคเศรษฐกิจเอกชนในปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 940,000 ราย และอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่า 5 ล้านครัวเรือน คิดเป็นประมาณ 50% ของ GDP และคิดเป็นมากกว่า 30% ของรายได้งบประมาณแผ่นดินทั้งหมด มีการจ้างงานประมาณ 82% ของกำลังแรงงานทั้งหมด เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรม ปรับปรุงผลผลิตแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยขจัดความหิวโหย ลดความยากจน และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตทางสังคม
บริษัทเอกชนหลายแห่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ มีการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและขยายกิจการเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวชี้ว่าภาคเอกชนยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมายและยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังในฐานะเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจในประเทศได้ วิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดย่อม โดยมีศักยภาพทางการเงินและการบริหารจัดการที่จำกัด
โดยทั่วไปแล้ว ความสามารถทางเทคโนโลยี ระดับนวัตกรรม ผลิตภาพแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ ขาดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ และการเชื่อมโยงกับวิสาหกิจของรัฐและวิสาหกิจที่ต่างชาติลงทุนยังคงอ่อนแอ
คณะกรรมการกรมการเมืองระบุว่าข้อด้อยเหล่านี้เกิดจากหลายปัจจัย โดยหลักๆ คือ ความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ กรอบสถาบันและกฎหมายที่ไม่เพียงพอ และการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและธุรกิจไม่เสรีมากพอ บริษัทเอกชนยังประสบปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานยังคงสูงอยู่
ด้วยเหตุนี้การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนที่รวดเร็ว ยั่งยืน มีประสิทธิผลและคุณภาพสูง ถือเป็นทั้งภารกิจสำคัญและเร่งด่วน และเป็นภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว ซึ่งต้องระบุไว้ในยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและจุดแข็งทั้งหมด ปลดปล่อยกำลังการผลิตทั้งหมด กระตุ้น ระดม และใช้ทรัพยากรทั้งหมดอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะทรัพยากรในหมู่ประชาชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสริมสร้างและเสริมสร้างการป้องกันประเทศและความมั่นคง เสริมสร้างกิจการต่างประเทศและการบูรณาการระหว่างประเทศ
มติฉบับใหม่กำหนดเป้าหมายไว้สูงสำหรับภาคส่วนนี้ภายในปี 2573 โดยมุ่งหวังที่จะให้ภาคส่วนนี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นพลังชั้นนำในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
โดยตั้งเป้าให้มีกิจการที่ดำเนินงาน 2 ล้านแห่ง ธุรกิจที่ดำเนินงาน 20 แห่งต่อประชากร 1,000 คน มีธุรกิจขนาดใหญ่เข้าร่วมในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกอย่างน้อย 20 แห่ง
ตั้งเป้าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจภาคเอกชนไว้ที่ประมาณ 10-12% ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจ มีส่วนสนับสนุนใน GDP ประมาณ 55-58% และประมาณ 35-40% ของรายรับงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด สร้างงานให้กับแรงงานประมาณ 84-85% ของกำลังแรงงานทั้งหมด คาดการณ์ว่าผลผลิตแรงงานจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8.5-9.5% ต่อปี
นอกจากนี้ ระดับ ความสามารถทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล อยู่ใน 3 ประเทศอันดับต้นๆ ของอาเซียน และ 5 ประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชีย
มติได้วางวิสัยทัศน์ในปี 2588 ไว้ว่าภาคเอกชนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แข็งแกร่ง และยั่งยืน มีบทบาทเชิงรุกในการผลิตและห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
โดยภายในปี 2588 จะต้องธุรกิจอย่างน้อย 3 ล้านแห่งมีส่วนสนับสนุนมากกว่า 60% ของ GDP
