นายกฯอำนาจล้นฟ้า! – นั่งหัวโต๊ะ ‘ซูเปอร์บอร์ด’ คุม “Entertainment Complex” ชง ครม.ยกเว้น กม.กว่า 10 ฉบับ เอื้อกลุ่มทุน-กำหนดเงื่อนไขผู้รับสัมปทานแรกเข้าจ่าย 5,000 ล้าน รายปีอีก 1,000 ล้านบาท – คนไทยเข้า ‘กาสิโน’ ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำ 50 ล้าน – ค่าผ่านประตูครั้งละ 5,000 บาท – ชี้ทั้งประเทศเข้ากาสิโนได้ไม่ถึง 1% – ยัน กม.ห้ามทำธุรกิจ ‘JUNKET’ จับได้มีความผิด
นอกจาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” และ “แลนด์บริดจ์” อีกหนึ่งนโยบายเรือธงของรัฐบาลแพทองธารอย่าง ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ หรือ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ (Entertainment Complex) ซึ่งมีกาสิโนเป็นหัวหอกของนโยบาย นับเป็นนโยบายที่ถูกจับตาและเป็นที่ถกเถียงในประเด็นต่างๆ
เค้าลางของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เริ่มตั้งแต่ 12 กันยายน 2567 จากถ้อยแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศนโยบายที่ 7 “รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว…ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Desinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)…เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาล”
ทั้งนี้ แนวทางของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เน้นไปที่การสร้างเม็ดเงินทันทีแบบ quick win เช่น เปิดฟรีวีซ่า เน้นกระตุ้นการใช้จ่าย จัดอีเวนต์ ทำประกันให้นักท่องเที่ยว ตลอดจนการอำนวยความสะดวกต่างๆ
ผ่านไป 4 เดือนหลังจากนายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงการคลังได้เสนอให้ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 และและ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว
ภาพฝันเอ็นเตอร์เตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในสายตาของรัฐบาลจะไม่ใช่แค่บ่อนหรือกาสิโน stand alone เท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่ความบันเทิงครบครันสำหรับทุกกลุ่ม ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง กลุ่มครอบครัว นักท่องเที่ยว ไปจนถึงผู้มาเล่นการพนัน นอกจากนั้นยังเป็นการยกบ่อน-การพนันใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ตามที่นางสาวแพทองธาร เคยกล่าวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า
“ทุกวันนี้เราต้องดูว่าบ่อนหรือสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้มีไหมในประเทศไทย ถ้าเราไม่ได้พยายามจะพูดว่ามันคลีน 100% มันมีแน่นอน และเงินเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อใครบ้าง ถ้าเราดึงขึ้นมาถูกกฎหมายในเขตเศรษฐกิจส่วนนี้ แปลว่าภาษีที่เราเก็บได้ เราสามารถนำมาเป็นทุนการศึกษาเด็กได้ นำมาทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้ นี่คือการเก็บภาษีที่ถูกต้อง กาสิโนคือส่วนเล็กๆ เท่านั้น”
‘ซูเปอร์บอร์ด’อำนาจล้นฟ้า! ชง ครม.ยกเว้น กม.กว่า 10 ฉบับ เอื้อกลุ่มทุน
รัฐบาลแพทองธารใช้วิธีการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ด้วยการเขียนกฎหมายแบบให้อำนาจพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้พื้นที่นั้นๆ ต้องผ่อนปรนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้สิทธิพิเศษบางเรื่อง เพื่อให้ความบันเทิงเป็นไปอย่างเสรีและไร้ข้อจำกัด
ตัวอย่างคล้ายกันคือกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออก ทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิพิเศษตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ความพิเศษของการให้อำนาจพื้นที่พิเศษคือ การเขียนกฎหมายเพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรณีของร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร (ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขเพิ่มเติม) มีการให้อำนาจบอร์ดใหญ่เสนอ ครม. สั่งให้ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย เพื่อการอำนวยความสะดวกของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
มาตรา 6 ระบุว่า
มาตรา 6 เพื่อให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระที่ไม่จำเป็น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบธุรกิจ
(1) ในกรณีที่คณะกรรมการการบริหารเห็นว่ากฎหมาย หรือ กฎใด ก่อให้เกิดความล่าช้า ซ้ำซ้อน หรือ ก่อให้เกิดภาระ โดยไม่จำเป็นในการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ให้คณะกรรมการการบริหารเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกกฎหมาย หรือ กฎนั้น
ส่วนยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยถึง 9-10 ฉบับ ได้แก่
- พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478
- กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (สำหรับผู้รับใบอนุญาต)
- พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 67 โดยให้มีจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1105 วรรคสาม มาตรา 843
- กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ (ยกเว้นเกี่ยวกับการกำหนดวันเวลาเปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบริการ)
- กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นกำหนดเวลาและสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
- กฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ยกเว้นเขตสูบบุหรี่)
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 (มาตรการในกาารป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ)
- กฎหมายอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร จะไปครอบและผ่อนปรนกฎหมายอื่นอีก ตัวอย่างเช่น การสร้างอาคารสูง โรงแรม หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ โดยรัฐบาลเคยยกกรณีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กับ ‘มารีน่า เบย์ แซนด์ส’ ของประเทศสิงคโปร์ เพราะหากประเทศไทยต้องการสร้างอาคาร-อสังหาริมทรัพย์ที่สูง หรือมีลักษณะใกล้เคียงกันก็ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายไทยมีข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้าง
นายกฯนั้งหัวโต๊ะคุม ‘ซูเปอร์บอร์ด’
โครงสร้างของสถานบันเทิงครบวงจร (ฝั่งภาครัฐ) ประกอบด้วยคณะกรรมการหรือคณะทำงานอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ
- คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ‘ซูเปอร์บอร์ด’ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธาน, กรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน จากการแต่งตั้งของนายกฯ
- คณะอนุกรรมการ(จากการแต่งตั้งของคณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งมีหน้าที่ ‘ทำการแทน’ และให้ถือว่าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบาย
- คณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีประธานกรรมการจากการแต่งตั้งของนายกฯ, กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคม. ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมกรปกครอง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมกาารป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 5 คน จากการแต่งตั้งของนายกฯ
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธานฯ จะมีอำนาจสูงสุดในการชี้ขาด และกำหนดคุณสมบัติของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีหน้าที่สำคัญเช่น เสนอนโยบาย กำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจและพื้นที่ของกาสิโน กำหนดแนวทางกาารกำหนดจำนวนใบอนุญาต เสนอแนะอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน ออกคำสั่งเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต ทั้งการต่ออายุและการเพิกถอน ฯลฯ
ถัดมาคณะกรรมการบริหาร สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานฯ เช่น พิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนใช้จายเงิน และงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนกำหนดข้อบังคับต่างๆ
สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร มีลักษณะเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) กลุ่มทุนและภาคธุรกิจที่มาลงทุนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ และมีอำนาจเรียกเก็บค่าบริการ ค่าตอบแทน หรือ เงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ (มาตรา 25) ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้รายได้ของสำนักงานต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องรายได้ของสำนักงานฯ โดย นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ให้ข้อมูลว่า ร่างกฎหมายเดิมก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบ เขียนเรื่องทุนและทรัพย์สินว่า “เงินและทรัพย์สินของสำนักงาน เมื่อหักค่าใช้จ่าย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายกำหนด เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน” ซี่งอาจเป็นการเปิดช่องให้สามารถมีการนำเงินจำนวนมหาศาลมาใช้ได้ เหลือเท่าใดค่อยส่งเข้าคลัง แต่หลังจากปรับแก้แล้วจึงเขียนว่า “บรรดารายได้ของสำนักงาน ตามวรรคหนึ่ง ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน”
ตั้งเงื่อนไขดึงต่างชาติทำธุรกิจขั้นต่ำ 4 ประเภท – พื้นที่ ‘กาสิโน’ ไม่เกิน 10%
