
“คลัง” ออก 8 มาตรการ รับมืองบฯรักษาพยาบาลพุ่ง 3.6 แสนล้าน/ปี – ‘Cap’ วงเงินค่าใช้จ่ายทุกสิทธิ์ – ลดภาระ ‘เงินคงคลัง’ – เชื่อมฐานข้อมูล ลดความซ้ำซ้อน – ร่วมกันจัดซื้อยาในปริมาณมาก เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคา – เน้นยาสามัญ – ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะองค์การเภสัชฯ
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ณ ชั้น 20 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาภาพรวมค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทยทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ , ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) , ประกันสังคม, และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” แต่ยังขาดข้อมูลบางส่วนอีกเล็กน้อย อย่างเช่น องค์กรอิสระ หรือ บางหน่วยงานได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้ไม่พอ ก็ไปหาเงินใช้จ่ายกันเอง ทั้งจากกองทุนนอกงบประมาณที่มีอยู่เดิม หรือ มาขอรับการจัดสรรงบกลางจากรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกนำมานับรวมอยู่ด้วย ซึ่งจริง ๆแล้ว ค่ารักษาพยาบาลของประเทศ อาจจะมากกว่านี้ก็ได้
“แต่เมื่อนำข้อมูลค่ารักษาพยาบาลรวมทุกระบบมาคำนวณ ทั้งเฉลี่ยต่อหัว และ เปรียบเทียบกับ GDP พบว่าค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทย ยังต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม OECD มาก ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านให้ข้อสังเกตว่าคุณภาพการรักษาของไทย อาจจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่บางท่านก็บอกว่า การรักษาพยาบาลในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิดค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของต่างประเทศสูงกว่าไทย แต่สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลรัฐเป็นหลัก ซึ่งโครงสร้างไม่เหมือนกัน” นายพิชัย กล่าวว่า
นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมก็มีการพิจารณาค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลทั้ง 4 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลมากที่สุด กลุ่มแรก คือ ข้าราชการมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหัว 18,000 บาท/คน/ปี กลุ่มที่ 2 พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ย 12,000 บาท/คน/ปี คิดเป็น 2 ใน 3 ของค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ กลุ่มที่ 3 ประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล 4,900 บาท/คน/ปี และกลุ่มที่ 4 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ย 3,800 บาท/คน/ปี แต่เมื่อรวมทุกระบบมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 บาท/คน/ปี
“แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมขอให้พิจารณาเรื่องเร่งด่วนก่อน คือ ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างเช่น งบฯรักษาพยาบาลที่จัดสรรไว้ในปีงบประมาณ 2569 ถึงตอนนี้ก็น่าจะไม่พอแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเฉพาะในส่วนของข้าราชการเพิ่มขึ้น 4% ต่อปี ขณะที่ GDP ของประเทศขยายตัวแค่ 2% กว่าเท่านั้น จึงเกิดความกังวล ถ้าไม่ทำอะไรมีปัญหาแน่นอน วันนี้จึงต้องมาดูแนวทางในการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ถามว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 4 ระบบ สามารถรวมกันได้หรือไม่ ก็คงต้องรอให้ GDP ของประเทศขยายตัวมากกว่านี้” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณสำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น หลักการที่ให้ไว้ในที่ประชุม ก็ไม่ไปลดสิทธิประโยชน์กลุ่มไหนทั้งสิ้น แต่กำลังพยายามหาวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่ เช่น การจัดสรรงบประมาณไปให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งบริหารจัดการกันเองภายใต้วงเงินที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล แต่ไม่ใช่มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ก็มาขอเบิกกับกรมบัญชีกลาง ส่วนเรื่องการจัดซื้อยาสามัญ หรือ “Generic Drug” ในระยะหลังก็มียาที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง แต่ถ้าไปซื้อยาชนิดเดียวกันที่มียี่ห้อ ราคาก็จะแพงขึ้น ดังนั้น จึงฝากให้คณะอนุกรรมการฯไปศึกษาเรื่องการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลสามารถรวมกันจัดซื้อได้หรือไม่ เพื่อต่อรองราคาให้ถูกลง รวมทั้งไปพิจารณาความยืดหยุ่นในการเข้ารักษาพยาบาล เพื่อลดความซ้ำซ้อน ยกตัวย่าง ข้าราชการบางคนไปขอรับการตรวจจากโรงพยาบาล ก. แต่ไม่มั่นใจ ก็ไปขอตรวจที่โรงพยาบาล ข. อีก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตรวจซ้ำซ้อนกัน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะลดลงได้อย่างไร ซึ่งที่ประชุมไดเสรุปแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณด้านรักษาพยาบาลมาได้ทั้งหมด 8 ข้อ และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการไปศึกษาในรายละเอียด และนำกลับมาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลฯโดยเร็วที่สุด