มติยังได้ระบุถึงภารกิจและขั้นตอนไว้ 8 ข้อ รวมทั้งกลไกการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ด้วย ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมการปฏิรูป ปรับปรุง และยกระดับคุณภาพของสถาบันและนโยบาย ให้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิในการเป็นเจ้าของ ทรัพย์สิน เสรีภาพในการประกอบธุรกิจ และสิทธิในการแข่งขันที่เป็นธรรมของเศรษฐกิจเอกชนอย่างมีประสิทธิผล และให้มีการรับรองการบังคับใช้สัญญาของเศรษฐกิจเอกชน
ภายในปี 2568 ดำเนินการทบทวนและขจัดเงื่อนไขทางธุรกิจที่ไม่จำเป็น กฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนและไม่เหมาะสมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจเอกชนจะต้องแล้วเสร็จ ลดเวลาดำเนินการขั้นตอนทางราชการอย่างน้อย 30% ลดต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างน้อย 30% ลดเงื่อนไขทางธุรกิจอย่างน้อย 30% และดำเนินการลดลงอีกในปีต่อๆ ไปอย่างจริงจัง ดำเนินการอย่างจริงจังในการจัดหาบริการสาธารณะให้กับธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงขอบเขตการบริหาร มุ่งมั่นให้เวียดนามติดอันดับ 3 ประเทศอาเซียนและ 30 ประเทศอันดับแรกของโลกในด้านการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายในปี 2571
นอกจากนี้จะต้องจัดทำกรอบกฎหมายสำหรับรูปแบบเศรษฐกิจและธุรกิจใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเงิน ปัญญาประดิษฐ์ สินทรัพย์เสมือน สกุลเงินเสมือน สินทรัพย์ดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ นำกลไกการทดสอบมาใช้ในอุตสาหกรรมและสาขาใหม่ตามแนวทางปฏิบัติสากล การจัดทำกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับข้อมูลและการจัดการข้อมูลให้แล้วเสร็จ ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เชื่อมต่อ แบ่งปัน ใช้ประโยชน์จากข้อมูล มีความปลอดภัย
มติยังครอบคลุมการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ทุน และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ
โดยเพิ่มการเข้าถึงที่ดิน การผลิต และสถานประกอบการสำหรับเศรษฐกิจภาคเอกชน ด้วยการใช้กลไกและนโยบายที่เหมาะสมในการควบคุมความผันผวนของราคาที่ดิน โดยเฉพาะราคาที่ดินเพื่อการผลิตและธุรกิจและที่ดินที่ไม่ใช่เกษตรกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อแผนการลงทุน การผลิต และธุรกิจขององค์กร ภายในปี 2568 อย่างช้าที่สุด ให้พัฒนาฐานข้อมูลที่ดินแห่งชาติที่เชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลแห่งชาติและฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ ดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาคส่วนที่ดิน ให้ข้อมูลแก่องค์กรอย่างโปร่งใสและเชิงรุก ลดเวลาที่จำเป็นในการจัดการขั้นตอนการเช่าที่ดิน ออกใบรับรองสิทธิการใช้ที่ดิน สนับสนุนการอนุมัติพื้นที่อย่างแข็งขัน
รัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับอนุญาตให้ใช้เงินงบประมาณท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนนักลงทุนในการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรม คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เมื่อมีการร้องขอ นักลงทุนจะต้องสำรองส่วนหนึ่งของกองทุนที่ดินที่ลงทุนไว้เพื่อให้เช่าแก่บริษัทเทคโนโลยีชั้นสูง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสตาร์ทอัพนวัตกรรม ท้องถิ่นจะต้องกำหนดกองทุนที่ดินสำหรับเขตอุตสาหกรรมและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแต่ละแห่งตามสถานการณ์จริง เพื่อให้แน่ใจว่ามีพื้นที่เฉลี่ยอย่างน้อย 20 เฮกตาร์ต่อเขตอุตสาหกรรม คลัสเตอร์อุตสาหกรรม หรือ 5% ของกองทุนที่ดินทั้งหมดที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจวิสาหกิจดังกล่าวข้างต้น รัฐควรมีนโยบายลดค่าเช่าที่ดินสำหรับเรื่องเหล่านี้อย่างน้อย 30% ภายใน 5 ปีแรกนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน โดยค่าเช่าที่ดินที่ลดลงจะคืนให้กับนักลงทุนโดยการหักค่าเช่าที่ดินที่นักลงทุนต้องจ่ายตามบทบัญญัติของกฎหมาย รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาด ไฟฟ้า น้ำ การขนส่ง การสื่อสาร และขั้นตอนการบริหารสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อุตสาหกรรมสนับสนุน และสตาร์ทอัพสร้างสรรค์