ประเด็นที่ต้องจับตา คือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ กำหนดให้ผู้ลงทุน-ผู้รับใบอนุญาต ต้องทำตามเกณฑ์ 4+1 กล่าวคือ ต้องมีธุรกิจอย่างน้อย 4 ประเภท ร่วมกับ ‘กาสิโน’ โดยสัดส่วนพื้นที่กาสิโน ต้องไม่เกิน 10% ของที่ดิน หรือ พื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นทืี่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร ขึ้นกับพื้นที่ใดจะน้อยกว่ากัน ส่วนพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการ และศิลปวัฒนธรรมไทย ก็ต้องไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ทั้งหมดเช่นกัน
โดยรัฐบาล มองว่า กาสิโนเป็นหน่วยธุรกิจที่จะสร้างรายได้หลักให้กับสถานบันเทิงครบวงจร ส่วนธุรกิจอื่นประกอบ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา ยอร์ช และครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สวนสนุก หรือ กิจการอื่นๆ (ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) และถ้าไม่มีกาสิโน ก็จะไม่มีนักลงทุนมาลงทุนสร้างธุรกิจอื่นๆ
ในการเสนอร่างกฎหมายและระหว่างขั้นตอนปรับแก้ รัฐบาลแพทองธารยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใด จังหวัดใด เนื้อที่ ขนาดพื้นที่สถานบริการฯ รวมไปถึงข้อบังคับหรือการกำกับดูแลอื่นๆ ก็ยังไม่ปรากฏ เนื่องจากเกณฑ์เหล่านี้จะต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นผู้กำหนดและเสนอต่อ ครม. เท่านั้น
รับค่าสัมปทานครั้งแรกจ่าย 5,000 ล้าน รายปีอีก 1,000 ล้าน
ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายกำหนด ไว้ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยใบอนุญาตมีอายุ 30 ปี และ หากผู้รับใบอนุญาตปล่อยให้เช่า เช่าช่วง หรือ ให้เช่าช่วงที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ ก็ให้ทำสัญญาเช่าไม่เกิน 30 ปีเช่นกัน
อัตราค่าธรรมเนียม ตามบัญชีท้าย
- การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท
- ใบอนุญาต
- ครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท
- รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท
- ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท
- ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาาท
- ค่าเข้ากาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท
มท.แก้กฎหมายสกัดพนันออนไลน์-ยกเว้นในพื้นที่สัมปทาน
ระหว่างที่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์กำลังถูกพิจารณา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้แก้ไข พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 โดยเหตุผลหนึ่งของการแก้ไขครั้งนี้ คือ กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มานาน มีบทบัญญัติบางมาตราล้าสมัย รวมทั้งมีอัตราโทษที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่การเล่นพนันได้พัฒนาวิธีการเล่นซับซ้อนมากขึ้น มีการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นสื่อกลางในการเล่น ทำให้ยากต่อการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันยังขาดมาตรการควบคุมการลักลอบเล่นการพนัน และยังขาดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด
โดยสรุปคือ ควบคุมการเล่นพนันในทุกช่องทาง โดยเฉพาะทางออนไลน์ และเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐปราบปราม รวมถึงเพิ่มมาตรการป้องกัน กำหนดบทลงโทษให้ครอบคลุม และเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น
สาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 คือ
- กำหนดห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันออนไลน์ในการเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ก. และบัญชี ข. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
- กำหนดโทษของผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและพนันออนไลน์ หรือผู้ควบคุมระบบ และผู้เข้าเล่นการพนันและพนันออนไลน์ให้เหมาะสมแก่สภาพและความร้ายแรงแห่งความผิด
- กำหนดอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 เพื่อบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด
อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไข พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 คู่ขนานไปกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร เป็นการคุมเข้มการพนัน รวมถึงพนันออนไลน์ที่ไม่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ส่วนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะไม่สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ได้
ยัน กม.ห้ามทำธุรกิจ “Junket” จับได้มีความผิด
ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พบว่า ประเด็นใหม่ที่ถูกเติมเข้ามาในร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับแก้ไขโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ มาตรา 71 ที่ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตอาจจัดให้มีการดำเนินธุรกิจอื่น ที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าไปในกาสิโนได้”
อีกทั้งมีข้อสังเกต คำว่า ‘ธุรกิจอื่น’ และ ‘การอำนวยความสะดวก’ อาจหมายถึง “Junket” ซึ่งหมายถึง กิจการนายหน้าที่คอยรับรองแขกวีไอพี ตั้งแต่การจองตั๋วการเดินทาง จองโรงแรม ติดต่อเปิดห้องพิเศษในกาสิโน ที่สำคัญคือการอำนวยความสะดวกทางการเงิน โดยการรับฝากเงินของลูกค้าผ่านบัญชีบริษัท Junket เพื่อนำไปเปิดบัญชีกับกาสิโน
นายธนากร กล่าวต่อว่า ธุรกิจ Junket ในบางประเทศ โดยเฉพาะที่มาเก๊า ถูกจับได้ว่าเป็นธุรกิจเพื่อบริการฟอกเงินให้กับวีไอพี เช่น นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ฯลฯ
ขณะที่นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ในงาน “Roundtable the Series: Entertainment Complex: Game Changer for Thailand?” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มีนาคม 2568 ว่า ในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไม่มี Junket อย่างแน่นอน และได้เขียนกฎหมายป้องกันไว้ในมาตรา 86 ระบุว่า
“ห้ามผู้รับใบอนุญาต หรือ บุคคลใดจ้าง หรือ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดแก่บุคคลอื่น เพื่อเพิ่มยอด หรือ จำนวนคนเล่นพนันในกาสิโน หรือ เพื่อเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน
ในกรณีที่มีผู้ใดกระทำการที่เป็นการเพิ่มยอด หรือ เพิ่มจำนวนคนเล่นพนัน หรือ เพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโนตามวรรคหนึ่ง แม้จะไม่ได้รับค่าจ้าง หรือ ผลประโยชน์ตอบแทน ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย”
ส่วนมาตรา 71 ที่ถูกกังขาเรื่องการอำนวยความสะดวก หมายถึง การทำให้มีธุรกิจประกอบ เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ทั้งจากรายใหญ่ และรายย่อย
คนไทยเข้า‘กาสิโน’ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำ 50 ล้าน-ค่าผ่านประตูครั้งละ 5,000 บาท
รัฐบาลแบ่งกลุ่มเป้าหมายของกาสิโนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ (1) กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ (2) กลุ่มคนไทย โดยจุดประสงค์หนึ่งเพื่อดึงคนไทยให้มาเล่นบ่อนบนดินแทนการเล่นใต้ดิน
คุณสมบัติคนไทยที่จะเข้ากาสิโนต้อง (1) มีอายุมากกว่า 20 ปี (2) จ่ายค่าลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียม (ตามที่คณะกรรมการบริหารฯ กำหนด) (3) ไม่มีลักษณะต้องห้าม-ไม่โดนผู้อำนวยการสำนักงานฯ สั่งห้ามเข้า และในบัญชีท้าย พ.ร.บ.กำหนดค่าเข้ากาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท
แต่ประเด็นที่อาจไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์การสางบ่อนใต้ดิน คือ การกำหนดว่าคนไทยต้องมีเงินฝากในบัญชีไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท จึงจะเข้าไปเล่นได้
มาตรา 81 บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นการพนันในกาสิโนต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหกเดือน และผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
ชี้คนไทยทั้งประเทศเข้า ‘กาสิโน’ ได้ไม่ถึง 1%
เมื่อเทียบกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องจำนวนผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ พบว่า ในเดือนมกราคม 2568 มีคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 50 ล้านบาท จำนวน 14,796 บัญชี แบ่งเป็น
- 50 – 100 ล้านบาท – 8,206 บัญชี
- 100 – 200 ล้านบาท – 3,572 บัญชี
- 200 – 500 ล้านบาท – 2,036 บัญชี
- มากกว่า 500 ล้านบาท – 982 บัญชี
กำหนดมาตรการป้องกันฟอกเงิน-ผลกระทบ‘กาสิโน’
กฎหมายเขียนให้คณะกรรมการนโยบายฯ เสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้น และต้องจัดให้มีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้แก่
- การจัดให้มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน
- ระบบการควบคุมกาสิโนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
- มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการสิโน
…แต่ข้อกังวลจากภาคประชาสังคมคือ การที่หน่วยงานที่ดำเนินการและอำนวยความสะดวกต้องเป็นผู้ควบคุม และป้องกันผลกระทบ ทั้งด้านการฟอกเงิน หรือ ปัญหาคนติดพนัน อาจไม่ทำให้หน่วยงานนั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสุดท้ายหน่วยงานนั้นจะทำงานโดยเน้นไปที่เม็ดเงินรายได้เท่านั้น และอาจเกิดปัญหาสังคมอื่นๆตามมา…