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลทุกระบบรวมกันครอบคลุมประชากร 65 ล้านคน มีวงเงินประมาณ 3.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2567 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 11% ต่อปี ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศที่ขยายตัว 2 – 2.5% ต่อปี ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาล ฯเกิดความกังวล จึงพยายามหาแนวทางในการบริหารจัดการงบฯรักษพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรก เป็นคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ทำหน้าที่ศึกษารายละเอียดของแนวทางการบริหารจัดการงบฯรักษาพยาบาลทั้ง 8 ข้อ และชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณไปสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล และยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล
“แต่เรื่องเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้ไปพิจารณา คือ เรื่องแนวทางการการบริหารจัดการงบประมาณด้านรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อยาขอให้เน้นการจัดซื้อยาสามัญมากกว่ายาที่มีชื่อทางการค้า และเน้นซื้อยา หรือ เวชภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากต่างประเทศปีละ 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของงบฯรักษาพยาบาลทั้งหมด” นพ.จเด็จ กล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยทั้ง 8 แนวทางที่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯลงไปศึกษาในรายละเอียดมีประเด็นสำคัญๆดังนี้
1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการสาธารณสุขอื่นนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ควบคุมการใช้จ่ายของทุกสิทธิ ให้เหมาะสมอยู่ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรร (Spending Cap) ไม่ให้เกิดภาระต่อเงินคงคลังของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิการรักษา ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางพิจารณาค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะสิทธิสวัสดิการข้าราชการควรจะมีแนวโน้มลดลง
2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณานำงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงาน หรือ รายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสมมาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นลำดับแรก และหากเงินรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสมไม่เพียงพอ ก็ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น พ.ศ. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป และให้ขยายมาตรการนี้ไปยังเงินนอกงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐต่อไป
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำร่องเรื่องการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ทั้งประเทศใช้ระบบเดียวกัน ส่งผลให้มีข้อมูลที่ตรงกัน ทุกหน่วยบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลการเบิกจ่ายยา ข้อมูลสุขภาพประชาชน และเชื่อมโยงข้อมูลด้วยกันได้
5. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะที่รับผิดชอบการเสริมสร้างสุขภาพ และป้องกันโรค (Promotion and Disease Prevention : P&P) ให้กับประชาชนไทยทุกคนควรเร่งดำเนินการในเชิงรุก ตลอดจนพิจารณาทบทวนการใช้ Diagnosis Related Groups : DRGs) ให้สอดคล้องกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริง และพิจารณานำแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based Budgeting) มาปรับใช้ในการจัดทำงบประมาณมากขึ้นในปีถัดไป
6. กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาการจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการในระบบ และที่จะบรรจุใหม่ (New Package for Newcomers)
7. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการสาธารณสุขอื่นนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรฐานราคากลางของยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อวัยวะเทียม เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และพิจารณาการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อวัยวะเทียมจากองค์การเภสัชกรรม และการจัดซื้อในปริมาณที่มากจะทำให้ต่อรองราคา เพื่อให้เกิดความประหยัด และความคุ้มค่าได้ (Economies of Scale) รวมถึงดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต
8. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณามาตรการภาษี เช่น 1. การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 2. การเก็บภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพเพิ่ม 3. สร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้กับประชาชนที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