การส่งเสริมและกระจายแหล่งทุนให้กับเศรษฐกิจภาคเอกชน เช่น สินเชื่อสีเขียว รัฐควรจัดให้มีกลไกสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยและส่งเสริมให้สถาบันสินเชื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้กับภาคเอกชนในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อดำเนินโครงการสีเขียวและหมุนเวียน และใช้กรอบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
การทบทวนกรอบกฎหมาย การปรับปรุงรูปแบบกองทุนค้ำประกันสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
ส่วนในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคลเพื่อเศรษฐกิจภาคเอกชน นอกจากจะมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย สถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษา และอุตสาหกรรมสำคัญที่มีคุณภาพแล้ว จะมีการวางโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อฝึกอบรมผู้บริหารจำนวน 10,000 คน ระดมผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเข้าร่วมการฝึกอบรม แบ่งปันประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ และให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลแก่ธุรกิจชุมชน
ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสีเขียว ธุรกิจที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนในเศรษฐกิจภาคเอกชน ด้วยการอนุญาตให้ธุรกิจรวมต้นทุนจริงของการวิจัยและพัฒนา 200% ในรายได้ที่ต้องเสียภาษี และอนุญาตให้หักภาษีได้สูงสุด 20% จากรายได้ที่ต้องเสียภาษี เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการวิจัยและพัฒนา ตลดจนควรมีนโยบายยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม บริษัทจัดการกองทุนเงินร่วมลงทุน และองค์กรตัวกลางที่สนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรม ตั้งแต่เวลาที่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
แนวทางอื่นๆได้แก่ การเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และบริษัทที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เร่งการจัดตั้งและพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่และกลุ่มเศรษฐกิจเอกชนที่มีสถานะระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพแก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมและธุรกิจในครัวเรือน โดยจะยกเลิกภาษีแบบเหมาจ่ายสำหรับธุรกิจครัวเรือนภายในปี 2569 เป็นอย่างช้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการพรรคในสมัชชาแห่งชาติจะต้องเป็นผู้นำและกำกับดูแลการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเอกชน เสริมสร้างการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมติฉบับนี้ และรัฐบาลจะต้องกำกับดูแลการพัฒนาและนำเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติเพื่อประกาศกลไกและนโยบายเฉพาะในการประชุมสมัยที่ 9 (พฤษภาคม 2568)
คณะกรรมการพรรคการเมืองระดับกระทรวง หน่วยงานระดับรัฐมนตรี หน่วยงานในสังกัดรัฐบาล ศาลฎีกาประชาชนสูงสุด อัยการสูงสุด จังหวัด และเมืองที่บริหารโดยส่วนกลาง จะต้องพัฒนาแผนปฏิบัติการโดยระบุภารกิจ วิธีแก้ปัญหา แผนงาน และมอบหมายงานเฉพาะให้หน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามมติ
คณะกรรมการพรรคการเมืองในรัฐบาลจะประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์กลาง สำนักงานคณะกรรมการกลางพรรค คณะกรรมการพรรคระดับกลางและระดับท้องถิ่นในการกำกับดูแลและประเมินผลของการดำเนินการตามมติฉบับนี้ และรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ให้คณะกรรมการกรมการเมืองรับทราบเพื่อพิจารณา
เวียดนามเปิดตัวแพ็คเกจสินเชื่อ 500 ล้านล้านดองเร่งพัฒนาบริษัทเทคโนโลยี

นายด่าว มินห์ ตู รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทาง กลไก และกรอบเวลาโดยประมาณของ แพ็คเกจสินเชื่อพิเศษมูลค่า 500 ล้านล้านด่อง(ประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล ในงานแถลงข่าวประจำเดือนของรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม
นายตู ระบุว่า แพ็คเกจสินเชื่อนี้ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลังจากแพ็คเกจสินเชื่อก่อนหน้านี้สำหรับภาคเกษตร ป่าไม้ และประมงได้รับผลเชิงบวก ซึ่งขยายขนาดอย่างรวดเร็วจากเริ่มต้น 15 ล้านล้านดอง
นายตูย้ำว่า นี่เป็นการสั่งที่ชัดเจนและเข้มแข็งของรัฐบาล สะท้อนถึงการมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ในสองอุตสาหกรรมหลักซึ่งถือว่ามีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในช่วงเวลาข้างหน้า และเสริมว่าการบรรลุการเติบโตตัวเลขสองหลักนั้นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำ ตามด้วยการลงทุนระยะยาวที่เป็นรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ
เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ธนาคารกลางเวียดนามได้ประสานงานอย่างรวดเร็วกับธนาคารพาณิชย์ 21 แห่ง ซึ่งได้ให้คำมั่นอย่างเต็มที่สำหรับแพ็คเกจ 500 ล้านล้านด่อง โดยระยะเวลาเงินกู้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 2 ปี
นายตูเปิดเผยว่าแพ็คเกจนี้จะได้รับเงินทั้งหมดจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยธนาคารของรัฐจะเป็นผู้นำ ไม่ใช่จากงบประมาณของรัฐหรือแหล่งต่างประเทศ และกล่าวว่าจะต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนและการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดสรรและใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิผล ในขณะที่ยังคงดูแลเสถียรภาพของระบบสินเชื่อ โดยชี้ว่าต้องประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กระทรวงการก่อสร้าง และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกำหนดภาคส่วน โครงการ และหน่วยงานที่ควรได้รับประโยชน์จากแพ็คเกจนี้ให้ชัดเจน
นอกจากนี้ เงินกู้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสินเชื่อ แต่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทางเลือกในการร่วมทุน และเงื่อนไขที่มากกว่า มีแผนที่จะเบิกจ่ายจนถึงปี 2573 หรือจนกว่าเงินทุนจะหมด
ธนาคารต่างๆเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของแผนริเริ่มนี้ ตัวอย่างเช่น Vietcombank ได้ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการสำคัญๆ เช่น เส้นทางส่งไฟฟ้าลาวไก-วินห์เยน และสนามบินนานาชาติลองถั่น เล กว่าง วินห์ ซีอีโอ ย้ำว่านอกเหนือจากเงินกู้แล้ว ควรพิจารณากลไกสำหรับการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น
Agribank ยังแสดงความพร้อมที่จะให้ดอกเบี้ยพิเศษ แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรับผิดชอบการให้สินเชื่อที่ชัดเจน ธนาคารยังเรียกร้องให้มีกลไกในการปรับโครงสร้างหนี้และลดค่าธรรมเนียมสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ
เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 8% GDP ต่อหัว 5,000 ดอลลาร์ในปี 2568

นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เปิดเผยเป้าหมายเหล่านี้ในรายงานที่นำเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติเวียดนามในการประชุมสมัยที่ 9 ซึ่งเปิดฉากขึ้นในกรุงฮานอยเมื่อวันจันทร์(5 พ.ค.2568)
เมื่อปีที่แล้วสมัชชาแห่งชาติเวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2568 ไว้ที่ 7.5% โดยมีมูลค่า GDP สูงถึง 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะพยายามให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้สูงขึ้นอย่างน้อย 8%
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพยายามเพิ่ม GDP ต่อหัวในปี 2568 ให้สูงกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐO เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐO
เป้าหมายเหล่านี้ต่อยอดจากปี 2567 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัว 7.09% เมื่อเทียบกับปี 2566 และรายงาน GDP ต่อหัวที่ 4,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ในไตรมาสแรกของปี 2568 นี้ GDP ของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตที่ 6.93% ซึ่งสูงที่สุดในช่วงปี 2563-2568 โดยพื้นที่หลายแห่งเติบโตด้วยเลขสองหลัก นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวในการประชุม
สำหรับแนวทางในการบรรลุความทะเยอทะยานในการเติบโต ผู้นำรัฐบาลได้สรุปมาตรการสำคัญชุดหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ โดยให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมเงินเฟ้อ และการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจหลัก
พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามการพัฒนาในระดับนานาชาติและในประเทศอย่างใกล้ชิด คาดการณ์ล่วงหน้า และตอบสนองด้วยนโยบายที่ยืดหยุ่นและทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ
รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะจัดเก็บรายได้งบประมาณของรัฐให้มากกว่า 15% และเตรียมปรับขาดดุลงบประมาณเป็น 4-4.5% ของ GDP หากจำเป็น
นอกจากนี้ จะมีแพ็คเกจสินเชื่อระยะยาวที่ให้สิทธิพิเศษโดยให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ป่าไม้ ประมง การแปรรูปไม้ และที่อยู่อาศัยสำหรับคนหนุ่มสาว โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุการเติบโตของสินเชื่อมากกว่า 16%
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเร่งการเบิกจ่ายและใช้เงินทุนการลงทุนของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นไปที่โครงการสำคัญ
รวมทั้งจะเน้นที่การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามไปแล้ว 17 ฉบับ ส่งเสริมการค้าให้มากขึ้น การเพิ่มการตรวจสอบและกำกับดูแลแหล่งที่มาของสินค้า และการกระจายตลาด ผลิตภัณฑ์ และห่วงโซ่อุปทาน
รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าภายใต้โครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OCOP) เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท
นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวว่า นอกจากแนวทางแก้ปัญหาอื่นๆ แล้ว จะต้องเพิ่มความพยายามในการปราบปรามการลักลอบขนของ การฉ้อโกงทางการค้า สินค้าลอกเลียนแบบ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์โภชนาการ และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยต้องป้องกันและแก้ไขการโฆษณาที่เป็นเท็จอย่างเคร่งครัด
นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนาและดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือธุรกิจและพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากรตอบโต้ 46% สำหรับสินค้าส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเดิมกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลา 90 วันเพื่อให้มีการเจรจา
เวียดนามก้าวสู่เศรษฐกิจใหญ่อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2579

รายงานดังกล่าวระบุว่า ณ ปี 2564 ประเมินว่าเวียดนามมี GDP ต่อหัวที่ปรับตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ( Purchasing Power Parity )อยู่ที่ 11,608 ดอลลาร์สหรัฐฯ
รายงานยังระบุด้วยว่าเรื่องราวการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นแทบจะเป็นปาฏิหาริย์เลยก็ว่าได้ ด้วยการปฏิรูปโด่ย-เหม่ย(Doi Moi)ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ประกอบกับกระแสโลกที่เอื้ออำนวย ทำให้ประเทศสามารถบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และผลักดันให้ประเทศก้าวจากเศรษฐกิจที่ยากจนไปสู่เศรษฐกิจชนชั้นกลางระดับล่าง
เวียดนามตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2588 โดยประเทศจะต้องเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5% ต่อหัว
อย่างไรก็ตาม ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง เนื่องจากการค้าโลกลดลงและประชากรมีอายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
CEBR คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 ถึง 2579 ตำแหน่งของเวียดนามในตารางอันดับเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นอย่างมาก โดยอันดับจะขยับขึ้นจากอันดับที่ 41 เป็นอันดับ 20 ภายในปี 2579
จีนนำเข้าทุเรียนมาเลเซียเพิ่มขึ้น 15-20% ในปี 2568

ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมมาเลเซียในจีน นายโลห์ วี เค็ง กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีมมากกว่าอุปทาน โดยเฉพาะพันธุ์ชั้นนำ เช่น มูซังคิงและ D24
“แม้ว่าฝนที่ตกหนักในมาเลเซียจะทำให้ผลบางส่วนร่วงเร็วกว่ากำหนด แต่ผมคาดว่าปริมาณการส่งออกโดยรวมในปีนี้จะสูงขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” นายโลห์ วี เค็งกล่าวกับสำนักข่าว Bernama พร้อมเสริมว่าความต้องการในตลาดจีนยังคงแข็งแกร่ง
โดยอธิบายว่า มูซังคิงของมาเลเซียยังคงได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคผลไม้พรีเมียมในจีน
“ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ทุเรียนมูซังคิงเกรดเอต่ำกว่า 30 ริงกิตต่อกิโลกรัม (กก.) ในราคาหน้าสวน ในช่วงนอกฤดูกาลอย่างเดือนพฤษภาคม ราคาอาจขึ้นไปถึง 80 ริงกิตต่อกิโลกรัม สำหรับ D24 ราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 15 ริงกิตต่อกิโลกรัม” เขากล่าว
ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของจีน ประเทศจีนนำเข้าทุเรียนจากมาเลเซีย 19.25 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 212.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1 พันล้านริงกิต) ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2567
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว นายโลห์ วี เค็งกล่าวว่า ราคาหน้าสวนของทุเรียนมูซังคิงแช่แข็งอยู่ที่ประมาณ 25 ริงกิตต่อกิโลกรัม และอาจลดลงเหลือเพียง 12 ริงกิตต่อกิโลกรัมในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
“ในขณะที่ราคาทุเรียนแช่แข็ง D24 สูงสุดอยู่ที่ 15 ริงกิตต่อกิโลกรัม ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 3 ริงกิตต่อกิโลกรัม” นายโลห์ วี เค็งกล่าวและว่ามาเลเซียเริ่มส่งออกทุเรียนไปยังจีนตั้งแต่ปี 2553
“เราไม่ได้แข่งขันกับทุเรียนไทยเพราะราคาและคุณภาพเป็นเรื่องที่แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง เรากำลังแข่งขันกับกีวีและเชอร์รี รวมถึงผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่น เช่น สตรอว์เบอร์รี่และองุ่น” นายโลห์ วี เค็งกล่าว
นายโลห์ วี เค็งซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการส่งออกทุเรียนแช่แข็งของมาเลเซียไปยังจีนหลังจากที่ปักกิ่งอนุมัติในปี 2554 กล่าวว่า ผู้เล่นในอุตสาหกรรมจะต้องปกป้องความซื่อตรงของแบรนด์ทุเรียนมาเลเซียในจีน
“พ่อค้าบางคนติดฉลากทุเรียนพื้นบ้านและขายเป็นมูซังคิงเพื่อหวังกำไรที่สูงขึ้น การกระทำเช่นนี้สร้างความเสียหาย แม้แต่ทุเรียนพื้นบ้านก็ยังมีตลาดรองรับหากขายอย่างซื่อสัตย์
“เราต้องให้ความรู้ผู้บริโภคชาวจีนเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะที่แท้จริงของมูซังคิง D24 และทุเรียนพันธุ์อื่นๆ” นายโลห์ วี เค็งกล่าวเน้น และยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างมากและผ่อนปรนต่อการส่งออกทุเรียนของมาเลเซียเนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้น ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จะต้องรักษาชื่อเสียงและความสัมพันธ์ทวิภาคีเอาไว้
สำหรับความพยายามปลูกมูซังคิงบนเกาะไหหลำของจีน นายโลห์ วี เค็งมีความเห็นว่า ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานของทุเรียนที่ปลูกในมาเลเซีย
“ในตอนแรกมีความตื่นเต้น แต่ไม่นานก็จางหายไป รสชาติก็แตกต่างไปเนื่องจากดินและสภาพอากาศ เพื่อนของผมเคยลองปลูกที่นี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มูซังคิงจากเกาะไหหลำไม่สามารถทดแทนทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของมาเลเซียได้” นายโลห์ วี เค็งกล่าว
อินโดนีเซียผ่อนกฎ Local content หนุนอุตสาหกรรมในประเทศ

กฎระเบียบดังกล่าวคือ กฎระเบียบประธานาธิบดีหมายเลข 46 ปี 2568 ซึ่งแก้ไขกฎระเบียบประธานาธิบดีหมายเลข 18 ปี 2561 ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของรัฐบาล
ภายใต้กฎระเบียบก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ในประเทศที่รัฐบาลจะต้องซื้อและใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีส่วนประกอบในประเทศอย่างน้อย 25% และมีมูลค่า TKDN กับ BMP รวมกันต้องไม่น้อยกว่า 40%
ใบรับรอง TKDN (ภาษาอินโดนีเซีย มาจากคำว่า Tingkat Komponen Domestik Negeri) เป็นใบรับรองผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาจากการใช้ส่วนประกอบในท้องถิ่น สำหรับผู้ประกอบการภาคธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยคิดตามมูลค่าร้อยละของส่วนประกอบต่างๆ ของการผลิตภายในประเทศ ส่วน BMP เป็นปัจจัยที่ใช้ร่วมกับ TKDN เพื่อกำหนดส่วนประกอบในท้องถิ่นของสินค้าและบริการ
กฎระเบียบใหม่ระบุว่า หากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ซึ่งมีค่า TKDN และ BMP รวมกันอย่างน้อย 40๔ไม่มีจำหน่ายหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ รัฐบาลยังคงสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีค่า TKDN อย่างน้อย 25%ได้
“รัฐบาลกำลังใช้แนวทางที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ” นายการ์ตาซาสมิตา กล่าวในการประชุม New Energy Vehicle Summit 2025 ที่จาการ์ตาเมื่อวันอังคาร(6 พ.ค.2568)
รัฐมนตรีอธิบายว่ากฎระเบียบดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างภาระผูกพันของรัฐบาลกลาง หน่วยงานบริหารระดับภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ (SOE) ในการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ในประเทศ รวมถึงในโครงการออกแบบและวิศวกรรมระดับชาติ และยังกล่าวอีกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมกำลังปฏิรูปกระบวนการรับรอง TKDN โดยลดระยะเวลาในการดำเนินการจาก 3 เดือนเหลือเพียง 10 วัน
“การปฏิรูป TKDN ครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรวมแล้ว รัฐบาลกำลังดำเนินการยกเลิกกฎระเบียบเพื่อเร่งรัดและอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมทางธุรกิจ” นายการ์ตาซาสมิตากล่าว
TKDN ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นข้อกำหนดด้านชิ้นส่วนในท้องถิ่นที่มีมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเติบโตของการผลิตในประเทศและศักยภาพด้านเทคโนโลยี และเพื่อตอบสนองฐานเสียงทางการเมืองในประเทศที่สำคัญ กฎเหล่านี้บังคับให้ใช้สินค้าและบริการที่ผลิตในท้องถิ่นในหลายภาคส่วน รวมถึงการผลิตพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทโฟน
ลาวตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางซื้อขายแปรรูปทองคำในเอเชียภายใน 5 ปี

ในการประชุมระดับสูงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ธนาคารทองคำลาว )(Lao Bullion Bank:LBB ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์อันวาดหวังไว้สูงเพื่อวางตำแหน่งประเทศให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านโลหะมีค่า
ในการประชุมครั้งนี้ นายจันทอน สิดทิไซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LBB ได้สรุปวิสัยทัศน์ของธนาคารในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโดยเปลี่ยนลาวให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำและเป็นผู้นำด้านการสกัดโลหะมีค่าทั่วเอเชียภายในปี 2573
ประเทศลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทองคำอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 3 ของการผลิตทองคำในกลุ่มประเทศอาเซียน และอันดับที่ 6 ของเอเชีย จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีศักยภาพมหาศาล โดยมีทองคำสำรองที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนระหว่าง 500 ถึง 1,000 เมตริกตันกระจายอยู่ทั่วประเทศ
เมื่อได้รับการยืนยันและรับรองโดยมาตรฐานทางธรณีวิทยาและการขุดระหว่างประเทศแล้ว ทองคำสำรองเหล่านี้อาจแปลงเป็นทองคำสำรองของประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 50,000 ถึง 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ลาวมีเงินสำรองเชิงยุทธศาสตร์จำนวนมาก ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินและศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตั้งแต่เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2567 ธนาคารทองคำลาวได้ก้าวไปข้างหน้าในภารกิจด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านบริการทางการเงินที่ใช้ทองคำเป็นหลักประกัน รวมถึงบัญชีเงินฝากทองคำ สินเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนด้วยทองคำ และใบรับรองเงินฝากทองคำที่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้